รู้จัก Sleep Test การตรวจเช็กความผิดปกติในการนอน

Sleep Test หรือการตรวจสุขภาพการนอนหลับ เป็นการวิเคราะห์การทำงานของระบบต่าง ๆ ของร่างกายในระหว่างนอนหลับ เพื่อช่วยการวินิจฉัยความผิดปกติของการนอน เช่น โรคหยุดหายใจขณะหลับ การเคลื่อนไหวผิดปกติขณะนอนหลับ อาการชักขณะนอนหลับ และความผิดปกติด้านการนอนอื่นที่อาจเป็นสาเหตุของโรคลมหลับหรือความอ่อนล้าในระหว่างวัน 

การตรวจการนอนหลับทำได้หลายวิธี แต่วิธีที่นำมาใช้บ่อยครั้งคือ Polysomnography ซึ่งเป็นการตรวจการนอนหลับด้วยการติดอุปกรณ์ติดตามการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาของร่างกายร่วมกับการบันทึกวิดีโอขณะนอนหลับ โดยทำในสถานพยาบาลที่มีเครื่องมือและบุคลากรพร้อมเท่านั้น

ปกติแล้ว Sleep Test จะเริ่มทำในช่วงที่ผู้เข้ารับการตรวจหลับสนิท โดยแพทย์จะบันทึกคลื่นสมองและข้อมูลการทำงานของร่างกายระหว่างนอนกลับ เช่น รูปแบบการนอนหลับ อัตราการเต้นของหัวใจและการหายใจ ระดับออกซิเจนในเลือด การขยับของดวงตาและขา เป็นต้น ในบทความนี้จะพาไปทำความรู้จักกับวิธีการตรวจการนอนหลับแบบ Polysomnography ที่เป็นวิธีหลักในการทำ Sleep Test กัน  

รู้จัก Sleep Test การตรวจเช็กความผิดปกติในการนอน

ประโยชน์ของการทำ Sleep Test 

การทำ Sleep Test จะใช้เวลาในการทดสอบการนอนหลับข้ามคืนเพื่อสังเกตปฏิกิริยาของสมองและร่างกายขณะนอนหลับ นอกจากจะเป็นเครื่องมือที่ช่วยในการวินิจฉัยการเคลื่อนไหวผิดปกติ อาการชัก หรือภาวะหยุดหายใจขณะหลับแล้ว การทำ Sleep Test ยังช่วยในการวินิจฉัยภาวะขากระตุกขณะนอนหลับ (Periodic Limb Movement Disorder: PLMD) กลุ่มอาการขาอยู่ไม่สุข (Restless Legs Syndrome: RLS) โรคลมหลับ (Narcolepsy) โรคนอนไม่หลับเรื้อรังและอาการนอนละเมอผิดปกติ (REM Sleep Behavior Disorder: RBD) ได้อีกด้วย

การตรวจการนอนหลับแบบ Polysomnography เป็นการตรวจที่เป็นมาตรฐานของการวินิจฉัยโรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น (OSA) และความผิดปกติในการนอนด้านอื่น ๆ ที่อาจเกี่ยวข้องกับโรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น โดยแพทย์จะแนะนำให้ผู้ที่มีอาการเข้าข่ายมีความผิดปกติด้านการนอนทำ Sleep Test รูปแบบต่าง ๆ รวมไปถึงการตรวจแบบนี้ด้วย

ขั้นตอนการทำ Sleep Test

ก่อนเข้ารับการทำ Sleep Test ควรแจ้งให้แพทย์ทราบหากกำลังรับประทานยาหรืออาหารเสริมใด ๆ เมื่อถึงวันที่ทดสอบควรงดการรับประทานอาหาร เครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของคาเฟอีนและแอลกอฮอล์ เนื่องจากอาจส่งผลต่อรูปแบบการนอนหลับจนทำให้ผลการตรวจคลาดเคลื่อน รวมทั้งไม่ควรแต่งหน้าและงดการใช้ผลิตภัณฑ์ใด ๆ ก่อนมาโรงพยาบาลหรือศูนย์การตรวจการนอนหลับ ทั้งโลชั่น เจล โคโลญจน์ เพื่อไม่ให้รบกวนการทำงานของเครื่องมือที่ใช้ในการทดสอบ

