หัวนมแตก ปัญหาเจ็บ ๆ ของคุณแม่มือใหม่

หัวนมแตก ปัญหาที่คุณแม่มือใหม่ต้องเผชิญในช่วงประมาณสัปดาห์แรกหลังจากเริ่มให้นมบุตร สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากทารกยังอยู่ในท่าทางที่ไม่สะดวกสบายขณะดูดนม ซึ่งคุณแม่ทั้งหลายไม่ควรละเลย เป็นสัญญาณเตือนให้สังเกตหรือขยับท่าทางที่อาจผิดอยู่ ควรแก้ไขให้ถูกต้องจะได้ไม่เกิดปัญหาอื่นตามมา

หัวนมแตก

หัวนมแตกเกิดจากอะไร ?

หัวนมแตกเป็นอาการที่เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ บางสาเหตุหากแก้ไขได้ก็จะช่วยให้อาการหมดไป แต่บางกรณีอาจต้องรักษาด้วยวิธีทางการแพทย์ โดยสาเหตุที่มักพบ ได้แก่

  • ท่าทางในการกินนมและการดูดนมที่ไม่ถูกต้อง คุณแม่มือใหม่บางรายที่ยังไม่ชำนาญในการให้นมลูกน้อยอาจจัดท่าให้นมที่ไม่เหมาะสม และทารกอาจดูดหัวนมแม่ผิดวิธี คือปากของทารกอยู่ตื้น ขอบปากไม่ถึงลานนม ซึ่งนอกจากจะทำให้เด็กดื่มนมได้ไม่เต็มที่ ยังส่งผลให้หัวนมแตกได้
  • การติดเชื้อรา หากทารกมีเชื้อราในช่องปาก การให้นมบุตรอาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อที่หัวนม และกลายเป็นปัญหาหัวนมแตกได้ สังเกตว่าติดเชื้อหรือไม่จากอาการต่าง ๆ เช่น มีอาการคัน หรือเจ็บบริเวณหัวนม หัวนมมีลักษณะแดงและเงาผิดปกติ นอกจากนี้ อาจมีอาการเจ็บจี๊ด ๆ ขณะให้นมบุตรร่วมด้วย
  • การใส่อุปกรณ์ปั้มนม การใช้อุปกรณ์เสริมเพื่อปั้มน้ำนม หากใส่ไม่ถูกวิธีจะทำให้เกิดการบาดเจ็บที่หัวนมได้ โดยสาเหตุเกิดจากการเร่งความเร็วในการปั้มนมมากเกินไป ใช้ความแรงมากเกินไป หรือใช้หัวปั้มที่มีขนาดเล็กเกินไปจนทำให้หัวนมแตก
  • ภาวะผิวหนังอักเสบบริเวณหัวนม อาการอักเสบของผิวหนังบริเวณหัวนมอาจทำให้ผิวหนังตกสะเก็ด และเป็นผื่นแดง จนนำไปสู่อาการคันและเจ็บบริเวณหัวนม หากไม่ดูแลรักษาก็จะทำให้หัวนมแตกได้
  • ภาวะลิ้นติดของทารก (Ankyloglossia) เป็นภาวะความผิดปกติภายในช่องปากของทารกที่การเคลื่อนไหวของลิ้นถูกจำกัดเนื่องจากเนื้อเยื่อที่เชื่อมระหว่างลิ้นและพื้นล่างของปากมีขนาดสั้น หรือเกิดขึ้นล้ำมาทางด้านหน้าของปากมากเกินไป ทำให้เมื่อเด็กดูดนมแม่ลิ้นของทารกจะไม่สามารถขยับให้อยู่ในลักษณะที่เหมาะสมได้ และทำให้เกิดเป็นแผลแตกที่หัวนมในที่สุด

หัวนมแตกส่งผลถึงการให้นมบุตรหรือไม่

แม้ว่าอาการหัวนมแตกจะไม่ส่งผลร้ายแรงแต่อาจรบกวนการให้นมบุตรได้ เพราะในบางกรณีที่หัวนมแตกจนมีเลือดไหลนั้น น้ำนมอาจมีเลือดเจือปนด้วย ทำให้ทารกกลืนนมที่มีเลือดเจือปน ทำให้เลือดเจือปนในอุจจาระของเด็ก หรือในนมที่เด็กสำรอกออกมาได้ แต่ก็ไม่เป็นอันตรายต่อเด็ก นอกจากนี้ ทว่าหากอาการรุนแรงมากก็อาจทำให้คุณแม่ให้นมบุตรได้ไม่ต่อเนื่อง ทารกไม่อิ่มเพราะได้รับนมไม่เพียงพอ อาจมีอาการงอแงได้ ดังนั้น คุณแม่อาจต้องใช้การปั้มนมเพื่อป้อนลูกน้อยแทนไปก่อนจนกว่าจะหาย และควรปรึกษาแพทย์หรือพยาบาลผู้เชี่ยวชาญเพื่อรับมือกับปัญหาอื่น ๆ ที่อาจตามมาจะดีที่สุด

เมื่อไรควรไปพบแพทย์  

หากอาการไม่รุนแรงนัก คุณแม่อาจไม่จำเป็นต้องเลิกให้นมบุตรหรือไปพบแพทย์ แต่ในทางกลับกัน หากมีอาการเจ็บที่หัวนมอย่างรุนแรงหรือพยายามบรรเทาอาการด้วยตัวเองเบื้องต้นแล้วยังไม่ดีขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อป้องกันการติดเชื้อที่อาจตามมาในภายหลัง

นอกจากนี้ หากมีอาการอื่น ๆ เช่น มีไข้สูง มีอาการเจ็บบริเวณหน้าอก ผิวหนังบริเวณหน้าอกแดงผิดปกติ เมื่อสัมผัสผิวหนังบริเวณหน้าอกแล้วรู้สึกอุ่น ๆ หรือแข็งผิดปกติ รวมทั้งมีหนองไหลออกมาจากหัวนม หรือบริเวณอื่นของหน้าอก ก็ควรไปพบแพทย์ด้วยเช่นกัน แต่หากมีอาการไข้สูงอย่างต่อเนื่อง รวมกับอาการต่อมน้ำเหลืองที่คอ หรือรักแร้บวม ควรรีบไปพบแพทย์โดยด่วน เพราะนั่นอาจเป็นสัญญาณอันตรายของการติดเชื้อ

หัวนมแตก รักษาอย่างไร  

หัวนมแตกนั้นสามารถรักษาได้ด้วยการ ปรับท่าให้นมและวิธีการอมหัวนมและลานนมให้ถูกต้อง รวมทั้งแก้ไขภาวะเต้านมคัด ในกรณีที่ทารกมีภาวะมีพังผืดใต้ลิ้นควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเพื่อทำการแก้ไขอย่างถูกวิธี

หากหัวนมทั้งเจ็บทั้งแตกจะให้นมลูกได้อย่างไร

คุณแม่ควรเริ่มให้นมข้างที่ไม่แตกหรือเจ็บก่อนเสมอ เพราะเมื่อทารกเริ่มดูดนมจะดูดแรง  ถ้าให้ดูดข้างที่เจ็บก่อน จะยิ่งเป็นแผลมากขึ้น ลองเปลี่ยนท่าอุ้มให้ลูกดูดนม เช่น ท่าอุ้มฟุตบอล  ท่านอน เมื่อเปลี่ยนท่า มุมที่เข้าเต้าจะเปลี่ยนไปทำให้ไม่ดูดทับแผลเก่าที่เป็นอยู่ เมื่อจะถอนนมออกจากปากลูก ต้องทำให้ถูกวิธี คือ เมื่อให้นมเสร็จ ใช้นิ้วมือสอดเข้าที่มุมปากลูก ให้นิ้วอยู่ระหว่างเหงือกของลูก เพื่อลดแรงดูดของลูกลง จากนั้นจึงค่อย ๆ ถอนหัวนมออกมา

หลังจากให้นม บีบน้ำนม 2-3 หยดทาบริเวณหัวนม ทิ้งไว้ให้แห้งก่อนสวมเสื้อชั้นใน เนื่องจากในน้ำนมแม่มีสารต้านการอักเสบ จึงช่วยให้แผลหายเร็ว โดยไม่จำเป็นต้องทาครีมหรือยาอื่น ๆ อาจจะใช้ประทุมแก้วครอบหัวนมชั่วคราว เพื่อป้องกันการระคายเคืองจากการสัมผัสกับเสื้อชั้นใน

อาการหัวนมแตกนั้นในเบื้องต้นสามารถรักษาและบรรเทาอาการได้ด้วยตนเอง โดยคุณแม่ควรเริ่มจากการหลีกเลี่ยงการให้นมบุตรด้วยหน้าอกข้างที่มีอาการก่อน เนื่องจากการให้นมลูกในแต่ละครั้ง เด็กจะดูดนมแรงในช่วงเริ่มต้นซึ่งอาจทำให้เจ็บและเป็นแผลมากขึ้น อีกทั้งเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการติดเชื้อ และช่วยลดอาการเจ็บปวดลง จากนั้นควรปฏิบัติตามวิธีดังต่อไปนี้

  • หากไม่สามารถหลีกเลี่ยงการให้นมบุตรที่หน้าอกข้างที่มีอาการได้ ก่อนให้นมบุตรอาจประคบเย็นเพื่อให้รู้สึกชาและทำให้อาการเจ็บเวลาให้นมบุตรลดลง และหลังจากให้นมบุตรแล้วก็ใช้น้ำนม หรือครีมที่ผลิตจากไขมันขนแกะบริสุทธิ์ (Purified Lanolin) ทาบริเวณหัวนม โดยการทาด้วยน้ำนมหรือครีมชนิดนี้ไม่จำเป็นต้องล้างออกก่อนให้นมลูกเพราะไม่เป็นอันตรายต่อเด็ก และยังช่วยให้หายได้เร็วขึ้นอีกด้วย
  • สังเกตท่าทางในการดูดนมของทารก ควรให้เด็กดูดนมในลักษณะที่ปากของเด็กอมถึงบริเวณขอบลานนม และให้คางของเด็กแนบอยู่กับเต้านมส่วนล่าง ซึ่งจะช่วยให้เด็กสามารถดูดนมได้ดีขึ้นและลดความเจ็บปวดลงได้
  • หลีกเลี่ยงการใช้สบู่ที่มีส่วนผสมของน้ำหอม และไม่ควรเช็ดหรือขัดบริเวณหัวนมแรง ๆ ห้ามใช้โลชั่น แอลกอฮอล์ หรือน้ำหอมใกล้บริเวณหัวนม เพราะอาจทำให้เกิดอาการระคายเคืองได้
  • ในกรณีที่มีแผลเปิดและต้องงดให้นมบุตรชั่วคราว ควรใช้ยาทาชนิดป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียทาหลังจากล้างทำความสะอาด จะช่วยให้หายได้เร็วขึ้น โดยแพทย์อาจแนะนำให้ใช้ยาที่มีวางขายทั่วไปตามร้านขายยา หรือยาตามใบสั่งแพทย์ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ
  • ในรายที่คุณแม่ยังต้องให้นมบุตร แพทย์จะแนะนำให้ใช้ยาที่ผลิตจากไขมันขนแกะบริสุทธิ์ (Purified Lanolin) ทาบริเวณหัวนมทุกครั้งหลังจากให้นมบุตรเสร็จเพื่อช่วยบรรเทาอาการ และป้องกันแผลตกสะเก็ด
  • ในกรณีที่ต้องปิดแผล ควรใช้ที่ปิดแผลที่ออกแบบเพื่อรักษาแผลบริเวณหัวนมโดยเฉพาะ ซึ่งจะช่วยให้อาการเจ็บและแผลหายได้ในระยะเวลาอันสั้น วิธีใช้ ควรทำความสะอาดบริเวณแผลให้สะอาด หลีกเลี่ยงการสัมผัสด้วยมือและรีบปิดแผลเพื่อป้องกันเชื้อเข้าไปในแผล อีกทั้งยังควรเปลี่ยนที่ปิดแผลบ่อย ๆ
  • หากมีอาการปวด สามารถใช้ยาไอบูโพรเฟนหรือยาพาราเซตามอลในการบรรเทาอาการได้ โดยควรรับประทานก่อนให้นมบุตรอย่างน้อย 30 นาที จะช่วยลดอาการปวดและบวมขณะให้นมบุตรได้

หากอาการหัวนมแตกยังไม่ดีขึ้นควรทำอย่างไร  

ในกรณีที่อาการหัวนมแตกยังไม่ทุเลาลง หรือมีอาการเจ็บมาก ๆ คุณแม่อาจหยุดให้นมบุตร หรือปั้มนมชั่วคราวเพื่อให้อาการดีขึ้น นอกจากนี้ ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อหาวิธีที่จะช่วยให้ลูกน้อยสามารถดื่มนมแม่ได้โดยไม่ส่งผลต่ออาการบาดเจ็บ และในระหว่างนี้คุณแม่ควรหลีกเลี่ยงการเสียดสีที่บริเวณหัวนมเพื่อให้แผลค่อย ๆ รักษาตัวเอง อีกทั้งยังอาจปิดบาดแผล เนื่องจากหากปล่อยให้แผลเปิดอาจส่งผลการติดเชื้อ เกิดภาวะแทรกซ้อนเป็นอาการเต้านมอักเสบได้