ผิวแพ้ง่ายสาเหตุและเคล็ดลับการรักษา

ผิวแพ้ง่าย คือสภาวะที่ผิวไวต่อสิ่งรบกวนภายนอก โดยเฉพาะสารเคมีและสภาพอากาศ ทำให้เกิดผื่นแดง ตุ่มนูน รู้สึกคัน แสบ หรือมีผิวลอกได้ การทำความเข้าใจถึงสาเหตุและปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดการระคายเคือง ตลอดจนวิธีดูแลและเลือกใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวที่เหมาะสม อาจช่วยเร่งฟื้นฟูให้ผิวกลับมามีสุขภาพดี ผิวแข็งแรงเหมือนเดิมได้

ผิวแพ้ง่าย

สัญญาณของผิวแพ้ง่าย

หลายคนที่ใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวหน้าบางชนิดแล้วเกิดอาการระคายเคืองมักเข้าใจว่าตนเองมีผิวแพ้ง่าย แต่ในความเป็นจริงอาจเกิดจากการแพ้ส่วนประกอบตัวใดตัวหนึ่งเพียงตัวในผลิตภัณฑ์นั้น ๆ รวมถึงการใช้ผลิตภัณฑ์ในปริมาณที่มากเกินไปก็อาจทำให้เกิดการระคายเคืองได้ โดยวิธีสังเกตว่าตนเองมีผิวแพ้ง่ายหรือไม่ ทำได้ดังนี้

  • ผิวแดงง่าย อาการนี้มักเกิดขึ้นทันทีหลังสัมผัสสิ่งกระตุ้น เช่น การใช้โฟมล้างหน้า หรือการปะทะลมแรง แม้ดูเหมือนเป็นเรื่องปกติ แต่อาจเป็นอาการของผิวแพ้ง่ายจากผื่นผิวหนังอักเสบชนิดโรซาเซีย (Rosacea) ซึ่งเป็นภาวะที่หลอดเลือดฝอยบริเวณใบหน้าแตก ร่วมกับมีตุ่มเล็ก ๆ ขึ้นตามคาง แก้ม และจมูก
  • ผิวหลุดลอกเป็นขุย อาการนี้มักเกิดกับผิวที่ขาดความชุ่มชื้น ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสารเร่งการผลัดเซลล์ผิว เช่น กรดไกลโคลิก เรตินอยด์ AHA หรือ BHA ในปริมาณมากเป็นเวลานาน
  • แสบผิว ผิวพุพองง่าย ผู้ที่มีผิวแพ้ง่ายนั้นมีเกราะป้องกันผิวที่อ่อนแอและบอบบางกว่าคนทั่วไป อาจทำให้ผิวไวต่อส่วนประกอบ ซึ่งอาจเกิดการระคายเคืองตามมาหลังใช้การผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น เครื่องสำอาง สารทำความสะอาด ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว เป็นต้น
  • อาการคันจากผิวแห้ง ผิวที่บอบบางไม่เพียงแต่ทำให้ง่ายต่อการระคายเคืองแล้ว แต่ยังอาจส่งผลให้ผิวกักเก็บความชุ่มชื้นได้น้อยลง ทำให้ผิวแห้งกร้านและอาการคันผิวหนังตามมา

สาเหตุของผิวแพ้ง่าย
ผิวแพ้ง่ายเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นความผิดปกติทางผิวหนังชนิดต่าง ๆ ผิวหนังขาดความชุ่มชื้น หรือการเผชิญสภาพอากาศที่ส่งผลเสียต่อผิวหนังเป็นเวลานาน ดังนี้

  • ปัจจัยภายใน
    ผิวแพ้ง่ายนั้นอาจมีสาเหตุมาจากปัจจัยภายใน อย่างกรรมพันธุ์ที่อาจส่งต่อภาวะผิวหนังที่ผิดปกติ หรืออายุที่เพิ่มขึ้นก็อาจส่งผลให้ความแข็งแรงของผิวลดลงได้

    นอกจากนี้ โรคและความผิดปกติทางผิวหนังก็เป็นหนึ่งในปัจจัยภายในที่อาจส่งผลทำให้ผิวแพ้ง่ายได้

