ดีท็อก ล้างพิษ ลดน้ำหนัก ดีต่อสุขภาพจริงหรือ ?

หลายคนอาจเคยได้ยินกระแสดีท็อกล้างพิษ (Detox) ซึ่งเชื่อกันว่าการดีท็อกสามารถช่วยขจัดสารพิษตกค้างในร่างกายและช่วยลดน้ำหนักได้ โดยวิธีการเริ่มต้นด้วยการอดอาหาร ตามด้วยการรับประทานผัก ผลไม้สด รวมทั้งดื่มน้ำผลไม้และน้ำเปล่า ทว่าวิธีการนี้จะได้ผลจริงหรือไม่ และจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพอย่างไร ควรศึกษาข้อมูลให้ถี่ถ้วนก่อนทดลองทำดีท็อกด้วยตนเอง

1609 Resized ดีท็อก

ดีท็อกเป็นอย่างไร ?

ดีท็อก เป็นกระบวนการกำจัดสารพิษออกจากร่างกาย เพราะปกติแล้วร่างกายของเราจะได้รับสารเคมีที่เป็นพิษจากสิ่งแวดล้อมและอาหารต่าง ๆ ที่บริโภคเข้าไป เช่น สารมลพิษ สารสังเคราะห์ทางเคมี โลหะหนัก และสารเคมีชนิดต่าง ๆ เป็นต้น ซึ่งวิธีการดีท็อกมีหลายรูปแบบ แต่โดยทั่วไปแล้วมักเป็นการอดอาหารและควบคุมชนิดของอาหารที่รับประทาน โดยอาหารที่สามารถรับประทานได้ระหว่างการทำดีท็อก คือ ผัก ผลไม้ น้ำผลไม้ น้ำสะอาด ชา สมุนไพร และอาหารเสริม รวมทั้งอาจต้องสวนทวารหนักเพื่อล้างลำไส้ด้วย

โดยคำกล่าวอ้างถึงประโยชน์ของการดีท็อก มีดังนี้

  • อวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายได้พักผ่อนจากการอดอาหาร
  • กระตุ้นตับให้ขับสารพิษและของเสียออกจากร่างกาย
  • กระตุ้นให้ร่างกายขจัดสารพิษออกทางอุจจาระ ปัสสาวะ และเหงื่อ
  • ช่วยส่งเสริมระบบการไหลเวียนของเลือด
  • ช่วยส่งเสริมสุขภาพให้ดีขึ้น โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคเบาหวาน โรคภูมิคุ้มกันต้านตนเอง โรคภูมิแพ้ โรคอ่อนเพลียเรื้อรัง รวมทั้งผู้ที่มีอาการท้องอืดและมีปัญหาเกี่ยวกับระบบย่อยอาหาร 

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานสนับสนุนใดที่ชี้ว่าการดีท็อกจะมีประสิทธิผลต่อสุขภาพ ผู้ที่ต้องการทำดีท็อกจึงควรระมัดระวังหรือปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ เพื่อวางแผนการรับประทานอาหารให้เหมาะสมกับสุขภาพร่างกายของตน

ดีท็อก มีวิธีการอย่างไร ?

การดีท็อกนั้นมีหลายรูปแบบตามระดับความเข้มข้นและระยะเวลาในการทำ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วมักประกอบไปด้วยวิธีใดวิธีหนึ่งต่อไปนี้เป็นอย่างน้อย

  • อดอาหารเป็นเวลา 1-3 วัน
  • ดื่มน้ำสะอาด ชา และน้ำผักผลไม้สด
  • เลือกดืื่มเครื่องดื่มชนิดใดชนิดหนึ่งเป็นพิเศษ เช่น น้ำเกลือ หรือน้ำมะนาว เป็นต้น
  • รับประทานอาหารเสริมหรือสมุนไพร
  • งดรับประทานอาหารที่มีโลหะหนัก มีสิ่งปนเปื้อน หรือสารก่อภูมิแพ้
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
  • ใช้ยาระบาย อาหารเสริมสำหรับล้างลำไส้ หรือใช้วิธีสวนอุจจาระ
  • หลีกเลี่ยงอาหารที่เป็นสารก่อภูมิแพ้ทั้งหมด แล้วค่อย ๆ เริ่มรับประทานอาหารดังกล่าวอีกครั้ง
  • งดเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล แอลกอฮอล์ และกาแฟ
  • เลิกสูบบุหรี่

ดีท็อก ดีจริงหรือ ?

ปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนประสิทธิภาพของการดีท็อกต่อการลดน้ำหนักหรือประโยชน์ต่อสุขภาพแต่อย่างใด แต่มีงานวิจัยหนึ่งที่พบว่า การลดน้ำหนักด้วยการควบคุมอาหารพร้อมกับการดีท็อกนั้นอาจให้ผลลัพธ์ที่ดี โดยนักวิจัยได้แบ่งหนูทดลองออกเป็น 2 กลุ่ม โดยให้กลุ่มแรกได้รับอาหารที่มีไขมันต่ำและอีกกลุ่มได้รับอาหารที่มีไขมันสูงเป็นเวลา 10-12 สัปดาห์เท่ากัน หลังจากนั้นได้หยุดให้อาหารหนูทดลองทั้ง 2 กลุ่มเป็นเวลา 24 ชั่วโมง พบว่าหนูที่ได้รับอาหารไขมันต่ำมีน้ำหนักตัวลดลงถึง 18 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเปรียบเทียบกับหนูทดลองที่ได้รับอาหารไขมันสูงซึ่งมีน้ำหนักตัวลดลงเพียง 5 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ทว่าข้อมูลจากงานวิจัยดังกล่าวเป็นเพียงการทดลองในสัตว์เท่านั้น จึงไม่อาจนำมาใช้ยืนยันว่าการดีท็อกนั้นจะช่วยลดน้ำหนักในคนได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงต้องมีการศึกษาระยะยาวกับกลุ่มคนจำนวนมากต่อไป เพื่อยืนยันประสิทธิผลของดีท็อก ทั้งในแง่ของการช่วยลดน้ำหนัก การล้างสารพิษ รวมถึงความปลอดภัยของวิธีการนี้ด้วย

ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพทำดีท็อกได้หรือไม่ ?

การดีท็อกอาจส่งผลเสียและเป็นอันตรายต่อผู้ที่มีปัญหาสุขภาพได้ เพราะในปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ยืนยันว่าการดีท็อกส่งผลดีต่อสุขภาพด้านต่าง ๆ ได้ เช่น สุขภาพหัวใจ ความดันโลหิต และระดับคอเลสเตอรอลในร่างกาย เป็นต้น นอกจากนี้ การจำกัดชนิดของอาหารที่รับประทานอาจทำให้ผู้ที่รับประทานยารักษาโรคเบาหวานเสี่ยงต่อภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำได้

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการดีท็อกด้วยการจำกัดประเภทของอาหารที่บริโภคอาจจะส่งผลเสียต่อสุขภาพ แต่การดีท็อกด้วยการเน้นรับประทานอาหารที่ผ่านการแปรรูปน้อยหรืออาหารคลีนนั้นอาจส่งผลดีต่อสุขภาพสำหรับผู้ที่มีระดับคอเลสเตอรอลในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง รวมทั้งผู้ป่วยโรคเบาหวานและโรคหัวใจ ทั้งนี้ เพื่อความปลอดภัย ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพ มีโรคประจำตัว หรือภาวะเจ็บป่วยใด ๆ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนตัดสินใจดีท็อก เพื่อวางแผนกำหนดอาหารที่ควรรับประทานและเลือกวิธีที่เหมาะสมกับตนเอง

เคล็ดลับล้างพิษในร่างกายด้วยตนเอง

แนวทางปฏิบัติต่อไปนี้เป็นวิธีที่สามารถทำได้ง่าย ๆ ด้วยตัวเอง และอาจช่วยกำจัดสิ่งตกค้างและสารพิษต่าง ๆ ในร่างกาย

  • ดื่มน้ำให้มากขึ้นในปริมาณที่เหมาะสม
  • รับประทานผักและผลไม้ 5-9 ส่วน/วัน โดยเฉพาะผักใบเขียว ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ ต้นหอม หอมหัวใหญ่ ขมิ้น และกระเทียม
  • รับประทานธัญพืชและถั่วเพิ่มมากขึ้น
  • รับประทานอาหารหมักดองที่มีประโยชน์ เช่น โยเกิร์ต หรือกิมจิ เป็นต้น เพื่อหลีกเลี่ยงสารพิษจากจุลินทรีย์
  • รับประทานอาหารเสริมหากร่างกายขาดสารอาหารบางชนิดแล้วไม่สามารถทดแทนได้อย่างเพียงพอจากการรับประทานอาหารตามปกติ โดยควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนบริโภคอาหารเสริมชนิดใดเสมอ