เป็นกรดไหลย้อน ควรหลีกเลี่ยงอาหารใดบ้าง

กรดไหลย้อน (Acid Reflux) เป็นภาวะที่กรดหรือน้ำย่อยในกระเพาะอาหารไหลย้อนกลับขึ้นมาในหลอดอาหาร ทำให้เกิดอาการแสบร้อนกลางอกตามมา ซึ่งกรดไหลย้อนเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย โดยอาหารที่รับประทานเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่กระตุ้นให้กล้ามเนื้อหูรูดส่วนล่างของหลอดอาหารคลายตัวจนเกิดภาวะกรดไหลย้อนขึ้น 

ใครที่มีภาวะกรดไหลย้อนมากกว่า 2 ครั้งต่อสัปดาห์ และอาการมักต่อเนื่องกันหลายสัปดาห์ อาจมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคกรดไหลย้อน (Gastroesophageal Reflux Disease: GERD) ซึ่งรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันและอาจนำไปสู่โรคแทรกซ้อนอื่นได้ การหลีกเลี่ยงอาหารและเครื่องดื่มบางชนิดที่กระตุ้นให้เกิดภาวะกรดไหลย้อนถือเป็นหนึ่งในวิธีสำคัญที่อาจช่วยควบคุมอาการกรดไหลย้อนได้

เป็นกรดไหลย้อน ควรหลีกเลี่ยงอาหารใดบ้าง

อาหารที่คนเป็นกรดไหลย้อนควรหลีกเลี่ยง

อาหารหลายชนิดมีส่วนกระตุ้นให้เกิดอาการของกรดไหลย้อน เช่น เรอเปรี้ยว จุกเสียดบริเวณใต้ลิ้นปี่คล้ายอาหารไม่ย่อย และแสบร้อนกลางอก ซึ่งแต่ละคนอาจเกิดอาการที่แตกต่างกันหลังจากการรับประทานอาหาร โดยอาหารที่มักทำให้เกิดกรดไหลย้อน ได้แก่

  1. อาหารที่มีไขมันสูง

อาหารที่อุดมไปด้วยไขมันอาจทำให้หูรูดหลอดอาหารส่วนล่าง (Lower Esophageal Sphincter) หย่อนตัวและปิดไม่สนิท ทำให้กรดในกระเพาะอาหารไหลย้อนกลับมาที่หลอดอาหาร จึงก่อให้เกิดอาการแสบร้อนกลางอกตามมา รวมทั้งอาหารที่มีไขมันสูงอาจกระตุ้นให้ร่างกายสร้างฮอร์โมนคอเลซิสโทไคนิน (CCK) ซึ่งทำให้หูรูดกระเพาะอาหารส่วนล่างคลายตัวได้อีกด้วย  

นอกจากนี้ อาหารที่มีไขมันสูงยังเป็นอาหารที่ย่อยยาก จึงตกค้างอยู่ในกระเพาะอาหารและใช้เวลาการย่อยนาน ซึ่งอาจกระตุ้นให้เกิดภาวะกรดไหลย้อนได้อีกทางหนึ่ง ผู้ที่เป็นกรดไหลย้อนจึงควรหลีกเลี่ยงอาหารประเภททอด อาหารฟาสต์ฟู้ด และอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูง เช่น เนย ชีส และช็อคโกแลต เป็นต้น

  1. อาหารรสเผ็ดจัด

อาหารรสเผ็ดประกอบด้วยสารแคปไซซิน (Capsaicin) ซึ่งอาจทำให้ระบบการย่อยอาหารทำงานได้ช้าลง ทำให้อาหารที่เรารับประทานค้างอยู่ในกระเพาะอาหารนานยิ่งขึ้น และอาจกระตุ้นให้เกิดภาวะกรดไหลย้อน นอกจากนี้ การรับประทานอาหารเผ็ดจัดอาจทำให้เยื่อบุหลอดอาหารเกิดการระคายเคืองมากขึ้น ผู้ที่เป็นโรคกรดไหลย้อนจึงควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีรสเผ็ดจัด เพื่อป้องกันอาการแสบร้อนเมื่อเกิดกรดไหลย้อน