ผู้เข้ารับการตรวจสามารถเตรียมชุดนอนและสิ่งที่ใช้สำหรับการนอนเป็นประจำของตนเองมาใช้ขณะทำการทดสอบได้ โดยการตรวจจะทำในห้องนอนที่เป็นส่วนตัว มีกล้องและไมค์ติดไว้ภายใน เพื่อให้แพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญสามารถสังเกตและใช้ในการโต้ตอบกันระหว่างแพทย์และผู้เข้ารับการตรวจได้ นอกจากนี้ ผู้เข้ารับการตรวจจำเป็นต้องติดตัวจับสัญญาณไว้ที่บริเวณหนังศีรษะ ขมับ หน้าอกและขา โดยตัวจับสัญญาณจะเชื่อมผ่านสายเข้ากับระบบคอมพิวเตอร์และติดเครื่องวัดออกซิเจนในเลือดไว้บริเวณปลายนิ้วมือหรือหู 

ในระหว่างการตรวจที่ผู้เข้ารับหารทดสอบหลับสนิท อุปกรณ์ที่ติดตั้งไว้จะบันทึกคลื่นสมอง การเคลื่อนไหวของดวงตา อัตราการเต้นของหัวใจ การหายใจ ปริมาณออกซิเจนในเลือด ท่าทางการนอน การเคลื่อนไหวของหน้าอกและท้อง การเคลื่อนไหวของแขนและขา อาการกรนหรือการส่งเสียงอื่น ๆ ขณะนอนหลับ โดยจะเป็นการบันทึกตลอดทั้งคืน ในบางกรณีแพทย์อาจนำเครื่องอัดอากาศแรงดันบวกเปิดขยายทางเดินทายใจ (Positive Airway Pressure: PAP) มาใช้กับผู้ป่วยโรคหยุดหายใจขณะหลับ 

หลังเสร็จสิ้นการตรวจ แพทย์และผู้เชี่ยวชาญจะถอดตัวจับสัญญาณและเครื่องวัดออกซิเจนในเลือดออก ก่อนจะทำการนัดหมายครั้งต่อไปเพื่อติดตามผล ผู้เข้ารับการตรวจสามารถกลับไปทำกิจกรรมประจำวันเดิมได้ตามปกติ

ผลการทำ Sleep Test

ดัชนีการหยุดหายใจและหายใจแผ่ว (The Apnea-Hypopnea Index: AHI) เป็นดัชนีที่ใช้เพื่อตรวจนับการหยุดหายใจหรือหายใจน้อยลงขณะหลับ ผลที่ได้จากดัชนีดังกล่าวจะนำมาใช้วินิจฉัยภาวะหยุดหายใจขณะหลับ โดยผู้ที่มีผลการตรวจอยู่ในระดับปกติจะมีดัชนี AHI น้อยกว่า 5 เนื่องจากแทบไม่มีการหยุดหายใจขณะหลับ หรือคลื่นสมองและการขยับของกล้ามเนื้อขณะหลับอยู่ในรูปแบบที่เป็นปกติ 

หากผลที่ได้จากการตรวจผิดปกติ ผู้เข้ารับการตรวจจะมีค่าดัชนี AHI ดังนี้

  • AHI 5–15 คือ มีอาการของภาวะหยุดหายใจขณะหลับไม่รุนแรง 
  • AHI 15–30 คือ มีอาการของภาวะหยุดหายใจขณะหลับในระดับปานกลาง
  • AHI 15–30 คือ มีอาการของภาวะหยุดหายใจขณะหลับในระดับรุนแรง

อาการผิดปกติอื่น ๆ ที่อาจพบได้จากการทำ Sleep Test อาทิ กลุ่มอาการขาอยู่ไม่สุข การเปลี่ยนแปลงของอัตราการเต้นของหัวใจ การหายใจและปริมาณออกซิเจนในเลือด หรือการขยับหรือการกระทำที่ผิดปกติขณะหลับ ซึ่งจากผลการตรวจที่ได้ แพทย์จะพูดคุยกับผู้ป่วยเพื่อรักษาในขั้นต่อไป

ทั้งนี้ แม้ว่าระหว่างการทำ Sleep Test ผู้เข้ารับการตรวจอาจมีอาการนอนหลับยากหรือไม่สามารถนอนได้เต็มอิ่มเหมือนนอนที่บ้าน แต่ก็ไม่ส่งกระทบต่อผลการตรวจ อย่างไรก็ตาม หากพบว่าตนเองมีอาการผิดปกติด้านการนอนหลับ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อเข้ารับการวินิจฉัยและรักษาก่อนที่อาการจะมีความรุนแรง