ภาวะซึมเศร้าจากการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล (SAD)

ความหมาย ภาวะซึมเศร้าจากการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล (SAD)

SAD (Seasonal Affective Disorder) หรือภาวะซึมเศร้าจากการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล มักเกิดขึ้นกับผู้ที่อาศัยอยู่ในประเทศเขตหนาว โดยผู้ป่วยภาวะนี้จะมีอาการของโรคซึมเศร้าเป็นระยะ ซึ่งจะเกิดขึ้นและหายไปในช่วงเวลาเดียวกันของทุกปี ส่วนใหญ่มักเริ่มมีอาการในฤดูหนาวและค่อย ๆ ดีขึ้นเมื่อถึงฤดูร้อน

1701 SAD rs

อาการของภาวะซึมเศร้าจากการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล

ผู้ป่วย SAD มักแสดงอาการผิดปกติเช่นเดียวกับผู้ป่วยโรคซึมเศร้าทั่วไป แต่จะมีอาการเป็นช่วง ๆ ส่วนใหญ่มักเริ่มเกิดอาการขึ้นในฤดูหนาวและค่อย ๆ หายไปในฤดูร้อน ทว่าผู้ป่วยบางรายก็อาจเริ่มแสดงอาการป่วยในฤดูร้อนและมีอาการดีขึ้นในฤดูหนาวได้เช่นกัน

อาการบ่งชี้ของภาวะ SAD มีดังนี้

  • รู้สึกหมดหวัง ไร้ค่า หรือมีอารมณ์ซึมเศร้าต่อเนื่องเป็นเวลานาน
  • หมดความสนใจในสิ่งที่ตนเองเคยสนใจ
  • อ่อนเพลีย ไม่มีเรี่ยวแรง หมดความกระตือรือร้นในการทำสิ่งต่าง ๆ
  • อยากนอนตลอดเวลา หรือมีปัญหาในการนอนหลับ เช่น นอนไม่หลับ นอนหลับไม่สนิท เป็นต้น
  • มีพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่เปลี่ยนไป เช่น รับประทานอาหารมากเกินไป หรืออยากรับประทานอาหารจำพวกแป้งและน้ำตาลมากกว่าปกติ เป็นต้น
  • ไม่มีสมาธิ ไม่สามารถจดจ่อกับสิ่งใดได้นาน
  • เก็บตัว ไม่ต้องการออกไปพบปะผู้อื่น
  • หมกมุ่นกับเรื่องความตาย หรือคิดฆ่าตัวตาย

สาเหตุของภาวะซึมเศร้าจากการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล

ปัจจุบันทางการแพทย์ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของโรคนี้ แต่คาดว่าช่วงเวลากลางวันหรือระยะเวลาที่มีแสงอาทิตย์ในแต่ละวันอาจส่งผลกระทบต่อนาฬิกาชีวิตซึ่งเป็นวงจรที่ควบคุมการทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกาย อย่างการตื่นนอน การนอนหลับ และการหลั่งฮอร์โมนบางชนิด โดยช่วงเวลากลางวันที่สั้นลงในฤดูหนาวอาจทำให้นาฬิกาชีวิตผิดปกติจนส่งผลต่อร่างกายและอาจเกิดภาวะ SAD ได้ ดังนี้

  • ระดับเซโรโทนินลดลง เซโรโทนินเป็นสารสื่อประสาทในสมองที่มีหน้าที่สำคัญในการควบคุมอารมณ์ ซึ่งการได้รับแสงแดดไม่เพียงพออาจส่งผลให้สารชนิดนี้มีปริมาณลดลงและอาจก่อให้เกิดโรคซึมเศร้าตามมาได้
  • ระดับเมลาโทนินสูงขึ้น เมลาโทนินมีบทบาทสำคัญในการควบคุมการนอนหลับ หากฮอร์โมนชนิดนี้มีระดับสูงขึ้น อาจส่งผลให้รู้สึกง่วงนอนและเซื่องซึมจนเกิดเป็นภาวะซึมเศร้าได้เช่นกัน

