พยาธิเส้นด้าย (Strongyloidiasis)

ความหมาย พยาธิเส้นด้าย (Strongyloidiasis)

โรคพยาธิสตรองจิลอยด์ (Strongyloidiasis) หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าพยาธิเส้นด้าย คือภาวะติดเชื้อพยาธิตัวกลมชนิดหนึ่งที่พบได้บ่อยในประเทศเขตร้อน พยาธิชนิดนี้ไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า ผู้ติดเชื้ออาจไม่มีอาการใด ๆ ให้เห็น แต่อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายได้ โรคนี้รักษาได้โดยการใช้ยาถ่ายพยาธิ และป้องกันด้วยการดูแลสุขอนามัย

พยาธิเส้นด้าย (Strongyloidiasis)

อาการของพยาธิเส้นด้าย (Strongyloidiasis)

โรคพยาธิสตรองจิลอยด์มักส่งผลกระทบต่อลำไส้ ปอด หรือผิวหนัง ส่วนใหญ่ผู้ที่ติดเชื้อพยาธิชนิดนี้มักไม่มีอาการใด ๆ แสดงให้เห็น แต่อาจพบอาการบางอย่างเป็นระยะ ๆ เช่น

  • ปวดหรือแสบร้อนบริเวณท้องส่วนบน
  • ท้องเสีย หรือท้องเสียสลับกับท้องผูก
  • อาเจียน
  • น้ำหนักลด
  • มีผื่นขึ้น
  • มีผื่นคล้ายผื่นลมพิษขึ้นบริเวณใกล้ ๆ รูทวารหนัก
  • ไอ

แม้อาการของโรคพยาธิสตรองจิลอยด์มักไม่รุนแรง แต่สำหรับผู้ป่วยที่มีระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง อาการดังกล่าวอาจมีความรุนแรงและอาจถึงขั้นทำให้เสียชีวิตได้

สาเหตุของพยาธิเส้นด้าย (Strongyloidiasis)

โรคพยาธิสตรองจิลอยด์มีสาเหตุมาจากพยาธิตัวกลมที่มีชื่อว่าสตรองจิลอยด์ สเตอร์โคราลิส (Strongyloidiasis Stercoralis) ซึ่งเป็นพยาธิที่ก่อให้เกิดการติดเชื้อในคนเป็นหลัก พยาธิชนิดนี้มักพบในภูมิอากาศเขตร้อนชื้นหรือกึ่งร้อนชื้น และอาจพบได้ในเขตอบอุ่นเช่นกัน

พยาธิพยาธิสตรองจิลอยด์มักอาศัยอยู่ภายในดินและติดต่อสู่คนผ่านการสัมผัสกับดินที่มีการปนเปื้อนของตัวอ่อนพยาธิ ซึ่งปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อพยาธิชนิดนี้ ได้แก่

  • การเดินเท้าเปล่า
  • การสัมผัสอุจจาระหรือปัสสาวะของมนุษย์และสิ่งปฏิกูลต่าง ๆ
  • การทำอาชีพที่เสี่ยงต่อการสัมผัสดินซึ่งปนเปื้อนพยาธิ เช่น เกษตรกรรม การทำเหมืองถ่านหิน เป็นต้น
  • ผู้ที่ทำงานหรืออาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีสุขอนามัยไม่ดีหรือห่างไกลจากการดูแลของสาธารณสุข
  • ผู้ที่มีสุขอนามัยที่ไม่ดี
  • ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น ผู้ติดเชื้อเอชไอวี (HIV) หรือโรคเอดส์ (AIDS) เป็นต้น

พยาธิสตรองจิลอยด์จะชอนไชผ่านผิวหนังเข้าสู่กระแสเลือด ผ่านบริเวณหัวใจและไปยังปอด จากนั้นพยาธิที่อยู่ภายในปอดจะเคลื่อนตัวไปที่หลอดลมและปาก ทำให้ผู้ที่ติดเชื้ออาจกลืนพยาธิชนิดนี้ลงไปสู่กระเพาะอาหารโดยไม่รู้ตัว พยาธิสตรองจิลอยด์จะเริ่มวางไข่และฟักเป็นตัวอ่อนเมื่อเข้าสู่ลำไส้เล็ก ซึ่งทั้งตัวอ่อนและไข่ของพยาธิจะถูกขับออกมาทางอุจจาระ หากไม่กำจัดของเสียและสิ่งปฏิกูลให้ถูกสุขลักษณะ พยาธิชนิดนี้จะลงไปอาศัยอยู่ในดินและทำให้ผู้อื่นติดเชื้อต่อไปได้

การวินิจฉัยพยาธิเส้นด้าย (Strongyloidiasis)

โรคพยาธิสตรองจิลอยด์มักไม่มีอาการบ่งบอกและไม่สามารถมองเห็นตัวพยาธิได้ด้วยตาเปล่า ดังนั้น หากสงสัยว่าอาจติดเชื้อพยาธิควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษา ในเบื้องต้นแพทย์จะซักประวัติเพื่อพิจารณาความเสี่ยงและตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมด้วยวิธีต่าง ๆ ดังนี้

  • การตรวจอุจจาระ เป็นวิธีการตรวจหาพยาธิสตรองจิลอยด์ที่ช่วยระบุการติดเชื้อได้อย่างชัดเจนที่สุด แต่ต้องมีการตรวจซ้ำเพื่อยืนยันผล
  • การตรวจหาพยาธิจากของเหลวที่ลำไส้ส่วนต้น เป็นการดูดของเหลวจากบริเวณลำไส้ส่วนต้นแล้วนำไปส่องตรวจหาพยาธิด้วยกล้องจุลทรรศน์
  • การเพาะเชื้อจากเสมหะ แพทย์จะนำเอาตัวอย่างเสมหะไปเพาะเชื้อเพื่อหาพยาธิสตรองจิลอยด์
  • การตรวจระดับแอนติเจนในเลือด เป็นการตรวจการติดเชื้อโดยดูจากสารภูมิต้านทานที่ร่างกายปล่อยออกมา แพทย์จะใช้วิธีนี้ในกรณีที่สันนิษฐานว่าผู้ป่วยติดเชื้อพยาธิแต่ไม่พบตัวพยาธิจากการตรวจด้วยวิธีอื่น
  • การตรวจวัดความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด เพื่อหาสาเหตุอื่น ๆ ที่อาจเป็นไปได้

การรักษาพยาธิเส้นด้าย (Strongyloidiasis)

การรักษาโรคพยาธิสตรองจิลอยด์มีจุดประสงค์หลักเพื่อกำจัดพยาธิชนิดดังกล่าวออกไปจากร่างกายด้วยการใช้ยาถ่ายพยาธิ โดยแพทย์จะให้การรักษาแม้ว่าผู้ป่วยจะไม่มีอาการใด ๆ แสดงให้เห็น หรือเป็นผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องก็ตาม

ยาที่มักใช้รักษาโรคพยาธิสตรองจิลอยด์คือยาถ่ายพยาธิไอเวอร์เมคติน ซึ่งจะออกฤทธิ์ฆ่าพยาธิที่อยู่ภายในลำไส้เล็ก แต่ยานี้ไม่อาจทำลายไข่พยาธิได้ จึงอาจต้องมีการใช้ยาซ้ำเพื่อกำจัดพยาธิให้หมดไป ส่วนยาถ่ายพยาธิชนิดอื่น ๆ ที่แพทย์อาจแนะนำให้ใช้ได้เช่นกัน คือ ยาอัลเบนดาโซล และยาธีอาเบนดาโซล

หากผู้ติดเชื้อพยาธิสตรองจิลอยด์มีอาการค่อนข้างรุนแรงหรือเกิดภาวะแทรกซ้อน แพทย์อาจต้องให้การรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ให้น้ำเกลือหรือให้เลือดในกรณีที่มีเลือดออกในทางเดินอาหาร ใช้เครื่องช่วยหายใจในกรณีที่เกิดภาวะระบบทางเดินหายใจล้มเหลว และใช้ยาปฏิชีวนะหากมีเยื่อหุ้มสมองอักเสบหรือมีภาวะโลหิตเป็นพิษ

ภาวะแทรกซ้อนของพยาธิเส้นด้าย (Strongyloidiasis)

เมื่อได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง พยาธิสตรองจิลอยด์ที่อยู่ในร่างกายของผู้ป่วยจะค่อย ๆ ถูกกำจัดออกไป ส่งผลให้มีอาการดีขึ้นตามลำดับ แต่ในกรณีที่ผู้ป่วยติดเชื้อพยาธิชนิดนี้อย่างรุนแรงหรือผู้ป่วยมีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายได้ เช่น

  • โรคปอดบวมจากการติดเชื้อพยาธิ เป็นภาวะที่พยาธิเข้าสู่ปอดและทำให้เม็ดเลือดขาวชนิดอีโอซิโนฟิล (Eosinophils) ซึ่งมีหน้าที่ในการกำจัดพยาธิหรือปรสิตออกจากร่างกายเพิ่มปริมาณขึ้นที่บริเวณปอด ทำให้เกิดภาวะปอดบวมตามมา  
  • โรคขาดสารอาหาร การติดเชื้อพยาธิชนิดนี้ส่งผลให้ลำไส้ดูดซึมสารอาหารได้ไม่เต็มที่ ส่งผลให้ร่างกายได้รับสารอาหารไม่เพียงพอจนเกิดโรคขาดสารอาหารได้ในที่สุด
  • การติดเชื้อที่แพร่กระจายไปทั่วร่างกาย หากผู้ป่วยมีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ พยาธิสตรองจิลอยด์อาจแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น ๆ ในร่างกายและก่อให้เกิดอาการปวดท้อง ช็อก เกิดภาวะแทรกซ้อนเกี่ยวกับปอดหรือระบบประสาท หรือเกิดภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดที่เป็นอันตรายถึงชีวิตได้

การป้องกันพยาธิเส้นด้าย (Strongyloidiasis)

โรคพยาธิสตรองจิลอยด์ป้องกันได้ด้วยการรักษาความสะอาด และดูแลสุขอนามัยของตัวเองให้ดีอยู่เสมอ เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ โดยเริ่มจากการใช้ห้องน้ำอย่างถูกสุขลักษณะ หลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงต่าง ๆ เช่น การเดินเท้าเปล่าบนพื้นดิน การสัมผัสกับของเสียหรือสิ่งปฏิกูล โดยเฉพาะในพื้นที่ที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อพยาธิ นอกจากนี้ หน่วยงานทางสาธารณสุขในพื้นที่ควรให้ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันโรคพยาธิอย่างถูกวิธีแก่คนในชุมชนด้วย