ปวดหัวบ่อย รับมืออย่างไร อาการแบบไหนต้องไปพบแพทย์

หลายคนอาจรู้สึกปวดหัวบ่อย เป็น ๆ หาย ๆ จนกลายเป็นเรื่องปกติไปแล้ว ซึ่งแต่ละคนอาจแก้อาการปวดหัวด้วยวิธีที่แตกต่างกัน เช่น กินยา ดื่มกาแฟ หรืองีบหลับ แต่หากปวดหัวบ่อยจนรบกวนการใช้ชีวิตประจำหรือปวดหัวอย่างรุนแรงก็อาจไม่ใช่เรื่องปกติอีกต่อไป 

อาการปวดหัวเป็นอาการทั่วไปที่เกิดได้กับทุกคน แต่สาเหตุที่ปวดหัวอาจแตกต่างกันไป หากรู้ถึงสาเหตุและชนิดของอาการปวดหัวแล้ว การรักษาจะทำได้อย่างตรงจุดและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ลองมาเช็คกันดูว่าอาการปวดหัวที่พบได้บ่อยมีอะไรบ้าง อาการปวดหัวแบบไหนที่เป็นอันตราย เพื่อช่วยให้คนที่ปวดหัวบ่อยจำแนกอาการในเบื้องต้นและรับมือได้อย่างเหมาะสม 

ปวดหัวบ่อย

อาการปวดหัวที่พบได้บ่อย

อาการปวดหัวมีการแยกประเภทไว้มากมาย แต่อาการปวดหัวที่มักพบได้บ่อยจะเป็นกลุ่มอาการปวดหัวชนิดปฐมภูมิ (Primary Headaches) ซึ่งสามารถแยกย่อยอีกเป็นหลายประเภท และแต่ละประเภทจะมีลักษณะแตกต่างกันไป โดยในบทความนี้จะกล่าวรายละเอียดเฉพาะอาการปวดหัวชนิดปฐมภูมิเท่านี้

ปวดหัวจากความเครียด (Tension Headaches)

อาการปวดหัวประเภทนี้พบได้บ่อยที่สุดและยังไม่สามารถระบุสาเหตุได้แน่ชัด ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอาการปวดไม่มากไปจนถึงอาการปวดระดับกลาง โดยจะเกิดขึ้นกับหัวทั้งสองข้าง รู้สึกปวดตื้อ คล้ายถูกรัดรอบ ๆ หัว บางรายอาจมีอาการปวดบริเวณไหล่และคอร่วมด้วย ในแต่ละครั้งอาจมีอาการปวดติดต่อกัน 30 นาทีไปจนถึงติดต่อกับเป็นสัปดาห์ได้ ซึ่งอาการอาจเกิดเป็นครั้งคราวหรือเกิดขึ้นมากกว่า 15 วันต่อเดือน

ผู้ที่มีอาการปวดหัวจากความเครียดไม่รุนแรงอาจบรรเทาอาการได้ด้วยการกินยาแก้ปวด เช่น ยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) ยาพาราเซตามอล (Paracetamol) หรือยาแอสไพริน (Aspirin) รวมไปถึงควรหลีกเลี่ยงสิ่งที่อาจกระตุ้นและเป็นสาเหตุของอาการ พักผ่อนให้เพียงพอ และกินอาหารให้ครบ เพื่อป้องกันอาการปวดหัวจากความเครียดที่อาจเกิดขึ้น นอกจากนี้ ยังมีการรักษาด้วยการแพทย์ทางเลือกเพื่อช่วยลดความเครียด โดยอาจฝึกไบโอฟีดแบ็ค (Biofeedback) การบำบัดด้วยการนวด การฝังเข็ม หรือผ่อนคลายด้วยวิธีอื่น ๆ 

อาการปวดหัวไมเกรน (Migraines)

ผู้ป่วยจะรู้สึกปวดตั้งแต่ระดับกลางไปจนถึงระดับรุนแรง อาการปวดอาจเกิดกับหัวข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้าง และมักมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น คลื่นไส้ อาเจียน วิงเวียน ไวต่อแสง เสียงหรือกลิ่นรอบข้าง หากทำกิจกรรมเคลื่อนไหวอื่น ๆ อาจทำให้อาการแย่ลง ซึ่งอาการปวดหัวไมเกรนมักจะเกิดขึ้นเนื่องจากสิ่งกระตุ้นเดิมและสาเหตุที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ เช่น สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง ความอ่อนเพลีย ความเครียด ความวิตกกังวลหรือภาวะซึมเศร้า การกินอาหารบางประเภท และภาวะอ้วน เป็นต้น อาการปวดอาจนานอยู่หลายชั่วโมงจนถึงหลายวัน และอาจกลายเป็นปวดหัวไมเกรนแบบเรื้อรัง

การรักษาจะเน้นไปที่การบรรเทาอาการปวดและป้องกันปัจจัยที่ทำให้เกิดอาการ ในเบื้องต้นควรสังเกตสิ่งกระตุ้นที่ก่อให้เกิดอาการปวดหัวและให้หลีกเลี่ยงสิ่งนั้น นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ดื่มน้ำสะอาด กินยาพาราเซตามอลหรือยาระงับปวดที่หาซื้อได้ทั่วไป ซึ่งการกินยาทันทีเมื่อมีอาการปวดไมเกรนจะช่วยให้ประสิทธิภาพของยาในการบรรเทาอาการปวดได้ดียิ่งขึ้น

