ฉีดยาคุม เรื่องควรรู้เพื่อการคุมกำเนิด

ฉีดยาคุม (Contraceptive Injection) คือ วิธีคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพสูง ช่วยป้องกันการตั้งครรภ์ได้ในระยะเวลา 1 หรือ 3 เดือนหลังจากฉีด ขึ้นอยู่กับชนิดของยา การฉีดยาคุมกำเนิดนั้นจะไม่ได้ช่วยป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ดังนั้น ถ้าต้องการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ด้วยควรใช้ถุงยางอนามัย

ฉีดยาคุม

ในปัจจุบัน ยาคุมกำเนิดที่นิยมใช้แบ่งออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่

  • เมดรอกซีโปรเจสเทอโรน (Medroxyprogesterone) เป็นยาคุมกำเนิดชนิดฉีด ผลิตจากฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ช่วยยับยั้งการตั้งครรภ์ โดยฮอร์โมนดังกล่าวจะกระตุ้นให้ผนังมดลูกหนาขึ้น ทำให้ไข่ที่ผ่านการปฏิสนธิแล้วไม่สามารถเกาะตัวได้ง่าย
  • เมดรอกซีโปรเจสเตอโรน (Medroxyprogesterone) และเอสทราดิอัล ไซพิโอเนท (Estradiol Cypionate) เป็นยาคุมกำเนิดชนิดฉีดที่ประกอบด้วยฮอร์โมน 2 ชนิด คือ โปรเจสเตอโรน และเทสโทสเตอโรน ยาคุมกำเนิดชนิดนี้ช่วยให้ไข่ที่ผลิตมาจากรังไข่นั้นไม่เจริญเติบโต ทำให้ไม่สามารถผสมกับอสุจิและรับการปฏิสนธิได้ ยานี้จะช่วยให้ประจำเดือนมาอย่างสม่ำเสมอมากขึ้น

ในเรื่องของประสิทธิภาพการฉีดยาคุม ช่วยป้องกันการตั้งครรภ์ได้สูงถึง 99% ทั้งนี้ ผู้ใช้จะต้องเข้ารับการฉีดยาคุมอย่างสม่ำเสมอ ตรงตามนัดของแพทย์ เพราะการฉีดยาคุมกำเนิดที่ไม่ตรงตามกำหนดอาจจะทำให้โอกาสการตั้งครรภ์เพิ่มสูงขึ้นได้

ฉีดยาคุม มีผลดีอย่างไร ?

การฉีดยาคุมกำเนิดเป็นวิธีคุมกำเนิดที่ได้ผล และมีผลดีต่อสุขภาพของผู้หญิงหลายด้าน อีกทั้งเป็นวิธีที่สะดวก เพราะไม่ต้องรับประทานยาคุมที่อาจเสี่ยงต่อการลืมหรือการแพ้ยา เพียงแต่จะต้องฉีดยาคุมตามกำหนดเพื่อให้ยามีประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดได้อย่างเต็มที่และต่อเนื่อง โดยผลดีที่จะได้รับจากการฉีดยาคุมกำเนิดได้แก่

  • คุมกำเนิดได้ยาวนานต่อเนื่อง 1-3 เดือน แล้วแต่ชนิดยา โดยไม่ต้องรับประทานยาทุกวัน
  • ไม่รบกวนต่อการมีเพศสัมพันธ์
  • ยาคุมแบบฉีดชนิดเมดรอกซีโปรเจสเทอโรน สามารถใช้ได้แม้อยู่ในช่วงให้นมบุตร
  • ช่วยแก้ปัญหารอบเดือนที่ผิดปกติได้ เช่น กลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน (PMS) ประจำเดือนมามากกว่าปกติ และมีอาการเจ็บปวดขณะมีประจำเดือน รวมทั้งเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่
  • ช่วยลดความเสี่ยงมะเร็งที่ผนังมดลูก ซีสต์ที่รังไข่ และการตั้งครรภ์นอกมดลูกได้
  • หากต้องการหยุดคุมกำเนิดก็ไม่จำเป็นต้องพบแพทย์ แค่เพียงรอให้ยาครบกำหนด ประสิทธิภาพก็จะค่อย ๆ หมดไปเอง

ฉีดยาคุม มีผลเสีย และผลข้างเคียงอย่างไรบ้าง ?

เช่นเดียวกับยาคุมกำเนิดทั่ว ๆ ไป การฉีดยาคุมยังคงมีข้อเสียในการใช้อยู่บ้าง เนื่องจากประสิทธิภาพของยาคุมชนิดฉีดเกิดขึ้นเพียงในระยะเวลาสั้น ๆ 1-3 เดือนเท่านั้น โดยผลเสียที่อาจเกิดขึ้นกับผู้ที่ใช้การฉีดยาคุมคือ

  • ต้องฉีดยาคุมกำเนิดอย่างต่อเนื่อง การฉีดยาคุมกำเนิดป้องกันได้ไม่เกิน 3 เดือน หากต้องการใช้วิธีนี้คุมกำเนิดอย่างต่อเนื่องจะต้องไปฉีดยาคุมให้ตรงตามกำหนดเพื่อรักษาประสิทธิภาพของยาไว้
  • อาจเกิดผลข้างเคียงแม้หยุดใช้แล้ว แม้จะหยุดใช้ แต่ผลข้างเคียงที่เกิดจากการใช้ยา อาจส่งผลต่อไปอีกระยะหนึ่งกว่าระดับฮอร์โมนในร่างกายจะเป็นปกติ
  • ประสิทธิภาพของยากินเวลานานกว่ายาคุมชนิดรับประทาน แม้จะหยุดฉีดยาคุมแล้ว แต่ก็ต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งจึงจะสามารถตั้งครรภ์ได้ โดยปกติอาจใช้เวลา 6-8 เดือน แต่บางรายอาจต้องใช้เวลานับปีกว่าจะกลับมาตั้งครรภ์ได้ ซึ่งอาการนี้เกิดขึ้นได้กับทุกคนที่ใช้ยาคุมกำเนิดแบบฉีด ไม่ว่าจะใช้ติดต่อกันมานานหรือไม่
  • ประจำเดือนผิดปกติ การฉีดยาคุมกำเนิดชนิดเมดรอกซีโปรเจสเทอโรนติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจส่งผลให้ประจำเดือนผิดปกติ เช่น ประจำเดือนมามากกว่าปกติ หรือน้อยกว่าปกติ ในผู้หญิงบางคนหลังจากใช้ติดต่อกันมามากกว่า 1 ปี ประจำเดือนจะหายไป
  • เป็นโรคกระดูกพรุน การใช้ยาคุมกำเนิดแบบฉีดชนิดเมดรอกซีโปรเจสเทอโรนติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจส่งผลต่อกระดูก ทำให้มวลกระดูกลดลงได้ แต่ก็จะกลับสู่ภาวะปกติ หากหยุดใช้

นอกจากนี้ ยังอาจมีผลข้างเคียงที่ผู้ใช้ควรระมัดระวัง และควรสังเกตอาการหลังจากการฉีดอย่างสม่ำเสมอ ได้แก่

  • ยาคุมกำเนิดชนิดเมดรอกซีโปรเจสเทอโรน จะทำให้ผู้ใช้มีประจำเดือนมามาก และกินเวลายาวกว่าปกติ บางรายประจำเดือนอาจเว้นช่วงนานกว่าที่ควรจะเป็น หรือไม่มีประจำเดือนเลย
  • ปวดศีรษะ
  • ปวดท้อง
  • มีอาการอ่อนแรง หรืออ่อนเพลียมากกว่าปกติ
  • วิงเวียนศีรษะ
  • น้ำหนักเพิ่ม

ทั้งนี้ ผู้ที่ฉีดยาคุมกำเนิด หากมีเลือดออกจากช่องคลอดมากโดยไม่ทราบสาเหตุได้ ควรรีบไปปรึกษาแพทย์ เพื่อตรวจเพิ่มเติมว่าเกิดจากสาเหตุอื่นนอกเหนือจากการฉีดยาคุมกำเนิดหรือไม่ เพราะอาการที่เกิดขึ้นก็อาจเกิดจากสาเหตุอื่นได้ เช่น การติดเชื้อ เป็นต้น

ฉีดยาคุม ทำอย่างไร ?

โดยปกติ การฉีดยาคุมกำเนิด จะฉีดเข้าไปที่กล้ามเนื้อสะโพก หรือ ต้นขา อาจจะต้องใช้วิธีการคุมกำเนิดวิธีอื่น อย่างการใช้ถุงยางอนามัยเพื่อป้องกันอีกชั้นหนึ่งจนกว่าตัวยาจะออกฤทธิ์ ระยะเวลาในการคุมกำเนิดขึ้นอยู่กับชนิดและปริมาณที่ใช้ โดยแพทย์จะแจ้งชนิดของยาคุมกำเนิด ปริมาณ และตารางนัดในการฉีดยาคุมครั้งต่อไป โดยอาจฉีดยาคุมกำเนิดก่อนกำหนดเวลาได้ไม่เกิน 2 สัปดาห์หากไม่สะดวกในวันนัดดังกล่าว

โดยทั่วไป การฉีดยาคุมกำเนิดมักจะฉีดภายใน 5 วันหลังจากประจำเดือนมา ซึ่งหากฉีดในช่วงเวลานี้ตัวยาจะออกฤทธิ์ในการคุมกำเนิดได้ในทันที แต่ถ้าไม่สามารถฉีดในระยะเวลาดังกล่าวจะต้องใช้เวลาประมาณ 7 วันกว่าตัวยาจะเริ่มออกฤทธิ์ ซึ่งก่อนที่ยาคุมกำเนิดจะออกฤทธิ์แพทย์ หรือพยาบาลจะแนะนำให้ใช้วิธีการคุมกำเนิดแบบอื่น เช่น การใช้ถุงยางอนามัย เป็นต้น

ทว่าการใช้ยาคุมกำเนิดนั้นไม่ควรใช้ในขณะตั้งครรภ์ ดังนั้น ก่อนเข้ารับการฉีดยาคุมกำเนิดควรตรวจให้แน่ใจก่อนว่าไม่ได้อยู่ในระหว่างการตั้งครรภ์ และหากเป็นการฉีดยาคุมกำเนิดชนิดชนิดเมดรอกซีโปรเจสเทอโรน หากมารดาไม่ได้ให้นมบุตรหลังคลอดก็สามารถฉีดได้เลย หากมารดาต้องให้นมบุตร จะต้องทิ้งช่วงหลังจากคลอดบุตรประมาณ 6 สัปดาห์ แต่ถ้ามีความจำเป็นต้องฉีดก็ฉีดยาคุมกำเนิดก่อนได้

โดยการฉีดยาคุมกำเนิดหลังคลอดบุตร จะแตกต่างจากคนทั่วไปดังนี้

  • หากฉีดยาคุมกำเนิดภายใน 21 วัน หลังคลอดบุตร ตัวยาจะออกฤทธิ์ในการคุมกำเนิดได้ทันที
  • หากฉีดยาคุมกำเนิดหลังจากวันที่ 21 เป็นต้นไป จะต้องรอให้ตัวยาออกฤทธิ์ประมาณ 7 วัน

ขณะที่ผู้หญิงที่ผ่านการทำแท้งหรือแท้งเองโดยธรรมชาติ สามารถฉีดยาคุมกำเนิดได้ทันที ขณะที่การฉีดยาคุมกำเนิดก็ไม่ช่วยป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ ดังนั้น หากต้องการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ด้วย ควรใช้ถุงยางอนามัยจะดีที่สุด

ฉีดยาคุมกำเนิดไม่เหมาะสำหรับใครบ้าง ?

ผู้หญิงส่วนใหญ่ฉีดยาคุมกำเนิดได้ โดยก่อนฉีดแพทย์จะต้องซักประวัติเรื่องอาการเจ็บป่วยหรือการรักษาต่าง ๆ หากผู้ป่วยเข้าข่ายกลุ่มคนที่ไม่สามารถฉีดยาคุมกำเนิดได้ แพทย์ก็จะไม่อนุญาติให้ใช้การคุมกำเนิดวิธีนี้ เพราะอาจส่งผลข้างเคียงต่ออาการเจ็บป่วยอื่น โดยทั่วไปแล้ว กลุ่มคนที่ไม่เหมาะสมเข้ารับการฉีดยาคุมกำเนิด ได้แก่

  • ผู้ที่สงสัยว่าอาจตั้งครรภ์
  • ผู้ที่มีอาการเลือดออกผิดปกติในระหว่างมีประจำเดือนหรือหลังมีเพศสัมพันธ์
  • ผู้ที่มีประวัติโรคเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือด เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง เป็นต้น
  • ผู้ที่มีภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือด
  • ผู้ป่วยโรคตับอักเสบ ตับแข็ง หรือเนื้องอกในตับ
  • ผู้ป่วยโรคไมเกรน
  • ผู้ป่วยมะเร็งเต้านม หรือมีประวัติป่วยด้วยโรคดังกล่าว
  • ผู้ป่วยโรคเบาหวานที่มีอาการแทรกซ้อน
  • ผู้ที่มีความเสี่ยงโรคกระดูกพรุน  

นอกจากนี้ ผู้ที่มีประวัติว่าประจำเดือนไม่มาเนื่องจากหลาย ๆ สาเหตุ เช่น ออกกำลังกาย ลดน้ำหนักอย่างหักโหม หรือมีโรคความผิดปกติในการรับประทาน รวมทั้งผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์อย่างหนักก็เป็นกลุ่มคนที่ไม่ควรฉีดยาคุมกำเนิด เนื่องจากอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้

สำหรับผู้หญิงที่ต้องการคุมกำเนิด การฉีดยาคุมกำเนิดถือว่าเป็นวิธีคุมกำเนิดที่น่าสนใจ แต่ก็ต้องชั่งน้ำหนักถึงประโยชน์และผลข้างเคียงที่จะได้รับ รวมถึงต้องมั่นใจแล้วว่าไม่ต้องการตั้งครรภ์ในช่วงที่มีการใช้ยาคุมกำเนิดชนิดนี้ เพราะหากฉีดไปแล้วจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ และต้องรอเวลาระยะหนึ่งกว่าฮอร์โมนในร่างกายจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