การมองเห็นเกิดขึ้นอย่างไร และวิธีดูแลสายตาอย่างเหมาะสม

การมองเห็นเป็นหนึ่งในประสาทสัมผัสที่สำคัญ ทำให้เรารับรู้ภาพต่าง ๆ ผ่านการทำงานของดวงตา และยังเป็นกระบวนการที่ซับซ้อน โดยจะประกอบไปด้วยการทำงานของส่วนต่าง ๆ ในดวงตาเพื่อรับภาพวัตถุที่เห็นแปลงเป็นสัญญาณประสาท และส่งข้อมูลไปยังสมอง 

การดูแลดวงตาด้วยการไม่ใช้สายตาหนัก รับประทานอาหารที่ช่วยบำรุงสายตา และเข้ารับการตรวจตาเป็นประจำ จะช่วยป้องกันความเสียหายจากอุบัติเหตุที่เกิดกับดวงตา และโรคตาที่ทำร้ายสายตาก่อนวัยอันควร เพื่อสุขภาพตาและการมองเห็นที่ดี 

การมองเห็นเกิดขึ้นอย่างไร และวิธีดูแลสายตาอย่างเหมาะสม

ดวงตาและการมองเห็น

การมองเห็นเกิดขึ้นเมื่อแสงตกกระทบวัตถุที่เรามองอยู่แล้วสะท้อนเข้าสู่ดวงตา ผ่านไปที่กระจกตา (Cornea) เข้าสู่รูม่านตา (Pupil) ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมปริมาณแสงที่ผ่านเข้าไปในดวงตา โดยรูม่านตาจะเปิดน้อยหากมีแสงสว่างมาก และเปิดกว้างขึ้นเมื่อมีแสงสว่างน้อย

จากนั้นแสงจะผ่านไปยังเลนส์ตา (Lens) ซึ่งเลนส์และกระจกตาจะทำหน้าที่หักเหแสงจากสิ่งที่เรามองให้ไปโฟกัสที่จอประสาทตา (Retina) ที่ประกอบไปด้วยเซลล์รับภาพ ทำหน้าที่ในการแปลงแสงดังกล่าวเป็นสัญญาณประสาท และเส้นประสาทตาจะส่งสัญญาณประสาทต่อไปยังสมองส่วนที่ประมวลผลการมองเห็น (Visual Cortex) แล้วแปลงสัญญาณประสาทเป็นภาพ

เทคนิคดูแลสายตาเพื่อช่วยในการมองเห็น

การดูแลดวงตาจะช่วยให้การมองเห็นเป็นไปตามปกติ และช่วยให้สายตาของเรามีสุขภาพดีได้ยาวนาน ซึ่งวิธีที่ช่วยบำรุงสายตา เช่น 

รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อดวงตา

การรับประทานอาหารที่มีโอเมก้า 3 (Omega-3) วิตามินเอ ซี และอี เบต้าแคโรทีน ลูทีน (Lutein) ซีแซนทีน (Zeaxanthin) และสังกะสีมีส่วนช่วยในการมองเห็น และอาจช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคตา เช่น ต้อกระจก จอประสาทตาเสื่อม และตาแห้ง 

จากผลการศึกษาชิ้นหนึ่งพบว่าการรับประทานอาหารที่มีวิตามินเอ วิตามินซี สังกะสี ทองแดง และสารกลุ่มแคโรทีนอยด์ มีส่วนช่วยชะลอความรุนแรงของโรคจอประสาทตาเสื่อมได้ราว 25% โดยวิตามินและแร่ธาตุเหล่านี้พบมากในปลาแซลมอน ปลาทูน่า ปลาซาร์ดีน ไข่ นม ผักปวยเล้ง เคล ผักกาดหอม แครอท อะโวคาโด มะเขือเทศ ส้ม ถั่ว และธัญพืชต่าง ๆ

ออกกำลังกายเป็นประจำ   

การออกกำลังกายเป็นประจำจะช่วยเสริมสร้างสุขภาพโดยรวมให้แข็งแรง ซึ่งอาจช่วยป้องกันปัญหาสุขภาพที่ส่งผลต่อการมองเห็น โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งระบุว่าการออกกำลังกายแบบความหนักระดับปานกลาง (Moderate Exercise) เป็นประจำช่วยลดความเสี่ยงของโรคต้อหินได้ประมาณ 25%

นอกจากนี้ การออกกำลังกายยังช่วยควบคุมน้ำหนักตัวและป้องกันโรคเบาหวานขึ้นตาในผู้ที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 ซึ่งเกิดจากการที่ระดับน้ำตาลในเลือดสูงเป็นเวลานาน ทำให้ผนังหลอดเลือดฝอยที่จอตาเสียหาย และอาจทำให้มีเลือดออกบริเวณจอประสาทตา หากอาการรุนแรงอาจสูญเสียการมองเห็นได้

ไม่สูบบุหรี่

สารเคมีในบุหรี่อาจทำให้จอประสาทตา เลนส์ตา และจุดภาพชัด (Macula) ในจอตาเสียหาย และอาจเพิ่มความเสี่ยงของโรคจอประสาทตาเสื่อม โรคต้อกระจก รวมทั้งอาการตาแห้งจากควันบุหรี่ ทั้งจากการสูบเองและการได้รับควันบุหรี่จากคนรอบข้าง นอกจากนี้ การสูบบุหรี่อาจเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งอาจนำไปสู่การเกิดโรคตาได้

ปรับพฤติกรรมเพื่อถนอมสายตา

การใช้สายตาอย่างหนักในแต่ละวันอาจส่งผลเสียต่อการมองเห็น และนำไปสู่โรคตา เช่น ตาล้า ตาแห้ง และตาพร่า จึงควรปรับพฤติกรรมการใช้สายตา ดังนี้

  • พักสายตาโดยใช้หลัก 20-20-20 คือพักสายตาทุก 20 นาที มองออกไปที่ไกล ๆ ระยะประมาณ 20 ฟุต หรือ 6 เมตร นาน 20 วินาที โดยเฉพาะคนทำงานที่ใช้สายตาเพ่งจอคอมพิวเตอร์ทั้งวัน
  • วางจอคอมพิวเตอร์ให้พอดี โดยให้สายตาอยู่ระนาบเดียวกับขอบด้านบนของหน้าจอ เพื่อที่เวลาทำงานสายตาจะกดลงเล็กน้อย และเลือกเก้าอี้ที่มีความสูงพอเหมาะ ให้เท้าทั้งสองข้างวางราบบนพื้น
  • เมื่ออยู่นอกบ้านในช่วงที่มีแสงจ้า ควรสวมแว่นตาป้องกันแสงแดดที่สามารถป้องกันกันรังสียูวีเอ (UVA) และยูวีบี (UVB) ได้ 99% เพราะรังสียูวีอาจทำร้ายดวงตาและเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดต้อกระจกและจอประสาทตาเสื่อม 
  • เมื่อใช้สารเคมี ใช้ของมีคม เล่นกีฬา หรือทำงานก่อสร้าง ควรสวมแว่นป้องกันดวงตา เพื่อป้องกันการบาดเจ็บหรืออุบัติเหตุบริเวณดวงตา
  • ไม่ควรใส่คอนเทคเลนส์ขณะอาบน้ำ ว่ายน้ำ และนอนหลับ ควรล้างมือให้สะอาดทั้งก่อนและหลังใส่คอนแทคเลนส์ และทำความสะอาดคอนแทคเลนส์ทุกวันด้วยน้ำยาล้างคอนแทคเลนส์ เพื่อป้องกันการติดเชื้อที่ดวงตา
  • หลีกเลี่ยงการใช้เครื่องสำอางร่วมกับผู้อื่น โดยเฉพาะเครื่องสำอางที่ใช้บริเวณดวงตา เช่น อายไลน์เนอร์และมาสคาร่า ก่อนนอนควรล้างเครื่องสำอางให้สะอาด และเปลี่ยนเครื่องสำอางที่ใช้บริเวณดวงตาทุก 3 เดือน

ตรวจตาเป็นประจำ

ควรตรวจสุขภาพตาเป็นประจำทุก 1–2 ปี โดยไม่ต้องรอให้เกิดอาการผิดปกติ เนื่องจากโรคตาบางโรคอาจไม่แสดงอาการในระยะแรก โดยเฉพาะคนที่อายุ 40 ปีขึ้นไปที่อาจเริ่มสายตายาวตามอายุ (Presbyopia) จอประสาทตาเสื่อม และคนที่ครอบครัวมีประวัติของโรคตา 

การตรวจพบความผิดปกติของดวงตาและรับการรักษาแต่เนิ่น ๆ จะช่วยให้การรักษามีประสิทธิภาพ และช่วยให้รักษาดวงตาและการมองเห็นให้ดีได้ยาวนานขึ้น

รักษาโรคประจำตัวตามที่แพทย์สั่ง

คนที่มีโรคประจำตัวที่อาจส่งผลต่อสุขภาพดวงตาและการมองเห็น เช่น ความดันโลหิตสูง และโรคเบาหวาน ควรดูแลสุขภาพ และใช้ยาที่ช่วยควบคุมระดับความดันโลหิตและน้ำตาลในเลือดตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด รวมทั้งไปพบแพทย์ตามวันที่นัดหมาย ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดภาวะแทรกซ้อนทางดวงตา เช่น เบาหวานขึ้นตา และโรคตาอื่น ๆ  

หากพบความผิดปกติของดวงตาและการมองเห็น เช่น เจ็บตา แสบตา ตาบวม มองเห็นไม่ชัด เห็นแสงวาบ จุดดำหรือเส้นใยคล้ายหยากไย่ลอยไปมา ตาไม่สู้แสง มีเลือดไหลออกจากตา และปวดศีรษะ ควรไปพบจักษุแพทย์ เพราะอาจเป็นสัญญาณของโรคตาที่ควรได้รับการตรวจและรักษาอย่างเหมาะสม