ในกรณีที่มีอาการปวดรุนแรง แพทย์อาจสั่งจ่ายยาในกลุ่มทริปแทน (Triptans) ที่ช่วยบรรเทาอาการปวดได้อย่างรวดเร็ว แต่ยากลุ่มนี้อาจส่งผลต่อการไหลเวียนเลือดไปยังหัวใจและศีรษะ ผู้ที่ใช้ยารักษาโรคซึมเศร้ากลุ่มเอสเอสอาร์ไอ (Selective Serotonin Reuptake Inhibitors) ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาทริปแทนและผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจไม่ควรใช้ยาชนิดนี้ นอกจากนี้ แพทย์อาจจ่ายยาบรรเทาอาการคลื่นไส้อาเจียนหรือยาชนิดอื่นเพื่อลดอาการที่เกิดร่วมกับอาการปวดหัวไมเกรนในบางราย 

อาการปวดหัวแบบคลัสเตอร์ (Cluster Headache)

อาการปวดหัวแบบคลัสเตอร์เป็นอาการที่พบได้น้อย แต่มีความรุนแรงและเกิดขึ้นอย่างฉับพลันเป็นเวลาครั้งละ 30–60 นาที มักพบได้ในวัยกลางคนที่สูบบุหรี่ ผู้ป่วยจะมีอาการปวดหัวเกิดขึ้นหลายครั้งติดต่อกัน เป็นเวลาหลายสัปดาห์หรือหลายเดือน โดยมักจะปวดหัวอย่างรุนแรงที่บริเวณหลังเบ้าตาข้างใดข้างหนึ่ง และอาจมีอาการอื่นเกิดขึ้นในข้างที่มีอาการปวดหัว เช่น ตาแดง น้ำตาไหล หนังตาตก หรือน้ำมูกไหล เป็นต้น

อาการปวดหัวแบบคลัสเตอร์บรรเทาได้ด้วยการสูดดมออกซิเจนที่มีความเข้มข้นสูงและการใช้ยาชนิดต่าง ๆ เช่น ยากลุ่มทริปแทน (Triptans) ยาชาเฉพาะที่ (Local Anesthetics) หรือยาไดไฮโดรเออร์โกตามีน (Dihydroergotamine) เป็นต้น

ปวดหัวบ่อย มีวิธีป้องกันอย่างไร 

หากมีอาการปวดหัวบ่อยอาจบรรเทาและป้องกันได้ด้วยวิธีต่อไปนี้

  • สังเกตและหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่ก่อให้เกิดอาการปวดหัว โดยจดบันทึกรายละเอียดของอาการที่เกิดขึ้น เช่น ช่วงเวลา ปัจจัยที่อาจเกี่ยวข้อง ระยะเวลาที่มีอาการปวด เป็นต้น 
  • ไม่ควรใช้ยาเกินขนาด เพราะการใช้ยาแก้ปวดบ่อยครั้งอาจส่งผลให้มีอาการปวดหัวบ่อยและรุนแรงขึ้น โดยควรขอคำแนะนำจากแพทย์โดยตรงในการบรรเทาอาการปวดด้วยวิธีอื่น ๆ ร่วมด้วย
  • พักผ่อนให้เพียงพอ โดยเวลาพักผ่อนที่เหมาะสมในวัยผู้ใหญ่คือ 7–8 ชั่วโมงต่อคืน ควรเข้านอนและตื่นนอนในเวลาเดิมทุกวัน
  • ไม่ควรอดอาหาร เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพในเวลาใกล้เคียงกันในแต่ละมื้อของทุกวัน 
  • หากเป็นโรคอ้วนหรือมีปัญหาน้ำหนักมากเกินไปควรควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
  • ออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมต่าง ๆ อย่างสม่ำเสมอเพื่อลดความเครียด เช่น การเดิน ว่ายน้ำ หรือปั่นจักรยาน เป็นต้น
  • ลดความเครียดด้วยการจัดตารางเวลาของกิจกรรมต่าง ๆ ให้เป็นระบบ หรือทำกิจกรรมที่ช่วยให้ผ่อนคลาย เช่น เล่นโยคะหรือทำสมาธิ เป็นต้น
  • หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน หรือลดปริมาณการดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนเนื่องจากอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้อาการปวดหัวมีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ยังมีวิธีอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น การฝังเข็ม การแพทย์ทางเลือก การทำจิตบำบัด นวดผ่อนคลายและการออกกำลังกายเพื่อการบำบัดรักษา 

ส่วนใหญ่แล้วอาการปวดหัวมักเกิดขึ้นเป็นครั้งคราวและหายไปเองโดยไม่ต้องรักษา แต่หากรู้สึกปวดหัวบ่อยครั้งมากขึ้น อาการปวดส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน การทำงาน หรือการทำกิจกรรมต่าง ๆ ต้องรับประทานยาแก้ปวดติดต่อกันเป็นเวลาหลายวัน อาการปวดหัวรุนแรงมากขึ้นหรือลักษณะอาการปวดหัวเปลี่ยนแปลงไป ควรไปพบแพทย์

ในกรณีทีมีอาการปวดหัวอย่างฉับพลันและรุนแรง ปวดหัวหลังได้รับการกระทบกระเทือนหรืออุบัติเหตุบริเวณหัว ปวดหัวร่วมกับมีอาการมึนงง ชัก มองเห็นภาพซ้อน อ่อนแรง รู้สึกชา ไม่สามารถพูดได้ตามปกติ หรือมีอาการปวดที่รุนแรงขึ้นแม้จะดูแลตนเองในเบื้องต้นแล้ว ควรพบแพทย์ทันที เพราะอาจเป็นอาการเสี่ยงที่ทำให้เกิดอันตรายต่อชีวิตและสุขภาพของผู้ป่วยได้