Body Shaming กับวิธีรับมือกับคำพูดที่ทำร้ายจิตใจ

Body Shaming คือการวิพากษ์วิจารณ์หรือดูถูกเหยียดหยามร่างกายของตนเองหรือผู้อื่น โดยอาจพูดถึงรูปร่าง สีผิว อายุ และอื่น ๆ ซึ่งทำให้ผู้ที่ถูกวิจารณ์รู้สึกอับอาย สูญเสียความมั่นใจ และโทษตัวเอง จนอาจนำไปสู่โรคไม่ชอบรูปร่างหน้าตาตัวเอง (Body Dysmorphic Disorder) โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล ความผิดปกติด้านการกิน และการทำร้ายตัวเอง

Body Shaming เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทั่วโลกและไม่ได้จำกัดเพศ คนในสังคมมักจะมีค่านิยมเกี่ยวกับรูปลักษณ์ภายนอกที่คิดว่าดูดี เช่น มีผิวขาว จมูกโด่ง และรูปร่างผอมบาง โดยเฉพาะในสังคมปัจจุบันที่สื่อต่าง ๆ ที่มีอิทธิพลในการสร้างค่านิยมแบบผิด ๆ คนที่มีรูปร่างหน้าตาไม่ตรงกับมาตรฐานที่สังคมกำหนด จึงมักจะเป็นเหยื่อของการถูกเกลียดชังและถูกวิจารณ์ด้วยคำพูดที่กระทบต่อจิตใจ 

Body Shaming กับวิธีรับมือกับคำพูดที่ทำร้ายจิตใจ

แบบไหนที่เข้าข่าย Body Shaming 

การกระทำที่เข้าข่าย Body Shaming มีหลายรูปแบบ ซึ่งรูปแบบที่พบได้บ่อย ได้แก่

การวิจารณ์รูปร่าง

การวิจารณ์รูปร่างเป็น Body Shaming ที่พบได้บ่อย โดยอาจเป็นการโทษตัวเองหรือวิจารณ์หุ่นและน้ำหนักตัวของคนอื่น คนที่มีรูปร่างอ้วนมักถูกวิจารณ์ว่าพุงใหญ่ ขาใหญ่ อ้วนเป็นตุ่ม และช้างน้ำ และคนที่มีรูปร่างผอมเกินไปก็อาจถูก Body Shaming ได้เช่นกัน เช่น วิจารณ์ว่าผอมเหมือนตะเกียบ ผอมเหมือนไม้เสียบผี และขาดสารอาหาร

คนที่วิจารณ์มักคิดว่าการใช้คำพูดเหล่านี้จะทำให้ผู้ฟังรู้สึกอยากดูแลตัวเองมากขึ้น เช่น คนที่ผอมน่าจะกินอาหารมากขึ้น ส่วนคนอ้วนอาจจะมีแรงผลักดันในการลดน้ำหนัก แต่ผลการศึกษาพบว่าผู้ฟังจะยิ่งรู้สึกเครียดและมีพฤติกรรมการกินที่ไม่ดีต่อสุขภาพ เช่น กินจุขึ้น กินอาหารที่มีไขมันสูง ทำให้น้ำหนักตัวยิ่งเพิ่มขึ้น และเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่าง ๆ เช่น ความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน และโรคหัวใจ 

นอกจากนี้ ความรู้สึกไม่พอใจในรูปร่างของตัวเองอาจทำให้บางคนอาจลดน้ำหนักในทางที่ผิด เช่น อดอาหาร หากมีอาการรุนแรงอาจกลายเป็นความผิดปกติด้านการกิน (Eating Disorder) เช่น โรคอะนอเร็กเซีย (Anorexia Nervosa) ซึ่งผู้ป่วยจะรู้สึกไม่พอใจกับรูปร่างและพยายามควบคุมน้ำหนักให้ลดลงเรื่อย ๆ จนอาจเป็นอันตรายต่อชีวิต

การวิจารณ์สีผิว

การ Body Shaming ด้วยการวิจารณ์หรือเหยียดสีผิวพบได้บ่อยในสังคมไทยและเป็นค่านิยมที่มีมานาน โดยเชื่อว่าคนที่สวยจะต้องมีผิวขาว เพราะเป็นคนมีฐานะและไม่ได้ออกไปสัมผัสแสงแดดจัด ต่างจากคนที่มีผิวคล้ำที่เป็นผู้ใช้แรงงานอยู่กลางแจ้ง แม้ปัจจุบันการเหยียดสีผิวจะเริ่มลดลง แต่อาจพบเห็นการเหยียดสีผิวได้ทั้งในชีวิตจริงและสื่อต่าง ๆ ซึ่งอาจส่งผลต่อสุขภาพ การใช้ชีวิต การเรียน และการทำงาน

ค่านิยมเรื่องการเหยียดสีผิวที่อาจพบเห็นได้ตามสื่อมักทำเพื่อกระตุ้นยอดขาย เช่น การโฆษณาครีมที่ช่วยให้ผิวขาว (Whitening Products) ซึ่งทำให้คนคิดว่าผิวดำคล้ำเป็นผิวที่ดูไม่สวย จึงทำให้คนที่มีผิวคล้ำเกิดความเครียด ไม่มั่นใจในตัวเอง และซื้อผลิตภัณฑ์เหล่านี้มาใช้ ซึ่งครีมหน้าขาวบางชนิดอาจประกอบด้วยสารปรอท ไฮโดรควิโนน และสเตียรอยด์ที่เป็นสารอันตรายต่อผิวหนังในระยะยาว

นอกจากนี้ Body Shaming อาจเป็นการวิจารณ์เกี่ยวกับเรื่องอื่น ๆ เช่น 

  • ขนตามร่างกาย ผู้หญิงบางคนอาจมีขนรักแร้ ขนแขน และขนขาดกหรือหนา ซึ่งอาจถูกล้อว่าเหมือนผู้ชาย และให้ไปกำจัดขนออก
  • เส้นผม พบมากในสังคมตะวันตกที่นิยมผมตรงสลวย คนที่มีผมหยิกฟูจะดูไม่สวย หรือการล้อเลียนคนที่ศีรษะล้าน
  • อายุ เช่น การวิจารณ์ผิวหน้า ริ้วรอย หรือการใช้คำพูดว่าแก่เกินไปที่จะแต่งหน้าแต่งตัว
  • รูปลักษณ์ เช่น การเลือกปฏิบัติกับคนด้วยอคติที่มีต่อรูปร่างหน้าตา ผู้ที่หน้าตาไม่ดีอาจมีโอกาสเข้าทำงานน้อยกว่า หรือคนที่หน้าตาดีเกินไปก็อาจถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าทำงานได้เช่นกัน

รับมืออย่างไรเมื่อถูก Body Shaming

การ Body Shaming ในสังคมไทยถูกปลูกฝังมากับค่านิยมของสังคมจนเกิดได้บ่อยและดูเหมือนเป็นเรื่องปกติ คนไทยบางคนคงเคยชินกับการทักทายเรื่องรูปร่างหน้าตาโดยไม่รู้ว่าเป็นการ Body Shaming คนอื่น หรือมองว่าเป็นแค่การล้อเล่นโดยไม่นึกถึงความรู้สึกของผู้ฟัง 

ทั้งนี้ หากถูก Body Shaming ควรรับมือด้วยวิธีต่าง ๆ ดังนี้

  • ทำความเข้าใจว่าประเด็นเรื่องรูปลักษณ์ที่นำเสนอผ่านโทรทัศน์หรือสื่อออนไลน์ไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องเสมอไป เช่น คนสวยต้องผิวขาวและผอม  
  • ยอมรับว่าเราไม่สามารถสอนให้ทุกคนให้เข้าใจเรื่อง Body Shaming หรือเปลี่ยนพฤติกรรมของคนอื่นได้ และไม่ควรเก็บคำพูดในแง่ลบมาบั่นทอนจิตใจ ไม่ตำหนิรูปร่างหรือเปรียบเทียบรูปร่างหน้าตาของตัวเอง และให้กำลังใจตัวเองบ่อย ๆ
  • หากรู้สึกว่าสามารถตักเตือนหรืออธิบายให้คนที่ Body Shaming เข้าใจได้ อาจพูดออกไปตามตรง เช่น ไม่ชอบให้เธอมาพูดเรื่องร่างกายของฉัน หรือไม่ชอบให้คนมาตัดสินตัวฉันจากภายนอก 
  • หากไม่สามารถอธิบายเรื่อง Body Shaming ให้เข้าใจได้ และบุคคลที่ทำการ Body Shaming ยังมีพฤติกรรมเช่นเดิม ควรหลีกเลี่ยงการอยู่กับบุคคลเหล่านั้น รวมทั้งบล็อกข้อความที่ล้อเลียนหรือวิจารณ์เรา การพูดคุยตอบโต้กับคนเหล่านี้จะยิ่งทำให้รู้สึกไม่สบายใจ
  • พูดคุยระบายความรู้สึกกับคนที่สามารถรับฟังและให้กำลังใจแก่เราได้ เช่น เพื่อนสนิทและครอบครัว
  • ใส่ใจตัวเองและใช้ชีวิตให้มีความสุข เช่น กินอาหารที่ชอบและมีประโยชน์ ไม่อดอาหาร ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอโดยเลือกกิจกรรมที่ชอบ และเลือกสวมเสื้อผ้าที่เรามั่นใจ ซึ่งจะส่งผลดีต่อร่างกายและจิตใจในระยะยาว
  • ระมัดระวังการสื่อสารของเราไม่ให้เป็นการวิจารณ์หรือล้อเลียนคนอื่น ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ได้ตั้งใจ และไม่สนับสนุนการ Body Shaming คนอื่น ควรตระหนักอยู่เสมอว่าไม่มีใครสมควรถูก Body Shaming

หากตนเองหรือคนใกล้ชิดเผชิญกับ Body Shaming บ่อย ๆ และไม่สามารถรับมือได้ด้วยตัวเอง หรือเกิดความเครียด วิตกกังวล มีพฤติกรรมการกินที่ผิดปกติ มีอาการของโรคซึมเศร้า และมีความคิดทำร้ายตัวเอง ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาต่อไป