จมน้ำ

ความหมาย จมน้ำ

จมน้ำ (Drowning / Submersion Injury) คือ ภาวะความบกพร่องระบบทางเดินหายใจอันเกิดจากการจมอยู่ใต้น้ำ ก่อให้เกิดอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้ภายใน 24 ชั่วโมง

จมน้ำ

 การจมน้ำยังมีระดับของการเกิดภาวะดังกล่าวในลักษณะต่าง ๆ ดังนี้

  • Near Drowning คือ ภาวะรอดชีวิตจากการจมน้ำ โดยผู้ป่วยอาจรอดชีวิตเป็นเวลามากกว่า 24 ชั่วโมงหรือรอดชีวิตเพียงชั่วขณะ ภาวะนี้ถือเป็นภาวะก่อนจมน้ำเสียชีวิต ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการดูแลรักษาจากแพทย์ เพื่อป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ
  • Secondary Drowning คือ ภาวะแทรกซ้อนจากการจมน้ำ โดยมีน้ำเข้าไปในปอดผู้ป่วย ทำให้ปอดบวมหรืออักเสบ ส่งผลให้ร่างกายแลกเปลี่ยนออกซิเจนและหายใจเอาคาร์บอนไดออกไซด์ออกไปได้ยาก ผู้ที่ประสบภาวะนี้จะแสดงอาการออกมาหลังผ่านไปนานกว่า 24 ชั่วโมง
  • Dry Drowning  คือ ภาวะจมน้ำที่มีน้ำเข้าปากหรือจมูก ส่งผลให้ระบบทางเดินหายใจกระตุกและปิดลง ภาวะนี้มักเกิดขึ้นทันทีหลังจมน้ำ
  • Immersion Syndrome คือ ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันจากการจมน้ำที่เย็นมาก ซึ่งอาจเกิดจากการตอบสนองของระบบประสาทร่วมกับการบีบตัวของหลอดเลือด

อาการจมน้ำ

ผู้ที่ประสบอุบัติเหตุจมน้ำจะหายใจสั้น ๆ จากการสำลักน้ำ กลั้นหายใจ หรือหยุดหายใจ และอาจเกิดกล่องเสียงหดเกร็งร่วมด้วย จนนำไปสู่ภาวะขาดออกซิเจนและเลือดเป็นกรดได้ ผู้ที่จมน้ำอาจจะหมดสติและอาจเกิดภาวะหัวใจหยุดเต้น โดยผู้ที่จมน้ำร้อยละ 85 ระบบทางเดินหายใจจะหยุดทำงานและรับน้ำเข้าไปในปอด ภาวะดังกล่าวเรียกว่า Wet Drowning ส่วนผู้ที่กล่องเสียงหดเกร็งโดยที่น้ำไม่เข้าปอดเรียกว่า Dry Drowning โดยทั่วไปแล้ว ผู้ที่ประสบภาวะจมน้ำจะเกิดอาการที่สังเกตได้ ดังนี้

  • หนาวหรือตัวเขียว
  • ไอหรือสำลักน้ำ
  • ท้องพองขึ้น
  • เจ็บหน้าอก
  • หายใจได้สั้น ๆ หรือหอบเหนื่อยมาก
  • อาเจียน

สาเหตุของการจมน้ำ

การจมน้ำขึ้นอยู่กับปัจจัยเสี่ยงหลายอย่าง ได้แก่ ลักษณะสถานที่ที่เล่นน้ำ ปัญหาสุขภาพและการใช้ยา และ อุณหภูมิน้ำ ดังนี้

  • ลักษณะสถานที่ที่เล่นน้ำ

    ผู้ใหญ่และเด็กจะประสบอุบัติเหตุจมน้ำในที่ที่เล่นน้ำแตกต่างกัน โดยทารกอายุต่ำกว่า 1 ปี มักจมน้ำขณะอาบน้ำในอ่างอาบน้ำสำหรับเด็ก ส่วนเด็กเล็กอายุ 1–5 ปี มักจมน้ำในสระว่ายน้ำ และผู้ใหญ่มักเสี่ยงจมน้ำเมื่อเล่นกีฬาหรือกิจกรรมผาดโผนทางน้ำ หรือเล่นน้ำในสระว่ายน้ำที่ไม่ได้มาตรฐาน ลำคลอง หรือแม่น้ำ

  • ปัญหาสุขภาพและการใช้ยา

    อาการป่วยของโรคต่าง ๆ ที่กำเริบขึ้นขณะเล่นน้ำส่งผลให้ผู้ป่วยเสี่ยงจมน้ำได้ เช่น โรคลมชัก หัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคหายใจเร็ว ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ภาวะตัวเย็นเกิน รวมทั้งการใช้สารเสพติดและแอลกอฮอล์

