ทำความรู้จักโรคฝันกลางวัน ภาวะของการหลุดเข้าสู่โลกแห่งจินตนาการ

โรคฝันกลางวัน (Maladaptive Daydreaming) เป็นภาวะที่ทำให้เกิดการฝันกลางวันเป็นประจำ โดยผู้ที่มีอาการจะจินตนาการเรื่องต่าง ๆ และเห็นเป็นภาพชัดเจนราวกับเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นจริง อาการเหม่อลอยอาจรุนแรงจนทำให้ผู้ป่วยหลุดเข้าสู่จินตนาการและหยุดทำกิจกรรมที่ทำอยู่ จึงส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตและปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง

อาการของโรคฝันกลางวันมักเกิดขึ้นหลังจากการรับรู้เรื่องราวต่าง ๆ ผ่านบทสนทนา การมองดูรูปภาพ หรือการชมภาพยนตร์ โดยพบว่าอาจเกี่ยวข้องกับประสบการณ์ในวัยเด็กและความผิดปกติทางจิตที่เป็นอยู่ แม้ว่าโรคฝันกลางวันจะไม่ได้จัดเป็นโรคทางจิตเวช แต่ก็ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตอย่างมาก บทความนี้ได้รวบรวมอาการและวิธีรับมือกับภาวะนี้มาฝากกัน

Young,Asian,Employee,Sit,With,Absent-minded,In,The,Office,On

อาการแบบใดที่เข้าข่ายโรคฝันกลางวัน

การเหม่อลอยคิดถึงเรื่องอื่นเป็นครั้งคราวเป็นเรื่องปกติที่หลายคนเคยเป็น แต่ผู้ที่เป็นโรคฝันกลางวันจะมีอาการเหม่อลอยที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง รุนแรง และยาวนานกว่าคนทั่วไป ผู้ที่เป็นโรคฝันกลางวันอาจมีอาการต่าง ๆ เช่น

  • ฝันกลางวันเห็นภาพอย่างชัดเจนคล้ายกับการดูภาพยนตร์ โดยอาจเห็นภาพตัวละคร ฉาก โครงเรื่อง และรายละเอียดอื่น ๆ
  • การฝันกลางวันเกิดขึ้นเมื่อถูกกระตุ้นจากเหตุการณ์ในชีวิตประจำวันหรือสิ่งกระตุ้นอื่น ๆ
  • ฝันกลางวันเป็นเวลานาน บางครั้งอาจยาวนานหลายชั่วโมง
  • หลงใหลการฝันกลางวัน และอยากให้ความฝันเกิดขึ้นต่อแม้จะมีสิ่งที่รบกวนหรือดึงตัวเองออกจากการฝันกลางวัน
  • แสดงสีหน้า พูดคนเดียว และมีพฤติกรรมซ้ำ ๆ ขณะฝันกลางวันโดยไม่รู้ตัว เช่น เดินวนไปมา โยนของ หรือหมุนสิ่งที่อยู่ใกล้มือ
  • ขาดปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างขณะที่ฝันกลางวันอยู่
  • ไม่สามารถจดจ่อกับการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันอย่างการเรียนและการทำงานได้
  • มีปัญหาด้านการนอนหลับ

อาการของโรคฝันกลางวันอาจคล้ายกับโรคจิตเภท (Schizophrenia) ผู้ที่มีอาการฝันกลางวันมักรู้ตัวตลอดว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในหัวเป็นเพียงความฝันที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริง แต่ก็ไม่สามารถควบคุมอาการได้ คล้ายกับมีพฤติกรรมเสพติด (Behavioral Addictions) เช่น ติดเกม ส่วนผู้ป่วยโรคจิตเภทจะไม่สามารถแยกแยะได้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องจริงหรือแค่จินตนาการ

โรคฝันกลางวันเกิดจากอะไร

แม้จะยังไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจนของโรคฝันกลางวัน แต่พบว่าผู้ที่มีอาการส่วนใหญ่มักเหม่อลอยและหลุดเข้าไปในโลกที่ตัวเองจินตนาการขึ้นเมื่อถูกกระตุ้นจากปัจจัยต่าง ๆ เช่น การมองเห็นรูปภาพ วิดีโอ การพูดคุยกับคนอื่น รวมทั้งการได้กลิ่นบางอย่าง ซึ่งอาจกระตุ้นให้เกิดอาการของโรคฝันกลางวันได้เช่นกัน

โรคฝันกลางวันไม่ได้จัดเป็นโรคทางจิตเวชตามเกณฑ์ของคู่มือการวินิจฉัยและสถิติสำหรับความผิดปกติทางจิต (Diagnostic and Statistical Manual of Mental Disorders: DSM) แต่สันนิษฐานว่าโรคทางจิตอื่นที่ผู้ป่วยเป็นอยู่ เช่น โรควิตกกังวล โรคซึมเศร้า โรคสมาธิสั้น (ADHD) หรือโรคย้ำคิดย้ำทำ (Obsessive Compulsive Disorder) มีส่วนทำให้เกิดอาการของโรคฝันกลางวัน

