ดีท็อกลำไส้ มีประโยชน์ต่อสุขภาพจริงหรือ ?

ดีท็อกลำไส้ แต่เดิมเป็นขั้นตอนทางการแพทย์ เพื่อเตรียมผู้ป่วยก่อนส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่และทวารหนัก ซึ่งการแพทย์ทางเลือกได้นำวิธีนี้มาปรับใช้ เพื่อขจัดสารพิษตกค้างในร่างกายที่เกิดจากการรับประทานอาหารต่าง ๆ เข้าไป โดยมีทฤษฎีที่เชื่อว่าเนื้อสัตว์หรืออาหารอื่น ๆ ที่รับประทานเข้าไปบางส่วนไม่สามารถถูกย่อยได้ จึงเกิดเมือกสะสมในลำไส้แล้วก่อให้เกิดสารพิษเข้าสู่ระบบไหลเวียนเลือดจนอาจเกิดพิษต่อร่างกาย ซึ่งการทำดีท็อกลำไส้อาจช่วยขจัดสารพิษหรือสิ่งตกค้างเหล่านั้นได้ แต่ความเชื่อดังกล่าวจะเป็นจริงหรือไม่ ศึกษาเพิ่มเติมได้จากข้อมูลต่อไปนี้

1840 ดีท็อกลำไส้ rs

ดีท็อกลำไส้เป็นอย่างไร ?

ดีท็อกลำไส้เป็นขั้นตอนทางการแพทย์ที่ทำเพื่อกำจัดสิ่งที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย เช่น สารพิษ ยา แอลกอฮอล์ เป็นต้น โดยมักทำในสถานพยาบาล แต่ในปัจจุบันได้มีผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับการดีท็อกลำไส้ออกมาวางตลาดเป็นจำนวนมากและเป็นที่รู้จักในวงกว้าง ทำให้คนทั่วไปสามารถเข้าถึงการทำดีท็อกลำไส้ตามความเชื่อต่าง ๆ ได้ด้วยตนเอง

ประเภทของดีท็อกลำไส้

การสวนล้างสำไส้

วิธีนี้อาจคล้ายกับการสวนทวารหนัก แต่การสวนล้างลำไส้ใช้น้ำในปริมาณมากกว่า โดยใช้อุปกรณ์ปั๊มน้ำแรงดันต่ำผ่านเข้าสู่ท่อขนาดเล็กแล้วสอดเข้าไปในทวารหนักของผู้ป่วยในท่านอน ซึ่งทำให้สามารถล้างของเหลวและของเสียออกจากลำไส้ได้ โดยขั้นตอนทั้งหมดอาจใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง

การใช้อาหารเสริม

เป็นการดีท็อกลำไส้ด้วยวิธีรับประทานอาหารเสริมชนิดผงหรือน้ำ เพื่อขับของเสียที่อยู่ภายในลำไส้ออกมา เช่น ยาระบาย ชาสมุนไพร ยาสวนทวารหนัก เอนไซม์ แมกนีเซียม เป็นต้น ซึ่งสามารถหาซื้ออาหารเสริมเหล่านี้ได้ทั่วไปตามห้างร้านหรือร้านขายยา แต่ควรอ่านฉลากกำกับและปรึกษาเภสัชกรให้ถี่ถ้วนก่อนใช้เสมอ

ดีท็อกลำไส้ จำเป็นหรือไม่ มีประโยชน์ต่อร่างกายจริงหรือ ?

บางคนอาจสงสัยว่าการดีท็อกลำไส้นั้นมีความจำเป็นมากน้อยเพียงใด ในความเป็นจริงแล้ว ร่างกายของคนเราสามารถกำจัดสารตกค้างและสารพิษบางอย่างได้ เช่น สารอนุมูลอิสระ เป็นต้น อีกทั้งโดยทั่วไปคนสามารถลดปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพได้ โดยเลือกรับประทานอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย ดื่มน้ำในปริมาณที่เหมาะสม ออกกำลังกายเป็นประจำ และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ 

แม้จะมีความเชื่อว่าการดีท็อกลำไส้ทำให้เกิดประโยชน์ต่อสุขภาพหลายอย่าง จนอาจมีคนนำวิธีการนี้ไปใช้กันอย่างแพร่หลาย เช่น อาจช่วยทำความสะอาดสารพิษที่เกาะอยู่บริเวณผนังลำไส้ ช่วยให้ร่างกายทำงานได้ดีขึ้น ช่วยทำให้อารมณ์ดี มีระบบภูมิคุ้มกันที่ดีขึ้น ช่วยลดน้ำหนัก ตลอดจนอาจช่วยลดความเสี่ยงการเกิดมะเร็งลำไส้ได้ เป็นต้น แต่ขณะนี้ก็ยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์และการแพทย์ที่ชัดเจนพอจะยืนยันได้ถึงประโยชน์และความจำเป็นในการทำดีท็อกลำไส้ นอกจากนี้ การทำดีท็อกลำไส้อาจทำให้เสี่ยงเผชิญภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ได้ด้วยเช่นกัน

ความเสี่ยงของการทำดีท็อกลำไส้

การทำดีท็อกลำไส้บางวิธีต้องให้น้ำจำนวนมากเข้าไปภายในลำไส้และต้องสอดท่อเข้าไปทางทวารหนัก จึงอาจเสี่ยงเกิดบาดแผลฉีกขาดที่ทวารหนักได้

นอกจากนี้ การดีท็อกลำไส้ก็สามารถทำให้เกิดอันตรายอื่น ๆ ได้ด้วย เช่น

  • อาเจียน เวียนศีรษะ
  • เป็นตะคริว
  • ท้องอืด ท้องเสีย
  • เกลือแร่ในร่างกายขาดสมดุล
  • ร่างกายมีปัญหาในการดูดซึมยา
  • เกิดการติดเชื้อ
  • เผชิญภาวะขาดน้ำ
  • ลำไส้ทะลุ
  • ไตวาย
  • น้ำท่วมปอด

ข้อควรระวังในการดีท็อกลำไส้

ก่อนทำดีท็อก ควรศึกษาข้อมูลให้ดี และปรึกษาแพทย์หรือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องให้ทราบเกี่ยวกับการใช้ยาหรือปัญหาสุขภาพใด ๆ ซึ่งแพทย์อาจสั่งห้ามผู้ป่วยบางรายทำดีท็อกลำไส้ เช่น ผู้ป่วยโรคโครห์น โรคริดสีดวงทวารระยะรุนแรง โรคถุงผนังลำไส้ใหญ่อักเสบ โรคลำไส้ใหญ่อักเสบชนิดเป็นแผล โรคหัวใจ โรคไต มีเนื้องอกหรือมะเร็งลำไส้ เคยผ่าตัดลำไส้ เป็นต้น

นอกจากนี้ หากต้องการทำดีท็อกลำไส้ ควรเลือกสถานประกอบการที่มีเจ้าหน้าที่ที่น่าเชื่อถือ มีการใช้อุปกรณ์ที่สะอาดและไม่นำอุปกรณ์นั้นมาใช้ซ้ำ รวมถึงควรตรวจสอบส่วนผสมและปริมาณของสมุนไพรหรือผลิตภัณฑ์ดีท็อกชนิดต่าง ๆ เนื่องจากส่วนผสมบางอย่างอาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพตามมาได้

การดูแลสุขภาพลำไส้โดยไม่พึ่งดีท็อก

เพื่อป้องกันปัญหาสุขภาพลำไส้อย่างท้องเสีย ท้องอืด หรือท้องผูก ล้างสารพิษตกค้างที่เกิดจากการรับประทานอาหาร หรือคงสุขภาพที่ดีจากภายในร่างกาย วิธีที่ดีที่สุดก็คือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร ซึ่งจะช่วยทำความสะอาดลำไส้ กระตุ้นให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้ดีขึ้น และกำจัดของเสียออกไปจากร่างกาย โดยสามารถทำได้ด้วยวิธีดังต่อไปนี้

  • รับประทานอาหารที่มีไฟเบอร์สูง เช่น ข้าวกล้อง ข้าวโอ๊ต บร็อคโคลี่ ผักคะน้า แก้วมังกร มะละกอ ราสเบอร์รี่ นม และผักใบเขียวต่าง ๆ เป็นต้น
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานเนื้อแดงในปริมาณมากเกินไป
  • ดื่มน้ำมาก ๆ ให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย
  • จำกัดปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์ และหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่