วิธีแก้ผื่นคันอาการกวนใจ

ผื่นคัน ผื่นแดง ผิวแห้งแตก เป็นปัญหากวนใจที่เกิดได้กับคนทุกวัย ซึ่งวิธีแก้ผื่นคันนั้นทำได้หลากหลายวิธี ตั้งแต่การใช้วัตถุดิบภายในครัวเรือนไปจนถึงการใช้ยาสามัญทั่วไป หากยังไม่รู้จะเริ่มจากตรงไหน ลองศึกษาได้จากบทความนี้กัน

ผื่นคันนั้นเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น การสัมผัสกับสารที่ก่อให้เกิดการระคายเคือง อาการแพ้ การถูกแมลงกัดต่อย หรืออาจเป็นอาการของโรคต่าง ๆ นอกจากการหลีกเลี่ยงสาเหตุที่ทำให้เกิด ผื่นคันที่ไม่มีอาการรุนแรงสามารถบรรเทาอาการได้เองด้วยของที่หาได้ใกล้ตัวอีกด้วย

วิธีแก้ผื่นคัน

4 วิธีแก้ผื่นคันด้วยวัตถุดิบใกล้ตัว

การรักษาอาการผื่นคันสามารถทำได้ง่าย ๆ ด้วยวัตถุดิบที่หาได้ภายบ้าน ดังนี้

  • พอกด้วยว่านหางจระเข้
    ว่านหางจระเข้เป็นพืชสมุนไพรที่ใช้รักษาอาการผื่นคันและปัญหาผิวหนังอย่างแพร่หลาย เนื่องจากสารอาหารและแร่ธาตุในว่านหางจระเข้นั้นมีคุณสมบัติต้านการอักเสบ ฆ่าเชื้อโรค และช่วยปลอบประโลมผิว จึงอาจบรรเทาอาการผื่นแดงคันและเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิวหนังได้

    วิธีการใช้ เริ่มต้นจากการทำความสะอาดผิวหนังบริเวณที่มีผื่นคันและซับให้แห้ง จากนั้นปอกเปลือกส่วนสีเขียวด้านนอกของว่านหางจระเข้ออก เพื่อขูดเอาเมือกที่มีลักษณะคล้ายเจลใส ๆ ออกมา และนำมาพอกบริเวณผิวหนังที่มีอาการคัน โดยให้ทำวันละ 2 ครั้ง จนกระทั่งผื่นหายไป

    นอกจากนี้ ในปัจจุบันยังมีผลิตภัณฑ์เจลว่านหางจระเข้สำเร็จรูปวางจำหน่ายอยู่ทั่วไป ซึ่งเพิ่มความสะดวกในการใช้งานมากขึ้น หากใครต้องการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีสารเคมี อย่างน้ำหอม แอลกอฮอล์ และวัตถุกันเสีย เนื่องจากส่วนประกอบเหล่านี้อาจก่อให้เกิดการระคายเคืองและทำให้ผื่นรุนแรงขึ้นได้
  • ประคบเย็น
    การประคบเย็นเป็นวิธีแก้ผื่นคันที่ง่ายและประหยัดมากที่สุด เพราะใช้เพียงผ้าสะอาดและน้ำแข็ง เริ่มต้นให้ใช้ผ้าสะอาดห่อน้ำแข็งเพื่อประคบบริเวณที่มีผื่นคันประมาณ 10-15 นาที หากไม่มีน้ำแข็งอาจใช้ผ้าชุบน้ำเย็นประคบแทน หรืออาบน้ำที่มีอุณหภูมิต่ำก็อาจบรรเทาอาการปวด บวม อักเสบ และอาการคันของผิวได้เช่นกัน โดยความเย็นจะช่วยชะลอการไหลเวียนของเลือดบริเวณผิวหนังดังกล่าว ซึ่งวิธีนี้สามารถทำซ้ำได้ตามต้องการ แต่ควรหลีกเลี่ยงการวางน้ำแข็งบนผิวหนังโดยตรง เนื่องจากอาจทำให้เกิดความผิดปกติได้ รวมทั้งควรใช้ผ้าที่สะอาด เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ
  • ทาน้ำมันที่สกัดจากพืช
    น้ำมันจากพืชบางชนิดสามารถช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิวได้เป็นอย่างดี อีกทั้งพืชแต่ละชนิดมีสารอาหารและสารต้านอนุมูลอิสระต่างชนิดกันออกไป แต่มักมีคุณสมบัติช่วยลดการอักเสบและเพิ่มความชุ่มชื้นที่คล้ายกัน บางชนิดอาจมีคุณสมบัติในการต้านทานเชื้อโรคด้วย โดยน้ำมันจากพืชที่อาจนำมาใช้แก้อาการผื่นคัน เช่น น้ำมันมะพร้าว น้ำมันมะกอก น้ำมันดอกคำฝอย น้ำมันคาโมมายด์ และโจโจบาออยล์ เป็นต้น

    วิธีการใช้ ขั้นแรกควรทำความสะอาดผิวและซับให้แห้ง จากนั้นทาน้ำมันลงบนผิวได้เลย หรืออาจใช้ผสมกับโลชั่นหรือครีมบำรุงผิว เพื่อใช้ทาผิวหนัง อย่างไรก็ตาม บางคนอาจแพ้น้ำมันหรือสารประกอบในพืชบางชนิด จึงควรทดสอบการแพ้ด้วยการทาน้ำมันบริเวณท้องแขน และทิ้งไว้สักพัก เพื่อสังเกตอาการแพ้
  • แช่น้ำผสมเบกกิ้งโซดา
    เบกกิ้งโซดาหรือโซเดียมไบคาโบเนตจะช่วยปรับสมดุลของกรดและด่างบนผิวหนัง ซึ่งอาจบรรเทาอาการคัน ผื่นแดง และตุ่มแดงจากแมลงกัดต่อยได้ โดยวิธีใช้เบกกิ้งโซดาเพื่อรักษาผื่นคันทำได้ 2 แบบ แบบแรกเป็นการนำเบกกิ้งโซดา 1-2 ถ้วยผสมกับน้ำอุ่น จากนั้นแช่ผิวหนังส่วนที่มีผื่นในน้ำเบกกิ้งโซดา จากนั้นล้างออกเช็ดให้แห้ง และทาสารให้ความชุ่มชื้นหรือมอยส์เจอไรเซอร์ ส่วนวิธีที่สอง ใช้เบกกิ้งโซดาเป็นส่วนประกอบหลัก หยดน้ำเล็กน้อยเพื่อผสมให้มีความหนืด จากนั้นทาบริเวณผิวหนังที่ถูกแมลงกัดหรือมีอาการคัน แม้ว่าเบกกิ้งโซดาอาจช่วยบรรเทาผื่นคันได้ในบางคน แต่ในอีกทางหนึ่งผู้ที่มีผิวบอบบางแพ้ง่ายก็อาจเกิดการระคายเคืองเพิ่มมากขึ้นหลังจากใช้ เนื่องจากภาวะกรดและด่างบนผิวหนังไม่สมดุล 

อย่างไรก็ตาม หากทำตามวิธีข้างต้นแล้วอาการยังไม่ทุเลา อาการรุนแรงขึ้น หรือมีอาการอื่น ๆ เพิ่มเติม ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกต้อง

วิธีรักษาอาการผื่นคันด้วยยา OTC

ยา OTC (Over-The-Counter) คือ ยาที่สามารถซื้อได้ตามร้านขายทั่วไปโดยไม่ต้องมีใบสั่งยาจากแพทย์ ซึ่งการรักษาอาการผื่นแดง อาการคัน หรือแห้งลอก เภสัชกรหรือแพทย์อาจสั่งจ่ายด้วยกัน 2 รูปแบบ ดังนี้

  • ยารับประทาน แพทย์อาจจ่ายยาแก้แพ้หรือยาแอนติฮิสตามีน อย่างยาไดเฟนไฮดรามีน (Diphenhydramine) และยาไฮดรอกไซซีน (Hydroxyzine) ให้กับผู้ป่วย เพื่อบรรเทาอาการคัน
  • ยาทา หากมีอาการคัน แพทย์อาจจ่ายยาทาแก้คันเฉพาะจุดที่มีส่วนประกอบของไฮโดรคอร์ติโซน (Hydrocortisone) หรือแพทย์อาจให้ใช้สารให้ความชุ่มชื้นเพื่อลดความแห้งกร้านของผิวหากมีอาการผิวแห้งลอก ในกรณีที่มีสาเหตุมาจากเชื้อบนผิวหนัง แพทย์อาจให้ทาครีมที่มีส่วนผสมของโคลไตรมาโซล (Clotrimazole) หรือไมโคนาโซล (Miconazole)

อย่างไรก็ตาม ยาเหล่านี้ควรใช้ตามข้อบ่งใช้บนฉลากยา และใช้ตามคำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกร เพื่อลดความเสี่ยงของผลข้างเคียง แต่หากเกิดอาการผิดปกติหลังจากใช้ยา ควรไปขอคำปรึกษาจากแพทย์

แม้ว่าผื่นคันอาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ แต่สิ่งสำคัญที่สามารถลดความเสี่ยงในการเกิดอาการ คือ การหลีกเลี่ยงมลภาวะและสารก่อภูมิแพ้ อย่างความร้อน แสงแดด ฝุ่นควัน และความเครียด รวมทั้งรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะผักผลไม้ที่ช่วยเสริมภูมิต้านทาน และออกกำลังกายอย่างเหมาะสม เพื่อสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง