วิตามินบำรุงครรภ์ ตัวช่วยเสริมสุขภาพคุณแม่และเจ้าตัวน้อย

ร่างกายคุณแม่ขณะตั้งครรภ์จะต้องการวิตามินบำรุงครรภ์เพิ่มขึ้นกว่าปกติ การได้รับวิตามินบำรุงครรภ์และแร่ธาตุชนิดต่าง ๆ เช่น โฟเลต ธาตุเหล็ก แคลเซียม อย่างเพียงพอจากการรับประทานอาหารจะช่วยในการเจริญเติบโต และลดความเสี่ยงต่อการเกิดความผิดปกติของทารกในครรภ์ เช่น โลหิตจาง ความดันโลหิตสูง เบาหวานขณะตั้งครรภ์ ครรภ์เป็นพิษ และแท้ง

แต่บางครั้งการรับประทานอาหารอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย คุณแม่ที่วางแผนตั้งครรภ์หรือกำลังตั้งครรภ์ควรปรึกษาสูตินรีแพทย์เพื่อรับคำแนะนำในการรับประทานอาหารและวิตามินเสริมในช่วงตั้งครรภ์ ในบทความนี้จึงได้รวบรวมวิตามินบำรุงครรภ์ที่จำเป็น แหล่งอาหารที่พบ และข้อควรรู้ก่อนการรับประทานวิตามินบำรุงครรภ์ในรูปอาหารเสริมมาฝากว่าที่คุณแม่

วิตามินบำรุงครรภ์ ตัวช่วยเสริมสุขภาพคุณแม่และเจ้าตัวน้อย

วิตามินบำรุงครรภ์สำหรับคุณแม่มีอะไรบ้าง

วิตามินบำรุงครรภ์และแร่ธาตุที่คุณแม่ควรได้รับมีหลายชนิด ซึ่งมีประโยชน์และพบในแหล่งอาหารที่แตกต่างกัน เช่น

โฟเลต (Folate)

โฟเลตเป็นวิตามินบีที่จำเป็นต่อคุณแม่ตั้งครรภ์ หากขาดโฟเลตอาจทำให้เกิดภาวะโลหิตจางและเกิดความผิดปกติต่อทารก เช่น ปากแหว่งเพดานโหว่ และภาวะหลอดประสาทของทารกในครรภ์เปิด (Neural Tube Defects) ซึ่งผู้ที่ตั้งครรภ์ควรได้รับโฟเลตวันละ 600 ไมโครกรัม และควรเริ่มรับโฟเลตตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ประมาณ 3 เดือน

โฟเลตพบในผักผลไม้ เช่น ผักใบเขียว ดอกกะหล่ำ หน่อไม้ฝรั่ง มะเขือเทศ องุ่น รวมทั้งถั่ว และอาหารที่ผ่านการเติมโฟเลต เช่น อาหารเช้าซีเรียล ขนมปัง แต่โฟเลตที่พบในอาหารมีปริมาณน้อย และร่างกายอาจดูดซึมได้ไม่ดีเท่าการรับประทานอาหารเสริมกรดโฟลิค (Folic Acid) คุณแม่ที่วางแผนตั้งครรภ์หรือกำลังตั้งครรภ์ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับประทานอาหารเสริมเพิ่มเติม

ธาตุเหล็ก

ธาตุเหล็กพบมากในเนื้อวัว เนื้อหมู ปลา ตับ และถั่วเมล็ดแห้ง แต่ร่างกายของคุณแม่ตั้งครรภ์จะต้องการธาตุเหล็กมากกว่าปกติ โดยเฉพาะในช่วงอายุครรภ์ 34–36 สัปดาห์ เพื่อใช้สร้างเลือดสำหรับคุณแม่และทารกในครรภ์ จึงจำเป็นต้องได้รับธาตุเหล็กเสริมในรูปของยาวิตามินบำรุงครรภ์ 

หากคุณแม่ตั้งครรภ์ขาดธาตุเหล็กอาจทำให้เกิดภาวะโลหิตจาง เสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนด และอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตหากเสียเลือดมากขณะคลอด

แคลเซียม

แคลเซียมมีส่วนช่วยสร้างกระดูกและฟันของทารก รวมทั้งช่วยพัฒนาระบบประสาท กล้ามเนื้อ และหัวใจ คุณแม่ตั้งครรภ์ที่อายุ 19 ปีขึ้นไปควรได้รับแคลเซียมวันละ 800 มิลลิกรัม โดยแคลเซียมได้จากนม โยเกิร์ต ชีส ปลาซาร์ดีน ปลาเล็กปลาน้อย อัลมอนด์ งา และผักใบเขียว

วิตามินเอ

วิตามินเอมีส่วนช่วยในการมองเห็น และช่วยในการสร้างอวัยวะ เช่น ดวงตา หู หัวใจ และกระดูกสันหลัง คุณแม่ควรได้รับวิตามินเอวันละ 800 ไมโครกรัม หากได้รับวิตามินเอไม่เพียงพออาจทำให้เสี่ยงต่อการแท้งได้ วิตามินเอพบในตับ ผักสีเขียวเข้ม และสีเหลืองส้ม เช่น ตำลึง กวางตุ้ง ผักบุ้ง ฟักทอง มะละกอสุก 

วิตามินบี

วิตามินบำรุงครรภ์อย่างวิตามินบี ช่วยในการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ เสริมสร้างระบบประสาท และการสร้างเม็ดเลือดแดง ซึ่งคุณแม่ตั้งครรภ์ควรได้รับวิตามินบี 1 และวิตามินบี 2 วันละ 1.3–1.4 มิลลิกรัม วิตามินบี 6 วันละ 1.8–1.9 มิลลิกรัม และวิตามินบี 12 วันละ 2.2 ไมโครกรัม วิตามินบีพบในอาหารหลายชนิด เช่น เนื้อหมู เนื้อไก่ ตับ ไข่ นม กล้วย ข้าวซ้อมมือ และถั่วเมล็ดแห้ง 

วิตามินซึ

วิตามินซีช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน กระดูก และกล้ามเนื้อ และมีส่วนช่วยบำรุงครรภ์ การขาดวิตามินซีในหญิงตั้งครรภ์จะทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อขณะคลอด ครรภ์เป็นพิษ และคลอดก่อนกำหนด คุณแม่ตั้งครรภ์ต้องการวิตามินซีวันละ 85 มิลลิกรัม วิตามินซีพบมากในฝรั่ง มะนาว ส้ม สตรอว์เบอร์รี มะเขือเทศ และผักใบเขียว

วิตามินดี

วิตามินดีช่วยเสริมสร้างกระดูกและฟัน ระบบภูมิคุ้มกัน ช่วยรักษาระดับแคลเซียมและฟอสฟอรัส ซึ่งพบในนม ปลาแซลมอน ปลาแมคเคอเรล น้ำมันปลา และไข่แดง ซึ่งคนทั่วไปและคุณแม่ตั้งครรภ์ควรได้รับวิตามินดีวันละ 600 International Unit (IU) หรือ 15 ไมโครกรัมต่อวัน

หากขาดวิตามินบำรุงครรภ์อย่างวิตามินดี อาจทำให้คุณแม่เสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น เบาหวานขณะตั้งครรภ์ ครรภ์เป็นพิษ และคลอดก่อนกำหนด รวมทั้งเกิดความผิดปกติกับทารก เช่น พัฒนาการทางร่างกายช้า การเจริญเติบโตของกระดูกผิดปกติ และโรคกระดูกอ่อนในเด็กwww.pobpad.com/rickets (Rickets) 

สารอาหารอื่น ๆ

วิตามินบำรุงครรภ์อื่น ๆ ที่จำเป็นต่อคุณแม่ตั้งครรภ์ เช่น โอเมก้า 3 อย่าง DHA และ EPA ซึ่งช่วยในการทำงานของระบบประสาท สมอง และดวงตา โดยเฉพาะในช่วง 3 เดือนก่อนคลอด นอกจากนี้ เด็กที่มี DHA ต่ำจะมีปัญหาด้านพฤติกรรม อารมณ์ การนอน และการเรียนรู้ แหล่งอาหารของโอเมก้า 3 คือปลาแซลมอน ปลาซาร์ดีน ปลาแมคเคอเรล ปลาทู และปลาช่อน

ไอโอดีนมีผลต่อระดับสติปัญญาและความสามารถในการใช้มือและตาของเด็ก หากคุณแม่ขาดไอโอดีนรุนแรง อาจทำให้เกิดความผิดปกติของระดับสติปัญญา การพัฒนาระบบประสาทและกล้ามเนื้อ ซึ่งไอโอดีนพบในปลา สาหร่าย และเครื่องปรุงรสเค็มที่เสริมไอโอดีน เช่น เกลือ น้ำปลา และซีอิ๊ว

เรื่องควรรู้ก่อนรับประทานวิตามินบำรุงครรภ์

คุณแม่ตั้งครรภ์หลายคนอาจมีคำถามว่าจำเป็นต้องรับประทานวิตามินบำรุงครรภ์เพิ่มเติมนอกจากการรับประทานอาหารทั่วไปหรือไม่ และควรรับประทานอย่างไร คำตอบคือความต้องการวิตามินในร่างกาย การดูดซึมวิตามินไปใช้ และภาวะแทรกซ้อนของคุณแม่ตั้งครรภ์แต่ละคนแตกต่างกัน ดังนั้น ก่อนรับประทานวิตามินบำรุงครรภ์ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับคำปรึกษาและให้รับประทานวิตามินที่เหมาะกับร่างกายของแต่ละคน

แพทย์มักแนะนำให้รับประทานวิตามินตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ต่อเนื่องจนถึงหลังคลอด โดยเฉพาะช่วงที่ให้นมบุตร อย่างไรก็ตาม คุณแม่ไม่ควรรับประทานวิตามินบำรุงครรภ์มากเกินปริมาณที่กำหนด เพราะอาจทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพของทารก เช่น การได้รับวิตามินเอมากเกินไปอาจทำให้ทารกพิการแต่กำเนิดและกระดูกอ่อนแอผิดปกติ

ผลข้างเคียงจากการรับประทานวิตามินบำรุงครรภ์อาจทำให้เกิดอาการไม่สบายท้อง ปวดท้อง ท้องผูก คลื่นไส้ อาเจียน และเป็นลม โดยเฉพาะเมื่อรับประทานขณะท้องว่าง ซึ่งอาการท้องผูกอาจป้องกันได้ด้วยการดื่มน้ำให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่มีไฟเบอร์ (Fiber) สูง และออกกำลังกายสม่ำเสมอตามที่แพทย์แนะนำ

วิตามินบำรุงครรภ์จำเป็นต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการของทารกในครรภ์ และช่วยป้องกันความผิดปกติขณะตั้งครรภ์และความผิดปกติของทารกหลังคลอด ทั้งนี้ การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ควบคู่กับการรับประทานวิตามินเสริมตามที่แพทย์แนะนำจะช่วยให้คุณแม่และเจ้าตัวน้อยมีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง