เนื้องอกต่อมใต้สมอง

ความหมาย เนื้องอกต่อมใต้สมอง

เนื้องอกต่อมใต้สมอง (Pituitary Tumor) เป็นกลุ่มเซลล์ที่เจริญผิดปกติบริเวณต่อมใต้สมอง ซึ่งเป็นต่อมที่มีหน้าที่สร้างฮอร์โมนต่าง ๆ ในร่างกาย จึงส่งผลให้เกิดความผิดปกติในการหลั่งฮอร์โมน อีกทั้งอาจมีอาการปวดศีรษะ มีปัญหาด้านการมองเห็นหรือใช้กล้ามเนื้อดวงตา 

เนื้องอกต่อมใต้สมองที่เกิดขึ้นอาจเป็นได้ทั้งชนิดเนื้อดีหรือเนื้อร้าย แต่โดยส่วนใหญ่ไม่ใช่เซลล์มะเร็ง สำหรับสาเหตุของการเกิดโรคยังไม่สามารถระบุได้แน่ชัด โดยปกติเนื้องอกสามารถแบ่งออกได้หลายชนิด แต่ละชนิดส่งจะผลกระทบต่อร่างกายแตกต่างกันไปในแต่ละคน ซึ่งแพทย์จะรักษาผู้ป่วยด้วยวิธีการผ่าตัด การฉายแสง การรับประทานยา ควบคู่ไปกับการเฝ้าระวังอาการ

2495-เนื้องอกต่อมใต้สมอง

อาการของเนื้องอกต่อมใต้สมอง 

ผู้ป่วยที่มีเนื้องอกต่อมใต้สมองจะแสดงอาการที่แตกต่างกันไป โดยชนิดของเนื้องอกสามารถแบ่งตามระบบการสร้างฮอร์โมนได้ดังนี้

เนื้องอกต่อมใต้สมองชนิดสร้างฮอร์โมน

เนื้องอกชนิดนี้จะผลิตฮอร์โมนชนิดต่าง ๆ ทำให้มีประมาณฮอร์โมนสะสมเกินกว่าที่ร่างกายต้องการ ได้แก่ 

  • เนื้องอกต่อมใต้สมองคอร์ทิโคโทรฟ (Corticotropin (ACTH)-Secreting Adenomas) 

เนื้องอกจะส่งผลให้ร่างกายจะผลิตอะดรีโนคอร์ติโคโทรปิกฮอร์โมนมากขึ้น โดยฮอร์โมนดังกล่าวจะกระตุ้นให้ต่อมหมวกไตผลิตฮอร์โมนกลุ่มสเตียรอยด์ อย่างคอร์ติซอล (Cortisol) ทำให้ผู้ป่วยมีอาการในกลุ่มอาการคุชชิง เช่น น้ำหนักขึ้นอย่างไม่ทราบสาเหตุ ผิวแตกลายเป็นสีม่วงบริเวณหน้าอกหรือช่วงท้อง หน้าบวมแดง เป็นสิว หลังคอมีไขมันมากกว่าปกติ อารมณ์ฉุนเฉียวหรือมีภาวะซึมเศร้า ปวดศีรษะ การมองเห็นผิดปกติ ช้ำง่าย น้ำตาลในเลือดสูงหรือเป็นโรคเบาหวาน กระดูกเปราะ เป็นต้น หากเกิดในวัยเด็กจะกระทบต่อการเจริญเติบโตและปัญหาด้านการแสดงออก 

  • เนื้องอกต่อมใต้สมองโกรทฮอร์โมน (Growth Hormone-Secreting Adenomas) 

เนื้องอกชนิดนี้จะทำให้ร่างกายผลิตโกรทฮอร์โมนมากขึ้น ส่งผลให้ร่างกายเจริญเติบโตไม่สมส่วน(Gigantism) เนื่องจากโกรทฮอร์โมนเป็นฮอร์โมนที่ส่งผลต่อการเจริญเติบโต โดยอาการดังกล่าวจะค่อย ๆ พัฒนาจึงยากต่อการสังเกตเห็น ในผู้ใหญ่จะเห็นความผิดปกติได้จากกระดูกบริเวณใบหน้า มือ และเท้าขยายใหญ่ขึ้น เสียงแหบ ฟันห่าง ขากรรไกรใหญ่ผิดปกติ ปวดข้อ เหงื่อออกมาก มีน้ำตาลในเลือดสูงหรือเป็นโรคเบาหวาน เกิดนิ่วในไต มีปัญหาเกี่ยวกับหัวใจ ปวดศีรษะ การมองเห็นผิดปกติ มือหรือเท้าเป็นเหน็บชา กรนหรือหยุดหายใจขณะนอนหลับ ผิวหนา มีขนเยอะกว่าคนทั่วไป หากเกิดในเด็กจะทำให้เด็กมีลักษณะสูงใหญ่กว่าคนวัยเดียวกัน  

  • เนื้องอกต่อมใต้สมองโปรแลคติน (Prolactin-Secreting Adenomas) 

เนื้องอกจะส่งผลให้ร่างกายผลิตฮอร์โมนโปรแลคตินมากผิดปกติ โดยผู้ชายและผู้หญิงจะมีอาการที่แตกต่างกัน ในเพศหญิงจะส่งผลต่อการทำงานของฮอร์โมนเอสโตรเจน ทำให้มีประจำเดือนน้อยลงกว่าปกติหรือหมดประจำเดือนก่อนวัย มีน้ำนมไหลแม้ไม่ได้ตั้งครรภ์หรือมีบุตร ส่วนในเพศชายจะส่งผลต่อการทำงานของฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน ทำให้มีภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ ผลิตอสุจิได้น้อยลง และหน้าอกใหญ่ อย่างไรก็ตาม ยังมีความผิดปกติที่เหมือนกันของผู้ป่วยทุกเพศ คือ มีภาวะการมีบุตรยาก ความต้องการทางเพศลดลง และมีอาการของโรคกระดูกพรุน

  • เนื้องอกต่อมใต้สมองกระตุ้นไทรอยด์ (Thyrotropin (TSH)-Secreting Adenomas) 

เนื้องอกจะผลิตสารไทรอยด์สติมูเลติงฮอร์โมนที่ทำหน้าที่กระตุ้นการทำงานของไทรอยด์ เมื่อร่างกายมีสารชนิดดังกล่าวมากเกินไปจะทำให้ผู้ป่วยเกิดภาวะไทรอยด์เป็นพิษ ส่งผลให้มีอาการหัวใจเต้นเร็วหรือเต้นผิดจังหวะ สั่น น้ำหนักลด ความอยากอาหารเพิ่มมากขึ้น รู้สึกร้อน ๆ หนาว ๆ เหงื่อออกมาก มีปัญหาด้านการนอนหลับ วิตกกังวล อุจจาระบ่อย และมีก้อนบวมบริเวณคอด้านหน้า

เนื้องอกต่อมใต้สมองชนิดไม่สร้างฮอร์โมน

เนื้องอกชนิดนี้จะไม่ผลิตฮอร์โมน แต่อาจขยายใหญ่ขึ้นจนกดทับเส้นประสาทหรือพื้นที่ส่วนอื่น ๆ ของสมอง ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการกล้ามเนื้อตาอ่อนแรง ไม่สามารถขยับกล้ามเนื้อตาได้อย่างปกติ ไม่สามารถมองด้านข้างได้ (Peripheral Vision) ตามัว มองเห็นภาพซ้อน สูญเสียการมองเห็นอย่างกะทันหัน ปวดศีรษะ มีอาการชาตามใบหน้าหรือปวดบริเวณหน้า วิงเวียน หรือหมดสติ หากเป็นปัญหาเกี่ยวกับการมองเห็นจะเกิดขึ้นเมื่อเนื้องอกกดทับบริเวณเส้นประสาทซึ่งอยู่ระหว่างตาและสมอง 

นอกจากนี้ เนื้องอกที่มีขนาดใหญ่อาจเบียดจนทำลายต่อมใต้สมองบางส่วน จึงส่งผลต่อปริมาณฮอร์โมนในร่างกาย ทำให้ผู้ป่วยมีอาการอ่อนแรง รู้สึกเหนื่อย คลื่นไส้ น้ำหนักขึ้นหรือลงอย่างไม่ทราบสาเหตุ ผมร่วง หนาวสั่น ประจำเดือนมาไม่ปกติในเพศหญิง และหย่อนสมรรถภาพทางเพศในเพศชาย

 สาเหตุของเนื้องอกต่อมใต้สมอง 

การเกิดเนื้องอกต่อมใต้สมองยังไม่สามารถระบุสาเหตุได้ชัดเจน และยังไม่มีหลักฐานที่ยืนยันได้ว่ามีปัจจัยแวดล้อมใดบ้างที่ก่อให้เกิดเนื้องอกใต้สมองโดยตรง แต่การกลายพันธุ์ของดีเอ็นเอเป็นปัจจัยหนึ่งที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดเนื้องอกหรือโรคมะเร็ง จึงทำให้ผู้ที่มีสมาชิกในครอบครัวมีภาวะของกลุ่มอาการเนื้องอกของต่อมไร้ท่อหลายต่อมชนิดที่ 1 มีความเสี่ยงต่อการเกิดเนื้องอกต่อมใต้สมองมากกว่าคนทั่วไป

การวินิจฉัยเนื้องอกต่อมใต้สมอง

 แพทย์อาจตรวจพบโรคเนื้องอกต่อมใต้สมองจากอาการแสดงที่เห็นได้ชัดหรือบังเอิญตรวจพบจากการตรวจรักษาโรคอื่น ๆ เนื่องจากยากต่อการสังเกตอาการในบางครั้ง และจำเป็นต้องตรวจด้วยวิธีอื่น ๆ เพิ่มเติมเพื่อหาชนิดของเนื้องอก 

หากสงสัยว่าผู้ป่วยมีความผิดปกติดังกล่าว แพทย์จะเริ่มวินิจฉัยจากการสอบถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วยและสมาชิกในครอบครัว ร่วมกับตรวจร่างกาย ตรวจหาความผิดปกติด้านการมองเห็นและระบบประสาทที่อาจมีสาเหตุมาจากเนื้องอกต่อมใต้สมอง และตรวจเพิ่มเติมด้วยวิธีต่าง ๆ ดังนี้

  • การตรวจระดับฮอร์โมนในเลือดและปัสสาวะ จะใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยมีเนื้องอกบริเวณต่อมใต้สมองในส่วนที่ทำหน้าที่ผลิตฮอร์โมน เนื่องจากร่างกายอาจผลิตฮอร์โมนชนิดต่าง ๆ มากหรือน้อยเกินไป เช่น ฮอร์โมนไทรอยด์ ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนในเพศหญิง ฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนในเพศชาย เป็นต้น
  • การตรวจด้วยเครื่องสร้างภาพด้วยสนามแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) หรือเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ เพื่อดูขนาดและตำแหน่งของเนื้องอกที่เกิดขึ้น   
  • การตรวจตัวอย่างเนื้อเยื่อของเนื้องอกต่อมใต้สมองโดยใช้กล้องจุลทรรศน์ เพื่อให้แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคได้แม่นยำมากขึ้น 

นอกจากนี้ แพทย์อาจส่งตัวผู้ป่วยให้ผู้เชี่ยวชาญด้านต่อมไร้ท่อหรือศัลยแพทย์ระบบประสาทเป็นผู้ตรวจอีกครั้ง เพื่อให้การวินิจฉัยหาความผิดปกติมีความครอบคลุมมากยิ่งขึ้น

การรักษาเนื้องอกต่อมใต้สมอง

ในกรณีที่ไม่พบอาการความผิดปกติใด ๆ ผู้ป่วยอาจไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษา แต่หากเนื้องอกส่งผลให้เกิดความผิดปกติในร่างกาย แพทย์จะรักษาโดยพิจารณาจากชนิดของเนื้องอก ความรุนแรงของอาการ และอาการต่าง ๆ ที่เกิดจากการผลิตฮอร์โมนที่มากเกินความต้องการของร่างกาย ดังนี้

การผ่าตัด

แพทย์จะผ่าตัดในกรณีที่ก้อนเนื้อกดทับเส้นประสาทตาหรือเป็นก้อนเนื้อที่ส่งผลต่อการเพิ่มของระดับฮอร์โมนในร่างกาย ซึ่งวิธีการผ่าตัดจะขึ้นอยู่กับชนิด ตำแหน่ง และขนาดของเนื้องอก คือ

  • การผ่าตัดแบบไม่เปิดกะโหลกศีรษะ เป็นการผ่าตัดด้วยการสอดกล้องทางจมูกและไซนัส จึงไม่ก่อให้เกิดบาดแผลและไม่กระทบต่อส่วนอื่น ๆ ของสมอง
  • การผ่าตัดเแบบเปิดกะโหลกศีรษะ จะใช้ในกรณีที่ก้อนเนื้อมีขนาดใหญ่และอยู่ในบริเวณที่ยากต่อการเข้าถึง โดยแพทย์จะผ่าตัดบริเวณกะโหลกส่วนบนเพื่อนำก้อนเนื้อออก 

การฉายแสง

แพทย์จะใช้การฉายแสงหลังจากผู้ป่วยผ่าตัดเนื้องอกออกไปแล้ว แต่ในบางกรณีอาจจะใช้รักษาผู้ป่วยที่ไม่สามารถเข้ารับการผ่าตัดได้ เนื้องอกยังคงมีอยู่หรือเกิดซ้ำหลังการผ่าตัด แต่ไม่สามารถบรรเทาอาการที่เป็นผลจากเนื้องอกได้ด้วยการใช้ยา ซึ่งวิธีนี้เป็นการใช้อนุภาครังสีทำลายเนื้องอกโดยตรง สามารถแบ่งออกเป็นรูปแบบต่าง ๆ คือ

  • การฉายรังสีแบบครั้งเดียว (Stereotactic Radiosurgery) เป็นการฉายรังสีในปริมาณรังสีสูงมากและฉายโดยตรงไปยังบริเวณที่ต้องการ
  • การฉายรังสีระยะไกล (External Beam Radiation) เป็นวิธีที่สามารถทำลายเนื้องอกได้ทีละน้อย โดยผู้ป่วยจะต้องเข้ารับการรักษาสัปดาห์ละ 5 ครั้ง เป็นเวลา 4-6 สัปดาห์ ทั้งนี้ การฉายรังสีระยะไกลอาจส่งผลให้เซลล์ต่อมใต้สมองและเนื้อเยื่อสมองที่เป็นปกติได้รับความเสียหาย
  • การฉายรังสีแบบปรับความเข้ม (Intensity Modulated Radiation Therapy: IMRT) เป็นวิธีที่แพทย์จะใช้คอมพิวเตอร์ในการปรับรูปแบบของรังสีที่จะฉายเนื้องอกจากมุมต่าง ๆ ที่กำหนดไว้
  • การรักษาด้วยอนุภาคโปรตอน (Proton Beam Radiation Therapy) แพทย์จะฉายรังสีโปรตอนไปยังบริเวณที่กำหนดเพื่อควบคุมการเจริญเติบโตของเนื้องอกให้เกิดอันตรายต่อเนื้อเยื่อโดยรอบน้อยที่สุด แต่วิธีนี้จำเป็นจะต้องใช้เครื่องมือพิเศษและมีค่าใช้จ่ายในการรักษาสูง จึงไม่เป็นที่นิยมมากนัก

ทั้งนี้ การฉายรังสีอาจใช้เวลานานในการรักษาและควบคุมขนาดของเนื้องอก จึงอาจทำให้ต่อมใต้สมองส่วนอื่น ๆ ได้รับความเสียหาย เกิดความผิดปกติด้านการมองเห็น และอาจทำลายเนื้อเยื่อสมองที่จะส่งผลต่อการทำงานของสติปัญญาได้ในอนาคต

การใช้ยา

เป็นการใช้ยาที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมการสร้างฮอร์โมนในการรักษา ซึ่งจะแตกต่างกันไปขึ้นตามชนิดของเนื้องอก ดังนี้

  • เนื้องอกต่อมใต้สมองคอร์ทิโคโทรฟ 

แพทย์จะใช้ยาในกรณีที่ผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยการผ่าตัดหรือการฉายแสง หรือใช้ยาบรรเทาอาการในระหว่างรอให้ร่างกายตอบสนองต่อการฉายแสง ตัวอย่างยาที่ใช้ในการรักษา เช่น ยาไมเฟพริสโตน (Mifepristone) จะช่วยป้องกันผลกระทบจากฮอร์โมนคอร์ติซอลที่เกิดต่อเนื้อเยื่อ แต่ไม่สามารถลดการผลิตฮอร์โมนดังกล่าวได้ ผลข้างเคียงที่พบคือ รู้สึกเหนื่อยล้า คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ มีอาการบวม ความดันโลหิตสูง และโพแทสเซียมต่ำ ส่วนยาพาซิริโอไทด์ (Pasireotide) จะใช้รักษาผู้ป่วยกลุ่มอาการคุชชิง ผลข้างเคียงที่พบคือ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย เกิดนิ่วในถุงน้ำดี และอาจส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง

  • เนื้องอกต่อมใต้สมองโกรทฮอร์โมน 

แพทย์จะเริ่มใช้ยารักษาในกรณีที่การผ่าตัดไม่ได้ผล เพื่อช่วยลดการผลิตโกรทฮอร์โมนในร่างกาย ตัวอย่างยาที่ใช้ในการรักษา เช่น ยาออกทรีโอไทด์ (Octreotide) จะเริ่มต้นด้วยการฉีดเข้าร่างกายวันละ 3 ครั้ง แล้วค่อย ๆ ปรับปริมาณยาลง หรือยาแลนริโอไทด์ (Lanreotide) ที่จะฉีดให้ผู้ป่วย 1 ครั้งต่อเดือน ซึ่งตัวยาอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียง เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ปวดท้อง วิงเวียน ปวดศีรษะ เจ็บบริเวณที่ฉีดยา นอกจากนี้ อาจมีการใช้ยาเพกวิสโอแมนท์ (Pegvisomant) เพื่อป้องกันโกรทฮอร์โมนไม่ให้เข้าสู่ร่างกาย แต่การฉีดยาดังกล่าวทุกวันอาจส่งผลต่อการทำงานของตับได้

  • เนื้องอกต่อมใต้สมองโปรแลคติน 

แพทย์อาจรักษาด้วยการใช้ยาเพียงอย่างเดียวเนื่องจากเนื้องอกชนิดนี้ตอบสนองต่อยาได้ดี ตัวอย่างยาที่ใช้ในการรักษา เช่น ยาเคเบอโกลิน (Cabergoline) และยาโบรโมคริปทีน (Bromocriptine) ใช้ 1-2 ครั้งต่อสัปดาห์ เพื่อลดการสร้างฮอร์โมนโปรแลคตินและลดขนาดของก้อนเนื้อลง ทั้งนี้ การใช้ยาทั้งสองชนิดอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียง เช่น ง่วงซึม วิงเวียน คลื่นไส้ มึนงง คัดจมูก อาเจียน ท้องเสียหรือท้องผูก 

  • เนื้องอกต่อมใต้สมองกระตุ้นไทรอยด์ 

แพทย์จะรักษาด้วยการใช้ยาในกรณีที่การผ่าตัดไม่ได้ผล ตัวอย่างยาที่ใช้ในการรักษา เช่น ยาออกทรีโอไทด์ (Octreotide) และยาแลนริโอไทด์ (Lanreotide) เพื่อลดปริมาณไทโรโทรปินรีลิสซิงฮอร์โมนและช่วยให้ขนาดของเนื้องอกหดเล็กลง บางกรณีแพทย์อาจใช้ยาดังกล่าวเพื่อลดฮอร์โมนไทรอยด์และลดขนาดก้อนเนื้อก่อนทำการผ่าตัด 

  • เนื้องอกต่อใต้สมองที่ไม่เกี่ยวข้องกับการผลิตฮอร์โมน 

จะเป็นการใช้ยาหลังการผ่าตัดหรือการฉายหลังสี โดยยากระตุ้นโดปามีนและยาในกลุ่ม Somatostatin Analogs จะช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเนื้องอกบางชนิด

นอกจากนี้ ในกรณีที่การรักษาส่งผลให้ร่างกายลิตฮอร์โมนลดลง ผู้ป่วยอาจจำเป็นจะต้องรับประทานฮอร์โมนทดแทนเพื่อรักษาปริมาณฮอร์โมนในร่างกายให้อยู่ในระดับปกติ

ภาวะแทรกซ้อนของเนื้องอกต่อมใต้สมอง

โดยทั่วไปเนื้องอกต่อมใต้สมองจะไม่ขยายตัวหรือแพร่กระจายไปยังส่วนอื่นแบบรุนแรง แต่อาจส่งผลให้ผู้ป่วยมีปัญหาทางด้านร่างกายส่วนอื่น ๆ เช่น

 ปัญหาทางด้านสายตา จากการกดทับของก้อนเนื้อหรือผู้ป่วยได้รับความเสียหายบริเวณประสาทตาขณะเข้ารับการผ่าตัด ในบางรายอาจรุนแรงถึงขั้นตาบอด

  • ภาวะขาดหรือพร่องฮอร์โมนถาวรเนื่องจากการผ่าตัดนำก้อนเนื้องอกออก อาจส่งผลให้ผู้ป่วยต้องรับประทานฮอร์โมนทดแทนตลอดชีวิต
  • โรคเบาจืด เนื่องมาจากการที่ต่อมใต้สมองส่วนหลังได้รับความเสียหาย โดยผู้ป่วยจะมีอาการกระหายน้ำอย่างรุนแรงและปัสสาวะบ่อย 
  • การติดเชื้อ มีเลือดออกมาก หรือมีอาการแพ้ยาชา ซึ่งเป็นผลข้างเคียงจากการรักษา 

นอกจากนี้ ยังอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง แต่เป็นภาวะที่พบได้น้อย เช่น น้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลังรั่วออกทางจมูก มีอาการของโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ และภาวะเลือดออกในก้อนเนื้องอกที่ส่งผลให้มีอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรง ผู้ป่วยจำเป็นจะต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน

การป้องกันเนื้องอกต่อมใต้สมอง

เนื่องจากยังไม่ทราบสาเหตุของการเกิดเนื้องอกต่อมใต้สมองที่แน่ชัด จึงยังไม่มีวิธีป้องกันการเกิดโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่สามารถลดความเสี่ยงต่อการเกิดเนื้องอกหรือมะเร็งได้จากการปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินชีวิต เช่น การรับประทานอาหารครบ 5 หมู่ หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และในผู้ที่สมาชิกในครอบครัวมีประวัติการรักษาอาการดังกล่าว ควรเข้ารับการตรวจสุขภาพเป็นประจำเพื่อเฝ้าระวังโรคหรือเข้ารับการรักษาได้อย่างรวดเร็วหากตรวจพบเนื้องอก