หัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน (Acute Coronary Syndrome)

ความหมาย หัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน (Acute Coronary Syndrome)

หัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน (Acute Coronary Syndrome) เป็นภาวะหลอดเลือดหัวใจอุดตันที่มักเกิดขึ้นอย่างกะทันหัน ส่งผลให้เนื้อเยื่อหัวใจได้รับความเสียหาย โดยผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บหน้าอกอย่างรุนแรง คลื่นไส้อาเจียน เวียนศีรษะ และหายใจลำบาก

ภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันเป็นภาวะที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตเนื่องจากเลือดในหัวใจไม่ไหลเวียนหรือไหลเวียนน้อยกว่าปกติ เมื่อผู้ป่วยมีอาการจึงจำเป็นต้องนำตัวส่งโรงพยาบาลโดยด่วน โดยแพทย์จะรักษาตามอาการและสาเหตุที่แตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล

หัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน

อาการของหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน 

ผู้ป่วยหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันอาจมีอาการแตกต่างกันไปในขึ้นอยู่กับเพศ อายุและโรคประจำตัว เช่น

  • เจ็บบริเวณหน้าอกคล้ายถูกกดทับ รู้สึกไม่สบาย แน่น ปวด อึดอัดหรือแสบร้อนในอก และอาการจะแพร่กระจายจากหน้าอกไปยังขากรรไกร คอ หัวไหล่ แขน ท้องส่วนบนและหลัง
  • อาหารไม่ย่อย คลื่นไส้หรืออาเจียน
  • เวียนศีรษะคล้ายจะหมดสติ
  • หายใจลำบาก
  • เหงื่อออกมากอย่างฉับพลัน
  • อ่อนเพลียผิดปกติ
  • รู้สึกกระสับกระส่ายและหวาดหวั่น

อย่างไรก็ตาม เพศหญิง ผู้สูงอายุ หรือผู้ป่วยเบาหวานอาจมีอาการของภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันโดยไม่มีอาการเจ็บหน้าอกเกิดขึ้น ทั้งนี้ อาการของหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันมักเกิดขึ้นอย่างไม่ทันตั้งตัวและอาจทวีความรุนแรงขึ้นแม้จะพักผ่อนแล้วก็ตาม หากรู้สึกเจ็บหน้าอกหรือมีอาการอื่น ๆ ที่คล้ายกับอาการของภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันควรนำตัวส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด เนื่องจากเป็นอาการที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิต

สาเหตุของหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน 

หัวใจขาดเลือดเฉียบพลันเกิดขึ้นจากการอุดตันภายในหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งมีหน้าที่ลำเลียงเลือดที่มีปริมาณออกซิเจนสูงและสารอาหารเข้าสู่กล้ามเนื้อหัวใจ เนื่องมาจากการก่อตัวของคราบไขมัน เซลล์ หรือสารอื่น ๆ บนผนังหลอดเลือด โดยการอุดตันของหลอดเลือดอาจเกิดขึ้นได้ใน 2 รูปแบบ คือ หลอดเลือดแคบลงเรื่อย ๆ จนเกิดการอุดตัน หรือคราบที่เกาะในหลอดเลือดหลุดลอกและชิ้นส่วนที่หลุดนั้นเข้าไปอุดตันภายในหลอดเลือด

เมื่อหัวใจไม่สามารถลำเลียงออกซิเจนได้อย่างปกติจะส่งผลให้กล้ามเนื้อหัวใจตายเนื่องจากไม่มีออกซิเจนหล่อเลี้ยง เนื้อเยื่อหัวใจถูกทำลายและเกิดภาวะหัวใจวายในที่สุด ในกรณีที่ออกซิเจนเข้าสู่หัวใจในปริมาณน้อยจะส่งผลให้หัวใจทำงานผิดปกติ โดยอาจเกิดขึ้นชั่วคราวหรือเกิดขึ้นอย่างถาวร 

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันจะคล้ายกันกับโรคหัวใจอื่น ๆ เช่น

  • เป็นผู้สูงอายุ 
  • มีอาการป่วยด้วยโรคความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง เบาหวาน ภาวะอ้วนหรือน้ำหนักเกินเกณฑ์มาตรฐาน 
  • สูบบุหรี่ 
  • รับประทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์ ไม่ออกกำลังกาย 
  • มีสมาชิกในครอบครัวป่วยด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือดสมอง 
  • มีอาการเจ็บหน้าอกเรื้อรังเนื่องจากมีไขมันสะสมในหลอดเลือด
  • เคยเป็นโรคเบาหวาน มีภาวะครรภ์เป็นพิษ และความดันโลหิตสูงในขณะตั้งครรภ์

การวินิจฉัยหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน 

แพทย์จะวินิจฉัยภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันจากการตรวจร่างกายเบื้องต้น สอบถามเกี่ยวกับอาการและประวัติทางการแพทย์ หากสงสัยว่าผู้ป่วยมีอาการของภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน แพทย์จะวินิจฉัยเพิ่มเติม เพื่อตรวจหาสาเหตุและกำหนดแนวทางการรักษา เช่น

การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG/ECG) 

เป็นการตรวจโดยใช้เครื่องมือแนบผิวหนังและประเมินการทำงานของหัวใจ ในบางกรณีช่วยให้สามารถระบุตำแหน่งที่เกิดการอุดตันหรือบริเวณห้องหัวใจที่มีความผิดปกติ

การตรวจเลือด 

เพื่อตรวจดูความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นเนื่องจากการตายของเซลล์ในหัวใจ หากมีค่าผิดปกติจะบ่งชี้ได้ว่าผู้ป่วยมีภาวะหัวใจวาย

การฉีดสีหลอดเลือดหัวใจ (Coronary Angiogram: CAG) 

แพทย์จะฉีดสีผ่านสายสวนเข้าไปยังหลอดเลือดบริเวณแขนหรือขาหนีบก่อนถ่ายภาพด้วยรังสีเอกซเรย์ ซึ่งภาพที่ได้จากการเอกซเรย์จะแสดงให้เห็นถึงการไหลเวียนของเลือดภายในหัวใจและช่วยระบุบริเวณที่มีการติดหรืออุดตันภายในหลอดเลือด

การทำเอ็กโคหัวใจ (Echocardiogram) 

เป็นการใช้คลื่นเสียงในการจำลองภาพการทำงานของหัวใจ โดยช่วยให้แพทย์สามารถเห็นการสูบฉีดเลือดภายในหัวใจและระบุสาเหตุความผิดปกติภายในหัวใจ

การทำซีทีสแกนวินิจฉัยหลอดเลือด (CT Scan Angiogram) 

เป็นการใช้เครื่องมือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์เพื่อดูภาพตัดขวางของหัวใจและตำแหน่งของหลอดเลือดแดงในบริเวณที่ตีบหรืออุดตัน

การตรวจสมรรถภาพของหัวใจ (Exercise Stress Test) 

แพทย์จะใช้การทดสอบนี้เฉพาะในผู้ป่วยไม่มีอาการของภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันหรืออาการที่ร้ายแรงของโรคหัวใจชนิดอื่น ๆ โดยวิธีนี้จะแสดงการทำงานของหัวใจขณะออกกำลังกาย ในบางกรณีอาจใช้ยาเพื่อเพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจแทนการออกกำลังกายจริง นอกจากนี้ ผู้ป่วยจะได้รับการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจหรือทำเอ็กโคหัวใจควบคู่ไปด้วยระหว่างการออกกำลังกาย เพื่อตรวจหาความผิดปกติในการทำงานของหัวใจ

การรักษาหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน 

แพทย์จะมุ่งเน้นการรักษาเพื่อบรรเทาอาการ เพิ่มการไหลเวียนโลหิตและฟื้นฟูการทำงานของหัวใจโดยเร็วที่สุด ในระยะยาวจะเป็นการรักษาเพื่อให้หัวใจทุกส่วนสามารถกลับทำงานได้อย่างปกติ ควบคุมและลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหัวใจวาย โดยวิธีการรักษาภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันจะขึ้นอยู่กับอาการและสาเหตุที่ต่างกันไปในแต่ละคน ดังนี้

รักษาโดยการใช้ยา

ยาที่ใช้ในการบรรเทาอาการหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันเบื้องต้น เช่น 

  • ยาละลายลิ่มเลือด (Thrombolytics) เพื่อละลายลิ่มเลือดที่อุดตันอยู่ภายในหลอดเลือดแดง
  • ยาไนโตรกลีเซอรีน (Nitroglycerin) เพื่อขยายหลอดเลือดชั่วคราวและเพิ่มการไหลเวียนของเลือด
  • ยาในกลุ่มยาต้านเกล็ดเลือด (Antiplatelet Drugs) เพื่อป้องกันการเกิดลิ่มเลือด เช่น ยาแอสไพริน (Aspirin) ยาโคลพิโดเกรล (Clopidogrel) หรือยาพราซูเกรล (Prasugrel) เป็นต้น
  • ยาในกลุ่มยาเบต้า บล็อกเกอร์ (Beta Blockers) เพื่อคลายกล้ามเนื้อหัวใจ ช่วยให้หัวใจเต้นช้าลงและและลดความดันโลหิต เช่น ยาเมโทโพรลอล (Metoprolol) และยานาโดลอล (Nadolol) เป็นต้น 
  • ยาในกลุ่มเอซีอี อินฮิบิเตอร์ (ACE Inhibitor) เพื่อขยายหลอดเลือด เพิ่มการไหลเวียนโลหิต และช่วยให้หัวใจทำงานได้ดีขึ้น อย่างยาลิซิโนพริล (Lisinopril) หรือยาเบนาซีพริล (Benazepril) 
  • ยาในกลุ่มยาต้านตัวรับแองจิโอเทนซิน (Angiotensin Receptor Blockers) เพื่อช่วยควบคุมระดับความดันโลหิต อย่างยาลอซาร์แทน (Losartan) 
  • ยาในกลุ่มยาสแตติน (Statins) เพื่อลดระดับไขมันในเลือดและคราบที่ยากต่อการกำจัด ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงของการหลุดของคราบไขมันจนไปอุดตันภายในหลอดเลือด เช่น ยาอะทอร์วาสแตติน (Atorvastatin) ยาซิมวาสแตติน (Simvastatin) เป็นต้น

การผ่าตัด

การผ่าตัดจะช่วยให้เลือดสามารถไหลเวียนไปยังกล้ามเนื้อหัวใจได้ดีขึ้น โดยแพทย์อาจผ่าตัดด้วยวิธีต่อไปนี้

  • การขยายหลอดเลือดหัวใจตีบด้วยบอลลูนและดามขดลวด

แพทย์จะสอดท่อขนาดเล็กเข้าไปในหลอดเลือดบริเวณที่ตีบหรืออุดตันและใช้เครื่องมือลักษณะพิเศษคล้ายบอลลูนขยายหลอดเลือดนั้นให้กว้างขึ้น ในบางกรณีอาจนำขดลวดใส่เข้าไปในบริเวณดังกล่าวเพื่อถ่างขยายหลอดเลือดไม่ให้กลับมาตีบซ้ำและช่วยให้เลือดสามารถไหลเวียนได้ตามปกติ

  • การทำบายพาสหัวใจ

แพทย์จะนำชิ้นส่วนของหลอดเลือดจากบริเวณอื่นในร่างกายมาสร้างทางไหลเวียนใหม่แทนหลอดเลือดเดิมในบริเวณที่มีการอุดตัน

ภาวะแทรกซ้อนของหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน 

หัวใจขาดเลือดเฉียบพลันอาจส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ เช่น หัวใจวายเฉียบพลัน ภาวะช็อกจากโรคหัวใจ หัวใจเต้นเร็วหรือช้ากว่าผิดปกติ กล้ามเนื้อหัวใจฉีกขาดส่งผลให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจถูกบีบอัดหรือลิ้นหัวใจรั่วอย่างรุนแรง หัวใจล้มเหลวเนื่องจากหัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดได้มากพอ โรคหลอดเลือดสมอง หรือเสียชีวิต เป็นต้น

การป้องกันหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน 

หัวใจขาดเลือดเฉียบพลันสามารถลดความเสี่ยงลงได้ด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น

  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะผัก ผลไม้ ธัญพืชเต็มเมล็ด เนื้อไร้มัน และหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารไขมันอิ่มตัวและคอเลสเตอรอลสูง 
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ด้วยการออกกำลังกายในระดับหนักพอสมควรอย่างน้อยครั้งละ 30 นาที เช่น การเดิน การขี่จักรยาน การออกกำลังกายใต้น้ำ หรือการว่ายน้ำ เป็นต้น
  • ลดและรักษาน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
  • พยายามไม่เครียดและรับมือกับความเครียดที่เกิดขึ้นในชีวิต
  • ตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอหรือตามความเหมาะสมเพื่อป้องกันความผิดปกติ โดยเฉพาะการตรวจระดับคอเลสเตอรอลและความดันโลหิต
  • รับประทานยาและดูแลสุขภาพตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัดหากมีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และไขมันในเลือดสูง เป็นต้น 
  • เลิกบุหรี่และจำกัดปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์อย่างเหมาะสม