    • ผิวหนังอักเสบ เป็นภาวะที่ทำให้มีอาการคันหรือเกิดผื่นแดงตามผิวหนัง อีกทั้งส่งผลให้เกราะปกป้องผิวบางลงจนเกิดการระคายเคืองจากสิ่งกระตุ้นภายนอกได้ง่าย เช่น น้ำ ความร้อน ความเย็น ความชื้น เป็นต้น
    • ผื่นระคายสัมผัส ปัญหาผิวหนังอักเสบที่อาจเกิดจากการเผชิญปัจจัยแวดล้อมหรือสัมผัสสารก่อความระคายเคืองในปริมาณมากหรือเป็นเวลานาน เช่น สารเคมี รังสีอัลตราไวโอเลต ความร้อน ความเย็น เป็นต้น อาจก่อให้เกิดผื่นแดง ผิวแห้งแตก และรู้สึกคันตามผิวหนัง บางรายอาจมีเพียงอาการคันปรากฏเท่านั้น
    • ผื่นแพ้สัมผัส คือผิวอักเสบที่เกิดจากสิ่งกระตุ้นภายนอกร่างกาย เช่น สารเคมีบางชนิดในเครื่องสำอาง ลักษณะคล้ายกับผื่นระคายสัมผัส แต่เกิดขึ้นได้ยากกว่า ทั้งนี้ อาการผื่นแพ้อาจเกิดขึ้นใน 2-3 วัน หลังจากสัมผัสสิ่งกระตุ้น
    • ลมพิษจากการสัมผัส ลมพิษรูปแบบนี้มีลักษณะเป็นรอยบวมและแดงที่ผิวหนัง มักปรากฏทันทีหลังจากสัมผัสสิ่งกระตุ้นหรือสารก่อภูมิแพ้
    • ผื่นผิวหนังอักเสบชนิดโรซาเซีย มักเกิดหลังจากใช้ผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับผิวหน้าหรือเครื่องสำอางชนิดเดิมติดต่อกันนานหลายปี ส่งผลให้หลอดเลือดฝอยบริเวณใบหน้าแตก ผิวหน้าบวม แดง แพ้ง่าย และมีตุ่มคล้ายสิว
    • Aquagenic Pruritus คือโรคผิวหนังที่ส่งผลให้มีอาการคันหลังอาบน้ำ ไม่ว่าจะเป็นน้ำเย็น น้ำอุ่น หรือน้ำอุณหภูมิปกติก็ตาม
    • ผิวแห้ง อาจเกิดจากพันธุกรรม การรับประทานยา สภาพอากาศที่มีความชื้นต่ำ ผลกระทบจากโรค หรือชำระล้างผิวบ่อยครั้งเกินไป ทำให้ผิวระคายเคือง แพ้ง่าย และมักมีอาการคันร่วมด้วย โดยเฉพาะเมื่ออยู่ในที่ที่มีอากาศร้อน
    • Cutaneous Mastocytoses คือภาวะผิดปกติที่ชั้นผิวหนังมีแมสท์เซลล์ (Mast Cells) ในปริมาณมาก เซลล์ชนิดนี้จะปล่อยสารฮิสทามีน (Histamine) ที่กระตุ้นให้เกิดอาการแพ้เมื่อมีสารก่อภูมิแพ้เข้าสู่ร่างกาย ทำให้ผิวมีผื่นแดงและบวม
    • คาร์ซินอยด์ซินโดรม (Carcinoid Syndrome) คือกลุ่มอาการของโรคมะเร็งคาร์ซินอยด์ ผู้ป่วยมักมีผิวหนังแดงจากเส้นเลือดฝอยขยายตัว ปรากฏร่วมกับอาการอื่น ๆ เช่น ท้องเสีย ปวดท้อง หายใจมีเสียงหวีด ความดันโลหิตต่ำ เป็นต้น
  • ปัจจัยภายนอก
    ปัจจัยภายนอกนั้นมีผลในการกระตุ้นและทำให้ผิวบอบบางแพ้ง่าย ซึ่งปัจจัยที่อาจทำให้เกิดผิวแพ้ง่ายอาจมี ดังนี้

