Hypospadias (ภาวะท่อปัสสาวะเปิดต่ำกว่าปกติ)

ความหมาย Hypospadias (ภาวะท่อปัสสาวะเปิดต่ำกว่าปกติ)

Hypospadias หรือภาวะท่อปัสสาวะเปิดต่ำกว่าปกติในเพศชาย เป็นความผิดปกติแต่กำเนิดเนื่องมาจากฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับองคชาตและการสร้างท่อปัสสาวะทำงานบกพร่อง ส่งผลให้รูเปิดท่อปัสสาวะอยู่ต่ำกว่าปลายองคชาตตามปกติ ผู้ป่วยอาจมีความผิดปกติอื่นร่วมด้วย เช่น ภาวะองคชาตโค้งงอ องคชาตมีลักษณะต่างไปจากปกติ หรือมีปัญหาเกี่ยวกับเพศสัมพันธ์ เป็นต้น

แพทย์มักพบความผิดปกติบริเวณองคชาตของทารกได้ทันทีหลังคลอด ซึ่งการรักษา Hypospadias ส่วนใหญ่จะเป็นการผ่าตัดเพื่อแก้ไขให้องคชาตกลับมาอยู่ในรูปปกติ หลังจากการรักษาเสร็จสิ้นลง ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะสามารถปัสสาวะและมีบุตรได้ตามปกติ 

Hypospadias

อาการของ Hypospadias

ผู้ป่วย Hypospadias จะมีภาวะท่อปัสสาวะเปิดในบริเวณที่ต่ำกว่าปลายองคชาต โดยส่วนใหญ่จะมีรูเปิดท่อปัสสาวะบริเวณหัวขององคชาต แต่ก็อาจพบได้บริเวณกลางหรือฐานองคชาตเช่นกัน นอกจากนี้ ผู้ป่วยอาจมีภาวะองคชาตโค้งงอลงโดยสามารถสังเกตเห็นได้เมื่อองคชาตแข็งตัว หนังหุ้มปลายมีขนาดกว้างและครอบคลุมเพียงด้านบนขององคชาต หรือปัสสาวะไม่พุ่งเป็นลำไปด้านหน้า 

ทารกที่มีท่อปัสสาวะเปิดต่ำกว่าปกติอาจได้รับการวินิจฉัยทันทีหลังการคลอด แต่หากอาการไม่รุนแรงก็อาจทำให้ยากต่อการวินิจฉัยได้ อย่างไรก็ตาม หากทารกมีความผิดปกติที่องคชาตหรือมีปัญหาในการถ่ายปัสสาวะ ควรพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยที่ถูกต้อง

สาเหตุของ Hypospadias

ทางการแพทย์ยังไม่สามารถระบุสาเหตุของ Hypospadias ได้อย่างแน่ชัด แต่อาจเกิดจากสภาพแวดล้อมหรือการถ่ายทอดทางพันธุกรรม โดยในระหว่างเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ช่วงอายุครรภ์ 9-12 สัปดาห์ กระบวนการสร้างท่อปัสสาวะของทารกเกิดความบกพร่อง ส่งผลให้การสร้างท่อปัสสาวะไม่สมบูรณ์และทำให้รูเปิดของท่อปัสสาวะไม่อยู่ที่ปลายองคชาตตามปกติ

อย่างไรก็ตาม ทารกอาจมีความเสี่ยงต่อภาวะ Hypospadias ได้มากขึ้นหากพ่อหรือสมาชิกในครอบครัวมีความผิดปกติดังกล่าว มารดาตั้งครรภ์ในขณะที่มีอายุมากกว่า 35 ปี เป็นโรคอ้วน สูบบุหรี่ รวมถึงได้รับฮอร์โมนบางชนิดหรือสัมผัสสารบางอย่างขณะตั้งครรภ์ เช่น ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone) ที่ใช้ในการรักษาภาวะมีบุตรยาก สัมผัสสารกำจัดศัตรูพืชหรือสารเคมีที่ใช้ในงานอุตสาหกรรม เป็นต้น

การวินิจฉัย Hypospadias

แพทย์จะวินิจฉัย Hypospadias ด้วยการตรวจร่างกายของทารกเพศชายทันทีหลังคลอด ส่วนใหญ่จะสามารถสังเกตเห็นความผิดปกติที่เกิดขึ้นได้อย่างชัดเจนจากรูเปิดท่อปัสสาวะเปิดต่ำกว่าปกติ ในกรณีที่สงสัยว่าทารกมีความผิดปกติ แพทย์จะต้องวินิจฉัยร่วมกับศัลยแพทย์ทางเดินปัสสาวะเด็ก และหากทารกมีอวัยวะเพศภายนอกกำกวมร่วมด้วย แพทย์และศัลยแพทย์ทางเดินปัสสาวะเด็กจำเป็นจะต้องทำงานร่วมกับวิชาชีพอื่น ๆ เพื่อประเมินความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับทารก 

การรักษา Hypospadias

หากทารกมีภาวะ Hypospadias ไม่รุนแรงหรือมีความผิดปกติเพียงเล็กน้อยอาจไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษา ในรายที่มีอาการรุนแรงจะต้องรับการรักษาจากศัลยแพทย์ทางเดินปัสสาวะเด็กด้วยการผ่าตัด เพื่อปรับตำแหน่งของท่อปัสสาวะหรือแก้ไขให้องคชาตยืดตรงในบางกรณี แต่หากท่อปัสสาวะเปิดบริเวณใกล้กับฐานขององคชาต แพทย์จำเป็นจะต้องปรับแต่งท่อปัสสาวะเพื่อให้รูเปิดอยู่ในบริเวณปลายองคชาตและใช้เนื้อเยื่อผิวหนังปิดบริเวณที่ผ่าตัด 

หลังเข้ารับการรักษา องคชาตของผู้ป่วยจะอยู่ในลักษณะปกติและสามารถขับถ่ายปัสสาวะได้ โดยในช่วง 2-3 วันแรก ปัสสาวะอาจมีสีชมพูซึ่งเป็นอาการปกติ แต่ในบางกรณีอาจมีปัสสาวะรั่วซึมเนื่องจากมีรูทะลุ (Fistula) เกิดขึ้นใต้องคชาตหลังการผ่าตัด ซึ่งเป็นบริเวณที่มีการผ่าตัดสร้างท่อปัสสาวะใหม่ ทำให้ผู้ป่วยต้องเข้ารับการผ่าตัดรักษารักษาอาการดังกล่าวเพิ่มเติม นอกจากนี้ ควรพบแพทย์เพื่อติดตามอาการ ฟังคำแนะนำในการฝึกให้เด็กเข้าห้องน้ำและหลังเข้าสู่วัยรุ่น เพื่อตรวจการรักษาและภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น

ทั้งนี้ หากพบว่าหลังการผ่าตัด ผู้ป่วยมีไข้ที่อุณหภูมิ 38 องศาเซลเซียสขึ้นไปเป็นเวลามากกว่า 24 ชั่วโมง มีปัญหาในการปัสสาวะหรือไม่สามารถขับปัสสาวะได้อย่างปกติ ปลายองคชาตเป็นสีม่วงหรือคล้ำ ใช้ยาบรรเทาอาการปวดแล้วไม่ได้ผล หรือมีเลือดออกในบริเวณที่ทำการผ่าตัด ควรแจ้งให้แพทย์ทราบทันที

ภาวะแทรกซ้อนของ Hypospadias

ผู้ป่วย Hypospadias ที่ไม่ได้รับการรักษาอาจมีภาวะแทรกซ้อนอื่นตามมา เช่น องคชาตมีรูปร่างผิดปกติหรือโค้งงอขณะแข็งตัว มีปัญหาเกี่ยวกับการหลั่งอสุจิ กระทบต่อการมีเพศสัมพันธ์ และอาจมีปัญหาในการปัสสาวะ เป็นต้น

การป้องกัน Hypospadias

ภาวะ Hypospadias ไม่สามารถป้องกันได้ แต่อาจลดความเสี่ยงลงได้บางส่วน หากกำลังตั้งครรภ์ควรหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์ รักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในระดับมาตรฐาน รับประทานกรดโฟลิคในปริมาณ 0.4-0.8 มิลลิกรัมต่อวัน เข้าพบแพทย์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอขณะตั้งครรภ์ รวมไปถึงผู้ที่ตั้งครรภ์หลังอายุ 35 ปีขึ้นไป ควรปรึกษาแพทย์ก่อนการตั้งครรภ์ เพื่อวางแผนการมีบุตรและประเมินความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น