ผักผลไม้ช่วยบำรุงสายตาได้จริงหรือไม่

แต่เดิม ผู้คนมักรับประทานผักและผลไม้เพื่อบำรุงสายตา โดยเชื่อว่าพืชผักและผลไม้บางชนิดมีสรรพคุณช่วยให้มองเห็นได้ดีขึ้น ปัจจุบัน พบว่ามีการนำพืชหรือผลไม้ที่เชื่อว่าช่วยในการมองเห็นเหล่านั้น มาสกัดและแปรรูปผลิตออกมาเป็นอาหารเสริมสำหรับบำรุงสายตาหลายอย่าง ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมาก อีกทั้ง ยังมีงานวิจัยบางงานที่ศึกษาเรื่องพืชหรือผลไม้ดังกล่าว และพบว่าช่วยบำรุงสายตาได้ ยิ่งทำให้ผู้คนหันมาสนใจรับประทานพืชและผลไม้ รวมทั้งอาหารเสริมที่สกัดมาจากพืชเหล่านั้นเพื่อบำรุงสายตามากขึ้น

บำรุงสายตา

วิธีบำรุงสายตามีหลายวิธี การรับประทานผัก ผลไม้ หรืออาหารเสริมที่มีสารสกัดของพืชบางอย่างที่เชื่อว่าบำรุงสายตานั้นเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก โดยมีพืชผักผลไม้หลายชนิดที่นำมาสกัดเป็นอาหารเสริมบำรุงสายตา ทั้งนี้ มีงานวิจัยหลายชิ้นศึกษาเกี่ยวกับประโยชน์หรือสรรพคุณของพืชที่เชื่อว่าช่วยเสริมสร้างสุขภาพดวงตาในแง่มุมที่แตกต่างกันหลายอย่างดังนี้

สารสกัดใบแปะก๊วย แปะก๊วยเป็นพืชที่เชื่อว่ามีสรรพคุณบำรุงร่างกายหลายอย่าง เดิมมักนำมาใช้รักษาโรค อัลไซเมอร์หรือภาวะสูญเสียความทรงจำ ซึ่งภายหลังมีงานวิจัยแสดงผลการศึกษาว่าแปะก๊วยไม่ได้ช่วยเรื่องความจำหรืออัลไซเมอร์ตามที่เคยกล่าวอ้าง อย่างไรก็ตาม หลายคนยังเชื่อว่าแปะก๊วยช่วยบรรเทาปัญหาสุขภาพอื่น ๆ รวมทั้งเชื่อว่าสารกัดจากใบแปะก๊วยบำรุงสายตาได้ โดยมีงานวิจัยหลายงานที่ศึกษาเกี่ยวกับสรรพคุณทางยาในการรักษาปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับมองเห็น และพบว่าสารสกัดใบแปะก๊วยอาจฟื้นฟูอาการดังกล่าวได้

งานวิจัยชิ้นหนึ่งได้ทำการศึกษาสรรพคุณทางยาของสารสกัดใบแปะก๊วยที่ช่วยในการไหลเวียนโลหิตที่ตาของผู้ป่วยต้อหินที่มีความดันตาปกติ โดยแบ่งผู้เข้าร่วมการทดลองออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ได้รับการรักษาด้วยสารสกัดใบแปะก๊วย และกลุ่มที่ได้รับยาหลอก ผู้ป่วยกลุ่มแรกจะต้องรับประทานสารสกัดใบแปะก๊วยจำนวน 80 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง ส่วนผู้ป่วยกลุ่มหลังจะต้องรับประทานยาหลอกวันละ 2 ครั้ง การทดลองดังกล่าวใช้เวลา 4 สัปดาห์ ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมการทดลองทุกคนจะได้รับการตรวจดวงตาตั้งแต่วันแรกที่เริ่มทดลอง ผลการทดลองพบว่า ผู้ป่วยกลุ่มแรกมีปริมาตรและอัตราการไหลเวียนเลือดไปที่ดวงตาเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จึงอาจกล่าวได้ว่าสารสกัดใบแปะก๊วยมีส่วนช่วยในการไหลเวียนโลหิตไปที่ตาสำหรับผู้ป่วยต้อหินความดันตาปกติ  ทั้งนี้ มีบทความทบทวนงานวิจัยชิ้นหนึ่งพบว่า แปะก๊วยขัดขวางลักษณะการเปลี่ยนแปลงของการเกิดต้อหิน เช่น สารอนุมูลอิสระทำลายเซลล์  การไหลเวียนของหลอดเลือดฝอย หรือการทำงานของไมโทคอนเดรีย อีกทั้งยังช่วยปกป้องเซลล์ประสาทหลายส่วนในร่างกาย ซึ่งรวมถึงเซลล์ประสาทในจอตา สารสกัดใบแปะก๊วยจึงอาจเป็นวิธีรักษาเสริมสำหรับผู้ป่วยต้อหินที่มีความดันตาปกติและผู้ป่วยต้อหินที่ความดันตาเพิ่มสูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม งานวิจัยบางชิ้นแสดงให้เห็นว่าสารสกัดจากใบแปะก๊วยไม่ได้ส่งผลต่อการไหลเวียนเลือดไปเลี้ยงที่ตา โดยแบ่งผู้เข้าร่วมการทดลองจำนวน 15 คน ออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่รับประทานสารสกัดจากใบแปะก๊วย และกลุ่มยาหลอก โดยกลุ่มแรกจะรับประทานสารสกัดใบแปะก๊วย 240 มิลลิกรัม ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมการทดลองต้องเข้ารับการตรวจสายตาก่อนและหลังรับประทานสารสกัดใบแปะก๊วยเข้าไปแล้วเป็นเวลา 3 ชั่วโมง ผลการทดลองพบว่า สารสกัดใบแปะก๊วยไม่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับการไหลเวียนเลือดไปเลี้ยงที่ดวงตาในกลุ่มที่รับประทานสารสกัดใบแปะก๊วยเมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก จากงานวิจัยนี้จึงอาจกล่าวได้ว่า การรับประทานสารสกัดใบแปะก๊วยไม่ได้ส่งผลต่อการไหลเวียนเลือดไปเลี้ยงที่ดวงตา ซึ่งแตกต่างจากการศึกษาก่อนหน้านี้ ทั้งนี้ อาจต้องศึกษาต่อไปว่าสารสกัดใบแปะก๊วยส่งผลต่อการไหลเวียนเลือดหรือไม่ในกรณีที่ใช้รักษาระยะยาว

จากงานวิจัยที่ยกมาข้างต้น จะเห็นได้ว่ายังไม่ปรากฏข้อสรุปในการใช้สารสกัดใบแปะก๊วยสำหรับรักษาต้อหินหรือบำรุงสายตาอย่างชัดเจน นอกจากนี้ การรับประทานสารสกัดใบแปะก๊วยอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงเล็กน้อย เช่น เกิดอาการมวนท้อง ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ ท้องผูก หัวใจเต้นเร็ว และเกิดอาการแพ้ที่ผิวหนัง ผู้ที่ต้องการรับประทานอาหารเสริมที่มีส่วนผสมจากสารสกัดใบแปะก๊วยจึงควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับภาวะบางอย่างของสุขภาพตัวเองก่อนรับประทาน รายละเอียด ดังนี้

  • สตรีมีครรภ์หรือกำลังให้นมบุตรไม่ควรรับประทานแปะก๊วย เนื่องจากอาจทำให้เลือดออกมากเมื่อคลอดบุตรในกรณีที่รับประทานแปะก๊วยช่วงใกล้กำหนดคลอด อีกทั้งยังไม่ปรากฏผลรับรองความปลอดภัยอย่างชัดเจนในการรับประทานแปะก๊วยสำหรับสตรีที่ให้นมบุตร
  • เด็กไม่ควรรับประทานเมล็ดแปะก๊วย แต่อาจรับประทานสารสกัดใบแปะก๊วยได้ในกรณีที่รับประทานเป็นช่วงเวลาสั้น ๆ
  • ผู้ป่วยเบาหวานควรสังเกตระดับน้ำตาลในเลือดอย่างใกล้ชิด เนื่องจากแปะก๊วยอาจส่งผลต่อการควบคุมอาการของโรคได้
  • ผู้ที่เคยเกิดอาการชักห้ามรับประทานแปะก๊วย ส่วนผู้ที่ประสบภาวะพร่องเอนไซม์จีซิกพีดี (G6PD) หรือโรคเม็ดเลือดแดงแตกง่าย ควรเลี่ยงการรับประทานแปะก๊วย เนื่องจากอาจประสบภาวะโลหิตจางอย่างรุนแรง
  • ควรหยุดใช้แปะก๊วยอย่างน้อย 2 สัปดาห์ ก่อนวันที่เข้ารับการผ่าตัด เนื่องจากแปะก๊วยมีสรรพคุณชะลอการเกิดลิ่มเลือด จึงอาจทำให้เลือดออกมากระหว่างและหลังเข้ารับการผ่าตัด

บิลเบอร์รี่ ปัจจุบันมีการนำบิลเบอร์รี่มาสกัดเป็นอาหารเสริมสำหรับบำรุงดวงตาอย่างแพร่หลาย โดยเชื่อว่าผลบิลเบอร์รี่นั้นมีสรรพคุณช่วยบำรุงสายตารวมทั้งการมองเห็นตอนกลางคืนให้ดีขึ้น สารแอนโทไซยานินที่มีอยู่มากในผลบิลเบอร์รี่นั้นอาจช่วยฟื้นฟูและบำรุงอาการของโรคจอตาที่เกิดจากเบาหวานหรือความดันโลหิตสูงได้ งานวิจัยชิ้นหนึ่งได้ศึกษาประสิทธิภาพอาหารเสริมจากสารสกัดบิลเบอร์รี่ที่ช่วยฟื้นฟูอาการตาล้าจากการทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์ โดยมีพนักงานที่ทำงานหน้าคอมพิวเตอร์อายุ 20-40 ปี จำนวน 281 คน เข้าร่วมการทดลอง ผู้เข้าร่วมการทดลองถูกสุ่มให้รับประทานแคปซูลที่มีสารสกัดบิลเบอร์รี่วันละ 480 มิลลิกรัม หรือรับประทานแคปซูลยาหลอก โดยต้องรับประทานเป็นเวลา 8 สัปดาห์ เมื่อตรวจอาการเมื่อยล้าของดวงตาและการเพ่งระยะใกล้ พบว่า กลุ่มที่รับประทานสารสกัดจากบิลเบอร์รี่มีอาการเมื่อยล้าของดวงตาลดลงหลังรับประทานครบ 8 สัปดาห์ โดยอาการตาล้า ตาเจ็บ หรือไม่สบายตาลดลงมากกว่ากลุ่มที่รับประทานยาหลอก นอกจากนั้น เมื่อเข้าสัปดาห์ที่ 8 ก็ไม่ปรากฏผลข้างเคียงใด ๆ แก่ผู้ทดลองทั้งสองกลุ่ม

อย่างไรก็ดี สรรพคุณของบิลเบอร์รี่ที่เชื่อว่าช่วยในการมองเห็นตอนกลางคืนนั้นยังไม่ปรากฏหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ออกมายืนยันอย่างชัดเจน เนื่องจากงานวิจัยชิ้นหนึ่งได้ศึกษาประสิทธิภาพอาหารเสริมจากสารอาหารในบิลเบอร์รี่ที่ช่วยในการมองเห็นตอนกลางคืนและการแยกความแตกต่างของความมืดและสว่าง (Contrast Sensitivity) ผู้วิจัยเลือกวัยรุ่นชายสายตาดีมาเข้าร่วมการทดลอง โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มยาหลอกจำนวน 8 คน และกลุ่มแคปซูลบิลเบอร์รี่จำนวน 7 คน โดยกลุ่มหลังจะได้รับแคปซูลบรรจุสารสกัดบิลเบอร์รี่ปริมาณ 160 มิลลิกรัม ซึ่งมีส่วนผสมของแอนโทไซยานิน 25 เปอร์เซ็นต์ ผู้เข้าร่วมทั้ง 2 กลุ่มต้องรับประทานแคปซูลที่ได้รับวันละ 3 ครั้ง เป็นเวลา 21 วัน เมื่อครบกำหนดแล้ว จะหยุดไป 1 เดือนเพื่อล้างฤทธิ์ของสารสกัดดังกล่าว จากนั้นจะเริ่มทดลองครั้งที่ 2 โดยให้ผู้เข้าร่วมทั้ง 2 กลุ่มสลับรับแคลซูลของอีกกลุ่ม ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมการทดลองจะได้รับการตรวจระดับการมองเห็นตอนกลางคืนตลอดที่เข้าร่วมการทดลองทั้ง 3 เดือน จากการทดลองนี้พบว่าไม่ปรากฏความแตกต่างในการมองเห็นตอนกลางคืนและการแยกความแตกต่างของความมืดและสว่างสำหรับผู้เข้าร่วมการทดลองทั้ง 2 กลุ่ม อาจกล่าวได้ว่าการรับประทานสารสกัดบิลเบอร์รี่ปริมาณมากตามระยะเวลาที่ทำการทดลอง ไม่ปรากฏประสิทธิภาพของบิลเบอร์รี่ที่ช่วยให้มองเห็นตอนกลางคืนได้  อีกทั้งยังมีการตั้งข้อสงสัยว่ารูปแบบและปริมาณของอาหารเสริมบิลเบอร์รี่ที่แนะนำให้บริโภคกันทั่วไปนั้น มีประสิทธิภาพในการช่วยให้มองเห็นตอนกลางคืนอย่างที่เชื่อกันหรือไม่

แม้ว่าผู้คนจะเชื่อว่าการรับประทานอาหารเสริมจากสารสกัดบิลเบอร์รี่ช่วยบำรุงสายตาได้ แต่ยังไม่ปรากฏหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ในการรับรองสรรพคุณดังกล่าวของบิลเบอร์รี่อย่างชัดเจนตามที่ยกมาจากงานวิจัยข้างต้น ทั้งนี้ ยังมีข้อจำกัดในการรับประทานบิลเบอร์รี่อย่างปลอดภัยแก่ผู้ที่ประสบภาวะสุขภาพบางประการ ดังนี้

  • สตรีมีครรภ์และผู้ที่ให้นมบุตรควรเลี่ยงรับประทานบิลเบอร์รี่ เนื่องจากยังไม่ปรากฏข้อมูลที่เพียงพอเกี่ยวกับการใช้บิลเบอร์รี่สำหรับสตรีมีครรภ์และผู้ที่ให้นมบุตร
  • ผู้ป่วยเบาหวานที่ใช้ใบของบิลเบอร์รี่ร่วมกับยารักษาเบาหวานควรสังเกตน้ำตาลในเลือดอย่างใกล้ชิด เนื่องจากใบบิลเบอร์รี่มีคุณสมบัติลดน้ำตาลในเลือด จึงอาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยต่ำเกินไป
  • ควรหยุดรับประทานบิลเบอร์รี่อย่างน้อย 2 สัปดาห์ ก่อนวันที่เข้ารับการผ่าตัด เนื่องจากบิลเบอร์รี่อาจส่งผลต่อระดับน้ำตาลในเลือด ซึ่งขัดขวางการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดระหว่างและหลังเข้ารับการผ่าตัด

