ปัญหาสุขภาพจิตอย่างความเครียดและวิตกกังวลของผู้คนในสังคมยังคงเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากสถานการณ์ของโควิด-19 (COVID-19) ยังไม่คลี่คลายดีนัก อีกทั้งยังต้องเผชิญกับแรงกดดันด้านอาชีพการงาน การเงิน ปัญหาครอบครัว รวมไปถึงการกักตัวอยู่ที่บ้านเป็นเวลานาน ก็อาจทำให้เกิดปัญหาด้านจิตใจรุนแรงขึ้นได้ เช่น ตัดขาดจากสังคม พึ่งพาสารเสพติด หรือทำร้ายตัวเอง จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องดูแลสุขภาพจิตให้ดีไม่แพ้กับการดูแลสุขภาพทางกาย
ความไม่สบายใจ เครียด กังวล หรือโดดเดี่ยวนั้นเกิดขึ้นได้กับทุกคน ไม่เฉพาะกับผู้ที่เข้าข่ายหรือตรวจพบการติดเชื้อไวรัสเท่านั้น เพราะคนส่วนใหญ่หลีกเลี่ยงการแพร่กระจายของเชื้อโดยการเลือกที่จะกักตัวอยู่ที่บ้าน ซึ่งความรู้สึกไม่มั่นคงและหวาดกลัวนี้เองทำให้เกิดปัญหาสุขภาพจิตและอาจส่งผลต่อสุขภาพร่างกายโดยรวม บทความนี้ได้รวบรวมวิธีการดูแลจิตใจให้แข็งแรงในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มาฝากกัน
สุขภาพจิตส่งผลต่อสุขภาพกายได้อย่างไร
ความเครียดและความวิตกกังวลเป็นกลไกการตอบสนองของร่างกายโดยธรรมชาติเมื่อเจอสถานการณ์กระตุ้นหรือบีบคั้น ซึ่งความเครียดที่เกิดขึ้นเพียงชั่วคราวอาจไม่มีผลกระทบต่อร่างกายมากนัก แต่หากเกิดความเครียดสะสมในระยะยาว อย่างความวิตกกังวลต่อสถานการณ์โควิด-19 อาจส่งผลกระทบต่อร่างกายได้ ทั้งเรื่องการนอน การรับประทานอาหาร หรือนำไปสู่การใช้สารเสพติดและดื่มแอลกอฮอล์มากขึ้น
นอกจากนี้ ความเครียดอาจทำให้อาการผิดปกติทางจิตหรือโรคประจำตัวบางประเภทแย่ลงได้ เช่น ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ แผลในกระเพาะอาหาร โรคสะเก็ดเงิน และโรคผิวหนังอักเสบ (Eczema) ดังนั้น นอกจากการป้องกันการติดเชื้อไวรัสโคโรนาด้วยการล้างมือและหลีกเลี่ยงการสัมผัสติดต่อกับผู้อื่นแล้ว การดูแลสุขภาพจิตนับเป็นสิ่งที่ต้องใส่ใจเช่นกัน โดยเฉพาะผู้ที่มีความเครียดหรือกังวลได้ง่าย
4 วิธีดูแลสุขภาพจิตให้แข็งแรง
วิธีการเหล่านี้อาจช่วยให้คุณมีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่แข็งแรงพร้อมรับมือกับโรคโควิด-19 ได้ดียิ่งขึ้น
1. รักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง
หมั่นดูแลสุขภาพทั้งร่างกายให้แข็งแรงอย่างสม่ำเสมอด้วยวิธีต่อไปนี้
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันและน้ำตาลสูง รวมถึงหลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ โดยควรเข้านอนให้เป็นเวลาทุกวัน หลีกเลี่ยงการใช้โทรศัพท์มือถือหรือคอมพิวเตอร์ก่อนนอน และจัดบรรยากาศในห้องนอนให้เอื้อต่อการนอนหลับได้ดี
- ออกกำลังกายเป็นประจำ โดยอาจออกกำลังในบ้านหรืออาจชวนคนในครอบครัวออกไปเดินเล่น วิ่ง หรือขี่จักรยาน แต่ควรรักษาระยะห่างจากผู้อื่นอย่างน้อย 2 เมตร เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส
- หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การใช้สารเสพติด หรือการสูบบุหรี่ที่ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพในระยะยาวโดยเฉพาะโรคปอด ซึ่งจะทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสโคโรนาง่ายขึ้น
2. ผ่อนคลายจิตใจด้วยกิจกรรมที่สร้างสรรค์
จัดสรรเวลาพักผ่อนในแต่ละวันอย่างเหมาะสม โดยอาจการทำกิจกรรมหรืองานอดิเรกที่ชอบ เช่น อ่านหนังสือ ฟังเพลง วาดรูป เล่นดนตรี ทำสมาธิ เล่นโยคะ หรือชวนคนในครอบครัวมาทำกิจกรรมร่วมกันที่บ้าน เพื่อช่วยผ่อนคลายจิตใจและทำให้การอยู่บ้านไม่น่าเบื่อจนเกินไป
นอกจากนี้ อาจใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ด้วยการหาความรู้เพิ่มเติมผ่านการเรียนออนไลน์ เช่น หลักสูตรสอนภาษา วิชาการตลาดเบื้องต้น หรือการสอนวิธีการดูแลสุขภาพให้แข็งแรง เป็นต้น ซึ่งนอกจากจะช่วยฆ่าเวลาได้ดีแล้ว ยังเป็นโอกาสที่จะได้ฝึกฝนทักษะใหม่ ๆ หรือต่อยอดความรู้ความสนใจที่มีอยู่ให้มากขึ้น โดยบางเว็บไซต์อาจไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมอีกด้วย
3. เสพข่าวสารเท่าที่จำเป็น
ในช่วงที่สื่อนำเสนอข่าวสารการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง การได้รับข้อมูลข่าวสารในปริมาณมากอาจทำให้เกิดความเครียดและความวิตกกังวลมากขึ้น จึงควรจำกัดเวลาการอ่าน ฟัง หรือดูข่าวจากสื่อต่าง ๆ ในแต่ละวัน และอาจปิดการแจ้งเตือนข่าวสารจากอินเทอร์เน็ต เพื่อไม่ให้เกิดความวิตกกังวลมากเกินไป
ทั้งนี้ ข้อมูลที่เผยแพร่ตามสื่อต่าง ๆ อาจมีทั้งข้อมูลที่เป็นความจริงและข้อมูลที่ยังไม่มีหลักฐานที่น่าเชื่อถือเพียงพอ จึงควรเลือกรับข้อมูลข่าวสารจากแหล่งที่มาที่น่าเชื่อถือได้เกี่ยวกับโรคโควิด-19 โดยตรง เช่น กระทรวงสาธารณสุข องค์การอนามัยโลก (WHO) ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐอเมริกา (CDC) หรือหน่วยงานภาครัฐอื่น ๆ นอกจากนี้ ไม่ควรส่งต่อข้อมูลข่าวสารที่ไม่ทราบแหล่งที่มาชัดเจนไปยังผู้อื่น เนื่องจากอาจทำให้เกิดการเข้าใจผิดและความตื่นตระหนกในวงกว้างได้
4. ติดต่อกับผู้อื่นบ้าง
แม้ว่ามาตรการรักษาระยะห่างทางสังคมอาจทำให้การนัดพบปะเพื่อนหรือคนรู้จักทำกิจกรรมร่วมกันทำได้ยากกว่าปกติ แต่การรักษาความสัมพันธ์ระหว่างกันถือเป็นเรื่องสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการพูดคุยทางโทรศัพท์ วิดีโอคอล หรือผ่านโปรแกรมแชทออนไลน์ เพื่อสื่อสารกับคนในครอบครัว เพื่อนสนิท หรือเพื่อนร่วมงานเมื่อรู้สึกเหงาหรือกังวล ก็อาจช่วยลดความรู้สึกไม่สบายใจขณะที่ไม่ได้พบปะกันได้
แม้จะต้องใช้ชีวิตอยู่ที่บ้านเป็นเวลานานกว่าที่เคยเป็น แต่ไม่ควรตื่นตระหนกหรือวิตกกังวลจนเกินไป พร้อมทั้งควรดูแลสุขภาพร่างกายและจิตใจให้แข็งแรงในทุกวัน หากมีความเครียดหรือวิตกกังวลรุนแรงจนส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น นอนไม่หลับ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้นหรือใช้สารเสพติด ควรปรึกษาแพทย์หรือนักจิตวิทยาเพื่อช่วยเยียวยาปัญหาอย่างถูกวิธี