-
อายุ 52 ปี เพศหญิง เป็นเบาหวาน มีอาการง่วงนอนระหว่างวัน มึนหัวหลังจากตื่นนอนตอนกลางวันและตื่นนอนตอนเช้า เสี่ยงเป็นอะไร
-
Dec 10, 2022 at 11:01 AM
อายุ 52 ปี เพศหญิง มีโรคประจำตัวคือเบาหวาน มีอาการง่วงนอนระหว่างวัน และมีอาการมึนหัวหลังจากตื่นนอนตอนกลางวัน และมึนหัวหลังตื่นนอนตอนเช้า เสี่ยงเป็นโรคร้ายแรงใดบ้างไหมคะ
Dec 10, 2022 at 12:03 PM
สวัสดีค่ะ คุณ SWT40,
อาการมึนหัวหลังตื่นนอน หากไม่ได้เวียนหัวแบบบ้านหมุน อาจเกิดจากสาเหตุ เช่น
- การเปลี่ยนท่าทางเร็วไป เช่น นั่งหรือนอนอยู่แล้วลุกขึ้นทันที
- ร่างกายขาดน้ำ เช่น ดื่มน้ำน้อย เสียเหงื่อมาก
- มีภาวะโลหิตจาง ภาวะเกร็ดเลือดสูง
- เป็นอาการในช่วงวัยก่อนหมดประจำเดือน
- จากการมีความเครียด วิตกกังวล
แต่หากมีอาการเวียนหัวแบบบ้านหมุน (vertigo) สาเหตุอาจเกิดจาก
- โรคของหู เช่น ตะกอนหินปูนในหูชั้นในหลุด (BPPV) โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน (Meniere's Disease) หูชั้นในอักเสบ (labyrinthitis) การใช้ยาบางชนิดที่มีผลต่อระบบประสาททรงตัวในหูชั้นใน เป็นต้น
- เนื้องอกของเส้นประสาทหู (vestibular schwannoma)
- เนื้องอกในสมอง
- ความผิดปกติของระบบไหลเวียนโลหิตที่ทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองรวมถึงระบบประสาททรงตัวไม่พอ โดยจะเกิดในผู้ที่มีไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง สูบบุหรี่ เป็นเบาหวาน หัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคกระดูกคอเสื่อม เป็นต้น
ส่วนการนอนกลางวันนั้น ควรนอนให้อยู่ในช่วงเวลา 10-30 นาที หากหลับเกินกว่า 30 นาที อาจทำให้เกิดความเหนื่อยล้าหลังจากงีบหลับแทนที่จะสดชื่น และอาจทำให้ปวดหัว มึนหัวได้ นอกจากนี้ การนอนเป็นเวลานานเกินไป อาจทำให้ไม่ง่วงในช่วงกลางคืน รบกวนการนอนหลับในช่วงกลางคืนได้ และไม่ควรนอนหลังจากเวลาบ่าย 3 โมง เพราะอาจทำให้ความอยากนอนในช่วงเวลากลางคืนลดลงได้ ซึ่งช่วงเวลาที่ดีที่สุดสำหรับการนอนกลางวัน คือ ช่วงเวลาบ่าย 2 หรือบ่าย 3 โมง
ดังนั้น หากนอนหลับกลางวันนานเกินไป ก็อาจมีส่วนที่ทำให้เกิดอาการเวียนหัว จึงควรปรับลดเวลานอนกลางวันลงด้วย นอกจากนี้ ก็ควรดื่มน้ำเยอะๆ เปลี่ยนท่าเวลานั่งหรือนอนช้าๆ หมั่นออกกำลังกายสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และคาเฟอีน เป็นต้น หากยังคงมีอาการมึนหัวบ่อยๆ ก็ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุเพิ่มเติมค่ะ
-
ถามแพทย์
-
อายุ 52 ปี เพศหญิง เป็นเบาหวาน มีอาการง่วงนอนระหว่างวัน มึนหัวหลังจากตื่นนอนตอนกลางวันและตื่นนอนตอนเช้า เสี่ยงเป็นอะไร