    • สิ่งแวดล้อม สิ่งที่อยู่รอบตัวมนุษย์ไม่ว่าจะเป็นสภาพอากาศ อุณหภูมิ หรือมลพิษนั้นมีส่วนที่ทำให้ผิวแพ้ง่ายได้ หากต้องเผชิญแสงแดด ลม อากาศร้อนหรือหนาวจัดอย่างต่อเนื่อง ผิวอาจถูกทำร้ายและทำให้บอบบางแพ้ง่ายได้
    • ผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้มาตรฐาน ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวที่ไม่ได้มาตรฐานมักผสมสารเคมีที่เป็นอันตรายแต่ได้ผลไวหรือใส่มาในปริมาณเกินกว่ามาตรฐานความปลอดภัยกำหนด ซึ่งเมื่อใช้ไปแล้วอาจเห็นผลลัพธ์ได้อย่างรวดเร็วแต่แฝงไปด้วยการทำร้ายผิว ส่งผลให้ผิวบอบบางแพ้ง่าย รวมถึงเกิดผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์อื่น ๆ ตามมา
  • ผลข้างเคียงจากการรักษา การรักษาโรคบางโรคด้วยการรับประทานยาหรือวิธีการรักษาด้วยอุปกรณ์ทางแพทย์ อย่างการทำเลเซอร์ ซึ่งอาจส่งผลข้างเคียงให้ผิวแห้ง ผิวบอบบาง และไวต่อการระคายเคืองได้
  • ผิวขาดเซราไมด์ (Ceramide)
    เซราไมด์ คือ กรดไขมันที่ร่างกายสามารถผลิตได้เองตามธรรมชาติ มีส่วนช่วยในการทำหน้าที่เป็นเกราะป้องกันผิวหนังชั้นนอก ช่วยกักเก็บความชุ่มชื้นของผิว ช่วยปกป้องผิวจากอาการแพ้และมลภาวะที่ส่งผลต่อสุขภาพผิว ซึ่งการเผชิญกับแสงแดดและมลภาวะอาจมีส่วนทำให้ผิวหนังสูญเสียเซราไมด์ นอกจากนี้ การใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่ไม่อ่อนโยนต่อผิวโดยเฉพาะที่มีฤทธิ์เป็นด่าง ก็อาจชะล้างเซราไมด์ออกไปพร้อมกับสิ่งสกปรกบนใบหน้า เมื่อผิวขาดเซราไมด์ก็อาจทำให้ความแข็งแรงของผิวลดลง ผิวแห้งกร้าน จนทำให้ผิวแพ้ง่าย

การทดสอบผิวแพ้ง่าย
ผู้มีผิวแพ้ง่ายควรเข้ารับการตรวจหาสาเหตุที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ เพื่อรับการรักษาหรือหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นดังกล่าวได้อย่างตรงจุด โดยแพทย์อาจตรวจดูอาการและแนะนำให้รับการทดสอบด้วยวิธีดังต่อไปนี้

  • วิธีปิดสารทดสอบบนผิวหนัง (Patch test) เป็นวิธีที่นิยมใช้ทดสอบภูมิแพ้ผิวหนัง แพทย์จะปิดแผ่นแปะผิวหนังที่ป้ายสารก่ออาการแพ้ 20-30 ชนิด บริเวณแขนหรือแผ่นหลังของผู้ทดสอบและทิ้งไว้ประมาณ 48 ชั่วโมง ระหว่างนี้ต้องหลีกเลี่ยงไม่ให้ผิวหนังบริเวณที่ทดสอบสัมผัสน้ำและมีเหงื่อออก เมื่อครบกำหนดจึงดึงแผ่นแปะผิวหนังออก หากพบว่าผิวหนังบริเวณใดเกิดผื่นแดง แสดงว่าผู้รับการทดสอบแพ้สารชนิดนั้น ๆ
  • วิธีสะกิด ใช้ตรวจสอบสารก่อภูมิแพ้ได้ถึง 40 ชนิดในครั้งเดียว นิยมนำมาทดสอบอาการแพ้จากเกสรดอกไม้ เชื้อรา ไรฝุ่น และอาหาร แพทย์จะหยดสารที่คาดว่าก่อให้เกิดการแพ้ตามบริเวณท้องแขนหรือแผ่นหลัง จากนั้นใช้เข็มสะกิดผิวของผู้ทดสอบตามจุดที่หยดสาร แล้วทิ้งไว้ 15 นาที ตำแหน่งที่แพ้จะเกิดผื่นแดงหรือตุ่มคล้ายยุงกัด ทั้งนี้ แพทย์อาจป้ายฮิสทามีน กลีเซอรีน (Glycerin) หรือน้ำเกลือ ลงบนผิวชนิดละตำแหน่งด้วย เพื่อดูว่าผิวหนังของผู้ทดสอบตอบสนองต่อสารก่อภูมิแพ้เป็นปกติหรือไม่ หากผิวไม่ตอบสนองต่อฮิสทามีน อาจต้องใช้การทดสอบด้วยวิธีอื่นแทน ส่วนผิวที่ป้ายกลีเซอรีนหรือน้ำเกลือแล้วเกิดอาการแพ้ อาจบ่งบอกได้ว่าผู้ทดสอบมีผิวแพ้ง่าย
  • การตัดชิ้นเนื้อจากผิวหนังส่งตรวจ คือการตัดเนื้อเยื่อผิวหนังบริเวณที่ผิดปกติและนำไปตรวจดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ เพื่อหาสาเหตุของอาการผิดปกติ

วิธีรับมือผิวแพ้ง่าย
ผู้มีผิวแพ้ง่ายควรเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดหน้า บำรุงผิวหน้า และเครื่องสำอางที่อ่อนโยนต่อผิว รวมถึงปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตเพื่อหลีกเลี่ยงปัจจัยที่อาจกระตุ้นให้ผิวหนังเกิดอาการแพ้หรือระคายเคือง ดังนี้

  • ลดความเสี่ยงผิวแพ้ง่าย ด้วยวิธีการ ดังนี้
    • ทดสอบอาการแพ้ทุกครั้งก่อนใช้ผลิตภัณฑ์ทุกชนิด โดยทาบาง ๆ บริเวณข้อพับแขน ข้อมือ ท้องแขน หรือหลัง หลีกเลี่ยงไม่ให้ผิวหนังส่วนที่ทดสอบสัมผัสน้ำหรือเหงื่อประมาณ 48 ชั่วโมง หากเกิดผื่นแดงแสดงว่ามีอาการแพ้และไม่ควรใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าว
    • หลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ที่มีน้ำหอม สี แอลกอฮอล์ และส่วนผสมบางชนิดที่อาจทำให้มีอาการแพ้ได้ง่าย เช่น เรตินอยด์ กรดอัลฟาไฮดรอกซี (Alpha-Hydroxy Acids: AHA) ทัลคัม (Talc) ไมกา (Mica) สารเคมีระงับกลิ่นกาย รวมถึงสารเคมีที่มีคุณสมบัติทำลายหรือยับยั้งแบคทีเรีย
    • ไม่ควรใช้ผลิตภัณฑ์เพื่อผลัดเซลล์ผิว หากต้องการผลัดเซลล์ผิวควรทำภายใต้การดูแลของแพทย์
    • หลีกเลี่ยงการใช้เครื่องสำอางที่มีคุณสมบัติกันน้ำหรือมีสารกันเสียเป็นส่วนประกอบ
    • ไม่ควรใช้เครื่องสำอางหรือผลิตภัณฑ์ที่หมดอายุ เพราะอาจเกิดการกลายสภาพและเป็นอันตรายต่อผิวหนัง
    • หลีกเลี่ยงสภาพอากาศหนาวจัดหรือร้อนจัด โดยเฉพาะผู้ที่มีปัญหาทางผิวหนัง เช่น ผื่นผิวหนังอักเสบ เพราะอาจทำให้อาการแพ้รุนแรงขึ้น
    • หลีกเลี่ยงการออกกลางแจ้งในช่วงเวลา 9.00-14.00 น. เนื่องจากเป็นช่วงที่มีความเข้มของรังสียูวีค่อนข้างสูง
    • หมั่นล้างและทำความสะอาดสิ่งของที่สัมผัสผิวหน้าเป็นประจำ เช่น อุปกรณ์แต่งหน้า ปลอกหมอน เป็นต้น เพราะเชื้อแบคทีเรียที่สะสมอยู่ตามสิ่งเหล่านี้อาจเป็นปัจจัยก่อให้เกิดสิวและปัญหาทางผิวหนังที่ส่งผลให้ผิวระคายเคืองง่าย
    • เลือกสวมเสื้อผ้าเนื้อบางเบา ไม่รัดรูป หรือผลิตจากวัตถุดิบธรรมชาติ เช่น ผ้าฝ้าย เพื่อป้องกันการระคายเคืองของผิวหนัง
  • เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมและอ่อนโยนต่อผิว
    การเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่อ่อนโยนและเหมาะสมกับผิวแพ้ง่ายอาจเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่จะช่วยปกป้องผิวและเสริมสร้างความแข็งแรงให้กับผิว โดยหลักการเลือกซื้อหรือใช้ผลิตภัณฑ์อาจมี ดังนี้

    • ใช้ผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เท่านั้น
    • ใช้ผลิตภัณฑ์สำหรับผู้ที่มีผิวแพ้ง่ายโดยเฉพาะ รวมทั้งผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการทดสอบและได้รับการยืนยันว่าไม่ก่อให้เกิดอาการแพ้
    • ใช้ผลิตภัณฑ์สำหรับเพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิวเป็นประจำเพื่อป้องกันผิวแห้ง โดยควรเลือกที่ผลิตจากวัตถุดิบธรรมชาติเป็นหลัก ปราศจากน้ำหอม สี และแอลกอฮอล์
    • ทาครีมกันแดดที่มีค่าป้องกันแสงแดดหรือ SPF ตั้งแต่ 30 ขึ้นไปเป็นประจำ โดยเฉพาะก่อนออกแดด ควรเลือกครีมกันแดดสูตร Non-Chemical ที่มีส่วนผสมของซิงก์ออกไซด์ (Zinc Oxide) และไททาเนียมไดออกไซด์ (Titanium Dioxide) เป็นหลัก เนื่องจากสารทั้ง 2 ชนิดนี้จะไม่ซึมผ่านผิวหนัง ทำให้เสี่ยงเกิดการแพ้ได้น้อย
  • เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของเซราไมด์
    มีความเชื่อที่ว่าความชุ่มชื้นเป็นหนึ่งในปัจจัยพื้นฐานของผิวที่แข็งแรง ซึ่งเซราไมด์เป็นสารที่ช่วยกักเก็บความชุ่มชื้นภายในผิว และอาจช่วยป้องกันผิว ฟื้นฟูผิว และลดความเสียหายจากปัจจัยที่ก่อให้เกิดผิวระคายเคืองได้ มีการศึกษาที่เกี่ยวกับการใช้ครีมที่มีส่วนผสมของเซราไมด์ในผู้ที่เป็นโรคผิวหนังอักเสบจากภูมิแพ้เป็นระยะเวลา 4 สัปดาห์ พบว่าหลังสัปดาห์สุดท้ายผู้ป่วยโรคนี้มีสภาพผิวโดยรวมที่ดีขึ้นโดยไม่พบผลข้างเคียง

    งานวิจัยหลายฉบับที่ศึกษาเกี่ยวกับเซราไมด์กับโรคผิวหนังอักเสบชนิดต่าง ๆ พบว่าเซราไมด์นั้นเป็นหนึ่งในสารสำคัญในการสร้างเกราะป้องกันที่ช่วยปกป้องผิวหนังชั้นนอก ลดอาการผิวแพ้ง่าย รวมถึงการใช้เซราไมด์ควบคู่ไปกับยาที่ใช้การรักษาโรคผิวหนังอักเสบบางชนิดอาจช่วยให้ผลการรักษานั้นดียิ่งขึ้น

นอกจากการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ผสมเซราไมด์ที่อาจช่วยเสริมเกราะป้องกันผิวแล้ว ก็ยังควรให้ความสำคัญกับการควบคุมปัจจัยทั้งภายในและภายนอกที่มีผลต่อการสร้างเกราะป้องกันตามธรรมชาติให้กับผิว ซึ่งอาจทำได้ด้วยการดูแลตนเอง พักผ่อนให้เพียงพอ หรือการหลีกเลี่ยงการเผชิญมลภาวะต่าง ๆ และแม้ว่าเซราไมด์จะเป็นสารที่ปลอดภัย แต่การใช้ผลิตภัณฑ์ใด ๆ ก็ตามอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้ จึงควรทดสอบผลิตภัณฑ์ก่อนใช้ทุกครั้ง โดยการทาผลิตภัณฑ์ลงบนท้องแขนและรอจนครบ 1 วัน หากเกิดอาการผิดปกติ อย่างผื่น แดง คัน หรือระคายเคือง แสดงว่าผลิตภัณฑ์อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงซึ่งอาจแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล