ถามแพทย์

  • อายุุ 22 ปี มีใจสั่น แต่คลื่นไฟฟ้าหัวใจปกติ เป็นโรคแพนิคไหม?

  •  Warut Fongjum
    สมาชิก
    อยากถามว่า อาการใจสั่น ใจเต้นแรง หวิวๆ วูบเป็นบางที ท้องไส้ปั่นป่วนคลื่นไส้เป็นบางครั้ง อยากทราบว่าเป็นอะไรคับ ไปตรวจเลือดวัดชีพจร ความดัน คลื่นหัวใจปกติคับ อายุ 22 คับ อยากทราบว่าเครียดรึเป็นแพนิค รึว่าเป็นอะไรคับ

    สวัสดีค่ะ คุณ Warut Fongjum,

                      อาการใจสั่น ใจเต้นแรง วูบ ท้องไส้ปั่นปวด คลื่นไส้ อาจเกิดจาก

                     1. ความกลัว ความตื่นเต้น ความเครียด วิตกกังวล โดยมีสาเหตุจากเหตุการณ์ที่เข้ามากระทบที่ชัดเจน เช่น ติดอยู่ในลิฟต์ ถูกล๊อตเตอรี่รางวัลใหญ่ กังวลเรื่องตกงาน เครียดเรื่องหนี้สิน เป็นต้น โดยอาการจะเป็นเพียงชั่วคราวแล้วหายไปได้เอง

                    2.โรคตื่นตระหนก หรือโรคแพนิค หรือโรคหัวใจอ่อน คือภาวะวิตกกังวลหรือมีความรู้สึกกลัวอย่างรุนแรงที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลันทันทีโดยไม่คาดคิดมาก่อน ไม่มีสิ่งกระตุ้นหรือสาเหตุที่ชัดเจน ซึ่งแตกต่างจากอาการวิตกกังวลหรือตื่นเต้นทั่วแบบในข้อ 1 ที่มีสาเหตุหรือสิ่งที่มากระตุ้นที่ชัดเจน 

                   โดยอาการได้แก่ ใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว มือสั่น หรือตัวสั่น เหงื่อออก ร้อนวูบวาบ หรือหนาว หายใจติดขัด หายใจไม่อิ่ม หอบ แน่นในหน้าอก เจ็บบริเวณอก คลื่นไส้ ปั่นป่วนในท้อง มึนงง วิงเวียนศีรษะ โคลงเคลง ปวดเสียวตามตัว เหน็บชา หรือแขนขาอ่อนแรงได้ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีความคิดวิตกกังวลหรือหวาดกลัวว่าจะมีอันตราย กลัวตาย เป็นต้น

                   3. การใช้ยาหรืออาหารเสริมบางชนิด เช่น ยาขยายหลอดลม ยาแก้ไอ ยาแก้แพ้ ยาลดความดันโลหิตสูง ยาปฏิชีวนะฆ่าเชื้อบางชนิด เป็นต้น รวมถึงการทานอาหารบางชนิด ซึ่งอาการก็จะเกิดหลังจากทานอาหารดังกล่าว 

                   4. การดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนหรือแอลกอฮอล์มากไป หรือการหยุดดื่มกะทันหันหลังจากดื่มมานาน 

                  5. การใช้สารเสพติดชนิดต่างๆ และการหยุดใช้สารเสพติดเมื่อเสพติดแล้ว

                   6. โรคทางกายชนิดต่าๆ ได้แก่  โรคหัวใจ เช่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ หลอดเลือดหัวใจตีบ กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด เป็นต้น โรคหลอดในเลือดสมองตีบ โรคหอบหืด มีปอดแตก โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง มีภาวะไทรอยด์เป็นพิษ เป็นต้น

                   แต่หากคุณ Warut Fongjum ไม่ได้ใช้ยา  อาหารเสริม สารเสพติดใดๆ และได้ไปพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายหาสาเหตุของโรคทางกายต่างๆ แล้ว ไม่พบความผิดปกติ สาเหตุอาจเกิดจากข้อ 1 หรือ 2 ดังกล่าวไป

                       หากยังคงมีอาการอยู่เรื่อยๆ และกระทบกับการดำเนินชีวิตประจำวัน อาจลองไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุทางกายที่ละเอียดอีกครั้ง หากไม่พบ ควรไปพบจิตแพทย์เพื่อประเมินระดับความรุนแรงของอาการ และรักษาด้วยการใช้ยาและจิตบำบัดค่ะ