หลากสาเหตุอาการปวดหัวในเด็ก เรื่องที่พ่อแม่อาจไม่รู้

อาการปวดหัวในเด็กเกิดได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นจากการเจ็บป่วย การบาดเจ็บ หรือพฤติกรรมบางอย่างที่ทำให้เกิดอาการ แม้ว่าอาการปวดหัวจะในเด็กจะพบได้ทั่วไปและมักไม่เป็นอันตราย แต่ก็อาจส่งผลต่อการทำกิจกรรมและอารมณ์ของเด็กได้ ดังนั้น พ่อแม่ ผู้ปกครอง และครูจึงควรหมั่นสังเกตอาการอยู่เสมอ

ลักษณะอาการปวดหัวของเด็กอาจจะต่างจากผู้ใหญ่ แต่ชนิดของอาการปวดหัวพบได้ไม่ต่างกัน โดยส่วนใหญ่มักบรรเทาได้ด้วยการนอนหลับพักผ่อน รับประทานอาหารที่เหมาะสม และลดปัจจัยที่กระตุ้นอาการ  

ปวดหัว

สาเหตุของอาการปวดหัวในเด็ก

วัยเด็กเป็นช่วงวัยที่กำลังเรียนรู้และทำกิจกรรมต่าง ๆ มากมาย แต่บางครั้งปัจจัยบางอย่างหรือสิ่งที่เด็กทำอาจกระตุ้นให้เกิดอาการปวดหัวขึ้นได้ เช่น

  • การเจ็บป่วย

    ปัญหาสุขภาพหรือโรคประจำตัวบางอย่างทำให้เด็กเกิดอาการปวดหัวได้ เช่น โรคหวัด ไข้หวัดใหญ่ โรคภูมิแพ้ โรคไซนัสอักเสบ หรือภาวะซึมเศร้า เป็นต้น

  • การบาดเจ็บ

    การเล่นกีฬาหรือการเล่นซนตามประสาเด็กอาจทำให้เกิดการล้มหรือการบาดเจ็บบริเวณศีรษะ ซึ่งการกระแทกอาจส่งผลให้เกิดอาการปวดหัวตามมาได้

  • อารมณ์ด้านลบ

    แม้จะเป็นเด็ก แต่ก็อาจเกิดความเครียด น้อยใจ กลัว วิตกกังวล หรือเศร้าได้ไม่ต่างจากผู้ใหญ่ ซึ่งความรู้สึกเหล่านี้อาจเกิดจากครอบครัว ครู หรือเพื่อนที่โรงเรียน

  • ความเหนื่อยล้า

    การใช้พลังงานในการทำกิจกรรม การเดินทาง หรือการเรียนในแต่ละวันอาจทำให้ร่างกายเกิดความเหนื่อยล้าและเกิดอาการปวดหัวได้

  • การรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มบางชนิด

    อาหารส่วนใหญ่ที่กระตุ้นอาการนี้มักจะเป็นเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน น้ำอัดลม กาแฟ ของทอด และผงชูรส 

  • การสัมผัสกับสิ่งกระตุ้นมากเกินไป

    สิ่งกระตุ้นบางอย่างอาจทำให้เด็กมีอาการปวดหัว เช่น ดวงตาสัมผัสกับแสงไฟจากหน้าจอเป็นเวลานาน การวิ่งเล่นท่ามกลางแสงแดดและอากาศร้อน การได้ยินเสียงดังมาก ๆ การสูดดมควันจากท่อไอเสีย บุหรี่ และน้ำหอม เป็นต้น

  • การขาดน้ำและอาหาร

    เด็กบางคนอาจจดจ่อกับบางสิ่งบางอย่างมากเกินไป อีกทั้งยังไม่เข้าใจเกี่ยวกับความต้องการของร่างกายและการตอบสนองต่อความรู้สึกของตนเอง เมื่ออยู่ที่โรงเรียนหรืออยู่คนเดียวจึงอาจดื่มน้ำหรือรับประทานอาหารได้ในปริมาณเล็กน้อย บางคนอาจไม่รับประทานอะไรเลย ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดอาการปวดหัวและอาการเจ็บป่วยตามมา

  • พักผ่อนน้อย

    เด็กมักชื่นชอบที่จะเล่นสนุกและไม่เข้าใจเกี่ยวกับการพักผ่อน ด้วยเหตุนี้จึงอาจทำให้เด็ก ๆ นอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ แต่ในบางครั้งพฤติกรรมดังกล่าวก็อาจเกิดจากโรคหรือความรู้สึกด้านลบที่ส่งผลให้นอนไม่หลับ

  • ค่าสายตาเปลี่ยนไปจากเดิม

    เด็กหลายคนอาจเริ่มมีค่าสายตาที่เปลี่ยนไปตั้งแต่เด็ก ทำให้การมองเห็นเปลี่ยนไป ซึ่งการรับรู้ผ่านทางดวงตาที่มองเห็นเปลี่ยนไปอาจทำให้เกิดอาการปวดหัวหรือเวียนหัวได้

  • การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน

    เมื่อเริ่มก้าวสู่ช่วงวัยรุ่น ฮอร์โมนในร่างกายจะเริ่มมีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งระดับของฮอร์โมนที่เพิ่มสูงขึ้นก็อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการปวดหัวได้เช่นกัน โดยเฉพาะในเพศหญิงที่เข้าสู่ช่วงวัยของการมีประจำเดือน

อย่างไรก็ตาม หากลูกน้อยบ่นปวดหัว พ่อแม่ก็ไม่ควรละเลยอาการดังกล่าว เนื่องจากอาการปวดหัวอาจเป็นสัญญาณของโรคร้ายแรงได้เช่นกัน แต่เกิดได้น้อยกว่ามาก อย่างเนื้องอกสมองหรือการได้รับบาดเจ็บบริเวณศีรษะอย่างรุนแรง

วิธีสังเกตอาการปวดหัวในเด็กแต่ละชนิด

เด็กเล็กมักไม่สามารถบอกถึงอาการปวดหัวกับพ่อแม่ได้โดยตรง ดังนั้น จึงควรสังเกตพฤติกรรมของลูกว่ามีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ โดยอาจจะงอแงหรือเซื่องซึมมากกว่าปกติ รวมทั้งสังเกตอาการอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นด้วย โดยชนิดของอาการปวดหัวในเด็กแบ่งได้ ดังนี้

ปวดหัวแบบเทนชัน (Tension Headache)

หากลูกน้อยบอกถึงอาการคล้ายกับมีอะไรมากดหรือบีบบริเวณศีรษะตลอดเวลา โดยอาจจะเป็นด้านหน้า ด้านหลัง หรือทั้งสองด้าน อาจหมายความว่าเด็กกำลังมีอาการปวดหัวชนิดนี้อยู่ เพราะเป็นอาการปวดหัวที่มักทำให้เกิดอาการปวดหน่วง ๆ ตื้อ ๆ ในบริเวณดังกล่าว ซึ่งอาการปวดประเภทนี้จะไม่ค่อยรุนแรงแต่อาจกระทบต่อพฤติกรรมการนอนของเด็ก

ไมเกรน (Migraine)

เมื่อเป็นไมเกรน เด็กอาจอธิบายถึงอาการปวดตุบ ๆ ซึ่งนอกเหนือจากอาการปวดแล้ว ไมเกรนอาจมีอาการอย่างเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง เห็นแสงวูบวาบ เห็นแสงจ้าหรือได้ยินเสียงดังแล้วมีอาการปวดมากขึ้นร่วมด้วย 

ปวดหัวคลัสเตอร์ (Cluster Headache)

อาการชนิดนี้จะทำให้เกิดอาการปวดแปลบ ปวดแสบปวดร้อน ปวดเหมือนมีอะไรแทงบริเวณศีรษะข้างใดข้างหนึ่ง หรืออาจปวดอย่างรุนแรงบริเวณด้านหลังดวงตาหรือกระบอกตาข้างใดข้างหนึ่ง โดยอาจเกิดร่วมกับอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล รู้สึกกระสับกระส่าย ตาบวม อาการปวดอาจเกิดขึ้นวันละหลายครั้งหรือเป็นต่อเนื่องกันหลายวัน แต่อาการปวดหัวคลัสเตอร์อาจพบได้น้อยในเด็กที่อายุกว่า 10 ปี

ในเบื้องต้น อาการปวดหัวในเด็กอาจรักษาได้ดังนี้

1. ให้เด็กนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ โดยควรนอนหลับในห้องที่มืดสนิท ไม่มีเสียงรบกวน อากาศถ่ายเทสะดวกและไม่ร้อนจนเกินไป

2. พยายามให้เด็กรับประทานอาหารให้ครบทุกมื้อและดื่มน้ำให้เพียงพอต่อร่างกายต้องการ

3. หลีกเลี่ยงแสงจ้า เสียงดัง และอากาศร้อนจัด

4. งดดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนหรืองดอาหารที่กระตุ้นให้เกิดอาการดังกล่าว

5. ประคบหน้าผากและดวงตาด้วยผ้าชุบน้ำบิดหมาด

6. หากสงสัยว่าอาการปวดหัวมีสาเหตุจากค่าสายตาที่ผิดปกติ คุณพ่อคุณแม่ควรพาไปตรวจสายตา และให้เด็กสวมแว่นสายตาที่มีค่าสายตาที่เหมาะสม

7. รับประทานยาแก้ปวดสำหรับเด็กในกรณีที่วิธีรักษาข้างต้น แล้วยังไม่ดีขึ้น โดยควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนการใช้

หากลองทำตามวิธีเหล่านี้แล้ว อาการของลูกน้อยยังไม่บรรเทาหรือเป็นติดต่อกันนาน ผู้ปกครองควรพาเด็กไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุ นอกจากนี้ หากพบสัญญาณอันตราย อย่างเป็นไข้ ชัก ซึมลง ไม่รู้ตัว มีอาการรุนแรงอื่น ๆ หรือปวดหัวมากหลังได้รับอุบัติเหตุอย่างรุนแรง ควรพาไปโรงพยาบาลทันที