สาเหตุของอาการปวดเกร็งท้อง และวิธีดูแลตัวเองแบบง่าย ๆ

อาการปวดเกร็งท้อง (Stomach Cramp) เป็นอาการที่ทำให้รู้สึกปวดเกร็งหรือปวดบีบภายในช่องท้องเป็นช่วง ๆ  ซึ่งสามารถพบได้ทั้งระดับที่ไม่รุนแรง ปานกลาง ไปจนถึงรุนแรง อาการปวดเกร็งท้องอาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ทั้งปัญหาสุขภาพทั่วไป ไปจนถึงโรคเรื้อรัง

โดยทั่วไป อาการปวดเกร็งท้องอาจดีขึ้นและหายได้เองเมื่อผ่านไปไม่นาน และสามารถบรรเทาอาการด้วยตนเองได้หลายวิธี ในบทความนี้ได้นำข้อมูลเกี่ยวกับสาเหตุของอาการปวดเกร็งที่ท้องที่พบได้ทั่วไปและวิธีดูแลตัวเองแบบง่าย ๆ เมื่อเกิดอาการปวดท้องแบบบีบเกร็งมาฝากกัน

สาเหตุของอาการปวดเกร็งท้อง และวิธีดูแลตัวเองแบบง่าย ๆ

สาเหตุของอาการปวดเกร็งท้องที่ควรรู้

อาการปวดบีบหรือปวดเกร็งที่ท้องเกิดได้จากหลายสาเหตุและปัจจัย ดังนี้

อาการปวดประจำเดือน

สาว ๆ หลายคนอาจเคยเผชิญกับอาการปวดท้องในช่วงก่อนประจำเดือนมาและช่วงที่มีประจำเดือน อาการดังกล่าวอาจให้ความรู้สึกปวดเกร็งหรือปวดบีบบริเวณท้องน้อย หรืออาจรู้สึกปวดหน่วง ๆ ทั้งยังอาจปวดสะโพก ต้นขาด้านใน และหลังส่วนล่างร่วมด้วย

อาการปวดเกร็งท้องเนื่องจากประจำเดือนอาจส่งผลให้มีอาการปวดหลายระดับ ตั้งแต่อาการปวดระดับไม่รุนแรง ปานกลาง และรุนแรงได้ ซึ่งส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันได้ทั้งนั้น โดยอาการปวดท้องจากประจำเดือนอาจดีขึ้นเอง แต่หากปวดท้องประจำเดือนติดต่อกันเกิน 2–3 วัน อาเจียน หรือท้องเสีย ควรไปพบแพทย์

ปัญหาเกี่ยวกับลำไส้

อาการปวดท้องเป็นสัญญาณที่พบได้บ่อยเมื่อลำไส้หรือระบบทางเดินอาหารเกิดความผิดปกติ โดยความผิดปกติต่อไปนี้อาจทำให้เกิดอาการปวดเกร็งท้องได้

  • อาการท้องอืดและอาหารไม่ย่อยมักจะทำให้ปวดเกร็งบริเวณท้อง ไม่สบายท้อง ซึ่งอาจเป็นผลจากการกินอาหารบางประเภทและผลจากการเคลื่อนตัวของลำไส้ที่ผิดไปจากเดิม
  • กลุ่มอาการอาหารเป็นพิษจากการติดเชื้อในทางเดินอาหารและการได้รับสารเคมีจากอาหาร ทำให้เกิดอาการปวดท้อง เป็นไข้ ท้องเสีย และคลื่นไส้อาเจียน โดยสาเหตุอาจเกิดจากการกินอาหารที่ไม่สุก อาหารกึ่งสุกกึ่งดิบ อาหารหมดอายุ และอาหารที่ใช้สารเคมีเพื่อยืดอายุ
  • ภาวะไวต่อน้ำตาลแล็กโตส (Lactose Intolerance) พบได้เฉพาะบางคนเท่านั้น โดยจะพบอาการปวดบีบที่ท้อง ท้องเสีย คลื่นไส้อาเจียน ท้องอืด และอาหารไม่ย่อย หลังจากกินอาหารที่มีน้ำตาลแล็กโตส เช่น ขนมปัง นมวัว โยเกิร์ต ชีส ไอศกรีม และอาหารที่มีนมวัวเป็นส่วนประกอบ
  • โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง อย่างโรคโครห์น (Crohn's Disease) และโรคลำไส้อักเสบ (Ulcerative Colitis) ซึ่งเป็นความผิดปกติของลำไส้ที่ต้องการการรักษาจากแพทย์ร่วมกับการดูแลตัวเองอย่างเหมาะสม เพราะหากปล่อยทิ้งไว้อาจเป็นอันตราย

นอกจากนี้ อาจมีปัญหาด้านลำไส้และระบบทางเดินอาหารอื่น ๆ ที่ส่งผลให้เกิดอาการปวดเกร็งที่ท้องได้เช่นกัน หากอาการปวดท้องหรืออาการด้านลำไส้อื่นรุนแรงขึ้นหรือไม่สามารถหาสาเหตุได้ ควรไปแพทย์

การตั้งครรภ์

คุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์อาจพบกับอาการปวดเกร็งหรือปวดบีบที่ท้องได้เช่นเดียวกัน ซึ่งเป็นอาการที่พบได้ทั่วไป ไม่อันตราย และไม่รุนแรงเท่ากับอาการปวดท้องประจำเดือน โดยคุณแม่อาจพบอาการปวดเกร็งดังกล่าวบริเวณท้องน้อยในช่วงที่ท้องอืดหรือมีแก๊สในกระเพาะ และในช่วงที่ทารกกำลังเคลื่อนไหวอยู่ในครรภ์ของคุณแม่

ในช่วงตั้งแต่ต้นไตรมาสที่ 3 คุณแม่อาจพบกับอาการเจ็บท้องหลอก (Braxton-Hicks Contractions) ที่จะทำให้เกิดอาการเกร็งที่ท้องน้อยมากกว่าปกติ แต่มักไม่ทำให้รู้สึกเจ็บปวด คุณแม่หลายคนจึงคิดตัวเองกำลังจะคลอดทารก ซึ่งจริง ๆ แล้วเป็นเพียงการเจ็บหลอกเท่านั้น หากคุณแม่พบอาการเจ็บหลอกหรือกังวลเกี่ยวกับอาการดังกล่าว ควรขอคำปรึกษาจากแพทย์

อย่างไรก็ตาม หากคุณแม่พบอาการปวดท้องรุนแรงขณะตั้งครรภ์ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที เพราะอาจเป็นทั้งสัญญาณการคลอดทารกและภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์

สาเหตุและรูปแบบของอาการปวดเกร็งท้องเหล่านี้อาจเป็นเพียงส่วนหนึ่งของสาเหตุและปัจจัยที่พบได้บ่อยเท่านั้น หากพบอาการปวดเกร็งท้องที่รุนแรง ปวดติดต่อกันหลายวัน อาการไม่ดีขึ้น หรือพบอาการผิดปกติอื่น ๆ ควรไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและรักษาด้วยวิธีที่เหมาะสม

วิธีรักษาอาการปวดเกร็งท้องด้วยตัวเอง

ในเบื้องต้นอาการปวดเกร็งท้องอาจบรรเทาหรือรักษาได้ด้วยวิธีต่อไปนี้

1. พักผ่อนร่างกาย

การนอนหลับพักผ่อนจะช่วยฟื้นฟูร่างกายจากการใช้งานและการเจ็บป่วยต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นอาการปวดเกร็งหน้าท้องจากการมีประจำเดือน การตั้งครรภ์ อาการอาหารเป็นพิษ และอาการอื่น ๆ

2. ประคบร้อน

การประคบร้อนด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น การอาบหรือแช่น้ำอุ่น การใช้แผ่นแปะแก้ปวด หรือการใช้ถุงน้ำร้อนพันผ้าประคบท้องจนรู้สึกดีขึ้น โดยความร้อนจะช่วยให้หลอดเลือดขยาย ส่งผลให้เลือดไหลเวียนได้ดี จึงอาจช่วยให้กล้ามเนื้อหน้าท้องคลายตัว และลดอาการปวดจากการหดเกร็งได้ แต่ควรระมัดระวังอุณหภูมิของอุปกรณ์ที่ใช้ประคบไม่ให้ร้อนจนเกินไป

3. ดูแลสุขภาพลำไส้

ในส่วนของสาเหตุจะเห็นได้ว่า มีความผิดปกติเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหารจำนวนไม่น้อยที่ส่งผลเกิดอาการปวดเกร็งท้องและอาการปวดท้อง การดูแลสุขภาพลำไส้อย่างเหมาะสมในช่วงที่มีอาการเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหารจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น โดยอาจเริ่มจาก

  • เลี่ยงอาหารรสจัด กินอาหารรสอ่อนและย่อยง่าย โดยเฉพาะคนที่เป็นโรคลำไส้ ท้องเสีย หรืออาเจียน
  • งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และเครื่องดื่มคาเฟอีน
  • กินอาหารที่ปรุงสุก สดใหม่อยู่เสมอ
  • ลองดื่มน้ำสมุนไพรหรือชาสมุนไพรที่ช่วยบรรเทาอาการปวดท้อง ท้องอืด อาหารไม่ย่อย เช่น ชาคาโมมายล์และน้ำขิง
  • เคี้ยวอาหารให้ละเอียดก่อนกลืน ไม่กินอาหารเร็วเกินไป หรือแบ่งมื้ออาหารออกเป็นหลายมื้อย่อย แทนการกิน 3 มื้อหลักเพื่อช่วยให้ร่างกายย่อยอาหารได้ดีขึ้น

4. ใช้ยารักษา

หากลองวิธีรักษาในข้างต้นแล้วอาการไม่ดีขึ้นหรือพบอาการรุนแรง ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจและรักษาอย่างเหมาะสม โดยแพทย์อาจสั่งจ่ายยาแก้ปวดเพื่อบรรเทาอาการปวดท้อง และยาอื่น ๆ ตามสาเหตุที่แพทย์พบ เช่น ยาช่วยย่อยสำหรับอาการอาหารไม่ย่อย หรือยาลดกรดสำหรับอาการท้องอืด

ก่อนใช้ยาหรือซื้อยาทุกครั้ง ควรแจ้งแพทย์และเภสัชกรถึงอายุ โรคประจำตัว ยาที่ใช้ ยาที่แพ้ สถานะการตั้งครรภ์ และการให้นมลูก รวมทั้งใช้ยาตามที่แพทย์และเภสัชกรแนะนำอย่างเคร่งครัด ภายหลังการใช้ยา หากอาการไม่ดีขึ้น รุนแรงขึ้น หรือพบอาการผิดปกติอื่น ๆ ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจอย่างละเอียดอีกครั้ง

อาการปวดเกร็งท้องอาจลดความเสี่ยงได้ด้วยการดูแลสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ โดยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ การออกกำลังกายเป็นประจำ และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ สำหรับคนที่มีโรคประจำตัวที่เสี่ยงต่ออาการปวดท้อง ควรดูแลตนเองตามที่แพทย์แนะนำและไปพบแพทย์ตามนัดเพื่อติดตามอาการ