รู้ทันโลหิตจาง ภัยจากการขาดธาตุเหล็ก

การขาดธาตุเหล็กเป็นสาเหตุของโรคโลหิตจางที่พบได้บ่อย ผู้ป่วยอาจมีอาการเพียงเล็กน้อย เช่น หน้ามืด มึนหัว รู้สึกเหนื่อยง่ายกว่าปกติ หรือไม่มีอาการใด ๆ หลายคนจึงอาจมองข้ามสัญญาณเตือนเหล่านี้ไป ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพนัก เพราะโรคโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กที่ไม่ได้รักษา อาจมีอาการรุนแรงตามมาได้

โลหิตจาง

ความสำคัญของธาตุเหล็กกับโรคโลหิตจาง

ธาตุเหล็กเป็นแร่ธาตุที่มีบทบาทสำคัญต่อร่างกายหลายอย่าง เป็นทั้งส่วนประกอบของเม็ดเลือดแดง โปรตีน และเอนไซม์หลายชนิดที่ช่วยในการทำงานของเซลล์ การย่อยอาหาร การลำเลียงออกซิเจน ทั้งยังช่วยสะสมออกซิเจนไว้ในกล้ามเนื้อเพื่อใช้ยามฉุกเฉิน เมื่อระดับธาตุเหล็กลดต่ำลงกว่าปกติจึงส่งผลกระทบต่อระบบการทำงานในร่างกายตามมา

นอกจากนี้ การมีธาตุเหล็กไม่เพียงพออาจทำให้ร่างกายสร้างเม็ดเลือดได้น้อยและเป็นโรคโลหิตจางได้ง่าย ทั้งนี้ โรคโลหิตจางเกิดได้จากหลายสาเหตุ อาจเกิดจากการเสียเลือดมาก การรับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กน้อย หรือร่างกายไม่อาจดูดซึมแร่ธาตุชนิดนี้จากอาหาร การรับประทานอาหารที่อุดมด้วยธาตุเหล็กเป็นประจำ จึงอาจช่วยป้องกันโรคโลหิตจางได้

อย่างไรก็ตาม โรคโลหิตจางไม่อาจรักษาหรือป้องกันได้ด้วยการรับประทานธาตุเหล็กเสมอไป เช่น โรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย เป็นโรคโลหิตจางที่เกิดจากความผิดปกติในการสร้างฮีโมโกลบิน ผู้ที่คิดว่าตนเองอาจมีอาการขาดธาตุเหล็กจึงไม่ควรซื้อยาหรืออาหารเสริมธาตุเหล็กมารับประทานเอง แต่ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุที่แน่ชัด เพราะหากร่างกายได้รับธาตุเหล็กมากเกินไปจะเป็นอันตรายต่อตับและก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนตามมา

ปริมาณธาตุเหล็กที่ร่างกายต้องการ

ร่างกายของคนเราได้รับธาตุเหล็กจากการรับประทานอาหารหรืออาหารเสริม ซึ่งปริมาณที่แนะนำให้บริโภคต่อวันขึ้นอยู่กับอายุ เพศ และปัจจัยด้านสุขภาพของแต่ละคนดังนี้

เด็ก

  • แรกเกิด-อายุ 5 เดือน ควรได้รับธาตุเหล็กจากน้ำนมแม่เป็นหลัก
  • อายุ 6-11 เดือน ควรได้รับธาตุเหล็กประมาณ 9 มิลลิกรัมต่อวัน
  • อายุ 1-8 ปี ควรได้รับธาตุเหล็กประมาณ 5-8 มิลลิกรัมต่อวัน

ผู้หญิง

  • อายุ 9-12 ปี ควรได้รับธาตุเหล็กประมาณ 19 มิลลิกรัมต่อวัน
  • อายุ 13-50 ปี ควรได้รับธาตุเหล็กประมาณ 24-28 มิลลิกรัมต่อวัน
  • อายุ 51 ปีขึ้นไป ควรได้รับธาตุเหล็กประมาณ 9 มิลลิกรัมต่อวัน
  • หญิงตั้งครรภ์ควรได้รับธาตุเหล็กเสริม 60 มิลลิกรัมต่อวัน
  • คุณแม่ที่อยู่ในช่วงให้นมบุตร ควรได้รับธาตุเหล็กจากอาหารประมาณ 15 มิลลิกรัมต่อวัน

ผู้ชาย

  • อายุ 9-18 ปี ควรได้รับธาตุเหล็กประมาณ 11-16 มิลลิกรัมต่อวัน
  • อายุ 19 ปีขึ้นไป ควรได้รับธาตุเหล็กประมาณ 10 มิลลิกรัมต่อวัน

กลุ่มเสี่ยงต่อการขาดธาตุเหล็ก

บุคคลบางกลุ่มมีแนวโน้มเป็นโรคโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กมากกว่าคนปกติ โดยมีปัจจัยด้านการเลือกรับประทานอาหาร เพศ วัย และอื่น ๆ ซึ่งกลุ่มได้กล่าว ได้แก่

ทารกและเด็กเล็ก เพราะเป็นวัยที่ร่างกายเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ธาตุเหล็กจึงมีบทบาทต่อพัฒนาการด้านต่าง ๆ การดูแลทารกให้ได้รับธาตุเหล็กอย่างเพียงพอในช่วงปีแรกนั้นถือเป็นสิ่งสำคัญ โดยปกติทารกจะได้รับจากนมแม่ในปริมาณที่เหมาะสมอยู่แล้ว ในทารกบางรายที่ดื่มนมผง คุณแม่ควรเลือกสูตรเสริมธาตุเหล็ก แต่ไม่ควรให้ทารกรับประทานธาตุเหล็กเสริมในรูปแบบอื่น ๆ ยกเว้นได้รับคำแนะนำจากแพทย์ เพราะเป็นอันตรายต่อตัวเด็ก เมื่อทารกอายุได้ 6 เดือน และเริ่มรับประทานอาหารได้แล้ว คุณพ่อคุณแม่ควรเพิ่มอาหารสำหรับเด็กอ่อนที่มีธาตุเหล็ก โดยขอคำแนะนำเกี่ยวกับการเลือกอาหารที่เหมาะสมจากแพทย์ผู้ดูแล เพื่อช่วยป้องกันโรคโลหิตจางที่อาจส่งผลต่อพัฒนาการของลูกน้อยในอนาคต

หญิงตั้งครรภ์ จำเป็นต้องได้รับธาตุเหล็กมากกว่าปกติ เนื่องจากปริมาณเลือดในร่างกายเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิมเกือบครึ่งหนึ่ง การขาดธาตุเหล็กจะกระทบต่อพัฒนาการด้านต่าง ๆ ของทารกและตัวคุณแม่เอง โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสที่ 2 และ 3 ของการตั้งครรภ์ นอกจากนี้ หากมีภาวะขาดธาตุเหล็กอยู่ก่อนแล้วจะเสี่ยงเกิดโรคโลหิตจางได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งอาจทำให้ทารกคลอดก่อนกำหนดหรือมีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ หญิงตั้งครรภ์จึงควรได้รับธาตุเหล็กเสริมในรูปของยาหรืออาหารเสริมตามคำแนะนำของแพทย์

ผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ เป็นวัยที่ร่างกายสูญเสียธาตุเหล็กจากการมีประจำเดือน และยิ่งเสี่ยงมากขึ้นหากเป็นโรคเรื้อรังหรือมีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์

กลุ่มบุคคลอื่น ๆ ได้แก่ ผู้ที่มีเหตุให้ต้องเสียเลือดมาก เช่น การบริจาคเลือด การปลูกถ่ายไตหรือฟอกไต การรับประทานยาบางชนิดที่อาจทำให้เกิดแผลหรือเลือดออกในระบบย่อยอาหาร ผู้ป่วยโรคมะเร็งลำไส้ เป็นต้น รวมทั้งผู้ที่เคยผ่าตัดกระเพาะอาหาร เพราะอาจมีผลข้างเคียงทำให้ร่างกายดูดซึมธาตุเหล็กได้น้อยลง

ลดความเสี่ยงโรคโลหิตจางด้วยอาหารธาตุเหล็กสูง

การเลือกรับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กสูงมีส่วนสำคัญในการช่วยป้องกันโรคโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก เนื่องจากร่างกายสร้างแร่ธาตุชนิดนี้ขึ้นเองไม่ได้ จำเป็นต้องได้รับจากอาหารเป็นหลัก โดยเฉพาะธาตุเหล็กชนิดที่มาจากสัตว์ ซึ่งร่างกายดูดซึมได้ดีกว่าชนิดที่มาจากพืช

ตัวอย่างอาหารที่อุดมไปด้วยธาตุเหล็ก เช่น

  • เนื้อสัตว์ (เนื้อหมู เนื้อวัว สัตว์ปีก หรือเนื้อสัตว์ชนิดอื่น)
  • เครื่องใน
  • อาหารทะเล เช่น หอยแครง ปลาซาร์ดีน แซลมอน ทูน่า กุ้ง หอยนางรม
  • ถั่วเมล็ดแห้ง
  • ผักใบเขียว เช่น ผักโขม ผักปวยเล้ง ผักกูด เป็นต้น
  • ไข่แดง
  • ผลไม้แห้ง เช่น ลูกเกด แอปริคอท เป็นต้น
  • อาหารเช้าซีเรียลหรือขนมปังที่ระบุบนฉลากว่าเสริมธาตุเหล็ก
  • ข้าวกล้อง

นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่ขัดขวางการดูดซึมธาตุเหล็กในมื้ออาหาร เช่น นม ชา กาแฟ หรือผลิตภัณฑ์อื่นที่มีแคลเซียมสูง และเพิ่มการรับประทานอาหารที่มีวิตามินซีควบคู่ไปด้วย ซึ่งมักพบได้ในผักและผลไม้ เช่น ส้ม มะนาว กีวี บร็อคโคลี่ สตรอว์เบอร์รี่ มะเขือเทศ มะละกอ ฝรั่ง พริกหยวก กะหล่ำดอก เป็นต้น เพื่อช่วยให้ร่างกายดูดซึมธาตุเหล็กได้ดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ได้รับธาตุเหล็กจากอาหารไม่เพียงพออาจรับประทานอาหารเสริมธาตุเหล็กหรือยาทดแทน ซึ่งค่อนข้างมีความปลอดภัยต่อร่างกายและมักไม่ก่อให้เกิดอันตรายร้ายแรงเมื่อรับประทานอย่างเหมาะสมในปริมาณที่แพทย์แนะนำ