แม้ภาวะ SAD พบได้ในทุกเพศทุกวัย แต่บุคคลในกลุ่มต่อไปนี้อาจมีความเสี่ยงสูงกว่าคนทั่วไป

  • เพศหญิง เนื่องจากภาวะนี้มักพบได้ในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย
  • อยู่ในวัยผู้ใหญ่ตอนต้น ซึ่งเป็นวัยที่พบภาวะ SAD ได้มากกว่าช่วงวัยอื่น
  • ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าหรือโรคไบโพลาร์
  • คนในครอบครัวมีประวัติป่วยเป็นโรคซึมเศร้าหรือมีภาวะ SAD
  • อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ห่างจากเส้นศูนย์สูตร ซึ่งมีช่วงเวลากลางวันสั้นกว่าพื้นที่ที่อยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตร

การวินิจฉัยภาวะซึมเศร้าจากการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล

การวินิจฉัยภาวะ SAD อาจทำได้ค่อนข้างยาก เพราะผู้ป่วยอาจมีอาการคล้ายโรคซึมเศร้าหรือปัญหาสุขภาพอื่น ๆ เช่น โรคไบโพลาร์ ภาวะขาดไทรอยด์ โรคโมโนนิวคลิโอสิส เป็นต้น โดยในขั้นแรกแพทย์จะซักประวัติสุขภาพ สอบถามลักษณะอาการป่วย และตรวจร่างกายเบื้องต้น จากนั้น อาจใช้วิธีการตรวจเพิ่มเติมเพื่อยืนยันผลการวินิจฉัยให้แน่ชัด ได้แก่

  • การทดสอบทางห้องปฏิบัติการ เช่น ตรวจเลือด ตรวจการทำงานของต่อมไทรอยด์ เป็นต้น
  • การประเมินทางจิตวิทยา เป็นการให้ผู้ป่วยทำแบบสอบถามหรือตอบคำถามของผู้เชี่ยวชาญ เพื่อประเมินอาการ ความรู้สึก ความคิด และพฤติกรรมที่แสดงถึงอาการผิดปกติทางจิต
  • การใช้หลักเกณฑ์ DSM-5 เป็นแนวทางสำหรับวินิจฉัยความผิดปกติทางจิตที่เรียกว่า Statistical Manual of Mental Disorders (DSM-5) จัดทำโดยสมาคมจิตแพทย์แห่งสหรัฐอเมริกา โดยประเมินจากอาการต่าง ๆ ของผู้ป่วย หากมีภาวะ SAD ผู้ป่วยมักมีอาการซึมเศร้าร่วมกับอาการผิดปกติอื่น ๆ ด้วย อย่างหมดเรี่ยวแรง ต้องการนอนหลับมากกว่าปกติ รู้สึกหมดหวัง วิตกกังวล ขาดสมาธิ น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น เบื่ออาหาร หมดความสนใจในสิ่งที่ชอบทำ และมีอาการเกิดขึ้นเป็นประจำในช่วงฤดูที่แน่นอนของแต่ละปี

การรักษาภาวะซึมเศร้าจากการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล

การรักษาภาวะ SAD สามารถทำได้หลายวิธี ดังนี้

  • การรับประทานยา แพทย์มักแนะนำให้ผู้ป่วยรับประทานยารักษาโรคซึมเศร้าอย่างฟลูออกซิทีนหรือบูโพรพิออนเพื่อบรรเทาอาการป่วย หรือรับประทานยาตั้งแต่ก่อนถึงช่วงฤดูที่ภาวะซึมเศร้าจะกำเริบเพื่อป้องกันอาการซึมเศร้า โดยผู้ป่วยจะต้องรับประทานยาตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด เพื่อประสิทธิภาพสูงสุดในการรักษา
  • การทำจิตบำบัด แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยบางรายเข้ารับการบำบัดพฤติกรรมและความคิด ซึ่งเป็นการปรับวิธีคิดและพฤติกรรมเพื่อรับมือกับภาวะซึมเศร้าอย่างเหมาะสม โดยแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตจะชี้แนะให้ผู้ป่วยทราบถึงความคิดและพฤติกรรมที่ผิดปกตินั้น ควบคู่ไปกับการทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่ช่วยให้ผู้ป่วยเรียนรู้วิธีการรับมือกับภาวะซึมเศร้าได้ด้วยตนเอง
  • การบำบัดด้วยแสง เป็นการให้ผู้ป่วยเข้ารับการฉายแสงที่จำลองมาจากแสงอาทิตย์วันละประมาณ 1 ชั่วโมงหลังจากตื่นนอน เพื่อปรับระดับสารเคมีในสมองให้สมดุล โดยผู้ป่วยบางรายอาจฉายแสงด้วยตนเองที่บ้าน แต่วิธีนี้อาจส่งผลข้างเคียงต่อร่างกายได้ ผู้ป่วยจึงควรปรึกษาแพทย์ถึงข้อดีข้อเสียของการฉายแสง และขอคำแนะนำเกี่ยวกับการใช้เครื่องฉายแสงอย่างถูกต้อง

นอกจากนั้น การปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตและการทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่ช่วยให้รู้สึกผ่อนคลาย ไม่ว่าจะเป็นการเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์อย่างเนื้อสัตว์ไม่ติดมันและผักผลไม้ การออกกำลังกาย การนอนหลับให้เพียงพอ การนั่งสมาธิ หรือการฟังเพลง ก็อาจมีส่วนช่วยบรรเทาอาการซึมเศร้าจาก SAD ได้เช่นกัน

ภาวะแทรกซ้อนของภาวะซึมเศร้าจากการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล

ผู้ป่วยภาวะ SAD ที่ไม่รีบไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษา อาจมีอาการซึมเศร้ารุนแรงยิ่งขึ้นจนส่งผลกระทบต่ออารมณ์และพฤติกรรมได้ ทั้งยังเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาสุขภาพและปัญหาอื่น ๆ ตามมา ดังนี้

  • โรคอ้วนหรือมีน้ำหนักตัวเกินเกณฑ์มาตรฐาน ซึ่งอาจนำไปสู่โรคเบาหวานและโรคหัวใจได้ด้วย เนื่องจากผู้ป่วยอาจมีพฤติกรรมการรับประทานอาหารในปริมาณมากขึ้น หรืออยากรับประทานแต่แป้งและไขมัน
  • โรควิตกกังวล โรคแพนิค และโรคกลัวการเข้าสังคม
  • อาการปวดตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย
  • ปัญหาด้านความสัมพันธ์หรือการเกิดความขัดแย้งกับคนรอบข้าง เช่น คนในครอบครัว เพื่อน เป็นต้น
  • การทำร้ายตัวเอง การคิดฆ่าตัวตาย หรือการพยายามฆ่าตัวตาย

การป้องกันภาวะซึมเศร้าจากการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล 

ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีที่ช่วยป้องกันภาวะ SAD ได้ แต่สำหรับผู้ป่วยหรือผู้ที่เคยมีภาวะนี้มาก่อน มีงานวิจัยพบว่าการรับประทานยารักษาโรคซึมเศร้าหรือการเข้ารับการบำบัดทางจิตก่อนถึงช่วงเวลาที่อาการป่วยมักเกิดขึ้นอาจช่วยป้องกันการเกิดภาวะ SAD ในผู้ป่วยบางรายได้ ซึ่งยังคงต้องมีการศึกษาในด้านนี้เพิ่มเติมต่อไป ก่อนจะสรุปได้ว่าวิธีป้องกันดังกล่าวมีประสิทธิภาพและนำมาใช้ได้จริง