ทำความรู้จัก PMDD หรือกลุ่มอาการรุนแรงก่อนมีประจำเดือน

PMDD (Premenstrual Dysphoric Disorder) หรือกลุ่มอาการรุนแรงก่อนมีประจำเดือน มักทำให้เกิดอาการผิดปกติทางร่างกาย สภาพจิตใจ และการควบคุมอารมณ์ โดยอาการมักเริ่มก่อนมีประจำเดือนประมาณ 1–2 สัปดาห์ และอาการมักหายไปภายใน 2–3 วันหลังประจำเดือนมา

PMDD จัดเป็นอาการขั้นรุนแรงของ PMS (Premenstrual Syndrome) หรือกลุ่มอาการที่เกิดขึ้นก่อนมีประจำเดือน โดย PMDD ทำให้เกิดอาการทางร่างกายคล้ายกับอาการ PMS ร่วมกับอาการด้านจิตใจและอารมณ์อย่างรุนแรง ซึ่งส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันและความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง 

ทำความรู้จัก PMDD หรือกลุ่มอาการรุนแรงก่อนมีประจำเดือน

อย่างไรก็ตาม PMDD เป็นอาการที่พบได้น้อย โดยพบเพียง 3–8% ของผู้หญิงที่มีประจำเดือน แต่เนื่องจากทำให้เกิดอาการรุนแรง ผู้ป่วยจึงควรดูแลตัวเองร่วมกับการใช้ยาตามที่แพทย์สั่ง

PMDD มีอาการอย่างไร

PMDD ทำให้เกิดอาการทางร่างกายคล้ายกับอาการ PMS คือท้องอืด ปวดเกร็งท้อง ท้องเสีย ปวดศีรษะ ปวดหลัง คัดตึงเต้านม อ่อนเพลีย นอนไม่หลับ เบื่ออาหารหรือรู้สึกหิวมากกว่าปกติ แต่อาการที่เด่นชัดของ PMDD คือการเปลี่ยนแปลงด้านสภาวะจิตใจและอารมณ์ ซึ่งอาจส่งผลต่อพฤติกรรมได้ ดังนี้

  • อารมณ์แปรปรวนรุนแรง
  • ร้องไห้ง่าย รู้สึกสิ้นหวัง และท้อแท้
  • วิตกกังวล หงุดหงิด โมโหร้าย ฉุนเฉียว
  • เบื่อหน่าย ไม่สนใจสิ่งรอบข้าง เฉยชาต่อการทำกิจกรรมที่ชื่นชอบ
  • ไม่มีสมาธิ
  • มีความคิดฆ่าตัวตาย

โดยทั่วไป ผู้ที่เป็น PMDD มักมีอาการช่วง 6 วันก่อนมีประจำเดือน และอาการจะรุนแรงที่สุดประมาณ 2 วันก่อนมีประจำเดือน นอกจากนี้ ระยะเวลาของการเกิดอาการ PMDD อาจแตกต่างกันไป บางคนอาจมีอาการเพียงไม่กี่วันและดีขึ้น แต่บางคนอาจมีอาการยาวนานได้ถึง 2 สัปดาห์

สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงของ PMDD

สาเหตุของ PMDD ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่พบว่าผู้ที่มีอาการ PMDD มักมีอาการของโรคซึมเศร้าและโรควิตกกังวล จึงสันนิษฐานว่า การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเพศหญิงที่กระตุ้นให้เกิดการตกไข่และประจำเดือนอาจส่งผลให้สภาวะอารมณ์แปรปรวนมากกว่าปกติ จึงทำให้อาการของโรคซึมเศร้าและโรควิตกกังวลรุนแรงขึ้น

นอกจากนี้ หากคนในครอบครัวมีประวัติของ PMS และ PMDD ตนเองหรือคนในครอบครัวมีภาวะผิดปกติด้านอารมณ์อื่น ๆ เช่น ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด (Postpartum Depression) อาจเสี่ยงต่อการเกิด PMDD สูงกว่าคนทั่วไป และในบางกรณี ความเครียด การสูบบุหรี่ และการประสบเหตุการณ์เลวร้ายทางร่างกายและจิตใจ อาจเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิด PMDD ได้เช่นกัน