  • อุณหภูมิน้ำ

    โดยทั่วไปแล้ว การว่ายน้ำหรือเล่นน้ำในน้ำที่มีอุณหภูมิต่ำกว่า 15 องศาเซลเซียส เสี่ยงทำให้เกิดภาวะตัวเย็นเกิน ส่งผลให้ว่ายน้ำไม่ได้และจมน้ำ หากพบเห็นผู้ที่จมน้ำในน้ำที่มีอุณหภูมิต่ำกว่า 4 องศาเซลเซียส ต้องรีบช่วยขึ้นมาภายใน 4 นาที เพื่อไม่ให้เสียชีวิตจากการความเย็นของน้ำ ทั้งนี้ การเกิดภาวะตัวเย็นยังขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นร่วมด้วย เช่น อายุ ไขมันในร่างกาย หรือสิ่งเร้าที่กระตุ้นให้เกิดภาวะดังกล่าว

การวินิจฉัยการจมน้ำ

ผู้ที่พบเห็นคนจมน้ำ ควรรีบเข้าช่วยเหลือ รวมทั้งสังเกตว่าเกิดอาการผิดปกติอื่น ๆ หรือไม่ หากพบต้องนำตัวส่งโรงพยาบาลเพื่อเข้ารับการรักษาต่อไป โดยแพทย์จะบันทึกรายละเอียดเกี่ยวกับการจมน้ำของผู้ป่วย ได้แก่ ระยะเวลาที่จมน้ำ ชนิดและอุณหภูมิของน้ำ เวลาที่ใช้ในการช่วยเหลือฟื้นคืนชีพหรือซีพีอาร์ ช่วงเวลาที่เริ่มหายใจได้เอง ช่วงเวลาที่หัวใจกลับไปสูบฉีดเลือด การอาเจียน รวมทั้งการกระทบกระเทือนหรือปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวข้อง

นอกจากนี้ แพทย์จะตรวจอาการต่าง ๆ เพื่อวินิจฉัยผู้ป่วย ได้แก่ อุณหภูมิร่างกาย ความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือด จังหวะการเต้นของหัวใจ ลักษณะการหายใจ อาการปอดบวม การได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะหรือคอ การได้รับบาดเจ็บบริเวณทรวงอกหรือภายในช่องท้อง (ในกรณีจมน้ำจากการตกจากที่สูง) การทำงานของระบบประสาท โดยแพทย์จะตรวจด้วยวิธีต่อไปนี้

  • การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ วิธีนี้จะใช้ตรวจอัตราและจังหวะการเต้นของหัวใจ รวมทั้งตรวจดูว่าผู้ป่วยเกิดภาวะขาดเลือดไปเลี้ยงหัวใจหรือภาวะตัวเย็นเกินหรือไม่
  • การตรวจเลือด วิธีนี้ใช้ตรวจวิเคราะห์ก๊าซในหลอดเลือดแดง (Arterial Bleed Gas Analysis) เกลือแร่ในเลือด การทำงานของไต ระดับกลูโคส ระดับแอลกอฮอล์ ตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด การทำงานของตับ หรือการแข็งตัวของเลือด
  • การตรวจด้วยรังสี แพทย์อาจเอกซเรย์ทรวงอก รวมทั้งเอกซเรย์หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์บริเวณกระดูกสันหลังคอหรือศีรษะ เพื่อดูว่าได้รับบาดเจ็บหรือเกิดการกระทบกระเทือนบริเวณดังกล่าวหรือไม่

การรักษาภาวะจมน้ำ

จมน้ำเป็นอุบัติเหตุหรือสภาวะที่เกิดขึ้นกะทันหัน การรักษาผู้ที่ประสบภาวะนี้จึงแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ ได้แก่ วิธีช่วยเหลือผู้ที่จมน้ำสำหรับบุคคลทั่วไปซึ่งเป็นการช่วยเหลือเบื้องต้น ณ ที่เกิดเหตุ และวิธีรักษาผู้ป่วยด้วยเทคนิคทางการแพทย์เมื่อผู้ป่วยมาถึงสถานพยาบาล ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้

วิธีช่วยเหลือผู้ที่จมน้ำสำหรับบุคคลทั่วไป

หากพบเห็นผู้ที่จมน้ำ ควรรีบเข้าช่วยเหลือทันที โดยผู้ที่เข้าช่วยเหลือควรรู้วิธีช่วยคนจมน้ำที่ถูกต้องและปลอดภัย ดังนี้

  • ควรใช้อุปกรณ์ที่มีด้ามจับยาวหรือเชือกโยนลงไปให้ผู้ที่จมน้ำจับในกรณีที่ยังมีสติ หรือว่ายลงไปในน้ำเพื่อนำตัวผู้ที่จมน้ำขึ้นมา
  • ควรทำซีพีอาร์ให้แก่ผู้ที่จมน้ำทันทีในกรณีที่หยุดหายใจ โดยผายปอดและปั๊มบริเวณทรวงอก เพื่อช่วยให้เลือดลำเลียงออกซิเจนได้มากขึ้น
  • ห้ามขยับบริเวณคอหรือศีรษะผู้ที่จมน้ำ โดยเฉพาะขณะหมดสติ เนื่องจากผู้ประสบเหตุอาจได้รับบาดเจ็บที่คอหรือกระดูกสันหลัง
  • หากผู้ประสบเหตุจมน้ำในน้ำเย็น ควรถอดเสื้อผ้าที่เปียกออกและคลุมด้วยเสื้อผ้าอื่น ๆ หรือผ้าห่ม เพื่อป้องกันการเกิดภาวะตัวเย็นเกิน
  • ควรโทรเรียกรถพยาบาลให้นำตัวส่งแพทย์เพื่อดูแลและรักษาต่อไป

