การนอน มีประโยชน์และดีต่อสุขภาพอย่างไร ?

การนอน คือ การพักผ่อนที่ดีที่สุดและจำเป็นต่อร่างกายเป็นอย่างยิ่ง เพราะเมื่อนอนหลับอย่างเพียงพอจะทำให้รู้สึกกระปรี้กระเปร่าในตอนเช้า ช่วยให้ใบหน้าแลดูสดใส ไม่หมองคล้ำ และช่วยให้กระบวนการต่าง ๆ ในร่างกายทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น ความจำ หรือระบบภูมิคุ้มกัน เป็นต้น

การนอนหลับ

นอนนานแค่ไหนจึงเพียงพอ ?

โดยทั่วไปแล้ว ระยะเวลาการนอนหลับที่เหมาะสมในแต่ละวันนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น กิจกรรมที่ทำในแต่ละวัน สุขภาพโดยรวม และคุณภาพการนอนของแต่ละคน เป็นต้น แต่ส่วนใหญ่มักใช้อายุเป็นเกณฑ์ ดังนี้

  • ทารกแรกเกิดจนถึงอายุ 3 เดือน ควรนอนหลับ 14-17 ชั่วโมง
  • ทารกอายุ 4-11 เดือน ควรนอนหลับ 12-15 ชั่วโมง
  • เด็กอายุ 1-2 ปี ควรนอนหลับ 11-14 ชั่วโมง
  • เด็กอายุ 3-5 ปี ควรนอนหลับ 10-13 ชั่วโมง
  • เด็กอายุ 6-13 ปี ควรนอนหลับ 9-11 ชั่วโมง
  • วัยรุ่นอายุ 14-17 ปี ควรนอนหลับ 8-10 ชั่วโมง
  • ผู้ใหญ่อายุ 18-64 ปี ควรนอนหลับ 7-9 ชั่วโมง
  • ผู้ใหญ่อายุ 65 ปีขึ้นไป ควรนอนหลับ 7-8 ชั่วโมง

ประโยชน์ของการนอน

การนอนไม่พอส่งผลเสียต่อสุขภาพในหลายด้าน ขณะเดียวกันการนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอก็ส่งผลดีต่อร่างกายหลายประการ ดังนี้

เสริมสร้างสมาธิ การนอนหลับอย่างเพียงพอช่วยให้สมองทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้มีสมาธิมากขึ้น จดจำรายละเอียดต่าง ๆ ได้ดีขึ้น อีกทั้งมีงานวิจัยพบว่าคุณภาพการนอนที่ดีอาจช่วยให้มีทักษะการแก้ปัญหาสูงขึ้นด้วย

ช่วยให้อารมณ์ดี การนอนหลับมีความสัมพันธ์กับอารมณ์และสุขภาพจิตมากกว่าที่หลายคนคิด โดยการนอนหลับที่เต็มอิ่มและเพียงพออาจช่วยให้รู้สึกสดชื่นกระปรี้กระเปร่าและอารมณ์ดีขึ้นได้ ในขณะที่มีงานวิจัยบางส่วนพบว่าการนอนไม่พออาจทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคซึมเศร้าและปัญหาทางสุขภาพจิตชนิดอื่น ๆ มากกว่าปกติ

เสริมสร้างความสุขทางเพศ การนอนน้อยอาจทำให้รู้สึกเหนื่อยมากกว่าปกติและส่งผลกระทบต่อการมีเพศสัมพันธ์ได้ โดยมีงานวิจัยพบว่าผู้ชายที่นอนไม่พออาจมีระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน (Testosterone) ต่ำลง ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่จำเป็นต่อการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายเมื่อเข้าสู่วัยหนุ่ม และช่วยให้ผู้ชายเกิดความต้องการทางเพศ การนอนให้เพียงพอกับความต้องการของร่างกายจึงอาจช่วยให้มีสุขภาพทางเพศที่ดีและส่งเสริมให้ความสัมพันธ์กับคนรักราบรื่นยิ่งขึ้น

เพิ่มภูมิคุ้มกัน การนอนหลับให้เพียงพออาจช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยมีงานวิจัยที่เปรียบเทียบความเสี่ยงในการติดเชื้อไข้หวัดของผู้ที่นอนน้อยกว่า 7 ชั่วโมง กับผู้ที่นอนหลับ 8 ชั่วโมงขึ้นไป ซึ่งพบว่ากลุ่มที่นอนน้อยกว่าเสี่ยงเป็นหวัดสูงกว่ากลุ่มผู้ที่นอนมากกว่าถึง 3 เท่า

ช่วยควบคุมน้ำหนัก การนอนไม่พออาจทำให้ฮอร์โมนเลปตินมีปริมาณลดลง ซึ่งฮอร์โมนนี้มีหน้าที่ช่วยทำให้รู้สึกอิ่ม ทั้งยังเป็นการเพิ่มปริมาณฮอร์โมนเกรลินที่ช่วยกระตุ้นความอยากอาหารให้สูงขึ้นด้วย ส่งผลให้ผู้ที่นอนน้อยรู้สึกหิวบ่อยกว่าปกติ และมีแนวโน้มเลือกรับประทานอาหารที่มีแคลอรี่สูงมากขึ้น

ลดความเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุ ผู้ที่พักผ่อนไม่เพียงพออาจเสี่ยงต่ออาการหลับใน ซึ่งส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุร้ายแรงตามมาได้ โดยเฉพาะเมื่อขับขี่ยานพาหนะหรือทำงานที่ต้องใช้เครื่องจักร

ลดอาการปวด มีงานวิจัยพบว่าการนอนหลับที่เพียงพออาจช่วยลดอาการปวดตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้ เพราะจะทำให้ร่างกายได้พักผ่อนและมีเวลาฟื้นฟูซ่อมแซมส่วนที่ผิดปกติได้อย่างเต็มที่ แต่หากอาการปวดที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อคุณภาพการนอนอย่างทำให้นอนไม่หลับหรือหลับไม่สนิท ผู้ป่วยควรไปปรึกษาแพทย์ โดยแพทย์อาจแนะนำให้รับประทานยาที่มีฤทธิ์บรรเทาอาการปวดและช่วยให้นอนหลับได้ดียิ่งขึ้น

เคล็ดลับช่วยเพิ่มคุณภาพการนอน

ผู้ที่มีปัญหาการนอนหลับ เช่น นอนไม่หลับ นอนหลับไม่สนิท หรือหลับ ๆ ตื่น ๆ เป็นต้น สามารถปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้ เพื่อช่วยให้คุณภาพในการนอนดีขึ้น

  • พยายามเข้านอนและตื่นนอนในเวลาเดิมทุกวัน
  • ออกกำลังกายเป็นประจำ โดยไม่ควรออกกำลังกายอย่างหนักในช่วงใกล้เวลาเข้านอนมากจนเกินไป
  • หลีกเลี่ยงอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนอย่างชาหรือกาแฟ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะในช่วงบ่ายและก่อนเข้านอน
  • ไม่ควรรับประทานอาหารปริมาณมากภายใน 2-3 ชั่วโมงก่อนเข้านอน และหลีกเลี่ยงอาหารมื้อเย็นที่มีรสจัด
  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ เพราะอาจทำให้มีอาการถอนบุหรี่เกิดขึ้นระหว่างนอนหลับจนนอนได้ไม่เต็มที่ อีกทั้งผู้ที่สูบบุหรี่ยังเสี่ยงต่อการเกิดโรคในระบบทางเดินหายใจชนิดต่าง ๆ อย่างภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ซึ่งอาจส่งผลให้คุณภาพการนอนหลับแย่ลงได้
  • หลีกเลี่ยงการใช้เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์อย่างคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือก่อนเข้านอน เพราะแสงไฟจากหน้าจออาจกระตุ้นการทำงานของสมอง ส่งผลให้นอนหลับได้ยากขึ้น
  • ปิดไฟก่อนเข้านอน เพื่อช่วยให้นอนหลับได้ดียิ่งขึ้น

ทั้งนี้ หากปฏิบัติตามคำแนะนำข้างต้นแล้วอาการผิดปกติทางการนอนยังไม่ดีขึ้น ควรไปปรึกษาแพทย์เพื่อรับการตรวจหาสาเหตุและรับการรักษาด้วยวิธีที่ถูกต้องต่อไป