PMDD รักษาอย่างไร

หากอาการของ PMDD รุนแรงและส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ควรไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและรับการรักษา โดยแพทย์จะสอบถามอาการ ตรวจร่างกาย และตรวจเลือดเพื่อวินิจฉัยอาการและตัดสาเหตุที่ไม่เกี่ยวข้อง เช่น กลุ่มอาการอ่อนเพลียเรื้อรัง (Chronic Fatigue Syndrome)  ไฟโบรมัยอัลเจีย (Fibromyalgia) เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ โรคซึมเศร้า และโรคแพนิค 

การรักษา PMDD ให้ได้ผล อาจใช้การรักษาหลายวิธีประกอบกัน ซึ่งขึ้นอยู่กับอาการและความรุนแรงของแต่ละคน ได้แก่

  1. การปรับพฤติกรรม

การปรับพฤติกรรมบางอย่างอาจช่วยให้อาการ PMDD ดีขึ้นได้ เช่น

  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยเน้นรับประทานคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนและอาหารประเภทโปรตีนที่ไม่มีไขมัน เช่น เนื้อไก่ไม่ติดมัน ปลา ธัญพืชขัดสีน้อย และถั่วชนิดต่าง ๆ รวมถึงควรลดการรับประทานอาหารที่มีรสเค็มและหวานจัด และหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอวันละ 30 นาที จะช่วยปรับสภาวะอารมณ์ให้ดีขึ้นและช่วยให้นอนหลับง่ายขึ้น เช่น การเดิน ขี่จักรยาน หรือการออกกำลังกายรูปแบบอื่น ๆ 
  • รู้จักจัดการกับความเครียดอย่างเหมาะสม เช่น นั่งสมาธิ ฝึกการหายใจ เล่นโยคะ และพูดคุยกับเพื่อน แต่ไม่ควรระบายความเครียดด้วยการสูบบุหรี่หรือดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะจะยิ่งส่งผลเสียต่อสุขภาพ
  1. การรับประทานยา

หากอาการ PMDD ไม่ดีขึ้นหลังปรับพฤติกรรม การรับประทานยาอาจช่วยบรรเทาอาการได้ ซึ่งยาที่นำมาใช้รักษา PMDD เช่น

  • ยาแก้ปวดที่หาซื้อได้ทั่วไป เพื่อช่วยบรรเทาอาการปวดศีรษะ ปวดเกร็งท้อง และคัดตึงเต้านม 
  • ยาต้านเศร้ากลุ่มหลักที่ใช้ในการรักษา PMDD คือยาต้านเศร้าเอสเอสอาร์ไอ (SSRI) เช่น ยาไซตาโลแพรม (Citalopram) ยาเอสซิตาโลแพรม (Escitalopram) และยาฟลูออกซิทีน (Fluoxetine) สำหรับยาต้านเศร้าอื่น ๆ ที่นำมาใช้ เช่น ยาบิวสไปโรน (Buspirone) และยาดูล็อกซีทีน (Duloxetine) ซึ่งจะช่วยเพิ่มระดับฮอร์โมนเซโรโทนิน (Serotonin) ในสมอง ทั้งนี้ การใช้ยาต้านเศร้าควรอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์
  • ยาที่มีผลต่อการปรับระดับฮอร์โมน (Hormonal Medications) เช่น ยาคุมกำเนิด ซึ่งช่วยยับยั้งการตกไข่ และอาจช่วยลดการเกิดอาการ PMDD รวมถึงยาสังเคราะห์ประเภทฮอร์โมนโกนาโดโทรปิน รีลิสซิง (Gonadotropin-releasing hormone agonist: GnRH agonist) ซึ่งยับยั้งการผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) และฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone)

นอกจากนี้ การรักษา PMDD อาจใช้วิธีการพูดคุยกับนักจิตบำบัดหรือจิตแพทย์ อย่างการบำบัดความคิดและพฤติกรรม (Cognitive Behavioral Therapy) เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยสามารถจัดการสภาวะอารมณ์ในแง่ลบ และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้เป็นปกติ

การรับมือกับ PMDD อาจเป็นเรื่องยากและส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ซึ่งผู้ป่วยควรจดบันทึกอาการของตัวเองอย่างสม่ำเสมอและปรึกษาแพทย์ เพราะหากเข้าใจอาการและได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม จะช่วยให้อาการ PMDD ดีขึ้นได้