ตัดเหงือก (Gum Contouring Surgery) หรือการปรับรูปร่างเหงือก เป็นวิธีรักษาทางทันตกรรมชนิดหนึ่งที่ช่วยแก้ปัญหาเกี่ยวกับเหงือก อย่างปัญหาเหงือกคลุมพื้นที่เยอะจนทำให้ฟันดูเล็ก หรือมีแนวเหงือกที่ไม่เสมอกัน เพื่อให้เหงือกดูเสมอกันมากขึ้น หรืออาจใช้ร่วมกับการรักษาอื่น เช่น การศัลยกรรมแก้ไขความยาวของฟัน (Crown Lengthening)
โดยส่วนใหญ่แล้ว การตัดเหงือกมักเป็นเพียงการรักษาที่ช่วยปรับความมั่นใจหรือบุคลิกภาพของผู้ป่วยเท่านั้น แต่ก็มีในบางกรณีเช่นกันที่ทันตแพทย์อาจใช้เพื่อรักษาผู้ป่วยบางคน เช่น ผู้ป่วยที่เป็นโรคปริทันต์ (Periodontal Disease) หรือภาวะเหงือกร่น โดยผู้ที่กำลังหาข้อมูลเกี่ยวกับการตัดเหงือกเพื่อนำไปประกอบการตัดสินใจอยู่ อาจลองศึกษาได้จากบทความนี้
ขั้นตอนการตัดเหงือก
ในปัจจุบัน ทันตแพทย์จะใช้วิธีการตัดแต่งเหงือกด้วยการใช้มีดผ่าตัด เลเซอร์ และรังสีศัลยกรรม ซึ่งทันตแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาวิธีที่เหมาะสมต่อผู้ป่วยแต่ละคนเป็นกรณีไป
โดยในเบื้องต้นจะเป็นการสร้างความเข้าใจระหว่างผู้ป่วยและทันตแพทย์ถึงเป้าหมายในการรักษา และทันตแพทย์จะให้ผู้ป่วยทำเอกซเรย์เพื่อประเมินสุขภาพฟันก่อนจะตรวจช่องปากโดยละเอียดอีกครั้ง เพื่อวางแผนขั้นตอนการรักษา เคลียร์ช่องปาก และกำหนดจุดผ่าตัด
เมื่อเริ่มขั้นตอน ทันตแพทย์จะกำหนดจุดที่เหงือกก่อนการผ่าตัด และใช้ยาชาที่บริเวณดังกล่าว จากนั้นจะใช้มีดผ่าตัดหรืออุปกรณ์เลเซอร์ตัดเหงือกที่เป็นส่วนเกินหรือบริเวณที่คลุมฟันออกบางส่วน และปรับรูปเหงือกให้เกิดความสมดุล
ทั้งนี้ ขั้นตอนมักจะเสร็จสิ้นในวันที่เข้ารับการรักษา ซึ่งใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง โดยไม่ต้องมีการนัดมาดูผลซ้ำอีกครั้ง
การดูแลหลังจากการตัดเหงือก
เนื่องจากการตัดเหงือกเป็นวิธีการรักษาที่ค่อนข้างมีความปลอดภัย ไม่ซับซ้อน ใช้เวลาไม่มาก และมักไม่ส่งผลให้เกิดความเจ็บปวด ผู้ป่วยส่วนใหญ่จึงสามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างเป็นปกติหลังจากผ่าตัดเสร็จ อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยบางรายก็อาจต้องพักผ่อนและงดทำกิจกรรมต่าง ๆ ประมาณ 1 สัปดาห์หรือจนหายดีก่อน
ทั้งนี้ ทันตแพทย์จะให้คำแนะนำถึงวิธีการปฏิบัติตัวในระหว่างการฟื้นฟู โดยมีวิธีดังต่อไปนี้
- หากเกิดอาการเจ็บปวด สามารถบรรเทาได้ด้วยยาแก้ปวดที่หาซื้อได้ตามร้านขายยา โดยควรปรึกษาทันตแพทย์ก่อนใช้ และไม่ควรใช้ยาแอสไพริน เพราะอาจทำให้แผลมีเลือดออกได้
- ในช่วงแรกของการฟื้นฟู ควรรับประทานอาหารที่ไม่แข็งจนเกินไป หรือรับประทานอาหารที่เย็น หลีกเลี่ยงอาหารรสจัดจนกว่าแผลจะหายดี
- ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของทันตแพทย์ เช่น วิธีการแปรงฟันในระหว่างที่แผลยังไม่หายดี
- หากพบว่ามีอาการบวมแดง หรือมีข้อสงสัยอื่น ๆ ควรแจ้งให้ทันตแพทย์ทราบ
ผลข้างเคียงจากการตัดเหงือก
ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการตัดเหงือกคือ การแพ้ยาชา หรือการติดเชื้อและอาการบวมที่ไม่รุนแรง แต่มีโอกาสเกิดได้น้อย หรือในกรณีที่ผู้ป่วยต้องตัดเอาเหงือกออกไปมาก อาจทำให้การฟื้นฟูหลังการผ่าตัดใช้ระยะเวลานานกว่าจะหายดี ซึ่งในระหว่างนั้นอาจมีความเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดอาการบวมได้ หรือบางรายพบว่าต้องกลับไปแก้ไขกับแพทย์ที่ให้การรักษาอีกครั้ง