เลี้ยงลูกวัยรุ่นอย่างไรโดยไม่รุกล้ำพื้นที่ส่วนตัว

พ่อแม่หลายคนคิดว่าการเอาใจใส่ลูกในทุก ๆ เรื่องจะทำให้ครอบครัวมีความเข้าใจและความผูกพันกัน แต่การเอาใจใส่ที่มากเกินพอดีอาจเป็นการก้าวก่ายและรุกล้ำพื้นที่ส่วนตัวของลูก โดยเฉพาะวัยรุ่นซึ่งเป็นวัยที่เชื่อมั่นในตัวเองสูงและเริ่มต้องการความเป็นอิสระจากครอบครัว ทำให้ลูกไม่มีโอกาสในการตัดสินใจและใช้ชีวิตด้วยตัวเอง 

แม้วัยรุ่นจะต้องการพื้นที่ส่วนตัวเพื่อใช้เวลาคิดและทำในสิ่งที่ตัวเองรัก แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องการการดูแลและสนับสนุนจากพ่อแม่ในบางเรื่องด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม เมื่อลูกโตขึ้นอาจไม่ได้พูดหรือแสดงออกถึงความต้องการของตนเอง พ่อแม่หลายคนจึงไม่รู้ว่าควรดูแลลูกอย่างไรให้เหมาะสมโดยไม่ก้าวก่ายความเป็นส่วนตัว 

เลี้ยงลูกวัยรุ่นอย่างไรโดยไม่รุกล้ำพื้นที่ส่วนตัว

พื้นที่ส่วนตัวสำคัญอย่างไร

การมีพื้นที่ส่วนตัวหมายถึงการกำหนดขอบเขตของตัวเองและมีระยะห่างแยกจากคนอื่น ไม่ว่าจะเป็นระยะห่างทางกายภาพและความรู้สึกนึกคิด เช่น วัยรุ่นมักใช้เวลาส่วนตัวอยู่ในห้องนอน และต้องการอิสระทางความคิดและการตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ ด้วยตัวเอง โดยจะรู้สึกอึดอัดใจหากพ่อแม่มาก้าวก่าย ซึ่งเป็นเรื่องปกติเมื่อลูกเริ่มเข้าสู่วัยรุ่น

ทั้งนี้ แต่ละครอบครัวอาจให้ความสำคัญกับพื้นที่ส่วนตัวแตกต่างกัน โดยงานวิจัยหนึ่งได้แบ่งรูปแบบของครอบครัวตามลักษณะความใกล้ชิดกันของคนในครอบครัว ดังนี้

  • ครอบครัวที่มีความผูกพันกัน (Family Cohesion) หมายถึงครอบครัวที่ให้ความรัก ความอบอุ่น และเอาใจใส่ดูแลกันโดยไม่ก้าวก่ายขอบเขตความเป็นส่วนตัว รับฟังและเคารพความต้องการของสมาชิกคนอื่น ๆ ในครอบครัวจัดเป็นครอบครัวที่มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน
  • ครอบครัวที่มีความพัวพันยุ่งเหยิง (Family Enmeshment) เป็นครอบครัวที่ไม่มีขอบเขตที่แน่ชัด และไม่ให้ความสำคัญของความเป็นส่วนตัว โดยพ่อแม่มักเข้ามาบงการชีวิตของลูก เช่น อยากรู้ทุกเรื่องในชีวิตลูก เอาตัวเองเป็นที่ตั้ง ไม่สนับสนุนให้ลูกทำในสิ่งที่อยากทำ และในบางครั้งอาจหวังให้ลูกเป็นที่พึ่งดูแลและรับผิดชอบครอบครัว

หากพ่อแม่เลี้ยงดูลูกด้วยการควบคุมและบงการชีวิตมากเกินไป อาจทำให้ลูกรู้สึกอึดอัด ไม่เป็นตัวของตัวเอง เพราะต้องทำตามความต้องการของพ่อแม่ โดยไม่มีสิทธิเลือกทำตามความต้องการของตัวเอง เด็กที่เติบโตมาในครอบครัวที่ไม่เคารพพื้นที่ส่วนตัวซึ่งกันและกันอาจมีแนวโน้มขาดทักษะรับมือกับปัญหา ขาดความมั่นใจ ไม่เห็นคุณค่าในตัวเอง และกลัวการถูกทอดทิ้ง ซึ่งอาจกระทบต่อการใช้ชีวิตและความสัมพันธ์กับผู้อื่นในอนาคต

