Social Distancing เว้นระยะห่างอย่างไร ปลอดภัยจาก COVID-19

คำว่า Social Distancing หรือการเว้นระยะห่างทางสังคม คงเป็นคำคุ้นหูในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 หลายคนต้องเว้นระยะห่างกับคนในครอบครัว เพื่อน หรือคนอื่น ๆ ที่พบปะในชีวิตประจำวันมากเป็นเท่าตัว แล้วรู้หรือไม่ว่า Social Distancing นั้นช่วยป้องกันโรคได้อย่างไร ห่างกันแค่ไหนถึงจะปลอดภัย  

โดยทั่วไปแล้ว Social Distancing เป็นหนึ่งในมาตรการสำคัญที่ช่วยลดการแพร่กระจายของเชื้อก่อโรคโควิด-19 และโรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจชนิดอื่น อย่างไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ โดยเป็นการสร้างระยะห่างและลดการเผชิญหน้า สัมผัส หรือใกล้ชิดผู้อื่นที่พบเจอขณะทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นการพูดคุย การรับประทานอาหาร การทำงาน หรือการเดินทาง ถือเป็นวิธีปฏิบัติที่เริ่มต้นได้ไม่ยากอย่างที่คิดและทำได้หลายทาง      

Social Distancing

Social Distancing จำเป็นอย่างไร ?

Social Distancing อาจดูเป็นเรื่องยุ่งยากและสร้างความลำบากในการใช้ชีวิต แต่จริง ๆ แล้ว วิธีการนี้เป็นประโยชน์อย่างมาก เนื่องจากเชื้อก่อโรค COVID-19 นั้นสามารถแพร่กระจายจากคนสู่คนได้หลายวิธี เช่น การสูดดมละอองที่มีเชื้อปะปนในอากาศจากการพูดคุย ไอ จาม โดยเฉพาะหากอยู่ใกล้ชิดกันอย่างมากหรือมีระยะห่างระหว่างกันน้อยกว่า 2 เมตร รวมไปถึงการสัมผัสละอองที่มีเชื้อจากบนพื้นผิวสิ่งของหรือวัสดุต่าง ๆ ที่อาจติดอยู่ได้นานหลายชั่วโมงหรือหลายวัน ก่อนจะนำมือนั้นมาสัมผัสปาก จมูก หรือดวงตาของตัวเอง เป็นต้น

อีกทั้งผู้ป่วยโรคโควิด-19 ยังสามารถแพร่กระจายเชื้อไปสู่ผู้อื่นได้แม้ว่าจะไม่มีอาการผิดปกติแสดงออกมาให้เห็น ยิ่งหากคนที่อยู่ใกล้นั้นเป็นผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคประจำตัวก็จะเสี่ยงต่อการเกิดอาการที่รุนแรงหลังการติดเชื้อมากกว่าคนกลุ่มอื่น แต่ถ้าเราเว้นระยะห่างระหว่างกันอยู่เสมอ ทั้งขณะอยู่ภายในบ้านหรือออกไปในที่สาธารณะ โอกาสในการรับเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายตัวเองและคนในครอบครัวก็จะลดน้อยลง ร่างกายก็จะปลอดภัยจากการติดเชื้อได้มากขึ้นด้วย    

Social Distancing วิธีที่ทำได้ทุกวัน  

การทำ Social Distancing ที่ช่วยให้เราห่างไกลจากโรค COVID-19 ไม่ใช่แค่การยืนหรือนั่งเก้าอี้ห่างกันกับคนอื่นเท่านั้น แต่วิธีเว้นระยะห่างนั้นมีหลากหลายและสามารถเลือกปฏิบัติได้ตามความเหมาะสมของแต่คน เช่น

  • ลดการออกจากบ้านให้ได้มากที่สุดโดยเฉพาะเด็กและผู้สูงอายุ และให้ติดต่อสื่อสารกันผ่านทางโทรศัพท์หรือช่องทางออนไลน์อื่น ๆ แทน 
  • ลดการสัมผัสตัวคนในครัวอย่างการจับมือ กอด หรือหอมแก้ม โดยเฉพาะคนที่ต้องออกไปนอกบ้านและยังไม่ได้ทำความสะอาดร่างกาย 
  • เว้นระยะห่างกับคนอื่น ๆ อย่างน้อย 1–2 เมตร ในระหว่างการใช้ชีวิตประจำวัน
  • เปลี่ยนมาทำงานที่บ้าน และประชุมงานผ่านระบบอินเทอร์เน็ตแทน
  • หลีกเลี่ยงสถานที่แออัด บริเวณที่มีคนพลุกพล่านอยู่ตลอด หรือพื้นที่ปิด อาทิ โรงภาพยนตร์ ห้างสรรพสินค้า หรือตลาดนัด
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสสิ่งต่าง ๆ ในที่สาธารณะ เช่น ลูกบิดประตู ราวบันได ปุ่มกดลิฟต์ หรือราวจับบนรถโดยสาร เป็นต้น หากเลี่ยงไม่ได้ควรทำความสะอาดมือด้วยน้ำและสบู่เสมอหรือเจลแอลกอฮอล์

ทั้งนี้ วิธีเว้นระยะห่างข้างต้นจะมีประสิทธิภาพมากขึ้นหากทำควบคู่ไปกับการสวมหน้ากากอนามัยเมื่อออกไปนอกบ้าน หมั่นล้างมือด้วยน้ำและสบู่อย่างน้อย 20 วินาที หากไม่สะดวกสามารถใช้เจลแอลกอฮอล์ที่มีความเข้มข้นอย่างน้อย 60 เปอร์เซ็นต์ทดแทน ปิดปากขณะไอหรือจามด้วยผ้าเช็ดหน้าหรือกระดาษทิชชู่ ไม่นำมือมาสัมผัสดวงตา จมูก ปาก นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และรับประทานอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ

สุดท้ายนี้ หากตัวเองหรือคนในครอบครัวมีอาการผิดปกติหรืออาการที่อาจเข่าข่ายโรค COVID-19 อย่างมีไข้ ไอ หายใจลำบาก อ่อนเพลีย หรือปวดกล้ามเนื้อ ควรแจ้งให้เจ้าหน้าที่ แพทย์ หรือสถานพยาบาลทราบ เพื่อเข้าสู่กระบวนการดูแล รักษา และป้องกันตามขั้นตอนที่ถูกต้องและรัดกุมที่สุด