ดูแลคนใกล้ชิดที่เป็นซึมเศร้าอย่างไรดี

หลายคนไม่ทราบว่าควรดูแลคนใกล้ชิดที่เป็นซึมเศร้าอย่างไร เพราะกังวลว่าความตั้งใจช่วยเหลือของเราอาจกลายเป็นการซ้ำเติมหรือสร้างความไม่สบายใจให้คนที่เป็นซึมเศร้ามากขึ้น ทำให้เราอาจหลีกเลี่ยงการพูดคุยกับคนที่เป็นซึมเศร้า แต่การดูแลเอาใจใส่คนที่เป็นโรคซึมเศร้ามีส่วนช่วยในการรักษาโรคให้ดีขึ้น

ข้อมูลจากกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุขในปี พ.ศ. 2562 ระบุว่ามีจำนวนคนฆ่าตัวตายเฉลี่ย 14.4 คน ต่อคนไทย 1 แสนคน ซึ่งในจำนวนนี้มีผู้ป่วยโรคซึมเศร้า 7.8% หากคุณมีคนใกล้ชิด ไม่ว่าจะเป็นคนในครอบครัวหรือเพื่อนสนิทที่มีอาการซึมเศร้าหรือสงสัยว่าจะเป็นโรคซึมเศร้า และไม่รู้ว่าควรดูแลอย่างไร บทความนี้ได้รวบรวมอาการที่ควรสังเกตและวิธีที่เหมาะสมในการดูแลผู้ที่เป็นซึมเศร้าไว้แล้ว

ดูแลคนใกล้ชิดที่เป็นซึมเศร้าอย่างไรดี

สังเกตอาการซึมเศร้าของคนใกล้ตัว

ความเศร้า ท้อแท้ และหดหู่ใจเป็นเรื่องปกติที่ทุกคนเคยเจอ แต่เมื่อเวลาผ่านไปก็จะรู้สึกดีขึ้น แต่ผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้าจะไม่ได้รู้สึกเศร้าเสียใจในช่วงเวลาสั้น ๆ แล้วหายไป แต่จะรู้สึกเศร้าอย่างรุนแรงเป็นเวลานานกว่า 2 สัปดาห์ขึ้นไป และอาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การเรียน การทำงาน และความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง

โรคซึมเศร้าเป็นโรคทางจิตเวชที่ต้องได้รับการรักษา แต่ผู้ป่วยหลายคนอาจไม่รู้ว่าตัวเองมีอาการซึมเศร้า เนื่องจากไม่มีอาการบ่งบอกโรคที่ชัดเจนและสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ปกติ ทั้งนี้ ผู้ที่มีอาการมักอธิบายความรู้สึกของโรคซึมเศร้าว่าเป็นความรู้สึกของการติดอยู่ในหลุมลึกที่มืดมิด ไม่มีความหวังและกำลังใจในการใช้ชีวิต และอาจมีอาการต่าง ๆ ต่อไปนี้

  • รู้สึกเศร้าและร้องไห้บ่อยกว่าปกติ มองโลกในแง่ร้าย กลัวอนาคต
  • โกรธหรือฉุนเฉียวง่าย ไม่มีสมาธิ กระวนกระวาย
  • เหนื่อยง่ายผิดปกติ หมดแรง ไม่อยากทำกิจกรรมใด ๆ ไม่ว่าจะเป็นการดูแลตัวเองหรือกิจกรรมที่เคยชอบทำ
  • ทำทุกอย่างช้าลง ไม่ว่าจะเป็นการคิด การพูด หรือการเคลื่อนไหวร่างกาย
  • ไม่มีสมาธิ และหลงลืมง่าย
  • พูดน้อยลง เก็บตัว แยกตัวออกคนอื่น
  • นอนไม่หลับหรือนอนมากผิดปกติ
  • พฤติกรรมการกินเปลี่ยนไป เช่น เบื่ออาหาร น้ำหนักลด อยากอาหารมากผิดปกติ น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น
  • มีอาการทางร่างกายโดยไม่มีสาเหตุ เช่น ปวดหัว ปวดหลัง
  • พูดว่าตัวเองรู้สึกสิ้นหวัง ไม่มีคุณค่า ว่างเปล่า โทษตัวเองในเรื่องที่ผ่านมาแล้วหรือเรื่องที่ไม่ใช่ความผิดของตัวเอง
  • พูดถึงการฆ่าตัวตายและความตายบ่อย ๆ และพยายามที่จะฆ่าตัวตาย

อาการซึมเศร้าของแต่ละคนอาจแตกต่างกัน และบางคนอาจมีอาการข้างต้นร่วมกับโรคทางจิตและโรคอื่น ๆ เช่น เบาหวาน มะเร็ง หรืออาการเจ็บป่วยเรื้อรัง ซึ่งหากมีโรคซึมเศร้าอาจทำให้อาการของโรคเหล่านี้แย่ลง หรือการใช้ยารักษาโรคเหล่านี้อาจมีผลข้างเคียงที่ทำให้เกิดโรคซึมเศร้าได้

ข้อแนะนำในการดูแลผู้ที่มีอาการซึมเศร้า

หากคนใกล้ชิดมีอาการของโรคซึมเศร้าหรือสงสัยว่าจะเป็นโรคซึมเศร้าควรใช้วิธีต่าง ๆ ดังนี้

  1. ทำความเข้าใจโรคซึมเศร้า

หลายคนอาจเข้าใจว่าโรคซึมเศร้าเกิดจากความอ่อนแอทางจิตใจ และหากปล่อยไว้อาการอาจดีขึ้นเอง ทำให้รู้สึกหงุดหงิดและรำคาญคนที่มีอาการซึมเศร้า 

แต่ความจริงแล้วโรคซึมเศร้าเป็นภาวะความผิดปกติเหมือนกับโรคอื่น ๆ ที่ไม่มีใครอยากเป็น และอาการที่เกิดขึ้นเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงของสารเคมีและระบบฮอร์โมนต่าง ๆ ในสมอง ทั้งนี้ อาการซึมเศร้าที่ผู้ป่วยแสดงออกสามารถรักษาให้หายได้ และหากรับการรักษาเร็วจะช่วยให้หายดีได้เร็วขึ้น

  1. รับฟังและพูดคุยกับผู้ที่เป็นซึมเศร้า

รับฟังผู้ป่วยด้วยความเข้าใจโดยไม่ใช้ความคิดหรือความรู้สึกของตัวเองไปตัดสิน เพราะผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้าจะอ่อนไหวง่ายกว่าคนทั่วไป แต่หากผู้ป่วยยังไม่พร้อมเล่าความรู้สึกออกมา อาจชวนผู้ป่วยคุยด้วยท่าทีที่สบาย ๆ ไม่คาดคั้นหรือกดดันให้พูด เพราะคนที่เป็นโรคซึมเศร้าอาจรู้สึกเครียดและโทษตัวเองที่ไม่สามารถพูดให้คนอื่นเข้าใจได้

ทั้งนี้ คำพูดที่ควรพูดกับผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้าควรแสดงถึงความเป็นห่วงและใส่ใจ ขณะที่พูดควรสบตาและใช้น้ำเสียงที่นุ่มนวล เช่น

  • อยากเล่าอะไรหรือไม่ ฉันที่จะพร้อมรับฟัง
  • ฟังดูยากและเหนื่อยมากเลย ขอโทษนะที่ปล่อยให้เธอเผชิญเรื่องนี้โดยลำพัง
  • ฉันอาจจะไม่เข้าใจทั้งหมด แต่ฉันจะอยู่ข้าง ๆ เธอนะ
  • เธอไม่ได้อยู่คนเดียว เธอสำคัญกับฉันมากนะ

ประโยคที่ไม่ควรพูดกับคนที่เป็นโรคซึมเศร้า เช่น “เรื่องแค่นี้ทำไมถึงเศร้า” “อย่าคิดมาก เดี๋ยวเรื่องนี้ก็ผ่านไป” และ “มีคนที่ลำบากกว่านี้อีกมาก” การคำพูดที่ใช้ความรู้สึกของตัดเองตัดสินแทนจะยิ่งทำให้ผู้ป่วยรู้สึกแย่ โทษตัวเอง และคิดว่าไม่มีใครเข้าใจความรู้สึก ซึ่งอาจทำให้อาการซึมเศร้ารุนแรงขึ้น

  1. พาไปพบจิตแพทย์

เมื่อเข้าใจว่าโรคซึมเศร้าเป็นอาการเจ็บป่วย ควรโน้มน้าวให้ผู้ป่วยไปพบจิตแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษา โดยจิตแพทย์จะใช้วิธีการรักษาและให้คำแนะนำในการดูแลที่เหมาะสมกับอาการและความรุนแรงของผู้ป่วยแต่ละคน ซึ่งโดยทั่วไปจะรักษาด้วยการใช้ยาและการทำจิตบำบัด

หากผู้ป่วยไม่ยอมไปพบจิตแพทย์ อาจยกเหตุผลในการรักษาอาการทางร่างกาย เช่น นอนไม่หลับและเบื่ออาหาร เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าใจว่าการรักษาโรคซึมเศร้าอาจช่วยรักษาอาการอื่น ๆ ได้ด้วย นอกจากนี้ ญาติและเพื่อนไม่ควรโกหกว่าจะชวนไปที่อื่นทั้งที่จะพาไปพบจิตแพทย์ เพราะอาจทำให้ผู้ป่วยไม่พอใจและไม่เชื่อใจที่จะไปรักษาอีก

เมื่อรับการรักษาแล้ว ผู้ที่ดูแลหรืออยู่ใกล้ชิดควรกำชับให้ผู้ป่วยรับประทานยาและดูแลตัวเองตามที่แพทย์สั่ง โดยภาวะซึมเศร้าอาจดีขึ้นภายใน 2–3 สัปดาห์ และควรพาผู้ป่วยไปพบจิตแพทย์ตามนัดหมายครั้งต่อไป 

  1. ดูแลการใช้ชีวิตของผู้ที่เป็นซึมเศร้า

ญาติและเพื่อนควรดูแลให้ผู้ป่วยใช้ชีวิตประจำวันตามปกติ เช่น กำหนดเวลาตื่นนอน เวลารับประทานอาหารและยา เวลาเข้านอน นอกจากนี้ ไม่ควรปล่อยให้ผู้ป่วยอยู่คนเดียว โดยอาจให้ผู้ป่วยทำกิจกรรมที่ชอบ เช่น ออกกำลังกาย วาดรูป และทำอาหารร่วมกับคนในครอบครัวหรือเพื่อนสนิท ซึ่งจะช่วยให้จิตใจแจ่มใสขึ้น

  1. ดูแลผู้ที่เป็นซึมเศร้าอย่างใจเย็น

การรักษาโรคซึมเศร้าอาจใช้เวลานานอย่างน้อย 6–9 เดือน เนื่องจากบางครั้งวิธีที่ใช้รักษาอยู่อาจไม่ได้ผล ทำให้ต้องเปลี่ยนวิธีการรักษาหลายครั้ง การดูแลผู้ที่มีอาการซึมเศร้าจึงต้องใช้ความอดทนและความพยายาม 

เมื่อผู้ป่วยอาการดีขึ้น คนรอบข้างอาจสังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรม อย่างการสบตาแทนการหลบตาเมื่อรู้สึกกังวล อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะได้รับการรักษาโรคซึมเศร้าจนหายแล้วก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่สามารถเกิดอาการซ้ำ จึงควรดูแลผู้ที่เป็นซึมเศร้าให้มีสภาวะอารมณ์ปกติและใช้ชีวิตอย่างมีความสุข

  1. อย่าลืมใส่ใจตัวเอง

การดูแลผู้ที่เป็นซึมเศร้าอาจบั่นทอนสุขภาพกายและสุขภาพจิตของผู้ดูแล หากดูแลคนอื่นจนลืมการดูแลตัวเองอาจทำให้เราเกิดความเครียดและไม่สามารถดูแลคนอื่นได้อย่างเต็มที่ 

สิ่งสำคัญคือการรู้ขีดจำกัดของตัวเอง หากรู้สึกเหนื่อยและอารมณ์ไม่ดีควรหยุดพักจนกว่าจะรู้สึกดีขึ้นก่อน เพราะการดูแลผู้ที่เป็นซึมเศร้าขณะที่สภาพจิตใจไม่พร้อม อาจทำให้เรารับฟังและให้คำแนะนำที่ไม่เหมาะสม นอกจากนี้ ควรให้เวลากับตัวเองเพื่อให้เรามีเวลาจัดการเรื่องส่วนตัวและทำกิจกรรมผ่อนคลายความเครียด โดยอาจให้คนอื่นสลับกันช่วยดูแลผู้ที่เป็นซึมเศร้า

สัญญาณอันตรายของคนเป็นซึมเศร้า

หากคนใกล้ชิดมีอาการต่าง ๆ เหล่านี้อาจเป็นสัญญาณอันตรายที่บ่งบอกว่าผู้ป่วยมีความคิดฆ่าตัวตาย ได้แก่

  • อารมณ์และพฤติกรรมเปลี่ยนไป เช่น ฉุนเฉียวง่าย ไม่ยอมรับประทานอาหารและนอนหลับ แยกตัวจากคนอื่น ใช้สุราหรือยาเสพติด
  • พูดถึงการฆ่าตัวตาย เช่น “อยากตาย” “ไม่อยากมีชีวิตอยู่แล้ว” และ “ฉันไม่น่าเกิดมาเลย”
  • เตรียมอุปกรณ์ที่ใช้ในการฆ่าตัวตาย เช่น เชือก มีด ยาและสารเคมีต่าง ๆ
  • มีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายหรือวางแผนการตายล่วงหน้า เช่น พูดสั่งเสียหรือฝากฝังกับคนใกล้ชิด จัดการทรัพย์สินและงานของตัวเอง ส่งมอบสิ่งของที่รักให้คนอื่น 

หากคนใกล้ตัวมีอาการเหล่านี้ ควรเข้าไปพูดคุยและให้ความช่วยเหลือ หรือโทรปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 และ Depress We Care โรงพยาบาลตำรวจ โทร. 08-1932-0000 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง หรือสมาคมสะมาริตันส์ โทร. 0-2113-6789 เวลา 12.00–22.00 น.

การดูแลผู้ที่มีอาการซึมเศร้าอาจเป็นเรื่องยากและทำให้หลายคนกังวล แต่การดูแลจิตใจซึ่งกันและกันเป็นสิ่งสำคัญ การรับฟัง ให้กำลังใจ ให้คำปรึกษาแก่ผู้ที่มีปัญหาอย่างใส่ใจ ควบคู่ไปกับการได้รับการรักษาที่ถูกต้องจะช่วยให้ผู้ป่วยซึมเศร้าหายดีได้