วัคซีนในผู้สูงอายุ ภูมิต้านทานที่ร่างกายต้องการ

ถ้าพูดถึงวัคซีนในผู้สูงอายุ หลายคนอาจสงสัยว่าผู้สูงอายุยังจำเป็นต้องฉีดวัคซีนอยู่หรือไม่ แต่ที่จริงแล้ว ผู้สูงอายุเป็นวัยที่ควรได้รับวัคซีนเช่นเดียวกันกับวัยเด็ก เนื่องจากประสิทธิภาพในการป้องกันโรคจากวัคซีนที่ฉีดตั้งแต่วัยเยาว์อาจลดลงตามอายุที่มากขึ้น การใช้ชีวิต และปัญหาทางสุขภาพ จึงอาจเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยได้

เราต่างทราบกันดีว่า อายุที่มากขึ้นนั้นสวนทางกับระบบภูมิคุ้มกันร่างกายที่อ่อนแอลงเรื่อย ๆ ผู้สูงอายุ โดยเฉพาะวัย 60 ปีขึ้นไป มักจะมีโอกาสติดเชื้อได้ง่ายหรือติดเชื้ออย่างรุนแรง หรือเกิดภาวะแทรกซ้อนสูง จนอาจต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล ทว่าโรคติดเชื้อบางประการแก้ไขได้ด้วยการฉีดวัคซีน ซึ่งแม้จะไม่สามารถป้องกันการเกิดโรคได้ 100 เปอร์เซ็นต์เต็ม แต่จะช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกายและลดระดับความรุนแรงของโรคได้

วัคซีนในผู้สูงอายุ ภูมิต้านทานที่ร่างกายต้องการ

วัคซีนในผู้สูงอายุที่สำคัญ 

โดยทั่วไปแล้วมีวัคซีนในผู้สูงอายุหลายชนิดที่ควรฉีด ผู้ป่วยจึงควรปรึกษาและขอคำแนะนำต่าง ๆ ที่ควรทราบจากแพทย์ก่อนเสมอ เพื่อเตรียมพร้อมก่อนการฉีดวัคซีนและเพิ่มความปลอดภัยต่อร่างกาย โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัวหรือประวัติทางสุขภาพอื่นใด โดยตัวอย่างของวัคซีนที่ผู้สูงอายุควรได้รับจะมีดังนี้ 

วัคซีนไข้หวัดใหญ่

ไข้หวัดใหญ่เป็นการติดเชื้อไวรัสตามฤดูกาลที่ก่อให้เกิดอาการระดับปานกลางไปจนถึงรุนแรงภายในไม่กี่วันหลังได้รับเชื้อ เช่น คัดจมูก น้ำมูกไหล ไอ เจ็บคอ มีไข้ ปวดตามร่างกาย อ่อนเพลีย สั่น ปวดศีรษะ หรือไม่สบายหน้าอก ซึ่งจะต่างจากไข้หวัดธรรมดาที่จะปรากฏอาการอย่างช้า ๆ โดยผู้ป่วยสูงอายุอาจเสี่ยงมีอาการแย่ลงและเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงอย่างหลอดลมอักเสบและปอดอักเสบ และอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที 

ดังนั้นการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ให้กับผู้สูงอายุเป็นประจำทุกปี ปีละ 1 ครั้ง จึงเป็นแนวทางป้องกันไข้หวัดใหญ่อย่างต่อเนื่องที่จำเป็นอย่างมาก ซึ่งนอกจากช่วยบรรเทาอาการจากไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ต่าง ๆ แล้ว ยังช่วยลดการแพร่กระจายเชื้อไปสู่ผู้อื่นด้วย

วัคซีนปอดอักเสบ

การติดเชื้อแบคทีเรียสเตรปโตคอคคัสนิวโมเนีย (Streptococcus Pneumoniae) เป็นสาเหตุหนึ่งของการติดเชื้อที่ในผู้สูงอายุ อาทิ ปอดอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ และการติดเชื้อในกระแสเลือด ซึ่งอาจรุนแรงถึงขั้นสมองถูกทำลายหรือเสียชีวิตได้โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีความเสี่ยงสูงกว่าช่วงวัยอื่น 

สำหรับวัคซีนป้องกันโรคนี้ในปัจจุบันจะมีด้วยกัน 2 ชนิด ได้แก่ วัคซีนปอดอักเสบชนิด 13 สายพันธุ์ (PCV13) และชนิด 23 สายพันธุ์ (PPSV23) ซึ่งการเลือกใช้จะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ เช่น กรณีที่ไม่เคยรับวัคซีนมาก่อนจะเริ่มฉีดเข็มแรกด้วยชนิด PVC13 หลังจากนั้น 1 ปี จึงค่อยฉีดเข็มถัดไปด้วยชนิด PPSV23 เป็นต้น ทั้งนี้หากมีอาการป่วยที่รุนแรงอย่างมีไข้สูงหรือตัวร้อนควรรอให้หายดีก่อนแล้วค่อยเข้ารับการฉีดวัคซีน เพราะอาจส่งผลเสียต่อร่างกายได้

วัคซีนงูสวัด

โรคงูสวัดนั้นเกิดจากเชื้อไวรัสวีซีวี (Varicella Zoster Virus: VZV) ซึ่งเป็นเชื้อตัวเดียวกันกับที่ก่อให้เกิดโรคอีสุกอีใส ผู้ป่วยอาจมีอาการ เช่น ปวดแสบปวดร้อนหรือชาบริเวณผิวหนัง สัมผัสแล้วจะรู้สึกเจ็บ หลังจากนั้นไม่กี่วันจะมีผื่นสีแดงขึ้นในบริเวณที่ปวด และเกิดตุ่มน้ำที่อาจจะแตกและตกสะเก็ดได้ 

โรคนี้มักพบได้ในผู้ป่วยที่เคยเป็นโรคอีสุกอีใสมาก่อน โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป มีปัญหาสุขภาพ หรืออยู่ในกระบวนการรักษาโรคบางประการ การฉีดวัคซีนงูสวัดถือได้ว่าปลอดภัยกับต่อร่างกาย ซึ่งแพทย์อาจพิจารณาให้ฉีดวัคซีนชนิดเข็มเดียว หรือเลือกใช้อีกชนิดที่จะฉีดทั้งหมด 2 เข็มก็ได้

วัคซีนบาดทะยัก-คอตีบ-ไอกรน

บาดทะยัก คอตีบ และไอกรนเป็นโรคการติดเชื้อแบคทีเรียที่ระบาดได้มากในหมู่ผู้สูงอายุปัจจุบัน ซึ่งแต่ละโรคล้วนส่งผลกระทบต่อร่างกายและอาจเป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้ทั้งสิ้น โดยแต่ละโรคจะมีรายละเอียดดังนี้

  • โรคบาดทะยักจะเกิดขึ้นเมื่อเชื้อโรคเข้าสู่บาดแผลตามร่างกาย แล้วไปทำลายระบบประสาทและสมองจนเกิดอาการเกร็งหรือขากรรไกรแข็ง 
  • โรคคอตีบจะส่งผลต่อการหายใจ ผู้ที่มีอาการรุนแรงอาจเสี่ยงมีปัญหาหัวใจหรือสมองถูกทำลาย 
  • โรคไอกรนเป็นการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดปัญหาในการหายใจและไออย่างรุนแรง อีกทั้งยังเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนด้วย

โดยแนวทางการฉีดวัคซีนป้องกันโรคเหล่านี้สำหรับผู้สูงอายุคือ เริ่มการฉีดด้วยวัคซีนรวมบาดทะยัก-คอตีบ-ไอกรน (Tdap) 1 เข็ม จากนั้นให้ฉีดวัคซีนบาดทะยัก-คอตีบ (Td) ทุก ๆ 10 ปี เพื่อกระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันร่างกาย

นอกเหนือจากวัคซีนที่ได้กล่าวมาข้างต้น ผู้สูงอายุที่มีปัญหาสุขภาพบางประการ เช่น ปัญหานอนไม่หลับ โรคเบาหวาน โรคหัวใจ การติดเชื้อเอชไอวี (HIV) โรคตับ หรือมีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแออาจต้องฉีดวัคซีนชนิดอื่น ๆ เพิ่มเติมด้วย โดยผู้ป่วยสามารถปรึกษาแพทย์ เพื่อวางแผนการฉีดวัคซีนที่เหมาะสมได้โดยตรง

ทั้งนี้การฉีดวัคซีนในผู้สูงอายุอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงเล็กน้อยอย่างเจ็บบริเวณที่ฉีดยาหรือมีไข้ต่ำ ๆ แต่มักหายไปได้เองภายในไม่กี่วัน หากพบความผิดปกติอื่นใดหลังการฉีดวัคซีนควรแจ้งให้แพทย์หรือพยาบาลทราบทันที เพื่อรับการดูแลรักษาเพิ่มเติมโดยเร็ว 

อย่างไรก็ตาม วิธีการป้องกันโรคติดเชื้อต่าง ๆ ไม่จำกัดเฉพาะการฉีดวัคซีนเท่านั้น แต่ผู้ป่วยอาจเริ่มต้นด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเอง เช่น ดูแลให้ความอบอุ่นร่างกายอยู่เสมอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ หมั่นล้างมือด้วยน้ำและสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ สวมหน้ากากอนามัยเมื่อออกไปนอกบ้าน หรือหลีกเลี่ยงสถานที่แออัด เพียงเท่านี้ก็อาจช่วยลดความเสี่ยงของติดเชื้อ ห่างไกลการเจ็บป่วยได้แล้ว