ท่อน้ำตาอุดตัน (Nasolacrimal Duct Obstruction)

ความหมาย ท่อน้ำตาอุดตัน (Nasolacrimal Duct Obstruction)

ท่อน้ำตาอุดตัน (Nasolacrimal Duct Obstruction) เป็นภาวะที่ท่อน้ำตาเกิดการอุดตันบางส่วนหรือทั้งหมด ส่งผลให้มีอาการคันตา ระคายเคืองตา น้ำตาเอ่อหรือคลอเบ้า และอาจเกิดการติดเชื้อที่ตาตามมา ผู้ป่วยอาจหายได้เองหรืออาจจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาที่เหมาะสมเพื่อบรรเทาอาการต่าง ๆ อย่างถูกวิธี  

โดยทั่วไป ท่อน้ำตาอุดตันพบได้ในเด็กทารกแต่มักหายดีได้เองภายในหนึ่งปี สำหรับผู้ใหญ่ปัญหานี้อาจเกิดขึ้นได้เช่นกัน โดยอาจเป็นผลมาจากปัจจัยต่าง ๆ เช่น การบาดเจ็บ การติดเชื้อ รวมถึงปัจจัยที่พบได้ยากอย่างเนื้องอก

ท่อน้ำตาอุดตัน (Nasolacrimal Duct Obstruction)

อาการของท่อน้ำตาอุดตัน

ท่อน้ำตาอุดตันมักส่งผลให้ผู้ป่วยน้ำตาไหลมากผิดปกติหรือมีน้ำตาคลอเบ้า ร่วมกับอาการอื่น ๆ เช่น มองเห็นเป็นภาพเบลอ มีขี้ตามาก มีคราบหรือสะเก็ดบริเวณเปลือกตา ตาแดง บวมแดงบริเวณมุมตาหรือรอบดวงตาและจมูก เกิดการติดเชื้อหรืออักเสบซ้ำที่ตา เป็นต้น  

ทั้งนี้ การสัมผัสอากาศเย็น แดดจัด หรือลม รวมถึงมีปัญหาสุขภาพอย่างไข้หวัดหรือการติดเชื้อที่โพรงไซนัสอาจทำให้ผู้ป่วยท่อน้ำตาอุดตันมีอาการแย่ลงได้

หากผู้ป่วยมีน้ำตาไหลติดต่อกันเป็นเวลาหลายวัน หรือเกิดการติดเชื้อที่ดวงตาซ้ำ ๆ ควรไปพบแพทย์ เพื่อตรวจวินิจฉัยอย่างถี่ถ้วน เพราะอาการดังกล่าวอาจเป็นผลมาจากเนื้องอกกดทับท่อน้ำตา หรือในกรณีที่มีไข้ร่วมด้วยอาจเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย

สาเหตุของท่อน้ำตาอุดตัน

ปกติแล้วต่อมน้ำตาที่อยู่บริเวณเหนือเปลือกตาแต่ละข้างจะทำหน้าผลิตน้ำตาออกมาช่วยหล่อเลี้ยงดวงตา เพิ่มความชุ่มชื้นที่ดวงตา และช่วยปกป้องดวงตาจากสิ่งแปลกปลอมต่าง ๆ จากนั้นน้ำตาจะถูกระบายออกไปยังรูเปิดเล็ก ๆ บริเวณมุมเปลือกตาชั้นบนและชั้นล่าง ไหลเข้าสู่ถุงน้ำตา ท่อน้ำตา และจมูกตามลำดับ โดยน้ำตาจะระเหยไปหรือถูกดูดซึมกลับเข้าสู่ร่างกายเมื่อมาถึงบริเวณจมูก   

สำหรับผู้ป่วยท่อน้ำตาอุดตันอาจเกิดการอุดตันในระบบน้ำตาได้ทั้งรูเปิดที่มุมตาไปจนถึงจมูก ส่งผลให้น้ำตาไม่อาจระบายได้ตามปกติจนมีอาการน้ำตาคลอเบ้าหรือน้ำตาเอ่อ ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากปัจจัยที่แตกต่างกันไป อาทิ

  • ระบบน้ำตาที่ยังเจริญเติบโตได้ไม่เต็มที่หรือความผิดปกติของท่อน้ำตาตั้งแต่กำเนิด โดยจะมีเนื้อเยื่อบาง ๆ ปิดกั้นระหว่างท่อน้ำตาและโพรงจมูก ทำให้น้ำตาระบายออกไม่ได้
  • รูเปิดบริเวณมุมเปลือกตาตีบแคบลงเนื่องจากอายุที่มากขึ้น 
  • การติดเชื้อหรือการอักเสบบริเวณดวงตา ระบบน้ำตา หรือจมูก เช่น เยื่อบุตาอักเสบหรือริดสีดวงจมูก  
  • อาการบาดเจ็บบริเวณใบหน้าที่อาจส่งผลต่อการไหลหรือระบายน้ำตา เช่น กระดูกบริเวณใบหน้าได้รับความเสียหายหรือจมูกหัก เกิดแผลเป็นบริเวณระบบน้ำตา หรือมีสิ่งสกปรกอุดตันในท่อน้ำตา
  • ก้อนเนื้อบริเวณจมูกหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของระบบน้ำตา
  • การใช้ยาหยอดตาบางชนิดเป็นเวลานาน เช่น ยารักษาต้อหิน แต่มักพบได้น้อยมาก
  • ผลข้างเคียงจากการรักษาโรคมะเร็ง อย่างการทำเคมีบำบัดหรือรังสีรักษา

นอกจากนี้ ผู้ที่มีอายุมาก มีการอักเสบบริเวณดวงตาหรือจมูกเรื้อรัง เคยได้รับการผ่าตัดบริเวณดวงตา เปลือกตา จมูก หรือโพรงไซนัสมาก่อน ป่วยเป็นต้อหินหรือโรคตาที่รักษาด้วยยาหยอดตาเป็นเวลานาน มีพัฒนาการใบหน้าและกะโหลกศีรษะที่ผิดปกติอย่างผู้ป่วยดาวน์ซินโดรม หรือเคยเข้ารับการรักษาโรคมะเร็งโดยเฉพาะบริเวณใบหน้ามาก่อน อาจมีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดท่อน้ำตาอุดตันได้

การวินิจฉัยท่อน้ำตาอุดตัน

ในเบื้องต้นจักษุแพทย์จะสอบถามประวัติสุขภาพ อาการที่เกิดขึ้น ร่วมกับการตรวจระบบน้ำตา ดวงตา และภายในจมูกโดยการหยดสีย้อมชนิดพิเศษลงบนพื้นผิวดวงตาเพื่อตรวจวัดความเร็วในการระบายของเหลว หรือการล้างและแยงท่อน้ำตาเพื่อดูความสามารถในการระบายของเหลว และตรวจการอุดตันภายในท่อน้ำตา ซึ่งวิธีการนี้อาจเป็นการรักษาไปในตัวสำหรับผู้ป่วยบางราย

หากผู้ป่วยมีแนวโน้มของท่อน้ำตาอุดตันอาจต้องเข้ารับการตรวจเพิ่มเติม เช่น การเอกซ์เรย์ (X-ray) การทำซีทีสแกน (CT Scan) หรือการทำเอ็มอาร์ไอสแกน (MRI Scan) เพื่อหาจุดที่เกิดการอุดตันที่แน่ชัด โดยเฉพาะการอุดตันที่เกิดจากก้อนเนื้องอกหรือสิ่งอุดตันอื่น ๆ 

การรักษาท่อน้ำตาอุดตัน

แพทย์จะรักษาท่อน้ำตาอุดตันโดยพิจารณาจากสาเหตุการเกิดโรคของผู้ป่วยแต่ละคน ซึ่งอาจแนะนำวิธีการรักษาเดียวหรือหลายวิธีรวมกัน โดยจะมีทั้งการรักษาแบบไม่ผ่าตัดและแบบผ่าตัด

  • การใช้ยารักษา หากท่อน้ำตาอุดตันมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อแบคทีเรีย แพทย์อาจจ่ายยาปฏิชีวนะในรูปแบบยาเม็ดหรือยาหยอดตาให้แก่ผู้ป่วย 
  • การนวดถุงตา เป็นวิธีการนวดแบบพิเศษที่มักใช้ในผู้ป่วยที่เป็นเด็กทารก เพื่อเปิดเนื้อเยื่อบาง ๆ ที่ปิดกั้นการระบายน้ำตาจากท่อน้ำตาไปสู่โพรงจมูก ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้แม้ระบบน้ำตาของเด็กจะเจริญเติบโตอย่างเต็มที่แล้ว โดยแพทย์อาจแนะนำให้ผู้ปกครองนวดรอบเช้าและเย็น จำนวน 10 ครั้งต่อรอบ ครั้งละประมาณ 2–3 วินาที 
  • การเฝ้าดูอาการ หากผู้ป่วยได้รับบาดเจ็บที่ใบหน้าจนก่อให้เกิดท่อน้ำตาอุดตัน แพทย์อาจแนะนำให้ติดตามดูอาการประมาณ 2–3 เดือน เพราะหากอาการบาดเจ็บหรืออาการบวมทุเลาลง อาจส่งผลให้ท่อน้ำตากลับมาทำงานได้เป็นปกติ         
  • การขยาย แยง และล้างท่อน้ำตา จะใช้ในผู้ป่วยเด็กที่เนื้อเยื่อในท่อน้ำตายังคงปิดอยู่ และผู้ใหญ่ที่มีท่อน้ำตาอุดตันบางส่วนหรือรูเปิดที่มุมตาแคบลง โดยแพทย์จะทำการขยายรูเปิดที่มุมตา และสอดเครื่องมือขนาดเล็กเข้าไปในท่อน้ำตาจนถึงช่องจมูก จากนั้นอาจทำการชะล้างสิ่งอุดตันออกด้วยน้ำเกลือ  

ยังมีการรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ อีกที่อาจนำมาใช้หากการแยงท่อน้ำตาไม่ได้ผลหรือเกิดการอุดตันซ้ำ เช่น การใส่ท่อซิลิโคน (Intubation) คาไว้ที่รูเปิดบริเวณมุมตาเพื่อให้น้ำตาถูกระบายได้ตามปกติ และการสวนสายบอลลูน (Balloon Catheter Dilatation) ซึ่งการพองตัวของบอลลูนจะช่วยขยายท่อน้ำตาและกำจัดสิ่งอุดตันในบริเวณดังกล่าวได้

นอกจากนั้น การผ่าตัดอาจได้รับพิจารณาให้ใช้เป็นวิธีสุดท้ายหลังจากรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ แล้ว โดยจะเป็นการผ่าตัดเปิดเส้นทางระบายน้ำตาใหม่จากถุงน้ำตาไปสู่จมูก (Dacryocystorhinostomy) หรือจากรูเปิดที่มุมตาไปสู่จมูก (Conjunctivodacryocystorhinostomy) แทนเส้นทางเดิมอย่างท่อน้ำตาที่เกิดการอุดตัน โดยมีขดลวดหรือท่อซิลิโคนเป็นตัวเชื่อม

วิธีการผ่าตัดจะมีทั้งแบบมาตรฐานที่จะคงเหลือรอยแผลบริเวณข้างจมูกใกล้ถุงน้ำตาไว้ และการผ่าตัดแบบส่องกล้องที่ไม่ก่อให้เกิดรอยแผล แต่โอกาสผ่าตัดสำเร็จอาจน้อยกว่าและมีค่าใช้จ่ายสูงกว่า ในกรณีที่ท่อน้ำตาอุดตันเป็นผลจากก้อนเนื้องอก แพทย์จะผ่าตัดนำก้อนเนื้อออกหรือรักษาด้วยวิธีอื่นเพื่อให้ก้อนเนื้อฝ่อตัวลง       

ภาวะแทรกซ้อนของท่อน้ำตาอุดตัน

ท่อน้ำตาอุดตันนั้นทำให้น้ำตาไม่ถูกระบายออกไปอย่างที่ควรจะเป็น จึงส่งผลให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อโรค อย่างเชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย หรือเชื้อรา ซึ่งอาจเจริญเติบโตและเกิดการติดเชื้อหรือการอักเสบที่ตาหรือในส่วนอื่น ๆ ของระบบน้ำตา

ในผู้ป่วยเด็กยังอาจพบก้อนที่ไม่ก่อการอักเสบบริเวณมุมตา (Dacryocystocele) หรือเกิดถุงน้ำตาอักเสบ (Dacryocystitis) หากเกิดการติดเชื้อในท่อน้ำตาอย่างรุนแรงและลามไปยังเนื้อเยื่อรอบดวงตา ผู้ป่วยควรไปปรึกษาแพทย์เพื่อรับการรักษาโดยเร็ว   

การป้องกันท่อน้ำตาอุดตัน

ความเสี่ยงของท่อน้ำตาอุดตันจะลดลงได้หากหมั่นดูแลสุขภาพดวงตาและจมูกให้แข็งแรงอยู่เสมอ รวมถึงหยุดพฤติกรรมเสี่ยงที่อาจนำไปสู่การบาดเจ็บหรือการติดเชื้อที่ดวงตา 

โดยหมั่นล้างมือให้สะอาด พยายามไม่ขยี้ตาหรือสัมผัสตาแรง ๆ ไม่ใช้เครื่องสำอางสำหรับตาหรือยาหยอดตาร่วมกับผู้อื่น เปลี่ยนเครื่องสำอางสำหรับตาทุก ๆ 3–6 เดือน มีสติและระมัดระวังในการใช้ชีวิตอยู่เสมอ โดยเฉพาะผู้ที่เสี่ยงต่อการบาดเจ็บหรืออุบัติเหตุอย่างผู้ขับขี่ยานพาหนะและนักกีฬา 

หากผู้ป่วยมีปัญหาการติดเชื้อที่ดวงตาหรือจมูกก็ควรเข้ารับการรักษาตามที่แพทย์แนะนำอย่างเคร่งครัด เพราะการหายดีหรือหายขาดจากการติดเชื้อหรือการอักเสบได้เร็วอาจช่วยลดความเสี่ยงของท่อน้ำตาอุดตันในอนาคตเช่นกัน