ในปัจจุบันมีเด็กจำนวนไม่น้อยที่ต้องเผชิญกับภาวะ MIS-C (Multisystem Inflammatory Syndrome in Children) หรือปัญหาสุขภาพที่เกิดขึ้นหลังผู้ป่วยเด็กติดเชื้อโรคโควิด-19 (COVID-19) ซึ่งหากเด็กไม่ได้รับการวินิจฉัยและการรักษาะ ที่เหมาะสมตั้งแต่เนิ่น ๆ อาจก่อให้เกิดปัญหากับอวัยวะสำคัญ ในกรณีรุนแรงอาจส่งผลให้อวัยวะเสียหายถาวร ช็อก หรือถึงแก่ชีวิต
ภาวะ MIS-C หรือกลุ่มอาการอักเสบหลายระบบในเด็ก เป็นภาวะที่อวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายเกิดการอักเสบ เช่น หัวใจ ปอด ไต สมอง ผิวหนัง ดวงตา เลือด หรือทางเดินอาหาร โดยเด็กที่เผชิญกับภาวะ MIS-C มักมีอายุประมาณ 3–12 ปี แต่จะพบมากในช่วงอายุ 8–9 ปี นอกจากนี้ ภาวะนี้อาจเกิดกับเด็กทารกและเด็กโตได้ด้วย ทว่าภาวะนี้มักพบได้น้อยมาก
แม้ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่คาดว่าอาจเกี่ยวข้องกับโรคโควิด-19 เนื่องจากเด็กบางคนที่ป่วยเป็นภาวะ MIS-C เคยติดเชื้อก่อโรคโควิด-19 หรือใกล้ชิดกับผู้ป่วยโรคโควิด-19 มาก่อน
สังเกตอาการภาวะ MIS-C ในเด็ก
ภาวะ MIS-C มักแสดงอาการใน 2–6 สัปดาห์หลังติดเชื้อโรคโควิด-19 โดยเด็กแต่ละคนอาจมีอาการต่างกัน เช่น มีไข้นานกว่า 24 ชั่วโมง อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย เลือดออกในทางเดินอาหาร ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ รู้สึกเหนื่อยหรืออ่อนแรง ความดันโลหิตต่ำ หัวใจเต้นเร็ว หายใจถี่ ตาแดง มีผื่นที่ผิวหนัง บวมแดงบริเวณริมฝีปาก ลิ้น มือ หรือเท้า เป็นต้น
หากเด็กมีอาการเข่าข่ายภาวะ MIS-C ควรได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ตั้งแต่เนิ่น ๆ เพราะจะช่วยให้ผู้ป่วยเข้าสู่กระบวนการรักษาและหายดีเร็วขึ้น ในกรณีที่เด็กปวดท้องอย่างรุนแรง หายใจลำบาก ผิวซีดหรือผิวหนังเปลี่ยนเป็นสีเขียว เจ็บหรือแน่นหน้าอก มีอาการสับสนที่เกิดขึ้นใหม่ ตื่นยาก ผู้ปกครองควรรีบพาไปพบแพทย์โดยด่วน
ภาวะ MIS-C ในเด็กรักษาอย่างไร
เด็กที่มีภาวะ MIS-C ส่วนใหญ่ต้องเข้ารับการรักษาภายใต้การดูแลของแพทย์หรือกุมารแพทย์ในโรงพยาบาล โดยเป็นการประคองอาการด้วยวิธีต่าง ๆ เพื่อให้อาการที่เกิดขึ้นบรรเทาลง อาทิ
- ให้สารน้ำป้องกันภาวะขาดน้ำ
- ให้ออกซิเจนหรือใช้เครื่องช่วยหายใจเพื่อให้หายใจได้เป็นปกติ
- ใช้ยาลดความดันโลหิตหรือยาลดความเสี่ยงลิ่มเลือดอุดตัน
- ใช้เครื่อง ECMO เพื่อช่วยพยุงชีวิตหากผู้ป่วยมีอาการรุนแรง แต่มักใช้น้อยมาก
นอกเหนือจากการรักษาแบบประคับประคองอาการแล้ว แพทย์ยังพิจารณาให้ใช้ยารักษาเพื่อลดอาการอักเสบหรือบวม และป้องกันอวัยวะในร่างกายเสียหาย ไม่ว่าจะเป็นยาปฏิชีวนะ ยาสเตียรอยด์ ยา Intravenous Immunoglobulin (IVIg) ยาแก้อักเสบอื่น ๆ อย่างยาแอสไพริน หรือยาลดปริมาณโปรตีนไซโตไคน์ (Cytokines)
แม้ภาวะ MIS-C จะพบได้ยากและเป็นอันตรายต่อร่างกาย แต่ผู้ป่วยอาจหายดีได้จากการวินิจฉัยและการรักษาที่ทันท่วงที ผู้ปกครองจึงควรหมั่นสังเกตอาการของลูกน้อยเป็นประจำ หากพบความผิดปกติใด ๆ ควรพาลูกไปพบแพทย์โดยเร็ว โดยเฉพาะหลังหายจากโรคโควิด-19 แล้ว
สำหรับเด็กที่ไม่เคยติดเชื้อมาก่อน ผู้ปกครองควรกำชับและดูแลบุตรหลานให้ห่างไกลจากเชื้อโควิด-19 อยู่เสมอ ทั้งล้างมือให้สะอาด สวมหน้ากากอนามัย เข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 และหลีกเลี่ยงการคลุกคลีกับผู้ป่วยและผู้ที่เสี่ยงต่อโรคโควิด-19 เพื่อลดความเสี่ยงของการติดเชื้อโรคจนอาจนำไปสู่ภาวะ MIS-C ให้ได้มากที่สุด