Kombucha ชาหมักหลากคุณประโยชน์

Kombucha หรือชาหมัก เป็นเครื่องดื่มที่คนรู้จักคุ้นเคยมานานนับพันปี และเชื่อกันว่าเครื่องดื่มชนิดนี้ส่งผลดีต่อสุขภาพสารพัด เพราะไม่เพียงมีสรรพคุณเช่นเดียวกับชา แต่ยังประกอบด้วยโพรไบโอติกส์ หรือเชื้อจุลินทรีย์และยีสต์ที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย ทั้งยังอุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยทำลายเชื้อแบคทีเรียอันตรายและเชื้อโรคหลายชนิดด้วย

1943 Kombucha rs

Kombucha กับข้อมูลทางสุขภาพ

Kombucha เกิดจากการนำน้ำชาอย่างชาดำหรือชาเขียว น้ำตาล จุลินทรีย์ และยีสต์ ไปหมักรวมกันอย่างน้อย 1 สัปดาห์ จนออกมาเป็นเครื่องดื่มที่มีฤทธิ์เป็นกรด โดยมีส่วนผสมหลักเป็นกรดน้ำส้ม (Acetic Acid) รวมถึงวิตามินบีและสารต่าง ๆ มากมาย เมื่อดื่มชาชนิดนี้จะให้ความรู้สึกซ่าและมีกลิ่นแอลกอฮอล์เล็กน้อย โดยบางคนเชื่อว่า Kombucha นั้นดีต่อสุขภาพ และมีสรรพคุณช่วยป้องกันหรือรักษาโรคบางชนิดได้ ซึ่งมีการค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์บางส่วนเคยศึกษาเกี่ยวกับคุณประโยชน์ด้านต่าง ๆ ของ Kombucha ไว้ ดังนี้

เป็นแหล่งโพรไบโอติกส์
กระบวนการหมัก Kombucha นั้น ก่อให้เกิดจุลินทรีย์และยีสต์สายพันธุ์ดีหรือโพรไบโอติกส์ปริมาณมาก ซึ่งดีต่อระบบย่อยอาหารของร่างกาย เพราะโพรไบโอติกส์จะไปทดแทนจุลินทรีย์สายพันธุ์ดีในระบบย่อยอาหารที่สูญเสียไปจากหลายสาเหตุ อย่างการกินอาหารไม่สะอาดหรือการใช้ยาบางชนิด อีกทั้งยังมีงานวิจัยที่พบว่าโพรไบโอติกส์อาจช่วยรักษาและป้องกันโรคทางเดินอาหารบางชนิดได้ด้วย ได้แก่ อาการท้องเสียจากการติดเชื้อหรือท้องเสียจากยาปฏิชีวนะ ลำไส้อักเสบ ลำไส้แปรปรวน โรคติดเชื้อเอชไพโลไร และโรคติดเชื้อคลอสไทรเดียมดิฟิซายล์ โดยระหว่างที่หมัก Kombucha เชื้อแบคทีเรียและยีสต์จะแบ่งตัวจนเห็นเป็นแผ่นฟิล์มลักษณะคล้ายกลุ่มเห็ดเคลือบอยู่บนผิวของของเหลว ด้วยเหตุนี้ บางคนจึงเรียกเครื่องดื่มชนิดนี้ว่าชาเห็ด หรืออาจเรียกกลุ่มแบคทีเรียและยีสต์ที่มีชีวิตนี้ว่า SCOBY ซึ่งสามารถนำไปใช้เป็นหัวเชื้อสำหรับหมัก Kombucha ครั้งต่อไปได้

นอกจากนั้น โพรไบโอติกส์ยังช่วยเสริมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน เพราะการเสียสมดุลระหว่างจุลินทรีย์สายพันธุ์ดีและสายพันธุ์ที่เป็นอันตรายต่อร่างกายทำให้ระบบต่าง ๆ ในร่างกายทำงานผิดปกติและติดเชื้อได้ง่ายขึ้น ซึ่งก่อให้เกิดโรคต่าง ๆ ตามมามากมาย โดยมีงานวิจัยหนึ่งที่พบว่าโพรไบโอติกส์ช่วยให้เด็กและผู้ใหญ่ที่มีอาการหวัดหายเป็นปกติได้เร็วขึ้น

อย่างไรก็ตาม โพรไบโอติกส์นั้นมีหลายสายพันธุ์ ซึ่งจะส่งผลต่อร่างกายแตกต่างกันไปตามสายพันธุ์และปัจจัยทางร่างกายของแต่ละคน ดังนั้น จึงควรมีงานวิจัยสนุบสนุนเพิ่มเติม เพื่อยืนยันประสิทธิภาพของโพรไบโอติกส์ให้แน่ชัดยิ่งขึ้น และผู้บริโภคควรหลีกเลี่ยงการกินหรือดื่มผลิตภัณฑ์โพรไบโอติกส์ที่ยังไม่ผ่านการรับรองมาตรฐานของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)

อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ
Kombucha ที่หมักจากชาเขียวนั้นอุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระหลายชนิดที่ช่วยป้องกันหรือยับยั้งความเสียหายของเซลล์ที่เกิดขึ้นจากอนุมูลอิสระอย่างสารโพลีฟีนอล (Polyphenol) โดยในปัจจุบันมีงานวิจัยที่ศึกษาคุณสมบัติของ Kombucha ในด้านนี้กับหนูที่ได้รับสารละลายตะกั่วติดต่อกัน 45 วัน โดยแบ่งหนูทดลองออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่กิน Kombucha ควบคู่กับได้รับสารตะกั่ว กับกลุ่มที่ไม่ได้กิน Kombucha พบว่าเซลล์ที่ถูกทำลายจากสารตะกั่วของหนูกลุ่มแรกนั้นมีจำนวนลดลง ดังนั้น เครื่องดื่มชนิดนี้จึงอาจช่วยลดความเป็นพิษของตับจากการได้รับสารเคมีที่เป็นพิษได้

อย่างไรก็ตาม งานวิจัยดังกล่าวเป็นเพียงการทดลองในสัตว์เท่านั้น ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจึงอาจแตกต่างกับการทดลองในคน ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีงานวิจัยใดที่ศึกษาคุณสมบัติของ Kombucha ในด้านการต้านอนุมูลอิสระกับคนโดยตรง จึงจำเป็นต้องรองานวิจัยสนับสนุนเพิ่มเติมที่ชัดเจนในอนาคตต่อไป

ออกฤทธิ์กำจัดแบคทีเรีย
Kombucha มีกรดน้ำส้มหรือกรดอะซิติกเป็นส่วนประกอบหลัก ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยกำจัดเชื้อจุลินทรีย์ที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย จึงมีงานวิจัยที่ศึกษาประสิทธิภาพของ Kombucha ในการต้านเชื้อแบคทีเรียแล้วพบว่า Kombucha ที่หมักจากชาดำและชาเขียวอาจมีฤทธิ์ช่วยยับยั้งการติดเชื้อแบคทีเรีย รวมถึงเชื้อแคนดิดาซึ่งเป็นยีสต์ชนิดหนึ่งที่เป็นอันตรายต่อคน นอกจากนั้น คุณสมบัติในด้านนี้ของ Kombucha จะส่งผลต่อจุลินทรีย์ที่เป็นอันตรายต่อร่างกายเท่านั้น จึงไม่ทำให้จำนวนโพรไบโอติกส์หรือจุลินทรีย์สายพันธุ์ดีลดน้อยลงไปด้วย อย่างไรก็ตาม งานวิจัยถึงประสิทธิภาพของ Kombucha ในการต้านเชื้อแบคทีเรียยังมีอยู่ไม่มากนัก จึงจำเป็นต้องรองานวิจัยสนันสนุนเพิ่มเติม เพื่อยืนยันประสิทธิภาพในด้านนี้ให้แน่ชัด

ลดความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด
ภาวะคอเลสเตอรอลในเลือดสูงเป็น 1 ในปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ ซึ่งโดยปกติแล้วคอเลสเตอรอลแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก คือ คอเลสเตอรอลชนิดดี (High Density Lipoprotein: HDL) ซึ่งทำหน้าที่กำจัดไขมันอันตรายในกระแสเลือด และยับยั้งการสะสมของไขมันและคอเลสเตอรอลส่วนเกิน กับคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (Low Density Lipoprotein: LDL) หากมีไขมันในปริมาณมากเกินไปจะทำให้เกิดการสะสมอยู่ตามผนังหลอดเลือด ซึ่งอาจก่อให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดตามมาได้

ทั้งนี้ มีงานวิจัยหนึ่งศึกษาประสิทธิภาพของ Kombucha ในการลดระดับคอเลสเตอรอล โดยให้หนูที่ถูกป้อนอาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูงเป็นประจำกิน Kombucha ติดต่อกัน 16 สัปดาห์ หลังจากนั้นจึงเปรียบเทียบปริมาณ HDL และ LDL ก่อนและหลังกิน พบว่า LDL มีปริมาณลดลง แต่ HDL กลับมีปริมาณเพิ่มขึ้น ดังนั้น Kombucha จึงอาจช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดีได้ และอาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดด้วย แต่งานวิจัยข้างต้นเป็นเพียงการทดลองกับสัตว์ จึงจำเป็นต้องรองานวิจัยสนับสนุนที่ทดลองกับคนในอนาคตต่อไป

ลดระดับน้ำตาลในเลือด
มีงานค้นคว้าที่ศึกษาประสิทธิภาพของ Kombucha ในการช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด โดยให้หนูที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกิน Kombucha ติดต่อกัน 30 วัน พบว่าร่างกายของหนูใช้เวลาในการย่อยอาหารจำพวกคาร์โบไฮเดรตช้าลง ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลงตามไปด้วย ดังนั้น การดื่ม Kombucha จึงอาจส่งผลดีต่อผู้ป่วยโรคเบาหวาน ซึ่งเป็นภาวะที่ร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ อย่างไรก็ตาม งานวิจัยข้างต้นเป็นเพียงการศึกษาในหนูทดลอง ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้จากสัตว์กับผลลัพธ์ที่ได้จากคนอาจแตกต่างกัน จึงจำเป็นต้องรองานวิจัยสนับสนุนที่ศึกษากับคนในอนาคต เพื่อยืนยันประสิทธิภาพของ Kombucha ในด้านนี้ให้แน่ชัด นอกจากนั้น การเติมน้ำตาลเพื่อเพิ่มรสชาติก่อนดื่ม Kombucha นั้น อาจทำให้ประสิทธิภาพในการลดระดับน้ำตาลในเลือดไม่เป็นผล เพราะการเติมน้ำตาลเข้าไปในชาหมักหลังจากหมักเสร็จแล้วจะยิ่งทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงขึ้น

ลดความเสี่ยงโรคมะเร็ง
มะเร็งเกิดจากการกลายพันธุ์ของเซลล์ในร่างกาย และเซลล์ดังกล่าวอาจเพิ่มจำนวนขึ้นโดยที่ร่างกายไม่สามารถควบคุมได้ ซึ่งนับเป็นโรคที่ร้ายแรงและต้องได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม ทั้งนี้ ปัจจุบันมีงานวิจัยในห้องปฏิบัติการที่พบว่า สารต้านอนุมูลอิสระหลายชนิดที่อยู่ในชาอันเป็นส่วนผสมหลักของ Kombucha อาจมีส่วนช่วยป้องกันการเกิดเซลล์มะเร็ง รวมถึงยับยั้งการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งได้ อย่างไรก็ตาม งานวิจัยถึงประสิทธิภาพของ Kombucha ในการต้านมะเร็งนั้นเป็นเพียงการทดลองทางห้องปฏิบัติการเท่านั้น จึงจำเป็นต้องรองานวิจัยที่ศึกษากับคนจนได้ผลลัพธ์ที่ชัดเจนในอนาคต

ข้อควรระวังในการบริโภค Kombucha

แม้ความเชื่อเรื่องคุณประโยชน์ต่อสุขภาพของ Kombucha จะถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงอยู่เสมอ แต่ในปัจจุบันมีงานวิจัยที่ศึกษาเกี่ยวกับชาชนิดนี้โดยทดลองกับคนโดยตรงค่อนข้างจำกัด จึงไม่สามารถรับรองประสิทธิภาพของเครื่องดื่มชนิดนี้ได้อย่างแน่ชัด ผู้บริโภคจึงควรระมัดระวังในการบริโภคเครื่องดื่มชนิดนี้เสมอ

นอกจากนี้ กระบวนการหมักที่ไม่สะอาดอาจทำให้ Kombucha ปนเปื้อนเชื้อโรค อีกทั้งภาชนะบรรจุที่ไม่เหมาะสม อย่างภาชนะเหล็กหรือเซรามิกเคลือบ อาจทำปฏิกิริยากับกรดและปล่อยสารพิษออกมา ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ ผู้บริโภค Kombucha จึงอาจเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพต่าง ๆ เช่น ท้องเสีย ปวดท้อง ทางเดินอาหารติดเชื้อ อาการแพ้ เป็นต้น ทั้งนี้ หากมีอาการรุนแรงหรือมีสัญญาณของภาวะเป็นพิษ อย่างอาเจียน หายใจลำบาก สับสน มึนงง หรือวิงเวียนศีรษะ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที