ภาวะซึมเศร้า ปัญหาสุขภาพจิตจากการทำงาน

งานทุกงานล้วนก่อให้เกิดความเครียดได้ โดยความเครียดที่สะสมเรื่อย ๆ นั้นอาจทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าจนนำไปสู่การป่วยเป็นโรคซึมเศร้าได้ ดังนั้น ผู้ที่อยู่ในวัยทำงานจึงควรศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับภาวะซึมเศร้าจากที่ทำงานและสังเกตอาการตนเอง เพื่อจะได้รับมือและบรรเทาปัญหาอย่างเหมาะสมต่อไป

โรคซึมเศร้า (2)

ภาวะซึมเศร้า กับความเครียดสั่งสมในที่ทำงาน

ชีวิตในวัยทำงานล้วนมีเรื่องราวหรือเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดความเครียด ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสารที่ผิดพลาดในองค์กร ความขัดแย้งระหว่างเจ้านายกับลูกน้อง หรือเพื่อนร่วมงาน ซึ่งปัญหาเหล่านี้ล้วนส่งผลให้รู้สึกหงุดหงิด รำคาญใจ และอาจกระทบต่อการทำงานได้ โดยผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตและด้านการบริหารทรัพยากรบุคคลบางส่วนเชื่อว่าการทำงานอาจเป็นสาเหตุของภาวะซึมเศร้าได้ แต่ผู้เชี่ยวชาญบางรายก็ให้ความเห็นว่า ภาวะซึมเศร้าจากที่ทำงานนั้นมีสาเหตุมาจากปัญหาเฉพาะบุคคล ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการทำงานโดยตรงแต่อย่างใด

สาเหตุของภาวะซึมเศร้าจากการทำงาน

ปัจจัยและเหตุการณ์ต่อไปนี้ อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าในที่ทำงานได้

  • มีแนวคิดไม่ตรงกับบริษัท แต่ฝืนทำงานต่อไปแม้จะไม่ชื่นชอบหลักการทำงานขององค์กร
  • ทำงานไม่ตรงกับความรู้ความสามารถที่มี ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดภาวะเครียดและความกดดันได้ เช่น มีความสามารถหรือเรียนจบด้านศิลปะแต่ต้องทำงานที่เกี่ยวข้องกับการใช้ตัวเลข เป็นต้น
  • ขาดสมดุลในการใช้ชีวิตและการทำงาน ทำงานหลายชั่วโมงติดต่อกันโดยไม่ได้หยุดพักเพื่อทำกิจกรรมผ่อนคลายอื่น ๆ เช่น สังสรรค์กับเพื่อน ทำงานอดิเรกที่ตนเองชอบ หรือออกกำลังกาย เป็นต้น
  • ได้รับคำแนะนำในการทำงานที่ไม่ชัดเจน และไม่รู้ว่าเจ้านายหรือบริษัทคาดหวังอะไร ซึ่งอาจทำให้รู้สึกไม่มั่นใจว่างานที่ทำอยู่นั้นมีประสิทธิภาพมากพอหรือไม่
  • ได้รับมอบหมายให้ทำงานมากเกินไป หรือมีงานมากจนต้องทำงานล่วงเวลาบ่อย ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเวลาที่ควรใช้พักผ่อน
  • โดนกลั่นแกล้งจากหัวหน้างาน เพื่อนร่วมงาน หรือลูกค้า
  • มีความไม่สบายใจส่วนบุคคล ต้องติดต่อประสานงานกับเพื่อนร่วมงานหรือบุคคลที่ไม่เป็นมิตร หรือบุคคลที่มีทัศนคติ ลักษณะนิสัย และการทำงานที่แตกต่างกัน
  • เป็นคนโลกส่วนตัวสูง ผู้ที่มีนิสัยชอบเก็บตัวอาจรู้สึกอึดอัดหากทำงานในห้องที่พนักงานทุกคนหรือทุกแผนกต้องนั่งทำงานในห้องเดียวกัน
  • เป็นคนชอบเข้าสังคม ผู้ที่ชื่นชอบการเข้าสังคมอาจรู้สึกไม่สะดวกสบายเมื่อต้องทำงานในสภาพแวดล้อมที่พนักงานไม่ค่อยมีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน
  • ค่าตอบแทนหรือผลประโยชน์ที่ได้รับไม่เพียงพอกับความต้องการขั้นพื้นฐาน
  • อยู่ในภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก แม้ว่ารู้สึกอยากออกจากงาน แต่ด้วยภาระต่าง ๆ หรือเหตุผลบางประการก็ทำให้ไม่สามารถลาออกจากงานได้
  • แผนการทำงานไม่ดี มีการสื่อสารผิดพลาด ส่งงานล่าช้ากว่ากำหนด หรือทำงานเกินงบประมาณที่ตั้งไว้ ซึ่งอาจเป็นผลให้งานไม่ประสบความสำเร็จตามที่คาดหวัง
  • ไม่มีกำลังใจในการทำงาน ผู้นำองค์กรโยนความผิดให้แก่พนักงาน จำกัดงบประมาณการขึ้นเงินเดือน หรือมีการให้รางวัลแก่ผู้ที่ทำงานอย่างไม่มีประสิทธิภาพ ซึ่งอาจทำให้พนักงานรู้สึกหมดกำลังใจในการทำงานได้
  • สภาพแวดล้อมในที่ทำงานไม่ดี ฝ่ายจัดการละเลยการปรับปรุงสภาพแวดล้อมในองค์กรที่อาจมีผลต่อพนักงานได้ เช่น ช่วงเวลาพักของพนักงานน้อยเกินไป การเพิกเฉยต่อความปลอดภัยในองค์กร และไม่ปรับอุณหภูมิในห้องทำงานให้อยู่ในระดับที่พนักงานสามารถทำงานได้โดยไม่รู้สึกอึดอัด เป็นต้น

สัญญาณเตือนที่บ่งบอกถึงภาวะซึมเศร้าจากการทำงาน

คนทำงานควรสำรวจตนเองอยู่เสมอว่ามีอาการของภาวะซึมเศร้าที่อาจเกิดจากการทำงานหรือไม่ หากพบว่าตนเองเข้าข่ายมีภาวะซึมเศร้า ควรปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตเพื่อช่วยให้มีสุขภาพจิตที่ดีขึ้น และควรไปพบแพทย์หรือจิตแพทย์เพื่อขอคำแนะนำหากอาการยังไม่ดีขึ้น

อาการที่อาจเป็นสัญญาณของภาวะซึมเศร้าจากการทำงาน ได้แก่

  • ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง
  • ทักษะการแก้ไขปัญหาลดลง
  • ทำงานแบบผัดวันประกันพรุ่ง
  • ยอมแพ้ต่อชีวิต ไม่ต่อสู้ดิ้นรน ไม่พยายามเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ให้ดีขึ้น
  • เก็บตัว ไม่เข้าสังคม
  • เชื่องช้าลง
  • รู้สึกผิดหวัง สะเทือนใจง่าย
  • ไม่มีความภูมิใจหรือเห็นคุณค่าในตัวเองต่ำ

เมื่อไรควรไปพบแพทย์ ?

หากพบอาการของโรคซึมเศร้า เช่น รู้สึกเศร้า สิ้นหวัง ไม่แจ่มใส รู้สึกว่าตนเองไร้ค่า วิตกกังวล และนอนไม่หลับ ควรไปพบแพทย์เพื่อรับคำแนะนำในการวางแผนรักษาต่อไป

นอกจากนั้น หากเผชิญภาวะซึมเศร้าจนพบว่าตนเองคิดวางแผนฆ่าตัวตาย พยายามฆ่าตัวตาย คิดหรือทำร้ายตนเองและผู้อื่น รวมทั้งหาทางออกให้กับปัญหาไม่ได้ ควรรีบโทรศัพท์ไปยังสายด่วนสุขภาพจิตที่เบอร์ 1323 เพื่อปรึกษาปัญหาความผิดปกติทางอารมณ์ หรือไปพบผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพและจิตแพทย์ทันที โดยเฉพาะเมื่อพบว่าตนเองมีอาการหูแว่ว คิดฆ่าตัวตายบ่อยครั้ง หรือสงสัยว่าตนเองป่วยเป็นโรคซึมเศร้า

การดูแลสุขภาพกายใจให้พ้นจากภาวะซึมเศร้าด้วยตนเอง

แนวทางต่าง ๆ ต่อไปนี้ อาจช่วยฟื้นฟูสภาพจิตใจและร่างกายจากปัญหาภาวะซึมเศร้าจากการทำงานได้

  • ออกกำลังกาย การออกกำลังกายด้วยการเดิน การวิ่ง หรือการทำกิจกรรมอื่น ๆ ช่วยกระตุ้นให้ร่างกายหลั่งสารเอนดอร์ฟิน (Endorphins) ซึ่งเป็นฮอร์โมนแห่งความสุข และอาจส่งผลดีต่อผู้ที่มีอาการซึมเศร้าในระยะยาว
  • นอนหลับในระยะเวลาที่เหมาะสม
  • ฝึกเป็นคนคิดบวก ผู้ที่มีอาการซึมเศร้ามักมีความคิดด้านลบตลอดเวลา ดังนั้น ควรปรับชีวิตให้คิดในแง่ดีเมื่อรู้สึกแย่กับตนเอง ทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้นว่าตนไม่ดีจริงหรือ หรือมีข้อผิดพลาดตรงไหนที่แก้ไขได้ และแม้ว่าการฝึกเป็นคนคิดบวกอาจต้องใช้เวลา แต่การปรับชีวิตให้คิดแต่สิ่งที่ดีจะช่วยขจัดความคิดในแง่ลบหรือการมองโลกในแง่ร้ายออกไปได้ในที่สุด
  • สร้างกิจวัตรประจำวัน อารมณ์เครียดหรือซึมเศร้าอาจทำให้การทำงานและการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันแย่ลง ซึ่งการกำหนดกิจวัตรในแต่ละวันจะช่วยให้มีสติและพัฒนาอารมณ์ให้ดีขึ้นได้
  • กำหนดเป้าหมาย ผู้ที่อยู่ในภาวะซึมเศร้ามักรู้สึกท้อแท้กับชีวิตและรู้สึกแย่ต่อตัวเอง ดังนั้น การกำหนดเป้าหมายเชิงบวกในแต่ละวันจะช่วยให้รู้สึกดีขึ้นเมื่อทำตามเป้าหมายจนสำเร็จลุล่วง
  • พัฒนาความรับผิดชอบ ภาวะซึมเศร้าอาจทำให้ความรับผิดชอบต่อการทำงานและภาระหน้าที่ต่าง ๆ ลดลงได้ การฝึกตนเองให้เป็นคนมีความรับผิดชอบจึงจะช่วยเสริมสร้างรูปแบบการดำเนินชีวิตที่ดีและอาจช่วยป้องกันการเกิดภาวะซึมเศร้าในอนาคตได้ เนื่องจากการรับผิดชอบหน้าที่ต่าง ๆ จะช่วยให้รู้สึกดีเมื่อทำงานต่าง ๆ บรรลุผลสำเร็จ
  • ทำอะไรใหม่ ๆ หลายคนมักจะรู้สึกหดหู่และอ่อนไหวง่ายเมื่ออยู่ในภาวะซึมเศร้า จึงควรออกไปหากิจกรรมใหม่ ๆ ทำเพื่อเปิดหูเปิดตา เช่น ไปเยี่ยมชมสถานที่ใหม่ ๆ หรือเรียนรู้ภาษาใหม่ ๆ เพื่อดึงความสนใจจากอารมณ์ด้านลบไม่ให้มีอาการแย่ลง
  • สร้างปฏิสัมพันธ์และออกไปพบปะผู้คน กำลังใจที่ดีจากเพื่อนร่วมงาน เพื่อน และครอบครัวทำให้รู้สึกดีและสบายใจขึ้น นอกจากนี้ การทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกับเพื่อนยังช่วยทำให้รู้สึกผ่อนคลายจากความเครียดได้ด้วย
  • ช่วยเหลือผู้อื่น การเป็นอาสาสมัครหรือทำกิจกรรมเพื่อช่วยเหลือสังคมอาจช่วยฟื้นฟูสภาพอารมณ์ให้กลับมาเป็นปกติได้ โดยช่วยให้เห็นคุณค่าในตนเองจากการช่วยเหลือผู้อื่น แต่หากไม่มีเวลามากพออาจช่วยเหลือผู้คนด้วยวิธีอื่น ๆ เช่น ช่วยเด็กข้ามถนน เอื้อเฟื้อต่อคนพิการและคนชรา ช่วยเหลือเพื่อนร่วมงานตามเหมาะสม  เป็นต้น
  • ยอมรับในสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ สถานการณ์หรือเหตุการณ์บางอย่างอาจเป็นเรื่องที่เปลี่ยนแปลงได้ยาก ดังนั้น ควรทำความเข้าใจและยอมรับในสิ่งที่เป็น โดยจดจ่ออยู่กับสิ่งที่สามารถแก้ไขได้แทน
  • ปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ หากเกิดปัญหาทางอารมณ์ที่ไม่สามารถควบคุมได้ มีความทุกข์หรือมีข้อสงสัยใด ๆ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาแนวทางรักษาอาการอย่างเหมาะสมต่อไป นอกจากนี้ แม้มีหลักฐานว่าอาหารเสริมบางชนิดช่วยต้านภาวะซึมเศร้าได้ เช่น น้ำมันตับปลา และกรดโฟลิค แต่ควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทานอาหารเสริมใด ๆ เพื่อรักษาภาวะซึมเศร้า เนื่องจากในปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานการทดลองที่ชัดเจนเพียงพอในด้านนี้ และด้วยความแตกต่างทางสุขภาพของแต่ละบุคคล สารบางอย่างจึงอาจเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคได้แม้รับประทานในปริมาณปกติก็ตาม