พาราเบน สารกันเสียในผลิตภัณฑ์ เป็นอันตรายต่อสุขภาพจริงหรือ

พาราเบน (Paraben) เป็นกลุ่มสารเคมีที่นิยมใช้เป็นสารกันเสียในผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นอาหาร เครื่องดื่ม ยา เครื่องสำอาง และของใช้ในบ้าน เพื่อยับยั้งการเติบโตของแบคทีเรียและเชื้อรา และทำให้ผลิตภัณฑ์มีอายุการใช้งานยาวนานขึ้น

สารในกลุ่มพาราเบนมีหลายชนิด โดยสารที่นิยมใช้คือเมทิลพาราเบน (Methylparaben) เอทิลพาราเบน (Ethylparaben) โพรพิลพาราเบน (Propylparaben) และบูทิลพาราเบน (Butylparaben) ซึ่งแต่ละผลิตภัณฑ์มักใส่พาราเบนมากกว่า 1 ชนิด หลายคนคงสงสัยว่าการได้รับสารพาราเบนเข้าสู่ร่างกายจะเป็นอันตรายต่อร่างกายหรือไม่ บทความนี้จึงได้รวบรวมเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับพาราเบนเพื่อไขข้อข้องใจให้ทุกคน

พาราเบน สารกันเสียในผลิตภัณฑ์ เป็นอันตรายต่อสุขภาพจริงหรือ

พาราเบนพบในผลิตภัณฑ์ใดบ้าง

พาราเบนเป็นสารที่ได้จากการทำปฏิกิริยาเอสเทอร์ (Ester) ซึ่งเป็นการทำปฏิกิริยาระหว่างกรดพาราไฮดรอกซีเบนโซอิก (Para-Hydroxybenzoic Acid: PHBA) และแอลกอฮอล์ชนิดต่าง ๆ โดยพาราเบนมักใช้เป็นสารกันเสียในผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ดังนี้

  • เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์บำรุงผิว เช่น รองพื้น บีบีครีม ลิปสติก ครีมกันแดด โลชั่นทาผิว สบู่ แชมพู ผลิตภัณฑ์จัดแต่งทรงผมและระงับกลิ่นกาย ผลิตภัณฑ์สำหรับเด็ก
  • อาหารที่ทำจากเนื้อสัตว์ นม ผักผลไม้ และแป้ง รวมทั้งเนื้อแปรรูป ผักดอง แยม และซอสปรุงอาหาร
  • เครื่องดื่ม เช่น กาแฟกระป๋อง น้ำผลไม้ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • ยาและเวชภัณฑ์ เช่น ยาแก้ปวด ยารักษาสิว ยาเหน็บ น้ำยาล้างตา ถุงยางอนามัย

ผลกระทบต่อสุขภาพจากพาราเบน

พาราเบนสามารถเข้าสู่ร่างกายได้ผ่านการสัมผัสและซึมเข้าสู่ผิวหนัง หรือการรับประทานอาหารและยาชนิดต่าง ๆ เมื่อเข้าสู่ร่างกายและจะถูกกำจัดออกไปได้อย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม การได้รับพาราเบนติดต่อกันเป็นเวลานานอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในด้านต่าง ๆ ดังนี้

การทำงานของฮอร์โมนเปลี่ยนไป

มีงานวิจัยที่ระบุว่าพาราเบนส่งผลกระทบต่อการทำงานของฮอร์โมนในร่างกาย เนื่องจากพาราเบนมีคุณสมบัติคล้ายฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของระบบสืบพันธุ์

การได้รับพาราเบนอาจส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนของผู้หญิงที่มีประจำเดือนและผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ ในขณะเดียวกัน ผู้ชายก็อาจได้รับผลกระทบกับการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนเหมือนกัน เนื่องจากฮอร์โมนเอสโตรเจนก็พบได้ในเพศชาย แต่มีปริมาณน้อยกว่าเพศหญิง นอกจากนี้ พาราเบนอาจลดปริมาณการหลั่งฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน (Testosterone) และลดการผลิตอสุจิได้

การใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของบูทิลพาราเบนและโพรพิลพาราเบนอาจเพิ่มระดับน้ำตาลในเลือดของหญิงตั้งครรภ์ในช่วงไตรมาสที่หนึ่งและสอง ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์

นอกจากนี้ ผลการวิจัยชิ้นหนึ่งระบุว่าหญิงที่ตั้งครรภ์ในสัปดาห์ที่ 34 ที่ใช้เครื่องสำอางและโลชั่นบำรุงผิวที่มีส่วนประกอบของพาราเบนต่อเนื่องทุกวัน มีค่าพาราเบนในปัสสาวะสูงกว่าหญิงตั้งครรภ์ที่ไม่ได้ใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีพาราเบน จึงมีข้อแนะนำให้หญิงตั้งครรภ์และผู้ที่กำลังให้นมบุตรเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีพาราเบน เพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพของตัวเองและเด็กในครรภ์

เช่นเดียวกับผลการศึกษาในสัตว์ทดลองอีกชิ้นหนึ่งพบว่า การใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของบูทิลพาราเบนขณะตั้งครรภ์อาจส่งผลให้เด็กหญิงมีภาวะน้ำหนักเกิน เนื่องจากพาราเบนอาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของยีน POMC ซึ่งเกี่ยวข้องกับความอยากอาหาร และทำให้เด็กรับประทานอาหารมากขึ้น

พาราเบนอาจส่งผลต่อระดับคอเลสเตอรอล ไตรกลีเซอร์ไรด์ การทำงานของสมองและระบบภูมิคุ้มกัน แต่ยังขาดข้อมูลที่เพียงพอในการยืนยันผลกระทบของการใช้พาราเบนต่อการเกิดความผิดปกติเหล่านี้ จึงอาจต้องรอผลการศึกษาเพิ่มเติมในอนาคต

อาการแพ้

อาการแพ้จากการรับประทานอาหารและยาที่มีพาราเบนพบได้น้อยมาก ส่วนพาราเบนจากผลิตภัณฑ์ที่ใช้ภายนอกสามารถซึมเข้าสู่ผิวหนังได้ง่ายและสลายตัวเร็ว โดยมีการศึกษาพบว่าการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของเมทิลพาราเบนทุกวันเป็นเวลา 1 เดือน อาจทำให้เกิดการสะสมของพาราเบนในผิวชั้นหนังกำพร้า

และเมื่อหยุดใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเป็นเวลา 2 วัน ก็ไม่พบการสะสมของพาราเบนที่ผิวหนังอีก จึงสรุปไม่ได้ชัดเจนว่าการใช้พาราเบนจะส่งผลเสียต่อผิวหนังในระยะยาว

ทั้งนี้ บางคนอาจเกิดอาการแพ้พาราเบน ซึ่งเป็นปฏิกิริยาของโรคผื่นระคายสัมผัส (Contact Dermatitis) ทำให้เกิดผื่นแดงคันที่ผิวหนังหลังจากใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีพาราเบน แม้จะการใช้ยาและเครื่องสำอางที่มีพาราเบนความเข้มข้นค่อนข้างต่ำ แต่หากใช้เป็นประจำอาจทำให้คนที่มีอาการไวต่อพาราเบนเกิดผื่นแพ้ได้

โรคมะเร็ง

เนื่องจากพาราเบนมีคุณสมบัติคล้ายฮอร์โมนเอสโตรเจน การใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีพาราเบนอย่างต่อเนื่องบริเวณเต้านมอาจมีส่วนทำให้เกิดมะเร็งเต้านมได้ โดยเฉพาะการใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวบริเวณรอบเต้านม อย่างไรก็ตาม อาจต้องรอผลการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อยืนยันถึงความเกี่ยวข้องของพาราเบนและมะเร็งเต้านมต่อไป

จำเป็นต้องหยุดใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีพาราเบนหรือไม่

ประกาศกระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดปริมาณของพาราเบนที่ใช้เป็นสารกันเสียในอาหารและยาในปริมาณไม่เกินร้อยละ 0.1  ส่วนพาราเบนที่อนุญาตให้ใช้ในเครื่องสำอางมีปริมาณที่อนุญาตให้ใส่ต่างกัน เช่น

  • เมทิลพาราเบนและเอทิลพาราเบน กำหนดให้ใส่ได้ไม่เกินร้อยละ 0.4 เมื่อใช้ Ester ชนิดเดียวและหากใช้ Ester หลายชนิดให้ใส่ได้ไม่เกินร้อยละ 0.8
  • โพรพิลพาราเบนและบูทิลพาราเบน กำหนดให้ใส่ได้ไม่เกินร้อยละ 0.14 และหากใช้ร่วมกับเมทิลพาราเบนหรือเอทิลพาราเบนให้ใส่ได้ไม่เกินร้อยละ 0.8 โดยห้ามใช้ในผลิตภัณฑ์ที่ใช้แล้วไม่ต้องล้างออกสำหรับการใช้ในบริเวณที่สัมผัสผ้าอ้อมในเด็กอายุต่ำกว่า 3 ปี

ทั้งนี้ พาราเบนกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงต่อการก่อให้เกิดมะเร็ง ได้แก่ ไอโซโพรพิลพาราเบน (Isopropylparaben) ไอโซบูทิลพาราเบน (Isobutylparaben) ฟีนิลพาราเบน (Phenylparaben) เบนซิลพาราเบน (Benzylparaben) และเพนทิลพาราเบน (Pentylparaben) ถูกจัดเป็นสารที่ห้ามใช้ในเครื่องสำอาง

โดยทั่วไป พาราเบนมักไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ หากใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของพาราเบนไม่เกินเกณฑ์ที่กำหนด แต่หญิงตั้งครรภ์ ผู้ที่กำลังให้นมบุตร และผู้ที่มีอาการแพ้พาราเบนควรหลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีพาราเบน โดยอาจสังเกตได้จากฉลากของผลิตภัณฑ์ ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีพาราเบนส่วนใหญ่มักระบุคำว่า “ไม่มีส่วนผสมของพาราเบน (Paraben Free)” หรือ “พาราเบน 0%” ไว้บนฉลาก

หากผู้บริโภคซื้อเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์สุขภาพอื่น ๆ สามารถดูว่าผลิตภัณฑ์นั้นมีส่วนผสมของพาราเบนหรือไม่ เช่น เมทิลพาราเบน เอทิลพาราเบน และโพรพิลพาราเบน  โดยดูได้จากส่วนประกอบซึ่งระบุไว้บนฉลากของผลิตภัณฑ์ และหากใช้ผลิตภัณฑ์ใด ๆ แล้วเกิดอาการระคายเคืองที่สงสัยว่าอาจเป็นอาการแพ้พาราเบน ควรไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและรักษาต่อไป