ทำงานหนักเกินไป รับมืออย่างไรไม่ให้เสียสุขภาพ

การทำงานสำคัญกับชีวิตของคนเราเป็นอย่างมาก เพราะเป็นที่มาของรายได้และอาจเป็นแรงผลักดันในการใช้ชีวิตของใครหลายคนอีกด้วย แต่การทำงานหนักเกินไปโดยไม่จัดสรรเวลาให้เหมาะสม อาจทำให้ประสิทธิภาพการทำงานลดลง และส่งผลกระทบต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตในระยะยาวได้

ผลการศึกษาหลายชิ้นระบุว่า การทำงานหนักต่อเนื่องเป็นเวลาหลายชั่วโมงอาจเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดความเครียด ปัญหาด้านการนอนหลับ โรคหลอดเลือดหัวใจ และอาจนำไปสู่พฤติกรรมที่ทำลายสุขภาพ อย่างการดื่มแอลกอฮอล์และการสูบบุหรี่ การจัดลำดับความสำคัญของงานและบริหารเวลาจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้คุณปรับสมดุลระหว่างการทำงานงานและการใช้ชีวิตในแต่ละวันได้

ทำงานหนักเกินไป รับมืออย่างไรไม่ให้เสียสุขภาพ

ทำงานหนักส่งผลเสียต่อสุขภาพอย่างไรบ้าง 

การทำงานหนักอย่างต่อเนื่องในช่วงแรกอาจไม่ส่งผลกระทบชัดเจนต่อสุขภาพมากนัก แต่อาจทำให้เกิดอาการปวดเมื่อยตามร่างกายและมีเวลาพักผ่อนน้อยลง ซึ่งการพักผ่อนไม่เพียงพอมักทำให้รู้สึกอ่อนเพลียและประสิทธิภาพการทำงานลดลง เช่น ทำงานไม่ทันตามกำหนด คุณภาพของงานลดลง และเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุหรือความผิดพลาดในการทำงาน เป็นต้น

ความเครียดเรื้อรังเป็นอีกปัญหาหนึ่งที่พบได้บ่อยจากการทำงาน โดยมักเกิดจากปริมาณงานที่มากเกินไปหรือได้รับมอบหมายให้ทำงานที่ยากเกินความสามารถ ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะหมดไฟในการทำงาน (Burnout) ภาวะวิตกกังวล นอนไม่หลับ ความดันโลหิตสูง และอาจทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายอ่อนแอลง นอกจากนี้ ยังอาจเพิ่มความเสี่ยงของโรคอ้วน โรคหัวใจ และโรคซึมเศร้าด้วย

ในบางกรณี การทำงานหนักอาจนำไปสู่พฤติกรรมที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ เช่น การไม่ออกกำลังกาย การสูบบุหรี่ และการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยผู้ที่ทำงานมากกว่า 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์มีแนวโน้มดื่มแอลกอฮอล์เพื่อผ่อนคลายความเครียดในปริมาณมากกว่าคนทั่วไป

เทคนิคปรับพฤติกรรมสำหรับคนชอบทำงานหนัก

การปรับพฤติกรรมในการทำงานอาจเป็นเรื่องยากสำหรับหลายคนที่ทำงานหนักเป็นนิสัย จึงอาจเริ่มปรับที่ละน้อยโดยใช้วิธีการเหล่านี้

  • จัดลำดับความสำคัญของงาน โดยจดบันทึกสิ่งที่ต้องทำในแต่ละวันลงในกระดาษโน้ตหรือโทรศัพท์มือถือที่สามารถเห็นได้ชัดเจน และเรียงลำดับการทำงานตามความสำคัญของงาน ซึ่งควรเริ่มทำงานที่เร่งด่วนและมีความสำคัญมากที่สุดก่อน
  • แบ่งเวลาการทำงานและการใช้ชีวิตให้ชัดเจน เช่น ไม่ตรวจเช็กอีเมลหรือรับโทรศัพท์เรื่องงานหลังเวลาเลิกงานโดยไม่จำเป็น จะช่วยลดความเครียดจากการทำงานนอกเวลาและช่วยให้เราใช้เวลาพักผ่อนได้เต็มที่มากขึ้น
  • กำหนดเวลาพักระหว่างการทำงาน การทำงานต่อเนื่องหลายชั่วโมงมักทำให้รู้สึกปวดเมื่อยและเหนื่อยล้า การลุกขึ้นเดินเปลี่ยนอิริยาบถ และออกไปรับประทานอาหารกลางวันข้างนอกแทนการรับประทานอาหารที่โต๊ะทำงาน จะช่วยให้กลับมาทำงานต่อได้กระปรี้กระเปร่าและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
  • ดูแลตัวเองอย่างสม่ำเสมอด้วยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายเป็นประจำ ใช้เวลาพักผ่อนในวันหยุดสุดสัปดาห์ เช่น ทำงานอดิเรกที่ชอบ ใช้เวลาอยู่กับคนในครอบครัว และนัดพบปะพูดคุยกับเพื่อน เป็นต้น
  • ผ่อนคลายความเครียดด้วยกิจกรรมที่ชื่นชอบ อย่างการฝึกสมาธิ เล่นโยคะ และจดบันทึกความรู้สึกในแต่ละวัน 
  • ควรงดสูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และคาเฟอีน โดยเฉพาะช่วงก่อนนอน เพราะอาจทำให้นอนหลับได้ยากขึ้น
  • พูดคุยกับหัวหน้างานหรือฝ่ายบุคคลให้ชัดเจนเมื่อมีปัญหาในการทำงาน เช่น ได้รับมอบหมายงานจำนวนมากเกินไปหรือเนื้องานยากเกินความสามารถ ทำให้ไม่สามารถส่งงานตามกำหนดได้ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเพื่อนร่วมงานหรือองค์กร เป็นต้น

การทำงานหนักไม่เพียงแต่ส่งผลเสียต่อหน้าที่การงานและความสัมพันธ์กับผู้อื่น แต่อาจเป็นปัจจัยทำลายสุขภาพกายและสุขภาพจิตในระยะยาวได้ การบริหารเวลาการทำงานและการใช้ชีวิตให้สมดุล และจัดลำดับความสำคัญของงานจะช่วยให้คุณทำงานที่รักได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยไม่เสียสุขภาพ ทั้งนี้ หากรู้สึกเครียด วิตกกังวล หรือมีปัญหาด้านการนอนหลับ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับคำแนะนำอย่างเหมาะสม