กระ ปัญหาผิวที่รักษาและป้องกันได้

กระ (Freckles) เป็นจุดสีน้ำตาลอ่อนเล็ก ๆ หลายจุดที่เกิดขึ้นตามร่างกาย พบบ่อยบริเวณใบหน้า โดยอาจเกิดจากพันธุกรรม และการสัมผัสแสงแดดจัด โดยทั่วไปมักไม่เป็นอันตราย และไม่ก่อให้เกิดมะเร็ง แต่ลักษณะของสีผิวที่ไม่สม่ำเสมอนี้ก็ส่งผลต่อความสวยความงาม และสร้างความกังวลใจ

กระมีหลายประเภท บางประเภทอาจจางลงได้เมื่อไม่ได้สัมผัสแสงแดดหรือเมื่ออายุมากขึ้น แต่บางประเภทไม่สามารถหายได้เองและต้องรับการรักษา ซึ่งมีวิธีรักษาหลายวิธี เช่น การใช้ครีมที่มีสารช่วยลดความเข้มของเม็ดสี และการรักษาด้วยเครื่องมือแพทย์ อย่างการเลเซอร์ บทความนี้อยากชวนทุกคนให้มาอ่านข้อมูลเกี่ยวกับสาเหตุและวิธีรักษากระอย่างได้ผลกัน

กระ ปัญหาผิวที่รักษาและป้องกันได้

ปัจจัยที่ทำให้เกิดกระ

กระเกิดได้จากหลายปัจจัย เช่น

แสงแดด

ยิ่งเผชิญแสงแดดเป็นเวลานาน ก็ยิ่งเป็นการกระตุ้นให้เมลาโนไซต์ ซึ่งเป็นเซลล์ผลิตสารสีเมลานินผลิตเม็ดสีชนิดนี้เพิ่มขึ้น เพื่อใช้ช่วยป้องกันอันตรายจากแสงแดดด้วยการสะท้อนและดูดซึมรังสียูวี ส่งผลให้ผิวคล้ำลงหลังถูกแสงแดด สารเมลานินที่ผลิตออกมามากเกินยังทำให้เกิดกระหรือทำให้กระมีสีเข้มขึ้นได้

สีผิว 

คนที่มีผิวขาวหรือซีดที่มีสารเมลานินน้อยอยู่แล้ว เมื่อเผชิญแสงแดด เม็ดสีที่เพิ่มขึ้นจึงไม่สม่ำเสมอ เกิดเป็นกระแทนที่ผิวจะเปลี่ยนเป็นสีคล้ำสม่ำเสมอ ดังนั้นคนที่มีผิวขาวจึงมีโอกาสเป็นกระได้มากกว่า

พันธุกรรม

นอกจากแสงแดดและสีผิว ความเสี่ยงทางพันธุกรรมก็เป็นอีกปัจจัยหลักร่วมด้วย นั่นหมายความว่าแม้จะต้องเผชิญแสงแดดเหมือนกัน แต่โอกาสที่จะเกิดกระของแต่ละคนก็อาจไม่เท่ากัน

ลักษณะของกระ

กระแบ่งได้เป็น 2 ประเภทหลัก คือ กระทั่วไป และกระที่เกิดจากแดด

กระทั่วไป (Freckle หรือ Ephelis)

ลักษณะเป็นสีแทนออกแดง หรือน้ำตาลอ่อน รูปร่างกลมเป็นจุดเล็ก ๆ โดยมักจะปรากฏขึ้นช่วงฤดูร้อน และพบได้ในผู้ที่มีสีผิวค่อนข้างขาว หรือในครอบครัวที่มีพันธุกรรมกระชนิดนี้ รวมถึงคนที่มีสีผมแดงและตาสีเขียวที่มีความเสี่ยงสูง

กระจากแดด (Lentigo)

กระแดดแตกต่างจากกระทั่วไปที่มีสีเข้มกว่า มักเป็นสีแทน น้ำตาล หรือดำ ปรากฏตามบริเวณที่สัมผัสแดด เช่น หลังมือ ใบหน้า บริเวณไหล่และหลังส่วนบน และโดยมากจะไม่หายไปแม้เมื่อฤดูกาลที่มีแสงแดดอ่อนมาถึง กระชนิดนี้อาจพบว่าเป็นมาตั้งแต่ยังเด็ก หรือมักพบในผู้สูงอายุ โดยเป็นผลมาจากการเผชิญแสงแดดเป็นเวลายาวนานในอดีต

นอกจากนี้ อาจมีกระอีกประเภทหนึ่งที่มักพบในผู้สูงอายุ คือกระเนื้อ (Seborrheic Keratosis) มีลักษณะเป็นรอยนูนแข็งสีน้ำตาลขนาดไม่เกิน 2.5 เซนติเมตร ซึ่งมีสีและลักษณะแตกต่างกัน พบได้บริเวณใบหน้าและส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย โดยมักเกิดเป็นกระจุกมากกว่าจุดเดียว และอาจทำให้รู้สึกคัน

การรักษากระ

การรักษาเพื่อลบเลือนหรือกำจัดกระมีหลากหลายตัวเลือก โดยปรึกษาแพทย์ถึงข้อดี ข้อเสีย และผลข้างเคียงของแต่ละวิธีก่อนทำ เพื่อหาทางรักษาที่เหมาะสมและปลอดภัย เช่น

การใช้ครีมทาผิว

การใช้ครีมทาผิวหรือยาทาผิวหนังสามารถทำให้กระจางลงได้ โดยครีมทาผิวที่มีส่วนประกอบของกรดโคจิก (Kojic Acid) อะดาพาลีน (Adapalene) และเตรทติโนอิน (Tretinoin) ซึ่งเป็นสารในกลุ่มวิตามินเอที่หาซื้อได้ทั่วไปโดยไม่จำเป็นต้องสั่งจ่ายโดยแพทย์ แต่ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ และใช้ตามปริมาณและระยะเวลาที่ระบุบนฉลากหรือตามที่แพทย์และเภสัชกรแนะนำ