โรคฝันกลางวันอาจพบในผู้ที่เคยเจอเหตุการณ์อันเลวร้ายในวัยเด็ก เช่น การถูกทำร้ายร่างกายและจิตใจ การถูกทอดทิ้งจากคนในครอบครัว ความโดดเดี่ยวจากการไม่มีเพื่อน การฝันกลางวันจึงเป็นวิธีการตอบสนองต่อความเจ็บปวดนั้นเพื่อหลีกหนีจากโลกแห่งความจริงที่โหดร้าย โดยการเข้าไปอยู่ในโลกแห่งความฝันที่มีความสุขและปลอดภัยกว่า

นอกจากนี้ โรคฝันกลางวันอาจเกิดจากสาเหตุอื่น เช่น เป็นวิธีแก้เบื่อหรือแก้เหงา หลีกหนีจากโรคกลัวการเข้าสังคม (Social Anxiety) และทำให้ความหวังหรือความต้องการบางอย่างที่ไม่สามารถทำได้ในชีวิตจริงสำเร็จ

โรคฝันกลางวันมีวิธีตรวจและรักษาอย่างไร

เนื่องจากโรคฝันกลางวันไม่ได้จัดเป็นโรคทางจิตเวช จึงไม่มีวิธีวินิจฉัยที่ชัดเจน แต่แพทย์อาจใช้การทดสอบต่าง ๆ เพื่อวินิจฉัยอาการ เช่น

  • การใช้ 16-Item Maladaptive Daydreaming Scale (MDS-16) ซึ่งเป็นแบบทดสอบที่แบ่งออกเป็น 16 ข้อ เพื่อให้ผู้ป่วยประเมินอาการ ความถี่ และความรุนแรงของโรคที่พบ
  • การสัมภาษณ์ทางคลินิกแบบมีโครงสร้างสำหรับโรคฝันกลางวัน (Structured Clinical Interview for Maladaptive Daydreaming: SCIMD) ช่วยในการประเมินและวินิจฉัยอาการของผู้ป่วย
  • การตรวจโรคทางจิตเวชอื่น ๆ เช่น โรคย้ำคิดย้ำทำ โรคสมาธิสั้น และโรคหลายบุคลิก (Dissociative Identity Disorder) ที่อาจทำให้เกิดอาการของโรคฝันกลางวัน

โรคฝันกลางวันไม่มีวิธีการรักษาเฉพาะ แต่อาจบำบัดด้วยการให้คำปรึกษา (Counseling Therapy) โดยเฉพาะผู้ที่เคยประสบเหตุการณ์อันเลวร้ายมาก่อน เช่น การบำบัดความคิดและพฤติกรรม (Cognitive Behavioral Therapy) การฝึกสติและสมาธิ

นอกจากนี้ ในกรณีศึกษาหนึ่งพบว่า การให้ผู้ป่วยที่มีโรคทางจิตเวชอย่างโรคย้ำคิดย้ำทำรับประทานยาฟลูวอกซามีน (Fluvoxamine) อาจช่วยรักษาอาการของโรคฝันกลางวันให้ดีขึ้นได้

ในปัจจุบัน การรักษาโรคฝันกลางวันจะเน้นที่การปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต เพื่อลดการเกิดอาการและช่วยให้ผู้ป่วยนอนหลับได้ดีขึ้น โดยอาจใช้วิธีต่าง ๆ ดังนี้

  • นั่งสมาธิและฝึกสติ
  • จดบันทึกความรู้สึกและอาการในแต่ละวัน
  • สังเกตตัวเองและหลีกเลี่ยงปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดอาการ เช่น หากมีอาการฝันกลางวันหลังจากดูภาพยนตร์เรื่องหนึ่ง ควรหลีกเลี่ยงการดูหรือพูดคุยเกี่ยวกับภาพยนตร์เรื่องดังกล่าว
  • ฝึกวินัยการนอนหลับ เช่น นอนหลับให้เพียงพอโดยเข้านอนและตื่นนอนให้เป็นเวลา ทำกิจกรรมที่ทำให้รู้สึกผ่อนคลายก่อนเข้านอน รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายเป็นประจำ
  • ปลุกตัวเองให้สดชื่นในช่วงกลางวันด้วยการออกไปรับแสงแดดอ่อน ๆ ดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนเพียงเล็กน้อย ไม่เกินวันละ 400 มิลลิกรัม และงดดื่มก่อนเข้านอนอย่างน้อย 6 ชั่วโมง เพราะอาจทำให้นอนไม่หลับได้
  • ชื่นชมและให้กำลังใจตัวเองเมื่อควบคุมอาการฝันกลางวันได้ดีขึ้น
  • พูดคุยกับคนที่ไว้ใจ เช่น เพื่อนสนิทและคนในครอบครัว เพราะการบอกเล่าอาการกับคนที่สามารถรับฟังเราได้อาจช่วยให้เรารู้สึกสบายใจขึ้น

โรคฝันกลางวันอาจไม่ได้จัดเป็นโรคทางจิตเวช แต่อาจรุนแรงจนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตได้ ไม่ว่าจะเป็นการเรียน การทำงาน และความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง หากสังเกตว่าตัวเองมีอาการของโรคฝันกลางวันที่ทำให้มีปัญหาในการนอนหลับและการใช้ชีวิตประจำวัน ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุและรับการรักษา เพราะนอกจากจะเป็นโรคฝันกลางวันแล้ว อาการต่าง ๆ อาจเป็นสัญญาณของโรคจิตเวชอื่นได้