อาการเสียการทรงตัวในผู้สูงอายุ สาเหตุและวิธีลดความเสี่ยงที่ควรรู้

อาการเสียการทรงตัวในผู้สูงอายุอาจเป็นสัญญาณของการเจ็บป่วยและปัญหาสุขภาพตั้งแต่ระดับไม่รุนแรงไปจนถึงขั้นอันตราย อีกทั้งอาการเสียการทรงตัวอาจทำให้ผู้สูงอายุหกล้มหรือเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย บุตรหลานหรือคนในครอบครัวจึงควรเฝ้าระวังและหาวิธีรับมืออย่างถูกต้อง

อาการเสียการทรงตัวในผู้สูงอายุเกิดได้จากหลายสาเหตุและปัจจัย โดยอาจมาจากความผิดปกติของสมองและระบบประสาท โรคเกี่ยวกับกล้ามเนื้อ หรือพฤติกรรมการเคลื่อนไหวบางท่าทางในชีวิตประจำวันก็อาจทำให้เกิดปัญหาด้านการทรงตัวได้

อาการเสียการทรงตัวในผู้สูงอายุ สาเหตุและวิธีลดความเสี่ยงที่ควรรู้

อาการเสียการทรงตัวในผู้สูงอายุ อันตรายกว่าที่คิด

ปัญหาด้านการทรงตัวของผู้สูงอายุจะแตกต่างกันไปตามสาเหตุ มีตั้งแต่อาการเวียนหัว บ้านหมุน หน้ามืด มึน วิงเวียน รู้สึกโคลงเคลง เดินไม่ตรง ทรงตัวลำบาก ยืนหรือเคลื่อนไหวได้ไม่มั่นคง ตาพร่ามั่ว สับสนเรื่องทิศทางการเคลื่อนไหว หรือบางคนอาจเกิดอาการหน้ามืดฉับพลันทำให้เสียการทรงตัว

ความรุนแรงและลักษณะของอาการเสียการทรงตัวก็จะต่างกันไป หากผู้สูงอายุเสียการทรงตัวอย่างฉับพลันมักจะเสี่ยงต่ออุบัติเหตุ อย่างหกล้ม ตกบันได รถชน และอาจนำไปสู่การบาดเจ็บร้ายแรงและการเสียชีวิต เพราะผู้สูงอายุเป็นช่วงวัยที่ร่างกายอ่อนแอและฟื้นฟูได้ช้า อีกทั้งร่างกายของผู้สูงอายุมักไม่สามารถฟื้นฟูกลับมาเหมือนเดิมได้เมื่อเทียบกับคนวัยหนุ่มสาว 

นอกจากนี้ อาการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นอาจส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันหลังการรักษา เช่น เคลื่อนไหวได้ไม่เหมือนเดิม ไม่สามารถทำงานที่เคยทำได้ หรือเกิดปัญหาในการดูแลตนเอง ซึ่งอาจนำไปสู่ความเครียดและปัญหาด้านจิตใจตามมา

หากผู้สูงอายุในบ้านเคยเผชิญกับปัญหานี้ มีอาการเสียการทรงตัวอย่างต่อเนื่อง หรือพบอาการอื่นในลักษณะคล้ายกัน ควรพาไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุและรับการรักษาที่ถูกต้อง อย่างไรก็ตาม หากผู้สูงอายุเกิดอุบัติเหตุหรือมีปัญหาเสียการทรงตัวรุนแรง ควรพาไปพบแพทย์ทันที

สาเหตุของอาการเสียการทรงตัวในผู้สูงอายุ

อาการที่ส่งผลต่อการทรงตัวอาจมาจากปัญหาสุขภาพและปัจจัยต่าง ๆ โดยสาเหตุต่อไปนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของความผิดปกติที่อาจทำให้เกิดปัญหาด้านการทรงตัวในผู้สูงอายุ

  • อาการปวดหัวไมเกรน
  • ภาวะความดันตกในท่ายืน (Postural/Orthostatic Hypotension) มักทำให้หน้ามืดย่างฉับพลันเมื่อลุกขึ้นยืน
  • ปัญหาเกี่ยวกับหู เช่น ภาวะติดเชื้อในหู โรคหินปูนในหูชั้นในเคลื่อน และความผิดปกติเกี่ยวกับหูที่ส่งผลกระทบให้ระบบการทรงตัว (Vestibular System) ทำงานผิดไปจากเดิม
  • การบาดเจ็บบริเวณหัวหรือศีรษะ
  • โรคหายใจเกิน (Hyperventilation Syndrome)
  • ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด
  • กลุ่มการไหลเวียนเลือด เช่น ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคหลอดเลือดสมอง และโรคหลอดเลือดแดงหัวใจโคโรนารี (Coronary Artery Disease) เป็นต้น
  • โรคเกี่ยวกับข้อและกล้ามเนื้อ เส้นประสาทบริเวณขาเสียหายที่ส่งผลต่อการเคลื่อนไหว อย่างโรคเก๊าท์เก๊าท์ โรคข้ออักเสบ โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง และโรคโพรงกระดูกสันหลังตีบแคบ
  • ภาวะเปราะบาง (Frailty) ในผู้สูงอายุหรือภาวะเสื่อมถอยด้านร่างกายและจิตใจที่มาพร้อมกับอายุ
  • ความผิดปกติทางจิตและอารมณ์ อย่างปัญหาด้านการนอนหลับ โรคซึมเศร้า ปัญหาติดสุราและการใช้สารเสพติด และโรคทางจิตเวชอื่น ๆ

วิธีบรรเทาและรับมือกับอาการเสียการทรงตัวในผู้สูงอายุ

หากผู้สูงอายุมีอาการเวียนหัว หน้ามืด บ้านหมุน เป็นลม แขนขาอ่อนแรง หรืออาการอื่นที่เกิดขึ้นฉับพลันและรุนแรง ควรให้คนใกล้ชิดพาไปโรงพยาบาลทันที หรือหากพบอาการที่ไม่รุนแรงในข้างต้น แต่พบบ่อยและถี่ขึ้น ควรไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุ โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัวหรืออยู่ระหว่างการใช้ยารักษาโรค ในกรณีที่อาการเสียการทรงตัวเกิดขึ้นหลังเริ่มใช้ยาชนิดใหม่ ควรหยุดใช้และขอคำแนะนำจากแพทย์

นอกจากนี้ ผู้สูงอายุควรหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มคาเฟอีน และควรเลิกสูบบุหรี่ เพราะส่งผลต่อสุขภาพโดยรวมและอาจเพิ่มความเสี่ยงของปัญหาด้านการทรงตัวได้

สำหรับวิธีรับมือกับอาการเสียการทรงตัวที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน ไม่ว่าจะมีสาเหตุมาจากความผิดปกติของสมอง  หรือเกิดจากปัญหาด้านร่างกายสามารถรับมือได้ด้วยวิธีดังนี้

  • รีบหาพื้นที่ปลอดภัยเพื่อนั่ง นอน ยึดจับ พิง หรือพยุงตัว เช่น เก้าอี้ เตียงนอน โซฟา ราวบันได ราวจับ พื้นบ้าน หรือเฟอร์นิเจอร์ที่แข็งแรงและมั่นคง ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงของการหกล้ม ตกบันได หรือกระแทกกับสิ่งของจนเกิดอาการบาดเจ็บได้
  • เมื่อนั่ง นอน หรือหาพื้นที่ปลอดภัยได้แล้ว ควรรอสักพักให้อาการดีขึ้นก่อน ยังไม่ควรรีบลุกขึ้นยืน เพราะอาการอาจรุนแรงขึ้นและล้มได้ เมื่ออาการดีขึ้นแล้วค่อยไปพบแพทย์
  • หากอาการไม่ดีขึ้นควรตะโกนขอความช่วยเหลือหรือโทรศัพท์เรียกรถพยาบาล โทรหาสายด่วนสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ หมายเลข 1669
  • ในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุไม่ควรฝืนหรือพยายามเคลื่อนไหว เพราะอาจทำให้บาดเจ็บรุนแรงขึ้น แต่ควรร้องขอความช่วยเหลือหรือโทรศัพท์หาหน่วยงานทางการแพทย์เช่นเดียวกับข้อก่อนหน้า

ปัญหาเสียการทรงตัวในผู้สูงอายุเป็นปัญหาที่ตัวผู้สูงอายุและลูกหลานภายในบ้านควรใส่ใจและหาวิธีรับมืออย่างถูกต้อง เพื่อลดความเสี่ยงของอุบัติเหตุและปัญหาที่อาจเกิดขึ้นตามมา หากทราบว่าผู้สูงอายุภายในบ้านมีโรคประจำตัว ควรพาไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างเหมาะสม รวมทั้งดูแลในเรื่องของอาหารการกิน การใช้ยา และการใช้ชีวิตให้เหมาะกับช่วงวัย

สำหรับผู้สูงอายุที่เคยมีหรือมีอาการเสียการทรงตัวเรื้อรัง ควรจัดเก็บสิ่งของภายในบ้านให้เป็นระเบียบ ติดตั้งราวจับตามบันได กำแพงโถงทางเดินและห้องน้ำเพื่อใช้ในการค้ำพยุงและลดความเสี่ยงของอุบัติเหตุ