ตรวจเต้านมด้วยแมมโมแกรม (Mammogram)

การตรวจเต้านมด้วยแมมโมแกรม (Mammogram) คือการตรวจบริเวณเต้านมด้วยเครื่องแมมโมแกรมที่ใช้ในการตรวจภาพรังสีเต้านมโดยเฉพาะ ซึ่งจะช่วยให้มองเห็นรายละเอียดภายในเนื้อเต้านมได้ชัดเจนขึ้น หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า การเอกซเรย์เต้านม

การตรวจแมมโมแกรมจะมีการถ่ายภาพเอกซเรย์เต้านมด้านละ 2 รูป หรืออาจเป็น 1 รูปแล้วแต่กรณี ซึ่งฟิล์มเอกซเรย์ที่ออกมาจะสามารถแสดงให้เห็นถึงความผิดปกติภายในเต้านม เช่น ก้อนเนื้อหรือแม้แต่หินปูนขนาดเล็กที่อาจเป็นสัญญาณของโรคมะเร็งเต้านม

ตรวจเต้านมด้วยแมมโมแกรม (Mammogram)

 การตรวจแมมโมแกรมใช้ในกรณีใด

การตรวจแมมโมแกรมสามารถตรวจได้ทั้งผู้หญิงที่มีอาการหรือไม่มีอาการของโรค หากเป็นการตรวจในผู้ที่ไม่มีอาการจะเป็นการตรวจเฝ้าระวังโรคมะเร็งเต้านม (Screening Mammogram) 

แต่หากตรวจในผู้ที่มีอาการผิดปกติเกิดขึ้น เช่น คลำเจอก้อนที่เต้านม เจ็บบริเวณเต้านม เนื้อเต้านมหนาตัวขึ้นผิดปกติ มีของเหลวไหลออกจากหัวนม ลักษณะหรือขนาดเต้านมเปลี่ยนแปลงไป จะเป็นการตรวจวินิจฉัยโรค เพื่อค้นหาสาเหตุของก้อนเนื้อหรือความปกติที่พบว่าเป็นมะเร็งจริงหรือไม่ เพราะสัญญาณเหล่านี้ไม่สามารถบอกได้ชัดเจนว่าเป็นโรคมะเร็งเต้านม 

นอกจากนี้ยังสามารถใช้ในการตรวจเต้านมของผู้ที่มีการเสริมหน้าอก ซึ่งอาจตรวจเต้านมด้วยวิธีการคลำได้ลำบาก 

การตรวจวินิจฉัยโรคมักจะใช้เวลานานกว่าการตรวจคัดกรองโรค เพราะต้องมีการถ่ายภาพทางรังสีมากขึ้น เพื่อให้มองเห็นเต้านมจากหลายมุมหรืออาจถ่ายภาพขยายบริเวณที่น่าสงสัย ซึ่งจะช่วยให้แพทย์วินิจฉัยได้อย่างถูกต้องและทำการรักษาในขั้นตอนต่อไปหลังการตรวจพบความผิดปกติภายในเนื้อเยื่อเต้านม

ข้อห้ามในการตรวจแมมโมแกรม

หญิงตั้งครรภ์หรือมีความเป็นไปได้ในการตั้งครรภ์อาจได้รับผลกระทบจากการตรวจแมมโมแกรม เนื่องจากขั้นตอนการตรวจที่ทำให้ร่างกายได้รับรังสี แม้ว่าระดับรังสีจะอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ แต่ก็มีโอกาสกระทบต่อการพัฒนาของทารกในครรภ์ จึงควรมีการแจ้งแพทย์หรือเจ้าหน้าที่ฉายรังสีก่อนทุกครั้ง เพื่อความปลอดภัยของทารกในครรภ์

ขั้นตอนการตรวจแมมโมแกรม

การตรวจแมมโมแกรมมีขั้นตอนดังต่อไปนี้

การเตรียมตัวก่อนการตรวจแมมโมแกรม
ในขั้นแรกควรสอบถามเบื้องต้นกับสถานพยาบาลเกี่ยวกับข้อปฏิบัติพิเศษก่อนการตรวจแมมโมแกรม แต่หลักเกณฑ์ทั่วไปที่ควรจะปฏิบัติตามมีดังนี้

  • ควรหลีกเลี่ยงการตรวจแมมโมแกรมในช่วงสัปดาห์ก่อนที่มีประจำเดือน เพราะเป็นช่วงที่หน้าอกคัดตึงและขยาย การหลีกเลี่ยงการตรวจในช่วงเวลาดังกล่าวจะช่วยให้เจ็บหน้าอกน้อยลงและถ่ายภาพเอกซเรย์เต้านมได้ดีขึ้น
  • ผู้ที่มีการเสริมหน้าอกต้องแจ้งให้ผู้ตรวจทราบก่อนว่ามีการเสริมหน้าอก
  • ควรแต่งกายด้วยเสื้อผ้าที่สะดวกต่อการถอดเปลี่ยน เนื่องจากต้องมีการถอดเปลี่ยนเสื้อผ้าก่อนเข้ารับการเอกซเรย์บริเวณเต้านม
  • ไม่ควรฉีดน้ำหอม ทาโลชั่น แป้ง หรือโรลออนใด ๆ บริเวณระหว่างช่วงแขนลงไปจนถึงหน้าอกก่อนการตรวจแมมโมแกรมเนื่องจากอาจทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนในการถ่ายภาพได้
  • ในกรณีที่มีการตรวจแมมโมแกรมในสถานพยาบาลหรือโรงพยาบาลแห่งใหม่ ควรขอแฟ้มประวัติการตรวจแมมโมแกรมจากสถานพยาบาลเดิมไปให้สถานพยาบาลแห่งใหม่ เพื่อการเปรียบเทียบผลการตรวจที่แม่นยำ

การตรวจแมมโมแกรม
ก่อนการตรวจแมมโมแกรม ผู้เข้ารับการตรวจต้องเปลี่ยนเสื้อผ้าที่ทางโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลเตรียมไว้ให้และถอดเครื่องประดับทุกชนิดออกให้หมด 

จากนั้นผู้เข้ารับการตรวจจะต้องยืนหรือนั่งหันหน้าเข้าหาเครื่องเอกซเรย์ตามประเภทของเครื่องตรวจ ซึ่งเจ้าหน้าที่ฉายรังสีจะช่วยจัดท่าทางลำตัว ศีรษะ หรือแขน เพื่อไม่ให้บดบังบริเวณเต้านมที่ต้องการเอกซเรย์ และปรับระดับความสูงของเครื่องให้เหมาะกับเต้านมของผู้เข้ารับการตรวจเมื่อวางลงบนเครื่อง 

เครื่องจะค่อย ๆ กดเต้านมจากด้านบนและด้านข้าง โดยในแต่ละครั้งของการกดเต้านมลงบนเครื่องจะใช้เวลาไม่นาน ซึ่งจำเป็นต้องมีการบีบให้เต้านมแนบกับเครื่องมากที่สุด เพื่อช่วยให้รังสีจากเครื่องสามารถผ่านเนื้อเยื่อของเต้านมได้ทั่วถึง โดยจะมีการถ่ายภาพเต้านมทีละข้างก่อนสลับทำกับอีกข้าง 

ผู้เข้ารับการตรวจควรยืนนิ่ง ๆ ขยับให้น้อยที่สุดในขณะการตรวจ เพราะอาจส่งผลให้การแปลผลคลาดเคลื่อนจากภาพถ่ายที่ไม่ชัดเจนได้ และต้องกลั้นหายใจชั่วครู่ขณะถ่ายภาพของเต้านมแต่ละข้าง แพทย์หรือเจ้าหน้าที่ฉายรังสีอาจให้มีการถ่ายภาพเอกซเรย์ในบางมุมหรือบางจุดเพิ่มเติมในกรณีที่มองเห็นรายละเอียดของเนื้อเยื่อได้ไม่ชัดเจน หรือสงสัยว่าส่วนไหนที่ต้องการเน้นมากเป็นพิเศษ

การดูแลตนเองหลังการตรวจแมมโมแกรม
โดยทั่วไปไม่มีข้อควรระวังในการดูแลตนเองเป็นพิเศษหลังจากการตรวจ แพทย์อาจให้คำแนะนำเพิ่มเติมในบางราย ขึ้นอยู่กับสภาวะของบุคคลนั้น ๆ 

การฟังผลหลังการตรวจแมมโมแกรม
การอ่านผลตรวจแมมโมแกรมสามารถทำได้โดยรังสีแพทย์หรือแพทย์ผู้สั่งตรวจ หรือเป็นการทำงานร่วมกันของทั้งสองฝ่าย โดยทั่วไปการตรวจอาจใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์ ก่อนที่ผลจะถูกส่งไปยังแพทย์ผู้ดูแล ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น กฎของแต่ละโรงพยาบาล เวลาในการนัดหมาย หรือผลการตรวจที่ออกมา 

หากเกิดกรณีที่มีข้อติดขัดเกิดขึ้นบางประการ แพทย์อาจต้องมีการสั่งให้ตรวจอีกครั้งในบางจุดเพิ่มเติมหรือต้องการเน้นเป็นพิเศษ ผู้ที่เข้ารับการตรวจไม่ควรประเมินเอาเองว่าผลการตรวจเป็นปกติ ในกรณีที่ผลการตรวจรอนานเกินไปหรือแพทย์ไม่มีการนัดฟังผล ควรโทรไปสอบถามทางโรงพยาบาลที่เป็นผู้ตรวจ

ผลของการตรวจแมมโมแกรมตามมาตรฐานสากลที่นิยมใช้กันเรียกย่อ ๆ ว่า ไบแรดส์ (Breast Imaging Reporting And Database System: BIRADS) ค่าที่ได้ออกมาเป็นตัวเลขที่แสดงความรุนแรงตามการตรวจพบ แพทย์อาจมีคำแนะนำให้แก่ผู้เข้ารับการตรวจว่าควรปฏิบัติอย่างไรในขั้นตอนต่อไปหากพบว่ามีโอกาสในการเป็นมะเร็งเต้านม ดังนี้

  • ค่าไบแรดส์เป็น 0 หมายถึง ไม่สามารถแปลผลได้ ต้องมีการประเมินผลจากการถ่ายภาพเพิ่มเติม ควรมีการตรวจแมมโมแกรมซ้ำ
  • ค่าไบแรดส์เป็น 1 หมายถึง ไม่พบสิ่งปกติ แต่ควรมีการตรวจประจำทุกปี โดยเฉพาะผู้หญิงที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป
  • ค่าไบแรดส์เป็น 2 หมายถึง ตรวจพบก้อนเนื้อหรือสิ่งผิดปกติที่ไม่ใช่มะเร็ง ควรมีการตรวจประจำทุกปี โดยเฉพาะผู้หญิงที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป
  • ค่าไบแรดส์เป็น 3 หมายถึง ตรวจพบก้อนเนื้อหรือสิ่งผิดปกติที่อาจจะไม่ใช่มะเร็ง ควรมีการตรวจทุก 6 เดือน เพื่อติดตามผล 
  • ค่าไบแรดส์เป็น 4 หมายถึง ตรวจพบก้อนเนื้อหรือสิ่งผิดปกติที่น่าจะเป็นมะเร็ง อาจมีการสั่งตรวจชิ้นเนื้อตัวอย่างว่าเป็นมะเร็งหรือไม่
  • ค่าไบแรดส์เป็น 5 หมายถึง ตรวจพบก้อนเนื้อหรือสิ่งผิดปกติที่น่าจะเป็นมะเร็งได้สูง แพทย์สั่งตรวจชิ้นเนื้อตัวอย่างเพื่อยืนยันว่าก้อนที่พบในเต้านมเป็นมะเร็ง
  • ค่าไบแรดส์เป็น 6 หมายถึง ก้อนเนื้อหรือสิ่งผิดปกตินั้นได้รับการตรวจชิ้นเนื้อว่าเป็นมะเร็ง แพทย์จะทำการรักษาในขั้นตอนต่อไปตามแต่ละสถานการณ์ของบุคคลนั้น

ผลข้างเคียงของการตรวจแมมโมแกรม

ผู้เข้ารับการตรวจแมมโมแกรมอาจรู้สึกเจ็บเล็กน้อยหรืออึดอัดเมื่อเครื่องค่อย ๆ กดเนื้อเต้านมขณะมีการเอกซเรย์ หากรู้สึกเจ็บมากจนไม่สามารถทนได้ ควรแจ้งเจ้าหน้าที่ฉายรังสีให้ช่วยปรับระดับการกดของเครื่องในระดับเท่าที่ผู้เข้ารับการตรวจสามารถทนได้ 

การตรวจแมมโมแกรมยังอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงจากการได้รับรังสีในการตรวจเอกซเรย์บริเวณเต้านม แม้ว่าจะเป็นปริมาณรังสีที่น้อย โดยเฉพาะผู้หญิงในกลุ่มอายุต่ำกว่า 40 ปี อาจเกิดความเสี่ยงจากการได้รับรังสีสูงกว่าผู้ที่มีอายุมาก 

อย่างไรก็ตามเมื่อเทียบความเสี่ยงกับผลประโยชน์ที่ได้รับค่อนข้างเป็นผลดีต่อการตรวจโรคมะเร็งเต้านม เช่น การตรวจแมมโมแกรมอาจทำให้ทราบว่ามีก้อนเนื้อก่อตัวขึ้นในเต้านม ซึ่งอาจเป็นก้อนเนื้อทั่วไปหรือเป็นมะเร็ง ในกรณีที่เป็นมะเร็งจะทำให้แพทย์สามารถผ่าเอาก้อนเนื้อนั้นออกมาตั้งแต่ยังมีขนาดเล็กก่อนเกิดการแพร่กระจายไปยังจุดอื่น และรักษาด้วยวิธีการใช้เคมีบำบัดซึ่งมีความยุ่งยากกว่าเดิม 

นอกจากนี้หญิงตั้งครรภ์หรือผู้ที่มีความเป็นไปได้ในการตั้งครรภ์อาจได้รับผลกระทบจากการตรวจแมมโมแกรมได้เช่นกัน เพราะอาจส่งผลกระทบต่อการพัฒนาของทารกในครรภ์ จึงควรมีการแจ้งแพทย์หรือเจ้าหน้าที่ฉายรังสีก่อนทุกครั้งเพื่อความปลอดภัยของเด็ก

ข้อจำกัดของการตรวจแมมโมแกรม

การตรวจแมมโมแกรมสำหรับผู้หญิงอายุต่ำกว่า 40 ปี อาจเกิดผลคลาดเคลื่อนได้สูง เนื่องจากเนื้อเยื่อภายในเต้านมของผู้หญิงอายุน้อยมักจะมีความหนาแน่นมากกว่าผู้หญิงอายุมาก จนทำให้เนื้อเยื่อเต้านมอาจบดบังเนื้อมะเร็งหรือมองเห็นผิดพลาดจากเนื้อดีกลายเป็นมะเร็งได้ แพทย์จึงมักแนะนำให้มีการตรวจด้วยวิธีการอัลตราซาวนด์ทดแทนหรือทำควบคู่กับแมมโมแกรม เพื่อให้ชัดเจนขึ้น 

นอกจากนี้การตรวจแมมโมแกรมเพื่อช่วยคัดกรองโรคอาจเกิดผลบวกลวงขึ้นได้ ซึ่งหมายถึงผลการตรวจแมมโมแกรมบ่งบอกว่าเป็นมะเร็งเต้านม แต่อันที่จริงผู้เข้ารับการตรวจไม่ได้เป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้หญิงอายุน้อยที่มีความเสี่ยงสูงกว่าปกติ เช่น เคยมีประวัติการตัดชิ้นเนื้อไปตรวจ มีบุคคลในครอบครัวเป็นโรคมะเร็งเต้านม หรือผู้หญิงที่รับฮอร์โมนเอสโตรเจนเพิ่มเติมในกรณีต่าง ๆ ซึ่งเนื้อเยื่อของเต้านมมีความหนาแน่นสูง 

ทำให้เข้าใจผิดคิดว่าเป็นโรคมะเร็งเต้านมจนเกิดความวิตกกังวลมากกว่าปกติ และอาจนำไปสู่การรักษาที่ไม่จำเป็นในขั้นตอนต่อไป ซึ่งการรักษาเหล่านี้จะกินเวลาและค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นกว่าเดิม รวมไปถึงเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยมากขึ้นจากการรักษา จึงควรมีการวินิจฉัยโรคมะเร็งเต้านมในวิธีอื่นเพิ่มเติมหากพบอาการหรือความผิดปกติของเต้านม เช่น อัลตราซาวนด์ (Ultrasound) หรือเอ็มอาร์ไอ (MRI) 

ระยะเวลาในการพักฟื้น

การตรวจแมมโมแกรมส่วนมากใช้เวลาในการตรวจและถ่ายภาพทางรังสีไม่เกิน 30 นาที โดยรังสีแพทย์ที่ทำการดูแลอาจขอให้ผู้เข้ารับการตรวจรอผลสักครู่หลังการตรวจ เพื่อเช็กคุณภาพของฟิล์มเอกซเรย์ ในบางครั้งอาจต้องมีการถ่ายเพิ่มเติมหากฟิล์มที่ได้มาแสดงผลไม่ชัดเจน หลังจากนั้นก็สามารถกลับบ้านหรือทำกิจกรรมอื่นได้เป็นปกติ โดยไม่ต้องนอนพักฟื้นที่โรงพยาบาล