  1. ผักผลไม้บางชนิด

ผักและผลไม้บางชนิด อย่างเช่น หอมใหญ่ กระเทียม มะเขือเทศ มะนาว ส้ม สับปะรด รวมทั้งผักผลไม้ดอง น้ำผักผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว และซอสมะเขือเทศ ถือเป็นอาหารที่มีความเป็นกรดสูง ทำให้เกิดแก๊สในทางเดินอาหาร จึงอาจทำให้ระบบย่อยอาหารเกิดการระคายเคืองและเกิดอาการของกรดไหลย้อนได้ง่าย

  1. เครื่องดื่ม

เครื่องดื่มหลายชนิดอาจกระตุ้นให้เกิดอาการกรดไหลย้อน โดยเฉพาะโซดาและน้ำอัดลม ซึ่งเป็นเครื่องดื่มที่มีกรดสูง จึงอาจทำให้ท้องอืดและเกิดกรดไหลย้อนได้ง่าย และอาจทำให้หูรูดกระเพาะอาหารคลายตัวจนกรดในกระเพาะอาหารไหลย้อนกลับขึ้นมาที่หลอดอาหารได้ 

เช่นเดียวกับการดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน อย่างชา กาแฟ เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และนมชนิดเต็มมันเนย (Whole Milk) ที่อาจส่งผลให้หูรูดกระเพาะอาหารคลายตัวลง อาจทำให้กระเพาะอาหารระคายเคือง และกระตุ้นให้บางคนเกิดอาการกรดไหลย้อน

เลือกรับประทานอย่างไรให้ห่างไกลกรดไหลย้อน

การหลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง มีรสเปรี้ยวจัด เผ็ดจัด และเครื่องดื่มประเภทชา กาแฟ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อาจช่วยลดอาการแสบร้อนกลางอกและอาการอื่น ๆ ของกรดไหลย้อนได้ รวมถึงควรรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ได้แก่ เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ธัญพืชขัดสีน้อย ผักและผลไม้ที่มีค่าความเป็นกรดต่ำและมีใยอาหารสูง อย่างหน่อไม้ฝรั่ง บร็อคโคลี มันฝรั่ง แอปเปิ้ล และกล้วย

ทั้งนี้ ผู้ที่เป็นกรดไหลย้อนแต่ละคนอาจมีอาหารที่กระตุ้นให้เกิดอาการแตกต่างกัน จึงควรสังเกตอาหารที่รับประทาน และจดบันทึกประเภทอาหาร ช่วงเวลาที่รับประทาน และอาการที่เกิดขึ้น เพื่อหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารนั้น ๆ 

นอกจากนี้ ผู้ที่มีอาการกรดไหลย้อนไม่ควรรับประทานอาหารในแต่ละมื้อมากเกินไป โดยอาจแบ่งรับประทานเป็นมื้อเล็ก ๆ วันละหลายมื้อ และไม่ควรเข้านอนหลังรับประทานอาหารเสร็จทันที แต่ควรเว้นระยะเวลาอย่างน้อย 3 ชั่วโมง เพื่อให้ร่างกายย่อยอาหารเสร็จเรียบร้อยก่อน

การปรับพฤติกรรมด้วยการหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารบางชนิด ควบคุมน้ำหนัก งดสูบบุหรี่ และผ่อนคลายความเครียด ควบคู่กับการรับประทานยาลดกรดเมื่อมีอาการจะช่วยบรรเทาและควบคุมอาการของโรคกรดไหลย้อนได้ อย่างไรก็ตาม หากมีอาการของโรคกรดไหลย้อนอย่างต่อเนื่องหรือมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการรับประทานอาหาร ควรไปพบแพทย์เพื่อรับคำแนะนำและตรวจรักษาที่เหมาะสม