เห็ดหอม ประโยชน์และสรรพคุณต้านโรค

เห็ดหอม หรือเห็ดชิตาเกะ เป็นเห็ดชนิดหนึ่งที่คนนิยมรับประทาน โดยเชื่อว่ามีประโยขน์ต่อสุขภาพ เช่น ช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน ลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือด ช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงให้กระดูก และอาจเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยโรคมะเร็งได้

เห็ดหอม

เห็ดหอมเป็นเห็ดพื้นเมืองแถบเอเชียตะวันออก โดยดอกเห็ดมีสีน้ำตาลเข้มขนาดประมาณ 5-10 เซนติเมตร มีแคลอรี่ต่ำ เป็นแหล่งไฟเบอร์ชั้นดี ทั้งยังอุดมไปด้วยเกลือแร่และวิตามินหลากชนิด เช่น กรดโฟลิค กรดอะมิโน ซิลิเนียม สังกะสี วิตามินบี หรือวิตามินดี และยังมีสารประกอบทางชีวภาพอย่างสารอิริตาดีนีน (Eritadenine) สารสเตอรอล (Sterols) สารเบต้ากลูแคน (Beta Glucans) รวมถึงสารเลนทิแนน (Lentinan) ที่ส่งผลดีต่อสุขภาพ คำกล่าวอ้างถึงคุณประโยชน์ด้านต่าง ๆ ของเห็ดหอมนั้นจริงเท็จมากน้อยเพียงใด มีการศึกษาและหลักฐานทางการแพทย์บางส่วนได้พิสูจน์แง่มุมต่าง ๆ ไว้ ดังนี้

กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน สารเบต้ากลูแคนจากเห็ดหอมอาจเป็นสารสำคัญที่จะช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน ช่วยปกป้องร่างกายจากสิ่งแปลกปลอมที่ทำให้เกิดการติดเชื้อและช่วยฟื้นฟูร่างกาย เสริมสร้างการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน จากการศึกษาโดยให้อาสาสมัครที่มีสุขภาพดีจำนวน 52 คน ทั้งเพศหญิงและเพศชายที่มีอายุระหว่าง 21-41 ปี รับประทานเห็ดหอมวันละ 5 หรือ 10 กรัม เป็นเวลา 4 สัปดาห์ พบว่าผู้ทดลองมีระบบภูมิคุ้มกันที่ทำงานได้ดีขึ้น สังเกตได้จากการเพิ่มจำนวนและความสามารถของเซลล์ในระบบภูมิคุ้มกันซึ่งทำหน้าที่ต้านเชื้อโรคที่เข้าสู่ร่างกาย รวมถึงพบว่ามีการอักเสบในร่างกายลดน้อยลงด้วย

การรับประทานเห็ดหอมเป็นประจำอาจช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานได้ดีขึ้น แต่การศึกษานี้ก็เป็นเพียงการศึกษากับผู้ร่วมทดลองจำนวนน้อย และยังเป็นผู้ที่มีสุขภาพดีด้วย จึงจำเป็นต้องศึกษาเพิ่มเติมกับกลุ่มตัวอย่างขนาดใหญ่ขึ้นและทดลองในผู้ที่ป่วยเป็นโรคต่าง ๆ ซึ่งทำให้มีระบบภูมิคุ้มกันบกพร่องหรืออ่อนแอ เพื่อยืนยันประสิทธิภาพของเห็ดหอมในด้านนี้ก่อนนำไปใช้ประโยชน์จริง

ลดระดับคอเลสเตอรอล เห็ดหอมมีมีสารประกอบสำคัญหลายอย่าง เช่น สารอิริตาดีนีนที่ช่วยยับยั้งเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับการสร้างคอเลสเตอรอล สารสเตอรอลที่ช่วยยับยั้งการดูดซึมคอเลสเตอรอลในลำไส้ และสารเบต้ากลูแคนที่ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอล หากคอเลสเตอรอลสูงอาจปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดภาวะหัวใจขาดเลือด ภาวะหลอดเลือดแข็ง โรคหลอดเลือดสมอง หรือโรคสมองขาดเลือดชั่วคราวได้ ทั้งนี้ มีการศึกษาประสิทธิภาพของเห็ดหอมด้านการลดระดับคอเลสเตอรอลในหนูทดลอง พบว่าสารประกอบของเห็ดหอมนั้นมีประโยชน์ต่อการลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือด และอาจใช้เห็ดหอมเป็นส่วนหนึ่งในการรักษาผู้ป่วยที่มีคอเลสเตอรอลสูงได้

แม้การศึกษาข้างต้นแสดงให้เห็นถึงแนวโน้มที่ดีของสารประกอบจากเห็ดหอมในการลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือด แต่ก็เป็นเพียงการศึกษาในสัตว์ทดลองเท่านั้น จึงจำเป็นต้องศึกษากับมนุษย์เพิ่มเติมต่อไป

เสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูก เห็ดหอมเป็นพืชชนิดเดียวที่เป็นแหล่งของวิตามินดีจากธรรมชาติ ซึ่งจำเป็นต่อการดูดซึมแคลเซียมและฟอสฟอรัสเพื่อเพิ่มความแข็งแรงให้กับกระดูก นอกจากการรับแสงแดดในยามเช้าเพื่อให้ร่างกายสังเคราะห์วิตามินดีแล้ว เห็ดหอมก็เป็นแหล่งวิตามินดีสำคัญที่เชื่อว่าการรับประทานเห็ดชนิดนี้อาจช่วยรักษาสุขภาพกระดูกได้ จากการศึกษาในสัตว์ทดลองพบว่า ความหนาแน่นของกระดูกเพิ่มสูงขึ้นหลังป้อนอาหารหนูทดลองด้วยเห็ดหอมร่วมกับแคลเซียม ซึ่งช่วยให้กระดูกของหนูทดลองแข็งแรงขึ้น และอาจเป็นผลดีในการเสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูกมนุษย์ได้ด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม การศึกษาดังกล่าวเป็นเพียงการศึกษาในหนูทดลอง ยังจำเป็นต้องศึกษาเพิ่มเติมกับมนุษย์เกี่ยวกับประสิทธิภาพของเห็ดหอมในด้านนี้ต่อไป รวมถึงควรศึกษาถึงความปลอดภัยในการบริโภคเห็ดหอมให้ดี ก่อนนำไปใช้เพื่อบำรุงกระดูกและสุขภาพด้านต่าง ๆ

รักษาโรคมะเร็ง เห็ดหอมมีสารเลนทิแนน ซึ่งเป็นพอลิแซ็กคาไรด์ที่มีคุณสมบัติต้านมะเร็งด้วยการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน และยังช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตและการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาว เห็ดหอมอุดมไปด้วยสารอาหารที่หลากหลาย หลายคนจึงเชื่อว่าการรับประทานเห็ดหอมอาจช่วยส่งเสริมสุขภาพที่ดีและยังเป็นผลดีต่อการรักษาโรคมะเร็งได้ด้วย

โดยมีการศึกษาพบว่าผู้ป่วยโรคมะเร็งที่รับประทานสารสกัดจากเห็ดหอมร่วมกับการรักษาด้วยเคมีบำบัดมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น อีกทั้งยังช่วยยับยั้งการเพิ่มจำนวนของเซลล์มะเร็ง และช่วยเพิ่มจำนวนเซลล์เม็ดเลือดขาวซึ่งทำหน้าที่ทำลายเซลล์มะเร็งด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ ทางผู้วิจัยได้แนะนำว่าการใช้สารสกัดจากเห็ดหอมร่วมกับการทำเคมีบำบัดนั้นทั้งปลอดภัย ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย และยังทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยทำงานได้ดีขึ้นด้วย

อย่างไรก็ตาม การศึกษาดังกล่าวเป็นเพียงการทดลองขนาดเล็กที่มีผู้เข้าร่วมการทดลองเพียง 7 คนเท่านั้น และยังทดลองร่วมกับการรักษาด้วยเคมีบำบัด จึงจำเป็นต้องศึกษาเพิ่มเติมกับกลุ่มทดลองที่มีขนาดใหญ่ขึ้น เจาะจงการใช้เห็ดหอมเพียงอย่างเดียวเพื่อรักษามะเร็ง หรือเปรียบเทียบกับการรักษามะเร็งรูปแบบอื่น ๆ ด้วย เพื่อยืนยันประสิทธิภาพของเห็ดหอมในด้านนี้ให้ชัดเจนต่อไป

บริโภคเห็ดหอมอย่างไรให้ปลอดภัยต่อสุขภาพ ?

ส่วนใหญ่เห็ดหอมที่วางขายตามท้องตลาดนั้นจะเป็นเห็ดหอมแบบแห้ง ซึ่งควรเลือกซื้อเห็ดหอมที่ดอกหนา มีรอยแตกสีขาวลึกกระจายทั่วดอก และนำไปแช่น้ำร้อนประมาณ 10-15 นาทีจนนุ่มก่อนนำไปปรุงอาหาร ส่วนเห็ดหอมสดก็สามารถหาซื้อได้โดยเลือกซื้อดอกเห็ดที่สดและสะอาดเสมอ

ทั้งนี้ การบริโภคเห็ดหอมปรุงสุกในปริมาณที่พอเหมาะนั้นค่อนข้างปลอดภัยสำหรับคนส่วนใหญ่ แต่อาจไม่ปลอดภัยหากรับประทานในปริมาณที่ใช้เป็นยารักษาโรคหรือรับประทานอาหารเสริมเห็ดหอมโดยปราศจากคำแนะนำของแพทย์ ซึ่งอาจทำให้ปวดท้อง มีอาการแพ้หรือบวมตามผิวหนัง มีเลือดออกผิดปกติ หายใจลำบาก และผิวหนังไวต่อแสงแดด ส่วนการบริโภคเห็ดหอมดิบก็อาจทำให้มีผื่นคันขึ้นตามผิวหนังได้เช่นกัน

ส่วนบุคคลในกลุ่มต่อไปนี้ ควรบริโภคเห็ดหอมด้วยความระมัดระวังมากเป็นพิเศษ

  • หญิงตั้งครรภ์หรือหญิงที่อยู่ในช่วงให้นมบุตร หลีกเลี่ยงการรับประทานเห็ดหอม เนื่องจากยังมีข้อมูลไม่เพียงพอเกี่ยวกับความปลอดภัยของการรับประทานเห็ดหอมในช่วงตั้งครรภ์หรือช่วงให้นมบุตร
  • ผู้ป่วยโรคภูมิคุ้มกันต้านตนเอง เช่น โรคปลอกประสาทอักเสบ โรคลูปัส หรือโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ ให้หลีกเลี่ยงการรับประทานเห็ดหอม เพราะอาจกระตุ้นให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานมากกว่าปกติ และอาจทำให้อาการของโรคกำเริบขึ้นได้
  • ผู้ป่วยที่มีเซลล์เม็ดเลือดขาวอีโอซิโนฟิลสูงกว่าปกติ (Eosinophilia) ห้ามรับประทานเห็ดหอม เพราะอาจทำให้อาการของโรคแย่ลงกว่าเดิม