วิธีรักษาผู้ป่วยด้วยเทคนิคทางการแพทย์

เมื่อนำตัวผู้ที่จมน้ำส่งโรงพยาบาลเพื่อเข้ารับการรักษาแล้ว แพทย์จะช่วยเหลือผู้ป่วยโดยใส่ท่อช่วยหายใจในกรณีที่ผู้ป่วยไม่ได้สติ หรือสังเกตอาการผู้ป่วยประมาณ 6 ชั่วโมงในกรณีที่ผู้ป่วยได้สติ รวมทั้งรักษาอาการป่วยอื่น ๆ ที่เกิดขึ้น เช่น ภาวะตัวเย็นเกิน โรคลมชัก ภาวะเลือดในร่างกายต่ำเกินไป และความดันโลหิตต่ำ ผู้ป่วยที่มีไข้หรือจมน้ำในน้ำปนเปื้อน อาจได้รับยาปฏิชีวนะร่วมด้วย

ภาวะแทรกซ้อนจากการจมน้ำ

ผู้ที่จมน้ำเสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้นได้ โดยอาจเกิดปัญหาสุขภาพต่อไปนี้

  • การทำงานของหัวใจผิดปกติ เช่น หัวใจหยุดเต้น หัวใจเต้นช้ากว่าปกติ หรือกล้ามเนื้อหัวใจตาย
  • ประสบปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับปอด เช่น ปอดบวม หรือปอดบวมน้ำ
  • ได้รับการกระทบกระเทือนเกี่ยวกับระบบประสาท เช่น โรคหลอดเลือดสมอง สมองขาดออกซิเจน สมองบวม
  • ไตวายเฉียบพลัน
  • เม็ดเลือดแดงแตก ทำให้เกิดภาวะเลือดจาง
  • เกลือแร่และสมดุลกรดและด่างในร่างกายผิดปกติ เช่น โพแทสเซียมในเลือดสูง หรือเลือดเป็นกรด
  • ติดเชื้อ เช่น ปอดบวม หรือติดเชื้อในกระแสเลือด
  • ประสบภาวะการหายใจล้มเหลวเฉียบพลัน (Acute Respiratory Distress Syndrome: ARDs)
  • สมองถูกทำลาย
  • ประสบภาวะเจ้าชายนิทราแบบสภาพผักเรื้อรังในกรณีที่ผู้ป่วยจมน้ำเป็นเวลานาน

การป้องกันการจมน้ำ

สระว่ายน้ำควรมีอุปกรณ์สำหรับช่วยเหลือคนจมน้ำอยู่ข้างสระ เพื่อช่วยเหลือได้ทันท่วงทีหากเกิดเหตุการณ์จมน้ำขึ้น นอกจากนี้ ทุกคนควรสวมเสื้อชูชีพหรืออุปกรณ์สำหรับลอยตัวในน้ำทุกครั้งที่ไปเล่นน้ำหรือต้องขึ้นเรือ วิธีป้องกันการจมน้ำสำหรับตนเองและเด็กเล็กนั้นทำได้หลายวิธี โดยแบ่งออกเป็น วิธีป้องกันการจมน้ำสำหรับบุคคลทั่วไป และวิธีป้องกันการจมน้ำสำหรับเด็ก ดังนี้

วิธีป้องกันการจมน้ำสำหรับบุคคลทั่วไป

  • ควรหัดเรียนว่ายน้ำ รวมทั้งเรียนรู้วิธีการทำซีพีอาร์หรือปฏิบัติการช่วยฟื้นคืนชีพ เพื่อช่วยเหลือผู้ที่จมน้ำ
  • ไม่ควรวิ่งรอบสระว่ายน้ำ
  • งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เมื่อต้องว่ายน้ำหรือนั่งเรือ

วิธีป้องกันการจมน้ำสำหรับเด็ก

  • ดูแลและกั้นทางไม่ให้เด็กไปใกล้สระว่ายน้ำหรือบริเวณที่เป็นแหล่งน้ำ รวมทั้งไม่ทิ้งของเล่นไว้ในบริเวณดังกล่าว เนื่องจากจะดึงความสนใจให้เด็กเดินเข้าไปได้
  • ควรให้เด็กหัดว่ายน้ำ โดยให้เริ่มเรียนว่ายน้ำเมื่ออายุประมาณ 4 ปี
  • ควรอยู่เป็นเพื่อนเด็กขณะที่เด็กเล่นน้ำหรือว่ายน้ำทุกครั้ง หรือลงเล่นน้ำกับเด็ก โดยให้เด็กอยู่ไม่ห่างจากตัวเกินหนึ่งช่วงแขน