เทคนิคเลี้ยงลูกด้วยความเข้าใจและให้พื้นที่ส่วนตัว

การให้พื้นที่ส่วนตัวกับลูกอาจเป็นเรื่องยากสำหรับบางครอบครัว เพราะพ่อแม่บางคนมักคิดว่าเป็นหน้าที่ที่ต้องเข้าไปกำกับดูแลพฤติกรรมของลูก แต่พ่อแม่ต้องไม่ลืมว่าการให้ความเป็นส่วนตัวและให้ลูกตัดสินใจทำบางสิ่งด้วยตัวเองเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้วัยรุ่นเติบโตเป็นผู้ใหญ่ได้อย่างสมบูรณ์ โดยใช้วิธีดังต่อไปนี้

  • ไม่ตีกรอบและกำหนดทุกอย่างในชีวิตของลูก และควรพูดคุยเรื่องขอบเขตของความเป็นส่วนตัวของคนในครอบครัวให้เข้าใจ เช่น ในแต่ละวันอาจแบ่งเวลาส่วนตัวกับทุกคนในครอบครัว 2–3 ชั่วโมง และในขณะเดียวกันอาจกำหนดเวลาในการทำกิจกรรมครอบครัว อย่างการรับประทานอาหารเย็นร่วมกันทุกวัน เป็นต้น
  • ให้อิสระในพื้นที่ส่วนตัวเมื่อลูกเริ่มเข้าสู่วัยรุ่น เช่น ไม่เข้าไปในห้องนอนของลูก และไม่เปิดอ่านข้อความ อีเมล หรือเปิดดูโทรศัพท์มือถือของลูกโดยไม่ได้รับอนุญาต 
  • ให้ลูกได้ใช้เวลาส่วนตัวกับเพื่อนหลังเลิกเรียนหรือในวันหยุดบ้าง โดยให้ลูกบอกสถานที่และเวลากลับบ้านที่ชัดเจนให้พ่อแม่รู้ก่อนออกไปกับเพื่อนทุกครั้ง
  • สังเกตพฤติกรรมการใช้เวลาดูโทรทัศน์และใช้สื่อโซเชียลของลูก เพราะบางครั้งอาจได้รับข้อมูลที่ไม่เหมาะสม และควรกำหนดเวลาในการดูโทรทัศน์และเล่นอินเทอร์เน็ตในแต่ละวัน เพื่อไม่ให้ลูกใช้เวลากับหน้าจอเหล่านี้นานจนเกินไป
  • ไม่ควรคาดหวังหรือบังคับให้ลูกบอกเล่าทุกเรื่องกับคนในครอบครัว โดยอาจใช้การสังเกตพฤติกรรมของลูกแทน หากลูกมีท่าทางไม่สบายใจหรือกังวล แต่ไม่ได้พูดออกมาตามตรง พ่อแม่อาจสอบถามสาเหตุและให้คำแนะนำในการแก้ปัญหา จะทำให้ลูกรู้สึกถึงความเอาใจใส่โดยไม่ถูกบังคับ
  • ฝึกให้ลูกจัดการกับปัญหาต่าง ๆ และเรียนรู้การรับมือกับความผิดหวังเมื่อผลลัพธ์ไม่เป็นไปตามที่ต้องการด้วยตัวเอง

การดูแลลูกเมื่อเข้าสู่วัยรุ่นอาจเป็นเรื่องยากสำหรับพ่อแม่หลายคน เพราะวัยรุ่นมักเชื่อมั่นในความคิดของตัวเองและไม่พึ่งพาพ่อแม่เหมือนแต่ก่อน พ่อแม่ควรปรับเปลี่ยนวิธีการดูแลลูกจากการตีกรอบและบงการการใช้ชีวิต เป็นการเลี้ยงดูด้วยความเชื่อใจ ให้พื้นที่ส่วนตัวกับลูก รับฟังและพูดคุยกับลูกด้วยเหตุผล จะช่วยให้ลูกสบายใจและสร้างความสัมพันธ์อันดีในครอบครัว 

หากพบว่าลูกมีนิสัยหรือพฤติกรรมที่แปลกไป เช่น อารมณ์ฉุนเฉียวก้าวร้าว ไม่พูดคุยกับคนในครอบครัวและเพื่อน ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับคำแนะนำที่ถูกต้องต่อไป