ทำความรู้จัก Ramsay Hunt Syndrome โรคอัมพาตครึ่งหน้าและวิธีรักษา

Ramsay Hunt Syndrome เป็นภาวะแทรกซ้อนจากการติดเชื้อไวรัสวาริเซลลาซอสเตอร์ (Varicella-Zoster Virus หรือ VZV) ที่ก่อให้เกิดโรคอีสุกอีใสและโรคงูสวัด ทำให้เกิดความผิดปกติของเส้นประสาทที่ใบหน้าใกล้ใบหู 

ไวรัส VZV อาจแฝงอยู่ในปมประสาทได้หลายปีแม้จะหายจากโรคอีสุกอีใสแล้วก็ตาม เมื่อภูมิคุ้มกันลดลง เช่น มีอาการเจ็บป่วยหรือใช้ยาบางชนิดที่ส่งผลต่อระบบภูมิคุ้มกัน อาจทำให้เกิด Ramsay Hunt Syndrome ขึ้นได้ 

ทำความรู้จัก Ramsay Hunt Syndrome โรคอัมพาตครึ่งหน้าและวิธีรักษา

Ramsay Hunt Syndrome มีอาการอย่างไร

อาการของ Ramsay Hunt Syndrome ในแต่ละคนจะแตกต่างกัน โดยอาการที่เด่นชัดที่สุดคือมีผื่นแดงขึ้นบริเวณในรูหู และใกล้ใบหูข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้าง เมื่อเวลาผ่านไปจะกลายเป็นตุ่มน้ำใส ทำให้รู้สึกปวดและแสบร้อน บางครั้งอาจมีผื่นขึ้นในปาก โดยเฉพาะที่เพดานปากหรือภายในลำคอส่วนต้น จากนั้นตุ่มจะแตกออกและตกสะเก็ด แต่บางคนอาจไม่มีผื่นขึ้นให้สังเกตเห็นได้เช่นกัน

นอกจากนี้ ผู้ป่วยมักมีอาการกล้ามเนื้อใบหน้าอ่อนแรง และมีอาการใบหน้าเป็นอัมพาตซีกเดียวกับที่มีตุ่มน้ำใสขึ้น ทำให้ควบคุมกล้ามเนื้อใบหน้าได้ลำบากหรือไม่สามารถควบคุมได้เลย ส่งผลต่อการแสดงอารมณ์ทางสีหน้า การหลับตา มีปัญหาพูดไม่ชัด และรับประทานอาหารลำบาก 

อาการอื่น ๆ ที่อาจพบได้ เช่น

  • มีอาการคล้ายไข้หวัด เช่น มีไข้และปวดหัว ช่วง 3–7 วันก่อนมีผื่นขึ้น
  • ปวดหู หูอื้อ ได้ยินเสียงในหู และเกิดภาวะหูไวเกิน (Hyperacusis) ที่ทำให้ไม่สามารถทนเสียงดังในระดับที่คนอื่น ๆ ทนได้ หากมีอาการรุนแรงอาจทำให้หูหนวกได้
  • ตาและปากแห้ง
  • หลับตาไม่สนิทจากการที่กล้ามเนื้อใบหน้าอ่อนแรง
  • เสียงแหบ ปวดในลำคอ
  • การรับรสเปลี่ยนไป หรือความสามารถในการรับรสลดลง
  • บ้านหมุน

หากไม่ได้รับการรักษาทันท่วงทีอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนตามมา เช่น กระจกตาถลอก ซึ่งอาจทำให้เกิดการระคายเคืองที่กระจกตาเรื้อรังหรือการสูญเสียการมองเห็นถาวร โรคซึมเศร้า และโรควิตกกังวลในการเข้าสังคม (Social Anxiety) เนื่องจากความผิดปกติของใบหน้า หากไวรัสเข้าไปทำลายเส้นประสาทในสมองและไขสันหลังอาจทำให้เกิดอาการปวดหัว ง่วงซึม สับสน แขนขาอ่อนแรง และปวดเส้นประสาท

ใครบ้างที่เสี่ยงต่อ Ramsay Hunt Syndrome

Ramsay Hunt Syndrome พบในผู้ที่ป่วยเป็นโรคอีสุกอีใส แม้จะหายจากโรคแล้วแต่เชื้อไวรัสอาจยังแฝงอยู่ในร่างกายจนทำให้เกิด Ramsay Hunt Syndrome ในภายหลัง โดยเฉพาะผู้ที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เช่น ติดเชื้อไวรัส HIV เป็นมะเร็ง มีโรคติดเชื้อ ใช้ยากดภูมิคุ้มกันหรือยาสเตียรอยด์ อยู่ระหว่างการรักษาด้วยเคมีบำบัด และการฉายแสง 

หากเป็นคนที่มีอายุมากกว่า 60 ปี เด็กแรกเกิด หญิงตั้งครรภ์ และผู้ที่มีความเครียดทางร่างกายและจิตใจอาจเสี่ยงต่อการเกิด Ramsay Hunt Syndrome ได้ง่ายกว่ากลุ่มอื่นด้วย 

ทั้งนี้ Ramsay Hunt syndrome ไม่ใช่โรคติดต่อ แต่ผู้ที่เป็นโรคนี้จะมีเชื้อไวรัส VZV อยู่ในร่างกายและสามารถแพร่ไวรัสนี้ไปสู่ผู้อื่นได้ผ่านการสัมผัสตุ่มน้ำของผู้ป่วย ซึ่งทำให้ผู้ที่ไม่เคยเป็นอีสุกอีใสมาก่อน และผู้ที่ไม่เคยได้รับวัคซีนอีสุกอีใสเป็นโรคอีสุกอีใส

Ramsay Hunt Syndrome รักษาอย่างไร

หลังจากแพทย์วินิจฉัยว่าเป็น Ramsay Hunt Syndrome แพทย์จะจ่ายยาเพื่อรักษาอาการติดเชื้อไวรัสและยาอื่น ๆ ที่ช่วยบรรเทาอาการให้ผู้ป่วย เช่น

  • ยาในกลุ่มต้านไวรัส เช่น ยาอะไซโคลเวียร์ (Acyclovir) ยาแฟมไซโคลเวียร์ (Famciclovir) และยาวาลาไซโคลเวียร์ (Valacyclovir) 
  • ยาสเตียรอยด์ในรูปยากินหรือยาฉีด เช่น ยาเพรดนิโซน (Prednisone) ซึ่งการใช้ยาสเตียรอยด์ควบคู่กับยาต้านไวรัสจะช่วยให้รักษาโรคได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
  • ยาแก้ปวด เช่น ยากลุ่ม NSAIDs และยาคาร์บามาซีปีน (Carbamazepine) ที่ใช้รักษาผู้ที่มีอาการปวดเส้นประสาท (Postherpetic Neuralgia) 
  • ยารักษาอาการบ้านหมุน เช่น ยาต้านฮีสตามีน (Antihistamines) และยาไดอาซีแพม (Diazepam)

นอกจากการใช้ยา ผู้ป่วยควรดูแลบริเวณที่มีผื่นหรือตุ่มน้ำให้สะอาดอยู่เสมอ หากมีอาการปวดสามารถประคบเย็นหรือรับประทานยาพาราเซตามอลเพื่อบรรเทาอาการปวด ผู้ที่มีอาการกล้ามเนื้อใบหน้าอ่อนแรงและไม่สามารถหลับตาได้สนิทอาจมีอาการตาแห้ง ควรปรึกษาแพทย์ในการใช้น้ำตาเทียมหรือขี้ผึ้งเพิ่มความชุ่มชื้นบริเวณดวงตา และสวมที่ปิดตาเพื่อป้องกันอาการตาแห้งและป้องกันความเสียหายของกระจกตา

ระยะเวลาการรักษา Ramsay Hunt Syndrome ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค หากไม่เกิดความเสียหายต่อเส้นประสาทมาก อาการอาจดีขึ้นภายในระยะเวลาไม่กี่เดือน แต่ผู้ที่เส้นประสาทเสียหายรุนแรงอาจไม่สามารถรักษาให้กลับมาเป็นปกติได้ ฉะนั้น หากเกิดตุ่มน้ำใสบริเวณใบหน้า และกล้ามเนื้อใบหน้าอ่อนแรงควรรีบไปพบแพทย์ เพราะการได้รับการรักษาภายใน 3 วันหลังเกิดอาการอาจช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนในระยะยาวได้