สารปรอท สารอันตรายใกล้ตัวที่ควรระวัง

หลายคนอาจรู้จักสารปรอท แต่ไม่รู้ว่าสารนี้อยู่ใกล้ตัวเรามากกว่าที่คิด ซึ่งจริง ๆ แล้ว ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของสารปรอทนั้นถูกใช้กันทั่วไปในชีวิตประจำวัน จึงมีโอกาสที่เราจะได้รับสารปรอทเข้าสู่ร่างกายจนอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้โดยไม่รู้ตัว

สารปรอทเป็นโลหะหนักสีขาวมันวาวคล้ายเงินที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติและมีหลายรูปแบบด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น ของเหลว ของแข็ง หรือแก๊สไม่มีสี โดยมักถูกนำมาใช้ในผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย เช่น เทอร์โมมิเตอร์ บารอมิเตอร์ หลอดไอปรอท หลอดฟลูออเรสเซนต์ สารเคลือบกระจก วัสดุอุดฟัน แบตเตอรี่ เครื่องสำอาง เป็นต้น นอกจากนี สารปรอทยังอาจปนเปื้อนในปลาหรืออาหารทะเล ผลิตภัณฑ์อาหารเสริม สมุนไพรหรือยาบางชนิด รวมไปถึงในอากาศจากการปล่อยควันเสียของโรงงานอุตสาหกรรมด้วย 

Broken,Glass,Mercury,Thermometer,On,Light,Grey,Surface.,Mercury,Drops

โดยทั่วไปสารปรอทสามารถเข้าสู่ร่างกายได้หลายทาง ได้แก่ 

  1. การกลืนอาหารหรือน้ำที่ปนเปื้อนสารปรอท หรือกลืนสารปรอทที่ออกมาจากวัสดุอุดฟัน 
  2. การสูดดมไอระเหยของสารปรอทในอากาศ ซึ่งเป็นผลจากการเผาขยะ การปล่อยไอปรอทหลังการเผาไหม้ของโรงไฟฟ้าถ่านหิน หรือการปล่อยควันเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม 
  3. การสัมผัสทางผิวหนัง โดยเฉพาะเมื่อสัมผัสกับสารปรอทในรูปแบบของเหลวหรือผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากสารปรอท 

อันตรายของสารปรอทต่อสุขภาพ

การสะสมของสารปรอทปริมาณมากในร่างกายนั้นเป็นเป็นพิษต่อระบบประสาท ระบบย่อยอาหาร ระบบภูมิคุ้มกัน รวมถึงอวัยวะสำคัญอย่างสมอง หัวใจ ปอด ไต ผิวหนัง และดวงตา มิหนำซ้ำยังส่งผลต่อทารกในครรภ์มารดาด้วย โดยอาจทำให้เกิดอาการต่าง ๆ ดังนี้

ผลกระทบในระยะสั้น

ผู้ที่ได้รับสารปรอทเข้าสู่ร่างกายในระยะสั้นอาจมีอาการดังนี้

  • ระคายเคืองที่ปอด ปอดถูกทำลาย
  • ไอ เจ็บคอ
  • หายใจไม่อิ่ม เจ็บหน้าอก
  • คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย
  • ระดับความดันโลหิตหรืออัตราการเต้นของหัวใจเพิ่มสูงขึ้น
  • ร่างกายทำงานไม่ประสานกัน
  • เกิดรสโลหะในปาก
  • ปวดศีรษะ
  • ชา
  • มีผื่นแดง ผิวหน้าดำ ผิวบาง เป็นฝ้า
  • ระคายเคืองตา มีปัญหาในการมองเห็น

ผลกระทบในระยะยาว

ผู้ที่ได้รับสารปรอทเข้าสู่ร่างกายในระยะยาวอาจมีอาการดังนี้

  • ตับและไตอักเสบ สมองและไตถูกทำลาย
  • โลหิตจาง
  • ทางเดินปัสสาวะอักเสบ
  • วิตกกังวล รู้สึกประหม่ามาก หงุดหงิดง่าย
  • ภาวะอะนอเร็กเซีย
  • กล้ามเนื้ออ่อนแรง อ่อนเพลีย สั่น ชา
  • การมองเห็นหรือการได้ยินเปลี่ยนไปจากเดิม
  • มีปัญหาด้านความจำ
  • นอนไม่หลับ
  • ทารกในครรภ์อาจมีปัญหาด้านการเคลื่อนไหว สติปัญญา และประสาทสัมผัส 

ยิ่งไปกว่านั้น หากร่างกายสะสมสารปรอทเรื้อรังอาจมีผลกระทบต่อไต ระบบทางเดินหายใจล้มเหลว หรือเสียชีวิตได้ในที่สุด 

เคล็ดไม่ลับป้องกันอันตรายจากสารปรอท

การป้องกันผลกระทบจากสารปรอทสามารถทำได้หลายวิธี เพียงปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเองและปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้ 

  • ห้ามสัมผัสหรือรับประทานสารปรอทที่มาจากผลิตภัณฑ์ใด ๆ โดยเด็ดขาด หากมีความจำเป็นควรสวมเสื้อคลุมและถุงมือก่อนเสมอ เพื่อความปลอดภัยต่อร่างกาย
  • ทิ้งผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสารปรอทอย่างยา เทอร์โมมิเตอร์ หรือหลอดไฟด้วยความระมัดระวังและเหมาะสม เพื่อป้องกันการชำรุดและการสัมผัสกับสารในผลิตภัณฑ์ดังกล่าว
  • หากสารปรอทรั่วไหลออกจากผลิตภัณฑ์ที่ใช้อยู่ ควรนำภาชนะที่มีน้ำมารองรับเพื่อป้องกันการระเหยของสารปรอท ในกรณีที่สารปรอทรั่วไหลออกมาในปริมาณมากควรติดต่อเจ้าหน้าที่สถานพยาบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทันที
  • เปิดหน้าต่างหรือเป่าพัดลมให้ไอระเหยของสารปรอทในอากาศได้ถ่ายเทออกไปภายนอกบ้าน   
  • รับประทานปลาหรืออาหารทะเลที่อาจมีปริมาณสารปรอทต่ำ เช่น กุ้ง ปลานิล ปลาทู ปลาทูน่า หรือปลาแซลมอน และหลีกเลี่ยงหรือลดการรับประทานปลาหรืออาหารทะเลที่อาจมีสารปรอทสูง เช่น ปลาฉลาม ปลากระโทงดาบ ปลาอินทรี ปลาไทล์ เป็นต้น 

อย่างไรก็ตาม หากสงสัยว่าตนเองเผลอกลืน สูดดม สัมผัสกับสารปรอท หรือมีอาการผิดปกติใด ๆ หลังได้รับสารปรอทแล้วควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมโดยเร็ว โดยในกรณีที่มีสารดังกล่าวสะสมอยู่ในร่างกายมากเกินกำหนด แพทย์จะเริ่มต้นการรักษาอย่างการจำกัดการได้รับโลหะหนัก การประคับประคองอาการที่เกิดขึ้น และอาจใช้วิธีรักษาอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น การทำคีเลชั่นบำบัด ซึ่งจะช่วยกำจัดสารโลหะหนักออกจากร่างกาย ทำให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นตามลำดับ