ถามแพทย์

  • อายุ 20 ปี เจ็บราวนมกับใต้รักแร้ ก่อนหน้านั้นได้ไปยกอิฐมา เป็น 4-5 วัน อาการหายแล้ว จะเป็นมะเร็งไหม

  •  njphyy
    สมาชิก
    หนูอายุ20ปี มีอาการเจ็บราวนมกับใต้รักแร้ค่ะ ถ้าอยู่เฉยๆก็ไม่รู้สึกเท่าไรแต่ถ้าไปกดก็จะเจ็บเลยค่ะ กังวลมากกลัวเป็นมะเร็งเต้านมค่ะก็จับๆคลำๆดูตลอดแล้วก็ทุกวันในช่วงที่เจ็บก็ไม่พบก้อนไตผิดปกตินะคะ (ก่อนหน้านั้นหนุยกอิฐหนักๆจำนวนหลายก้อนค่ะอยากทราบว่ามันเป็นสาเหตุให้เกิดกล้ามเนื้ออักเสบบริเวณนี้ได้ไหมคะ หรือมีสาเหตุอื่นอะไรอีกไหมคะ เจ็บอยุ่ประมาน4-5วันค่ะแต่ตอนนี้หายเจ็บเกือบจะสนิทแล้ว)

    สวัสดีค่ะ คุณ njphy,

                     อาการเจ็บหน้าอกบริเวณราวนม โดยเฉพาะเวลาที่กดลงไป สาเหตุน่าจะเกิดจาก

                    1. การบาดเจ็บที่กล้ามเนื้อบริเวณหน้าอก จากการใช้งานหนัก เช่น ยกของหนัก หรือจากการออกกำลังกายหรือเล่นกีฬาที่ใช้กล่ามเนื้อหน้าอกมากไป เช่น ยกเวท วิดพื้น หรือออกกำลังกายผิดท่า หรือเกิดจากอุบัติเหตุกระแทกที่หน้าอกโดยตรง เช่น การถูกต่อย ถูกชก ถูกชน เป็นต้น อาการปวดมักจะสัมพันธ์กับการเคลื่อนไหวของหน้าอก เช่น การเอี้ยวตัว บิดตัว ยกของหนัก การหายใจเข้าลึก ๆ ไอ หรือจาม มักมีจุดที่กดเจ็บชัดเจน 

                    2. กระดูกอ่อนซี่โครงอักเสบ มักจะปวดหลายตำแหน่งแต่เป็นข้างเดียว อาการปวดจะเป็นแบบแปล๊บๆ หรือคล้ายมีอะไรกดทับและมีอาการเจ็บเวลากดที่ตำแหน่งของกระดูกอ่อน  อาการปวดจะมากขึ้นเมื่อมีการเคลื่อนไหวของหน้าอก การหายใจเข้าลึก ๆ ไอ หรือจาม  สาเหตุจะคล้ายกับการบาดเจ็บที่กล้ามเนื้อบริเวณหน้าอก

                    ส่วนสาเหตุที่พบได้ไม่บ่อย และจะต้องมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น  มีน้ำในช่องเยื่อหุ้มปอด ช่องเยื่อหุ้มปอดมีอากาศ เยื่อหุ้มปอดอักเสบ โรคหัวใจต่างๆ เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ เป็นต้น

                      สำหรับมะเร็งเต้านม มักจะพบในหญิงวัยกลางคน พบได้น้อยมากในวัย 20 ปี และมักจะคลำได้ก้อนที่เต้านม ก้อนแข็งและโตเร็ว โดยส่วนใหญ่มะเร็งในช่วงแรก มักไม่ทำให้เกิดอาการเจ็บหรือปวด

                      ทั้งนี้เนื่องจากมีประวัติการไปยกอิฐหนักๆ สาเหตุก็น่าจะเกิดจากกล้ามเนื้อหน้าอกหรือกระดูกซี่โครงอักเสบค่ะ หากในตอนนี้ อาหารหายแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องทำอะไรค่ะ แต่ในช่วงนี้ ก็ควรงดการใช้งานกล้ามเนื้อหน้าอกไปก่อน เช่น ยการกของหนัก เข็นของหนัก งดการออกกำลังกายที่ใช้กล้ามเนื้อหน้าอก หรือกระเทือนถึงกล้ามเนื้อหน้าอก เพื่อไม่ให้กล้ามเนื้อเกิดการบาดเจ็บซ้ำค่ะ