ส่วนยาต้องสั่งจ่ายโดยแพทย์เท่านั้นคือ ไฮโดรควิโนน (Hydroquinone) ซึ่งในประเทศไทยอนุญาตให้ใช้ที่ความเข้มข้นไม่เกิน 2% ทั้งนี้ ควรใช้ภายใต้การดูแลของแพทย์ และไม่ควรใช้ต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน เพราะอาจทำให้เกิดเป็นฝ้าถาวรสีน้ำเงินอมดำ และอาจเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งผิวหนังได้

การรักษาด้วยเลเซอร์

การเลเซอร์เป็นวิธีรักษากระที่ค่อนข้างปลอดภัยและให้ผลตอบสนองค่อนข้างดี เลเซอร์ที่ใช้รักษากระมีหลายชนิด โดยผลลัพธ์จะขึ้นอยู่กับชนิดและจำนวนครั้งที่รักษา อย่างไรก็ตาม การรักษาด้วยเลเซอร์อาจเสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียงต่อผิวหนัง เช่น ผิวแดง คัน บวม แห้งลอก ติดเชื้อ และสีผิวบริเวณที่รักษาเปลี่ยนไป จึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนเข้ารับการรักษาเสมอ 

หากมีโรคเริมที่ปาก แพทย์อาจให้รับประทานยาต้านไวรัสก่อนเข้ารับการรักษาด้วยเลเซอร์ เพราะเลเซอร์อาจกระตุ้นให้เริมที่ปากลุกลามได้ นอกจากนี้ แพทย์อาจให้งดใช้ยาบางอย่างก่อนรับการรักษา จึงควรแจ้งให้แพทย์ทราบหากใช้ยาหรือครีมใดอยู่

หลังการรักษาด้วยเลเซอร์อาจใช้เวลาถึงสองสัปดาห์กว่าผิวจะกลับมาเป็นปกติ และมักต้องรับการรักษาต่ออีกหลายครั้ง เพื่อประสิทธิภาพในการรักษา

การรักษาด้วย IPL (Intense Pulsed Light Treatments)

IPL เป็นวิธีรักษาด้วยแสงความเข้มสูง ที่คล้ายกับการทำเลเซอร์แต่ใช้แสงที่มีความยาวหลายช่วงคลื่น ลักษณะคล้ายแสงแฟลช ซึ่งจะไปจับกับเซลล์เม็ดสีผิว และทำลายโครงสร้างของเม็ดสี จึงช่วยให้กระดูจางลง

การผ่าตัดด้วยความเย็นจัด (Cryosurgery)

การใช้ความเย็นเป็นอีกวิธีในการกำจัดกระ โดยใช้ไนโตรเจนเหลวแช่แข็งจี้ที่ผิวหนัง ซึ่งความเย็นจะทำลายเนื้อเยื่อที่ผิดปกติได้ถึงผิวหนังชั้นลึก แต่อาจมีข้อยกเว้นคือไม่สามารถรักษากระได้ทุกจุด

การผลัดเซลล์ผิวด้วยสารเคมี (Chemical Peels)

การผลัดเซลล์ผิวด้วยสารเคมีโดยแพทย์ผิวหนังจะใช้สารที่มีความเข้มข้น เช่น กรดไกลโคลิก (Glycolic Acid) และกรดไตรคลอโรอะซิติก (Trichloroacetic Acid) ซึ่งจะช่วยขจัดเซลล์ผิวเก่า ทำให้กระจางลง และช่วยกระตุ้นการสร้างเซลล์ผิวใหม่ ซึ่งทำให้สร้างเม็ดสีของผิวที่ผิดปกติดีขึ้น 

วิธีการป้องกันกระให้ได้ผล

นอกจากสาเหตุทางพันธุกรรมที่ไม่สามารถแก้ไขได้ การหลีกเลี่ยงการเผชิญแสงแดดเป็นหลักการสำคัญที่จะช่วยป้องกันไม่ให้เป็นกระ และยังช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งผิวหนังอีกด้วย โดยใช้วิธีต่าง ๆ ดังนี้

  • พยายามอยู่ในร่มหรือภายในตัวอาคาร และหลีกเลี่ยงการพบเจอแสงแดดช่วงเวลาประมาณ 10.00–15.00 น. ที่มีแดดแรง
  • เตรียมพร้อมเผชิญแสงแดดด้วยการทาครีมกันแดดทุกครั้ง โดยเลือกครีมที่มี SPF 30 ขึ้นไป
  • ปกป้องใบหน้าซึ่งเป็นส่วนที่โดนแสงแดดบ่อย ด้วยการสวมหมวกปีกกว้าง และสวมใส่เสื้อผ้าปกปิดร่างกาย เช่น เสื้อแขนยาว กางเกงขายาว

กระมีหลายประเภท ซึ่งวิธีรักษาอาจใช้การทาครีมหรือยาที่ช่วยลดเลือนกระตามที่แพทย์สั่ง และการรักษาโดยใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์ เช่น การใช้เลเซอร์ การผลัดเซลล์ผิวด้วยสารเคมี และการใช้ความเย็นจี้บริเวณที่เป็นกระ ซึ่งแต่ละวิธีอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่อผิวหนัง จึงควรปรึกษาแพทย์ผิวหนังก่อนการรักษา หากสังเกตว่ากระมีขนาด สี หรือรูปร่างเปลี่ยนไป ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจและรักษา