โรคหอยคัน (Cercarial Dermatitis / Swimmer’s Itch)

ความหมาย โรคหอยคัน (Cercarial Dermatitis / Swimmer’s Itch)

โรคหอยคัน (Cercarial Dermatitis / Swimmer’s Itch) หรือโรคพยาธิหอยคัน เป็นโรคที่เกิดจากการสัมผัสแหล่งน้ำที่มีหนอนพยาธิหรือปรสิต ส่งผลให้เกิดอาการภูมิแพ้บริเวณผิวหนังจากการที่พยาธิเกาะตามผิวหนังในระยะเวลาหนึ่ง เช่น คันหรือแสบ เกิดผื่นแดงจุดเล็ก ๆ ที่เห็นได้อย่างชัดเจน 

โรคหอยคันไม่ใช่โรคติดต่อ เนื่องจากพยาธิที่เป็นสาเหตุของโรคจะตายหลังจากเข้าสู่ร่างกายของมนุษย์ภายในเวลาไม่นาน ทำให้ไม่สามารถแพร่กระจายจากคนสู่คนได้ โดยพยาธิเหล่านี้มักพบในแหล่งน้ำเค็มมากกว่าแหล่งน้ำจืด แม้ว่าโรคหอยคันจะก่อให้เกิดความไม่สบายตัว แต่สามารถบรรเทาอาการและรักษาได้ด้วยการใช้ยาและการทำความสะอาดบริเวณที่ติดเชื้อ

โรคหอยคัน

อาการของโรคหอยคัน

ภายหลังจากการสัมผัสกับแหล่งน้ำที่ปนเปื้อนตัวอ่อนของพยาธิ ผู้ป่วยโรคหอยคันจะมีอาการต่าง ๆ ที่เห็นได้ชัดบนผิวหนังดังนี้

  • คัน แสบหรือรู้สึกเจ็บแปลบในบริเวณที่ติดเชื้อ
  • เกิดผื่นแดงที่มีลักษณะเป็นจุดเล็ก ๆ ภายในเวลาประมาณ 12 ชั่วโมงหลังสัมผัสหนอนพยาธิหรือปรสิต
  • เกิดแผลพุพอง ตุ่มน้ำใสหรือตุ่มหนอง

พยาธิที่เป็นสาเหตุของโรคหอยคันจะตายหลังเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ภายอย่างรวดเร็ว จึงทำให้ผู้ป่วยมีอาการอยู่เพียงไม่กี่วัน แต่หากเกิดผื่นที่ผิวหนังติดต่อกันนานกว่า 3 วัน หรือสังเกตเห็นหนองบริเวณดังกล่าว ผู้ป่วยควรพบแพทย์ผิวหนังเพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาอย่างเหมาะสม

สาเหตุของโรคหอยคัน

โรคหอยคันเกิดจากผิวหนังของผู้ป่วยไปสัมผัสถูกตัวอ่อนของพยาธิในสัตว์ที่ปนเปื้อนอยู่ในแหล่งน้ำ โดยพยาธิเหล่านี้จะพบอยู่ในระบบไหลเวียนเลือดของสัตว์ปีกหรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น เป็ด ห่าน หนูพุกใหญ่ หนูบ้าน วัวหรือควาย 

เมื่อสัตว์มีการขับถ่ายมูลก็อาจแพร่กระจายไข่พยาธิปนเปื้อนลงไปในแหล่งน้ำ และไข่จะฝักออกเป็นตัวอ่อนพยาธิแล้วเข้าไปอยู่หอยทากหรือหอยคันที่เป็นสัตว์พาหะ และเมื่อคนลงไปสัมผัสกับน้ำในแหล่งน้ำที่มีการปนเปื้อนตัวอ่อนพยาธิ ทำให้ตัวอ่อนพยาธิสามารถชอนไชเข้าสู่ร่างกาย 

แม้ว่าตัวอ่อนของพยาธิไม่สามารถเจริญเติบโตเมื่ออยู่บนผิวหนังของมนุษย์และจะตายลงอย่างรวดเร็ว แต่การเกาะอยู่บนผิวหนังจะทำให้เกิดอาการภูมิแพ้ได้ โดยชนิดของตัวอ่อนพยาธิที่เป็นสาเหตุของโรคหอยคันที่พบได้มากในประเทศไทย ได้แก่ Schistosoma Spindale, Schistosoma Incognitum, Orientobiharzia Harinasutai และ Trichobilharzia Maegrathi   

ทั้งนี้ อาการไวต่อพยาธิในแหล่งน้ำอาจแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล โดยผิวของผู้ที่ต้องสัมผัสกับพยาธิในแหล่งน้ำซ้ำ ๆ จะไวต่อการเกิดโรคดังกล่าวมากกว่าคนทั่วไป ซึ่งผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหอยคันมักจะเป็นเด็กและผู้ที่ต้องสัมผัสหรือใช้แหล่งน้ำในพื้นที่ที่เคยเกิดน้ำท่วมหรือมีน้ำท่วมขังบ่อยครั้ง 

การวินิจฉัยโรคหอยคัน

โรคหอยคันยังไม่มีวิธีตรวจหาโดยเฉพาะ โดยทั่วไปแพทย์จะตรวจหาผื่นหรือความผิดปกติบริเวณผิวหนัง ร่วมกับการสอบถามประวัติทางการแพทย์ การใช้ยาและอาหารเสริม อาการแพ้ และคำถามอื่น ๆ โดยเฉพาะประวัติการสัมผัสกับแหล่งน้ำ เพื่อวินิจฉัยแยกโรคได้อย่างเหมาะสม เนื่องจากอาการของโรคหอยคันมีความคล้ายคลึงกับอาการผิดปกติบริเวณผิวหนังอื่น ๆ เช่น การติดเชื้อแบคทีเรียและการถูกแมลงกัดต่อย

การรักษาโรคหอยคัน

อาการของโรคหอยคันอาจหายไปเองเมื่อผ่านไปหลายสัปดาห์ ในระหว่างนั้นผู้ป่วยอาจบรรเทาอาการทางผิวหนังด้วยการใช้เบคกิ้งโซดาผสมกับน้ำเปล่าทาบริเวณที่เกิดผื่น ประคบเย็นหรือใช้ผ้าชุบน้ำบิดหมาด ๆ คลุมบริเวณที่เกิดผื่นแดงหรือตุ่ม 

นอกจากนี้ ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงการเกาบริเวณดังกล่าว หากมีอาการคันสามารถรับประทานยาแก้แพ้หรือใช้ยาทาแก้คัน คาลาไมน์ (Calamine) หรือยาทาในกลุ่มยาสเตียรอยด์ที่หาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการคันอย่างรุนแรงอาจจำเป็นต้องไปพบแพทย์ โดยแพทย์อาจจ่ายยาปฏิชีวนะในรายที่เกิดการติดเชื้อแบคทีเรียหรือยาชนิดอื่นตามอาการของผู้ป่วย  

ภาวะแทรกซ้อนของโรคหอยคัน

โรคหอยคันมักไม่ก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนในภายหลัง แต่หากผู้ป่วยเกาผิวหนังที่มีการอักเสบมากเกินไป อาจก่อให้เกิดการติดเชื้อบริเวณผิวหนัง ส่งผลให้เกิดแผลเปิด มีหนองหรือของเหลวไหลออกจากผิวหนัง บริเวณรอบแผลเป็นรอยแดง เกิดตุ่มน้ำใสหรือตุ่มที่มีลักษณะคล้ายสิว บวม หรือมีไข้

การป้องกันโรคหอยคัน

โรคหอยคันสามารถป้องกันและลดความเสี่ยงได้ด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น

  • หลีกเลี่ยงการเล่นน้ำหรือสัมผัสแหล่งน้ำที่ไม่สะอาด มีหอยทากหรือหอยคันอาศัยอยู่หรือแหล่งน้ำที่คาดว่าจะเสี่ยงต่อการติดเชื้อ
  • หลีกเลี่ยงการให้อาหารนกในบริเวณที่ใกล้กับแหล่งน้ำ 
  • สวมรองเท้ายางทุกครั้งเมื่อต้องลุยน้ำที่ไม่สะอาด
  • ทาครีมกันแดดชนิดกันน้ำเมื่อต้องลงน้ำ
  • เช็ดตัวหรือผิวหนังบริเวณที่สัมผัสน้ำให้สะอาดทันทีเพื่อกำจัดพยาธิที่อาจเกาะติดอยู่บนผิวหนัง