โกจิเบอร์รี่ ผลไม้ชนิดนี้เป็นผลสีแดงใส นิยมนำผลอบแห้งและรากกับเปลือกของต้นโกจิเบอร์รี่มาใช้ทำยา โดยเชื่อว่าช่วยบรรเทาอาการบางอย่างหรือช่วยบำรุงร่างกายได้ แต่ยังไม่ปรากฏหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่แน่ชัดเกี่ยวกับสรรพคุณทางยาของโกจิเบอร์รี่ ถึงอย่างนั้น บางคนก็นำมาใช้เป็นยาบำรุงดวงตา เพื่อบรรเทาอาการตามัว จอประสาทตาเสื่อม และปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับตา อีกทั้งยังมีงานวิจัยบางงานสรุปว่าการหยอดน้ำตาเทียมควบคู่กับการดื่มเครื่องดื่มที่ผสมผลโกจิเบอร์รี่ช่วยให้ผู้หญิงสูงวัยที่ตาแห้งอาการดีขึ้นมากกว่าผู้ที่หยอดน้ำตาเทียมเพียงอย่างเดียว งานวิจัยชิ้นหนึ่งได้ศึกษาประสิทธิภาพของสารอาหารจากการบริโภคสารสกัดโกจิเบอร์เกี่ยวกับผลัพธ์ต่อจอประสาทตาและระดับของสารซีแซนทิน และความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระ โดยทดลองกับผู้สูงวัยช่วงอายุ 65-70 ปี แบ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับสารสกัดโกจิเบอร์รี่และกลุ่มยาหลอก กลุ่มละ 75 คน การทดลองดังกล่าวใช้เวลาทั้งหมด 90 วัน ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมการทดลองจะได้รับการตรวจตาเพื่อประเมินจำนวนเม็ดสีและสาร Drusen ในจอตา โดยผู้ที่จอตาเสื่อมจะมีสาร Drusen และเม็ดสีจาง ทั้งนี้ ยังมีการตรวจเลือดเพื่อวัดระดับพลาสมาซีแซนทินและประสิทธิภาพของสารต้านอนุมูลอิสระ ผลการทดลองพบว่ากลุ่มยาหลอกมีจำนวนเม็ดสีในตาน้อยลง รวมทั้งมีสาร Drusen รวมกันเป็นกลุ่มในจอตา ต่างกับกลุ่มที่ได้รับสารสกัดโกจิเบอร์รี่ที่มีจำนวนเม็ดสีและสาร Drusen เท่าเดิม ส่วนการวัดระดับพลาสมาของซีแซนทินและประสิทธิภาพของสารต้านอนุมูลอิสระแตกต่างกันระหว่างผู้เข้าร่วมการทดลองทั้ง 2 กลุ่ม โดยกลุ่มที่ได้รับสารสกัดโกจิเบอร์รี่มีระดับพลาสมาของซีแซนทินและความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระเพิ่มขึ้น คิดเป็นร้อยละ 26 และร้อยละ 57 ตามลำดับ ในขณะที่ กลุ่มยาหลอกไม่ปรากฏความเปลี่ยนแปลงใด ๆ เกี่ยวกับการวัดผลดังกล่าว จึงพอสรุปได้ว่า โกจิเบอร์รี่อาจช่วยปกป้องจอตาไม่ให้แย่ลงได้ในคนสูงวัย แต่อย่างไรก็ดี การทดลองครั้งนี้ยังไม่ทำให้สรุปความสัมพันธ์ระหว่างการเปลี่ยนแปลงของซีแซนทินและการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับจอตาได้อย่างชัดเจน

จากงานวิจัยที่ยกมานี้ ยังไม่ปรากฏข้อมูลเกี่ยวกับสรรพคุณในการนำโกจิเบอร์รี่มารักษาปัญหาสุขภาพตาที่เพียงพอและชัดเจน แต่ผู้คนอาจต้องการลองรับประทานอาหารเสริมบำรุงสายตาที่มีส่วนผสมจากโกจิเบอร์รี่ โดยโกจิเบอร์รี่สามารถก่อให้เกิดผลข้างเคียง เช่น คลื่นไส้หรืออาเจียน อีกทั้งยังมีข้อควรระวังบางประการ ดังนี้

  • สตรีมีครรภ์และให้นมบุตรห้ามรับประทานโกจิเบอร์รี่หรือส่วนอื่นที่ได้จากต้นโกจิเบอร์รี่ เนื่องจากโกจิเบอร์รี่มีสารเบทาอีน (Betaine) ซึ่งทำให้เกิดภาวะแท้งได้
  • ผู้ที่แพ้ยาสูบ ลูกพีช มะเขือเทศ หรือถั่ว ไม่ควรรับประทานโกจิเบอร์รี่ เนื่องจากโกจิเบอร์รี่จะทำให้เกิดอาการแพ้ขึ้นมา
  • ผู้ป่วยความดันโลหิตต่ำ และผู้ป่วยความดันโลหิตสูงที่ใช้ยารักษาความดันอยู่นั้น ไม่ควรรับประทานโกจิเบอร์รี่ เนื่องจากโกจิเบอร์รี่มีฤทธิ์ลดความดันเลือด อาจส่งผลให้ลดความดันต่ำมากเกินไป
  • ผู้ป่วยเบาหวานที่รับประทานโกจิเบอร์รี่ควรสังเกตระดับน้ำตาลในเลือดให้ดีในกรณีที่ใช้ยารักษาเบาหวานอยู่ เนื่องจากเปลือกของรากของต้นโกจิเบอร์รี่อาจลดระดับในน้ำตาลในเลือดจนต่ำเกินไป

ความปลอดภัยในการรับประทานพืชหรือผลไม้สำหรับบำรุงสายตา

พืชผัก ผลไม้ หรืออาหารเสริมที่มีสารสกัดจากพืชและผลไม้ที่กล่าวอ้างสรรพคุณว่าช่วยบำรุงหรือดูแลรักษาอาการป่วยของปัญหาสุขภาพตาบางอย่างนั้น ยังไม่ใช่วิธีดูแลและรักษาปัญหาสุขภาพตาตามมาตรฐานทางการแพทย์ เนื่องจากยังไม่ปรากฏผลรับรองของการใช้อาหารบำรุงหรือรักษาปัญหาสุขภาพตาที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัยอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ พืชผัก ผลไม้ หรืออาหารเสริมที่มีสารสกัดของพืชบางชนิด ก็มีฤทธิ์ที่อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงแก่ผู้ใช้ และอาจทำปฏิกิริยากับยารักษาโรคบางอย่าง ผู้ที่ต้องการรับประทานผัก ผลไม้ หรืออาหารเสริมที่มีสารสกัดจากพืชเพื่อบำรุงสายตาจึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ทุกครั้ง

วิธีบำรุงสายตาที่ได้ผลและปลอดภัยต่อสุขภาพตา

ปัญหาสุขภาพตาบางอย่างป้องกันได้ยาก อย่างไรก็ดี ยังมีวิธีบำรุงสายตาที่ได้ผลและปลอดภัยอีกหลายวิธีที่ช่วยรักษาสุขภาพดวงตาไม่ให้แย่ลง รวมทั้งลดโอกาสเสี่ยงการสูญเสียการมองเห็นในอนาคต ควรสำรวจว่าบุคคลในครอบครัวมีประวัติป่วยเป็นโรคที่เกี่ยวกับตาหรือไม่ เนื่องจากโรคกลุ่มนี้หลายโรคมักถ่ายทอดทางพันธุกรรมและคาดว่าจะเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ยังคาดว่าปัญหาสุขภาพตาที่เกี่ยวเนื่องกับอายุจะเพิ่มมากขึ้นจากจำนวน 28 ล้านรายไปจนถึง 43 ล้านรายในปี 2020 เช่น ต้อกระจก เบาหวานขึ้นตา ต้อหิน หรือจอประสาทตาเสื่อม หากป่วยเป็นโรคเกี่ยวกับตาควรพบแพทย์ เพื่อรับการรักษาทันที ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ เนื่องจากอาจสูญเสียการมองเห็นได้ ส่วนผู้ที่ไม่มีปัจจัยเสี่ยงป่วยเป็นโรคที่เกี่ยวกับตาควรเข้ารับการตรวจวัดสายตาอย่างสม่ำเสมอ หากมีปัญหาสายตาควรสวมแว่นสายตาหรือคอนแทคเลนส์ที่เหมาะสมกับค่าระดับสายตา ผู้ที่ใส่คอนแทคเลนส์ควรทำความสะอาดคอนแทคเลนส์ให้ถูกต้อง รวมทั้งไม่ใส่คอนแทคเลนส์เข้านอน ไม่ใช้หรือน้ำเปล่าล้างคอนแทคเลนส์ หรือไม่ใช้คอนแทคเลนส์ที่หมดอายุ เนื่องจากจะทำให้ตาเจ็บอย่างรุนแรงและตาบอดได้

นอกจากนี้ ควรถนอมสายตาด้วยการสวมแว่นตาหรืออุปกรณ์สำหรับปกป้องดวงตาในการเล่นกีฬาผาดโผนบางอย่างหรือทำกิจกรรมที่เสี่ยงได้รับบาดเจ็บที่ดวงตา หรือสวมแว่นกันแดดที่ป้องกันรังสียูวี เพื่อปกป้องจอตาไม่ให้ถูกทำลาย ป้องกันการเกิดฝ้าและมะเร็งผิวหนังรอบดวงตา รวมทั้งชะลอการเกิดต้อกระจก ส่วนผู้ที่ทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์ควรพักสายตาทุก 20 นาที เพื่อป้องกันอาการตาล้า โดยมองไปยังที่ไกล ๆ ประมาณ 20 วินาที หากยังเกิดอาการตาล้าอยู่ อาจมีสาเหตุมาจากปัญหาสุขภาพตาอื่น ๆ เช่น ตาแห้ง สายตายาว หรือเลนส์แว่นตาไม่โฟกัสตรงจุด ควรพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยสาเหตุและรับการรักษาต่อไป