ปั๊มนมอย่างไรให้ถูกต้อง

ปั๊มนม เป็นวิธีเก็บสำรองนมแม่ที่สะดวกและประหยัดเวลาในการให้นมลูก และยังช่วยให้คุณแม่หมดกังวลเรื่องปริมาณนมที่อาจไม่เพียงพอเมื่อให้นมจากเต้า นอกจากนี้ ในกรณีที่ไม่ว่างหรือต้องไปทำงานนอกบ้าน ผู้ที่รับหน้าที่แทนก็ป้อนนมให้เด็กได้ทันที สิ่งสำคัญคือคุณแม่ควรเรียนรู้วิธีการปั๊มและการเก็บรักษานม เพื่อให้มั่นใจได้ว่าลูกน้อยได้รับนมที่มีคุณภาพ และยังเป็นผลดีต่อสุขภาพเต้านมของตัวคุณแม่เองด้วย

ปั๊มนม

ทำไมต้องปั๊มนม ?

คุณแม่จำนวนไม่น้อยเลือกการปั๊มนมเป็นตัวช่วยในการให้นมลูกนื่องจากเป็นวิธีที่ผู้อื่นสามารถป้อนนมแทนได้ ทำให้คุณแม่มีเวลาทำกิจกรรมอื่น ๆ หรือพักผ่อนจากการให้นม ทั้งยังช่วยเปิดโอกาสให้คุณพ่อได้ใกล้ชิดกับลูกยิ่งขึ้นเมื่อต้องให้นมแทนแม่ นอกจากนี้ การปั๊มนมยังมีข้อดีอีกหลายประการ เช่น

  • ช่วยกระตุ้นการผลิตน้ำนม ส่งผลให้คุณแม่มีปริมาณน้ำนมเพิ่มมากขึ้น
  • ช่วยเก็บสำรองนมแม่ไว้ให้ทารก ในกรณีที่คลอดก่อนกำหนดหรือแม่ให้นมจากเต้าโดยตรงไม่ได้
  • ช่วยเก็บสำรองนมแม่ ในกรณีที่แม่อาจต้องหยุดให้นมเนื่องจากใช้ยาหรือรับการรักษาที่ส่งผลต่อคุณภาพและการปนเปื้อนของน้ำนมแม่
  • ช่วยบรรเทาความเจ็บปวดจากการคัดเต้านม แต่หากปั๊มนมมากเกินไปในช่วงที่คัดเต้านมอาจทำให้อาการเจ็บยิ่งรุนแรงขึ้นได้

ควรเริ่มปั๊มนมเมื่อใด ?

การปั๊มนมควรเริ่มหลังคลอดบุตร โดยเฉพาะคุณแม่ที่มีปัญหาเรื่องน้ำนมไม่เพียงพอ อาจเริ่มปั๊มนมทันทีหลังคลอด เพราะจะช่วยให้น้ำนมไหลออกมามากขึ้น อย่างไรก็ตาม ไม่ควรให้เด็กเรียนรู้การดูดนมจากขวดเร็วเกินไป เพราะอาจทำให้เด็กสับสนและติดดูดนมจากขวด ทว่าอาการนี้อาจไม่เกิดขึ้นเสมอไป เด็กบางคนปรับตัวได้ดี ทำให้ดูดนมจากเต้าและขวดนมสลับกันได้โดยไม่มีปัญหา

ทั้งนี้ หากคุณแม่ไม่ได้เริ่มปั๊มนมตั้งแต่หลังคลอด และต้องกลับไปทำงานหลังครบกำหนดลาคลอด ควรเริ่มฝึกปั๊มนมอย่างน้อย 1-2 สัปดาห์ก่อนหน้า โดยอาจปั๊มนมหลังจากให้นมลูกเรียบร้อยแล้วหรือปั๊มระหว่างให้นมเลยก็ได้ การฝึกปั๊มนมจะช่วยให้คุณแม่เรียนรู้วิธีปั๊มนมได้อย่างถูกต้อง และยังเป็นการเริ่มเก็บสำรองน้ำนมไว้สำหรับลูกน้อยเมื่อถึงเวลาต้องกลับไปทำงาน

เลือกเครื่องปั๊มนมอย่างไรให้เหมาะสม

เครื่องปั๊มนมเป็นอุปกรณ์ที่ช่วยให้ปั๊มนมได้สะดวกยิ่งขึ้น ซึ่งการเลือกชนิดเครื่องปั๊มนมที่เหมาะสมขึ้นอยู่กับความถี่ในการใช้ ระยะเวลาที่คุณแม่สะดวกปั๊มนม รวมทั้งปริมาณน้ำนมที่ต้องการ ทั้งนี้ เครื่องปั๊มนมที่นิยมใช้ในปัจจุบันมี 2 ชนิด ได้แก่

  • เครื่องปั๊มนมธรรมดา เป็นที่ปั๊มนมชนิดใช้มือ ราคาถูกและมีขนาดเล็ก เหมาะสำหรับคุณแม่ที่ต้องการปั๊มนมเป็นครั้งคราว ไม่เหมาะสำหรับคุณแม่ที่ต้องทำงานประจำ เนื่องจากต้องใช้เวลานาน
  • เครื่องปั๊มนมไฟฟ้า มีราคาค่อนข้างแพง แต่ใช้งานง่ายกว่าชนิดธรรมดา ทั้งยังช่วยทุ่นเวลาในการปั๊มนม และได้ปริมาณนมมากกว่า โดยเครื่องปั๊มชนิดนี้มีให้เลือกใช้ทั้งแบบปั๊มทีละข้างหรือปั๊มพร้อมกันทั้ง 2 ข้าง

นอกจากนี้ การเลือกเครื่องปั๊มนมยังควรคำนึงถึงปัจจัยอื่น ๆ ที่สำคัญเช่นกัน เช่น เครื่องปั๊มแบบไฟฟ้าอาจส่งเสียงดังขณะเครื่องทำงาน ขนาดและน้ำหนักของเครื่องอาจไม่สะดวกต่อการพกพา อีกทั้งต้องใช้กระแสไฟฟ้าหรือแบตเตอรี่ในการทำงาน คุณแม่บางคนอาจเลือกใช้เครื่องปั๊มนมทั้ง 2 ชนิดสลับกัน เพื่อให้ได้น้ำนมตามปริมาณที่ต้องการ และยังปั๊มนมได้ในกรณีที่ไฟดับหรืออยู่ในบริเวณที่ไม่มีกระแสไฟฟ้า

วิธีปั๊มนมที่ถูกต้อ

ปัจจุบันคุณแม่ส่วนใหญ่นิยมปั๊มนมด้วยเครื่อง เนื่องจากใช้เวลาไม่มาก และได้ปริมาณน้ำนมมากกว่าการปั๊มด้วยมือ โดยการปั๊มนมด้วยมือและการปั๊มนมด้วยเครื่อง มีขั้นตอนดังต่อไปนี้

การปั๊มนมด้วยมือ

  • ล้างมือและขวดนมให้สะอาด
  • นวดหน้าอกหรือใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นประคบบริเวณเต้านม เพื่อช่วยให้น้ำนมไหลได้ดีขึ้น
  • นั่งลงแล้วเอนตัวไปด้านหน้า
  • วางนิ้วโป้งเหนือหัวนม นิ้วชี้อยู่ด้านใต้หัวนม โดยให้นิ้วทั้งสองห่างจากลานหัวนมประมาณ 1 นิ้ว และมืออยู่ในลักษณะรูปตัวซี (C)
  • กดนิ้วทั้งสองลงไปพร้อมกันช้า ๆ เพื่อบีบน้ำนมออกมา หากยังไม่ออกให้ค่อย ๆ ปรับทิศทางจนน้ำนมไหลออกมาอย่างต่อเนื่อง
  • เปลี่ยนบริเวณที่บีบไปรอบ ๆ ลานนม เพื่อไม่ให้รู้สึกเจ็บจากการบีบน้ำนมบริเวณเดิมซ้ำ ๆ
  • เก็บน้ำนมไว้ในบรรจุภัณฑ์หรือขวดนมที่สะอาด

การปั๊มนมด้วยเครื่อง

  • ล้างมือ อุปกรณ์ปั้มนม และขวดนมให้สะอาด
  • วางกรวยเต้าสำหรับปั๊มนมบนหัวนม โดยให้กรวยอยู่ตรงกลางหัวนม
  • ประคองเต้านมด้วยมือข้างเดียว โดยให้นิ้วโป้งอยู่ด้านบน ส่วนนิ้วที่เหลือประคองอยู่ด้านใต้เต้านม และระมัดระวังอย่าออกแรงดันหัวนมกับกรวยเต้านมมากเกินไป เพราะอาจทำให้เกิดรอยที่ผิวบริเวณเต้านมได้
  • ปรับความเร็วและอัตราการปั๊มนมตามคู่มือการใช้เครื่อง โดยควรเริ่มต้นจากอัตราการปั๊มที่ต่ำและเร็ว เมื่อน้ำนมเริ่มไหลอย่างคงที่่ ซึ่งปกติจะใช้เวลาประมาณ1-3 นาที แล้วจึงค่อยปรับความเร็วให้ช้าลงและเพิ่มอัตราการปั๊มขึ้น
  • การปั๊มนมแต่ละครั้งใช้เวลาประมาณ 15-20 นาที เมื่อเรียบร้อยแล้ว ให้ค่อย ๆ นำกรวยเต้าสำหรับปั๊มนมออกจากเต้านม จากนั้นนำน้ำนมที่ได้ไปเก็บไว้ในที่เย็นทันที เพื่อรักษาคุณภาพของน้ำนม
  • ทำความสะอาดเครื่องปั๊มนมตามคู่มือการใช้ และเก็บให้มิดชิดเพื่อป้องกันเชื้อโรคและสิ่งสกปรก

ทั้งนี้ การใช้เครื่องปั๊มนมจะไม่ทำให้คุณแม่รู้สึกเจ็บขณะปั๊ม หากมีอาการเจ็บแสดงว่าขนาดของกรวยเต้าที่ใช้ปั๊มนมนั้นผิดขนาดหรือตั้งอัตราการปั๊มนมสูงเกินไป ทว่าหากลองปรับเปลี่ยนตามนี้แล้วยังรู้สึกเจ็บขณะปั๊มนม ควรไปพบผู้เชี่ยวชาญด้านนมแม่ เพื่อช่วยหาสาเหตุและแนวทางการแก้ไขที่ถูกต้องต่อไป

นมแม่เก็บรักษาอย่างไร ?

หลังจากปั๊มนมเรียบร้อยแล้ว คุณแม่ควรเก็บรักษานมในขวดแก้ว ขวดพลาสติก หรือถุงชนิดปลอดสารบีพีเอ BPA ที่ปิดสนิทโดนทันที จากนั้นควรนำไปแช่เย็นในปริมาณ 60-120 มิลลิลิตรต่อ 1 บรรจุภัณฑ์ นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงการบรรจุนมแม่ในบรรจุภัณฑ์อื่น ๆ ที่ไม่ได้ออกแบบมาสำหรับแช่แข็งหรือใส่น้ำนมแม่ เพราะอาจทำให้คุณภาพของนมลดลงหรือเสียได้

ทั้งนี้ หากทิ้งนมแม่ไว้ระยะหนึ่ง ไขมันที่อยู่ในนมจะแยกตัวจากน้ำนมและลอยขึ้นมาอยู่ด้านบน ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิดปกติ เช่นเดียวกับสีของนมแม่ที่อาจแตกต่างจากสีนมปกติที่มีสีเหลืองนวล โดยเป็นผลจากการรับประทานอาหารหรือใช้ยารักษาโรคบางชนิด อย่างไรก็ตาม ควรสังเกตลักษณะของนมแม่ก่อนนำมาใช้เสมอ ไม่ควรให้เด็กดื่ม หากนมมีกลิ่นเหม็นหรือกลิ่นเปรี้ยวผิดปกติ  โดยระยะเวลาการเก็บรักษานมแม่จะขึ้นอยู่กับลักษณะการเก็บรักษา ดังนี้

  • ในห้องที่มีอุณหภูมิต่ำกว่า 25 องศาเซลเซียส เก็บรักษาได้ไม่เกิน 6 ชั่วโมง
  • ในกระเป๋าเก็บความเย็นที่มีถุงน้ำแข็ง เก็บรักษาได้ไม่เกิน 24 ชั่วโมง
  • ในตู้เย็นช่องปกติ เก็บรักษาได้ประมาณ 3-8 วัน
  • ในช่องแช่แข็ง เก็บรักษาได้ไม่เกิน 6 เดือน

การแช่แข็งอาจทำให้สารภูมิคุ้มกันหรือแอนติบอดีที่อยู่ในนมถูกทำลายได้ หากไม่จำเป็นจึงไม่ควรแช่น้ำนมในช่องแช่แข็ง อย่างไรก็ตาม คุณแม่ให้ลูกดื่มนมแม่ที่แช่แข็งได้ตามปกติ เพราะยังคงมีประโยชน์และคุณค่าทางอาหาร ทั้งยังช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันในการป้องกันโรคที่อาจเกิดกับเด็กได้ เพียงแต่วิธีการนำน้ำนมแช่แข็งมาใช้นั้นควรแกว่งถุงที่ใส่นมเบา ๆ ในน้ำอุ่น หลีกเลี่ยงการใช้น้ำร้อนจัด เพราะอาจทำให้สูญเสียคุณค่าทางอาหาร และไม่ควรอุ่นนมแม่ด้วยเตาไมโครเวฟ เพราะนมจะร้อนเกินไปจนเด็กดื่มไม่ได้ รวมทั้งอาจทำลายสารอาหารที่มีประโยชน์ในน้ำนมอีกด้วย ทั้งนี้ นมแม่ที่นำมาอุ่นแล้วจะอยู่ในอุณหภูมิห้องได้ไม่เกิน 1 ชั่วโมง และนำกลับไปแช่ตู้เย็นได้อีกไม่เกิน 24 ชั่วโมง แต่ไม่อาจนำกลับไปแช่แข็งได้ เพราะจะทำให้นมเสื่อมคุณภาพ