ตาปลาที่นิ้วมือเกิดจากอะไร รับมืออย่างไรดี

ตาปลาที่นิ้วมือพบได้บ่อยเช่นเดียวกับนิ้วเท้าหรือฝ่าเท้า สามารถสังเกตได้จากการมีตุ่มขนาดไม่ใหญ่มากขึ้นที่บริเวณนิ้วมือ ตุ่มจะมีลักษณะแข็ง หยาบกร้าน ผิวแห้งเป็นขุยหรือมีลักษณะคล้ายกับขี้ผึ้ง เมื่อกดแล้วอาจรู้สึกเจ็บร่วมด้วย 

แม้ตาปลาที่นิ้วมือจะไม่ใช่อาการที่รุนแรง แต่สามารถส่งผลต่อรูปลักษณ์ของนิ้วมือ ทำให้ดูไม่สวยงาม อีกทั้งอาจสร้างความรำคาญในการใช้ชีวิตประจำวันให้กับผู้ที่เป็นได้ เนื่องจากทำให้หยิบจับของไม่สะดวก และอาจสร้างความเจ็บปวดบริเวณที่เป็นตาปลาที่นิ้วมือได้ด้วย บทความนี้จะพาไปหาสาเหตุที่แท้จริงว่าตาปลาที่นิ้วมือเกิดจากอะไร มีวิธีรักษาและป้องกันด้วยตัวเองอย่างไรบ้าง

ตาปลาที่นิ้วมือเกิดจากอะไร รับมืออย่างไรดี

ตาปลาที่นิ้วมือเกิดจากอะไร

ตาปลาเกิดจากการที่ผิวหนังได้รับการเสียดสีหรือแรงกดจนผิวหนาตัวหรือด้านขึ้น สามารถเกิดได้ที่ผิวหนังทุกส่วนของร่างกายที่โดนแรงกดหรือเสียดสีซ้ำ ๆ เป็นเวลานาน ส่วนมากมักเกิดจากกิจกรรมที่ต้องใช้มือจับอุปกรณ์หรือเครื่องมือบางประเภทโดยไม่ได้สวมถุงมือป้องกัน โดยกิจกรรมที่มักนำไปสู่การเกิดตาปลาที่นิ้วมือ เช่น 

  • การใช้เครื่องมือช่าง อุปกรณ์ก่อสร้าง อุปกรณ์ทำสวน และการยกของหนัก
  • การเล่นกีฬาบางประเภท เช่น เล่นดัมเบลล์ ยกน้ำหนัก
  • การเล่นเครื่องดนตรีบางประเภท เช่น กีตาร์ 
  • การจับดินสอหรือปากกาเป็นเวลานานหรือการจับที่ผิดวิธี

วิธีดูแลตนเองเมื่อเป็นตาปลาที่นิ้วมือ

โดยส่วนใหญ่ตาปลาที่นิ้วมือมักมีอาการไม่รุนแรง และหายได้เองภายในเวลา 2–3 เดือนหากหยุดทำกิจกรรมที่เป็นสาเหตุของการเกิดตาปลา โดยทั่วไปสามารถรักษาให้อาการดีขึ้นได้ด้วยตัวเองดังนี้

ขัดผิวหนังที่แข็งด้านออก 

ให้แช่ฝ่ามือในน้ำอุ่นประมาณ 5–10 นาทีเพื่อให้ผิวหนังนุ่มลง จากนั้นใช้ตะไบขัดผิวหนังออกเบา ๆ ไปในทิศทางเดียวกัน และห้ามใช้สิ่งของมีคมตัดหรือโกนผิวหนังบริเวณที่เป็นตาปลาออกเพราะอาจทำให้แผลติดเชื้อ

ให้ความชุ่มชื้นแก่ผิวหนัง 

ให้ทาครีมหรือโลชั่นบริเวณผิวหนังที่แข็งด้านทุกวัน และอาจใช้ยารักษาอาการทางผิวหนังที่มีส่วนประกอบของกรดซาลิไซลิก (Salicylic Acid) หรือยูเรียครีม (Urea Cream) ที่ขายตามร้านขายยาทั่วไปก็ได้เช่นเดียวกัน แต่ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนการใช้ 

ป้องกันการเสียดสี 

ควรสวมถุงมือระหว่างทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันเพื่อช่วยลดการเสียดสีในบริเวณที่เป็นตาปลา หรือใช้แผ่นปิดตาปลาที่ทั้งช่วยลดการเสียดสีและมีตัวยาสำหรับรักษาตาปลาโดยเฉพาะ

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีผิวหนังบอบบาง เป็นโรคเบาหวาน มีการไหลเวียนของเลือดที่ไม่ดี หรือมีโรคประจำตัวที่ทำให้เกิดการติดเชื้อได้ง่าย ควรไปพบแพทย์ ไม่ควรรักษาตาปลาด้วยตัวเอง และในกรณีของคนทั่วไปหากดูแลตาปลาด้วยตัวเองแล้วไม่หายหรือมีอาการรุนแรงขึ้น เช่น ผิวหนังบวมแดง มีหนอง หรือมีอาการปวดมาก ควรไปพบแพทย์เช่นเดียวกัน

ทิปง่าย ๆ ในการป้องกันการเกิดตาปลาที่นิ้วมือ

วิธีป้องกันการเกิดตาปลาที่นิ้วมือจะเน้นไปที่การลดแรงกดหรือลดการเสียดสีบริเวณนิ้วมือในระหว่างที่ทำกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อลดโอกาสในการเกิดตาปลาได้ดังนี้

  • สวมถุงมือในระหว่างการทำงาน โดยเฉพาะผู้ที่มีอาชีพเกี่ยวกับการยกของหนัก การใช้เครื่องมือช่าง อุปกรณ์ก่อสร้าง และอุปกรณ์ทำสวน
  • สวมอุปกรณ์ป้องกันในระหว่างการเล่นกีฬาหรือเครื่องดนตรีบางชนิด เช่น ถุงมือออกกำลังกายสำหรับผู้ที่เล่นดัมเบลล์ ปลอกซิลิโคนสวมนิ้วมือสำหรับผู้ที่เล่นกีตาร์
  • จับดินสอหรือปากกาให้ถูกวิธี หากต้องเขียนหนังสือติดต่อกันเป็นเวลานานควรใส่ปลอกยางหุ้มที่ด้ามจับดินสอหรือปากกาเพื่อลดการเสียดสีบริเวณนิ้วมือ
  • ทาครีมบำรุงหรือโลชั่นที่มือเป็นประจำ เพื่อให้ความชุ่มชื้นแก่ผิว

อย่างไรก็ตาม หากรักษาตาปลาด้วยตัวเองแล้วไม่หายหรืออาการแย่ลงควรรีบไปพบแพทย์ เพราะบางครั้งแผลตาปลาอาจติดเชื้อ ทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพในด้านอื่น ๆ ได้