6 เทคนิคแก้ง่วง เพื่อความปลอดภัยขณะขับรถ

เชื่อว่าในช่วงเทศกาลวันหยุดยาวแบบนี้ หลายคนน่าจะกำลังเตรียมตัวเดินทางไปพักผ่อนกันแล้ว ซึ่งหนึ่งในวิธีที่คนนิยมใช้ในการเดินทางก็คงหนีไม่พ้นการขับรถ แต่แน่นอนว่าคนที่ต้องขับรถเป็นระยะเวลานาน การต้องเจอกับความง่วงนอน เมื่อยล้า หรืออ่อนเพลียขณะเดินทางอาจทำให้ทริปการเดินทางเพื่อพักผ่อนหมดสนุกไปได้

เนื่องจากความเคยชินกับพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันบางอย่าง ทั้งการอดนอน การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นประจำ และการรับประทานยาบางชนิด ทำให้หลายคนอาจรู้สึกง่วงได้อยู่บ่อย ๆ โดยเฉพาะในขณะขับรถ ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุมากขึ้น 

ในบทความนี้จึงได้รวบรวมเทคนิคน่ารู้ต่าง ๆ ที่จะช่วยให้ผู้ที่ต้องขับรถเป็นเวลานาน ๆ รู้สึกตื่นตัวมากขึ้นขณะขับรถมาให้ได้ศึกษากัน

6 เทคนิคแก้ง่วง เพื่อความปลอดภัยขณะขับรถ

1. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ

นอกจากจะช่วยให้ร่างกายตื่นตัว และบรรเทาอาการอ่อนเพลียแล้ว การนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายยังช่วยให้สมองทำงานได้ดีขึ้นอีกด้วย โดยผู้ใหญ่ควรนอนให้ได้อย่างน้อย 7 ชั่วโมงต่อวัน

2. ดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน

เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนเป็นอีกตัวช่วยหนึ่งที่ช่วยให้ร่างกายรู้สึกตื่นตัวมากขึ้น โดยอาจเลือกดื่มได้ทั้งกาแฟ น้ำชา หรือช็อกโกแลต อย่างไรก็ตาม การจำกัดปริมาณการบริโภคให้พอเหมาะก็เป็นสิ่งสำคัญ 

โดยในหนึ่งวันควรจำกัดปริมาณการบริโภคคาเฟอีนให้อยู่ที่ไม่เกินประมาณ 400 มิลลิกรัม เพื่อป้องกันการเกิดผลข้างเคียงบางอย่าง อย่างอาการปวดศีรษะ เวียนศีรษะ หรือหัวใจเต้นเร็ว ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการขับขี่ได้

3. เปิดเพลงโปรดไปด้วยระหว่างขับรถ

สำหรับคนที่ชื่นชอบการฟังเพลงอาจลองเปิดเพลงที่ชอบไปด้วยขณะขับรถ เพื่อช่วยให้ร่างกายรู้สึกตื่นตัวมากขึ้น

4. หยุดพักขณะขับรถ

ผู้ที่ต้องขับรถเป็นระยะเวลานาน ๆ ควรหยุดพักผ่อนทุก ๆ 2 ชั่วโมง เพื่อล้างหน้าให้สดชื่น ปรับเปลี่ยนอิริยาบถ ยืดเส้นยืดสาย หรืออาจงีบหลับสัก 15–30 นาที เพื่อบรรเทาอาการง่วงขณะขับรถ

5. พูดคุยกับคนอื่น ๆ ในรถ

คนผู้ที่ไม่ได้ขับรถคนเดียวอาจลองชวนคุยกับคนที่เดินทางไปด้วย หรือเมื่อเริ่มรู้สึกง่วงอาจจะสับเปลี่ยนกันขับรถระหว่างเดินทาง

6. ดื่มน้ำบ่อย ๆ

การดื่มน้ำจะช่วยให้ร่างกายและสมองรู้สึกสดชื่น และยังช่วยป้องกันการเกิดภาวะขาดน้ำ (Dehydration) ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการทำงานของสมอง การใช้สมาธิ การตื่นตัว และการรับรู้ของร่างกายได้

นอกจากนำเอาวิธีแก้ง่วงตอนขับรถในข้างต้นแล้วไปใช้แล้ว ผู้ขับขี่ควรหลีกเลี่ยงการขับรถในเวลากลางคืน โดยเฉพาะช่วงหลังเที่ยงคืนถึง 6 โมงเช้า เพื่อป้องกันการเกิดอาการง่วงซึมขณะขับรถ รวมถึงควรหยุดขับรถและหาที่งีบหลับทันทีเมื่อเริ่มมีสัญญาณง่วงนอนบางอย่าง เช่น หาวบ่อย กระพริบตาบ่อยขึ้น เริ่มหลงลืมทาง หรือเริ่มขับรถส่ายไปมา เป็นต้น